HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 07/02/2556 ]
ระวังเมล็ดสบู่ดำ

นพ.สุรพร ลอยหา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) อุบลราชธานี กล่าวว่า เมล็ดสบู่ดำเป็นพืชน้ำมันชนิดหนึ่ง มีการปลูกมากทั่วทุกภาคของประเทศไทย เพราะสามารถสกัดน้ำมันจกเมล็ดสบู่ดำเพื่อนำไปผลิตเป็นไบโอดีเซล ทดแทนน้ำมันดีเซล
          เมล็ดสบู่ดำมีสารพิษรุนแรงและเป็นอันตรายต่อมนุษย์และสัตว์ คือ Curcin, Cuecasin, Phytosterols, resin และสารในกลุ่ม Phorbol esters ทำให้มีผลต่อระบบทางเดินอาหารและการหายใจ จึงมีการสกัดสารจากเมล็ดไปใช้ประโยชน์เพื่อเป็นสารชีวภาพกำจัดแมลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ
          หากนำมารับประทาน ภายหลังรับประทานเข้าไปประมาณ 30-60 นาที จะเกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ถ่ายเป็นเลือด รายที่มีอาการรุนแรง อาจมีอาการมือเท้าเกร็ง หายใจเร็ว หอบ ความดันโลหิตต่ำ หัวใจเต้นผิดปกติ อาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ โดยอาการจะรุนแรงมากน้อยเพียงใดนั้นขึ้นอยู่กับปริมาณที่รับประทานเข้าไป
          จากรายงานพบผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษจากการบริโภคเมล็ดสบู่ดำในประเทศไทยทุกปีโดยเฉพาะเด็กวัยเรียน ได้รับพิษจากเมล็ดสบู่ดำ และเหตุการณ์ล่าสุดมีนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ใน อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.สระบุรี จำนวน 24 คน
          ดังนั้น  สสจ.อุบลราชธานีจึงขอแจ้งเตือนประชาชนเพื่อป้องกันควบคุมโรคพิษจากสบู่ดำ ดังนี้ ชุมชนหรือโรงเรียนที่ปลูกต้นสบู่ดำไว้ใช้ประโยชน์ หรือปลูกไว้สาธิต หรือปลูกไว้ประกอบการเรียนการสอน ต้องติดป้ายชื่อต้นไม้ไว้ พร้อมคำแนะนำว่าเป็นพืชมีพิษห้ามรับประทานเมล็ด ระวังน้ำยางสบู่ดำถูกผิวหนัง เพราะจะทำให้เกิดอาการระคายเคือง บวมแดง ปวดแสบปวดร้อนอย่างรุนแรง
          หากเข้าตาจะทำให้ตาอักเสบ อาจตาบอดชั่วคราวได้ นอกจากนั้น โรงเรียนควรล้อมรั้วไว้ให้มิดชิด เพื่อความปลอดภัยของเด็กนักเรียน  เพราะเด็กเล็กอาจ ลองชิมเมล็ดสบู่ดำโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ คุณครูและผู้ปกครองควรระมัดระวัง และแนะนำเด็กห้ามนำเมล็ดสบู่ดำมา รับประทานอย่างเด็ดขาด


pageview  1206111    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved