HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 31/01/2556 ]
โรคกระดูกพรุน

โรคกระดูกพรุน พบในหญิงวัยหมดประจำเดือน หรือผู้สูงอายุทั้งชายและหญิง ทำให้กระดูกขาดความแข็งแรงและมีความเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหักได้แม้เกิดจากแรงเพียงเล็กน้อย เช่น นั่งรถตกหลุม นั่งกระแทกบนโซฟา หรือก้มยกของ เป็นต้น และในบางรายอาจไม่พบเหตุการณ์ทีทำให้เกิดอาการ ผู้ป่วยเพียงแต่ใช้ชีวิตประจำวันตามปกติก็สามารถเกิดภาวะกระดูกสันหลังหักยุบในโรคกระดูกพรุนได้
          รพ.ธนบุรี มีความรู้และข้อมูลเกี่ยวกับการป้องกันและรักษาภาวะกระดูกสันหลังหักยุบในโรคกระดูกพรุนมาฝากกัน
          อาการเบื้องต้น ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บปวดบริเวณกลางหลังตรงตำแหน่งที่มีการหักยุบ โดยอาการปวดจะเป็นมากขึ้นเวลาขยับ เช่น พลิกตะแคงตัวในท่านอน ลุกจากนอนมานั่ง ลุกจากนั่งมายืน บิดตัว ก้มและเงย เป็นต้น เนื่องจากมีการขยับและเสียดสีกันของกระดูกที่หัก
          นอกจากนี้ ผู้ป่วยจะมีอาการปวดมากขึ้นเวลาที่กระดูกสันหลังรับน้ำหนัก เช่น ในท่านั่ง ยืน หรือเดิน อาการปวดหลังอาจมีเพียงเล็กน้อย ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ หรือปวดมากจนผู้ป่วยไม่สามารถลุกนั่ง ยืน หรือเดินได้ ต้องนอนอยู่ตลอดเวลา หากมีการเคลื่อนของกระดูกสันหลังอาจไปกดทับไขสันหลังหรือเส้นประสาท จะทำให้มีอาการชา เกิดการอ่อนแรงของขา หรือทำให้ไม่สามารถควบคุมการขับถ่ายอุจจาระหรือปัสสาวะได้
          การรักษาเบื้องต้นได้แก่
          1. การพักโดยการจำกัดกิจกรรม ให้ผู้ป่วยนอนพักในระยะแรกและลุกนั่งยืนเดินเท่าที่จำเป็น เช่น ลุกนั่งกินข้าว ยืนเดินไปเข้าห้องน้ำ เป็นต้น
          2. ใส่เสื้อพยุงหลังที่เหมาะสม โดยทั่วไปต้องใช้ตัวที่ยาวจากสะโพกถึงไหล่จึงจะสามารถประคองกระดูกที่หักและลดการเคลื่อนไหวของกระดูกที่หักได้ ทำให้มีอาการปวดน้อยลงและลดการยุบเพิ่มขึ้นของกระดูกสันหลังได้ โดยให้ใส่ตลอดเวลาที่มีการทำกิจกรรม เช่น ลุกนั่ง ยืน เดิน เป็นต้น สามารถถอดออกได้เวลานอน หรืออาบน้ำ
          3. ให้ยาแก้ปวด เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถทำกิจวัตรประจำวันที่จำเป็นได้
          4. ให้แคลเซียมและวิตามินดี เพื่อช่วยการสมานตัวของกระดูก
          5. ให้ยาฮอร์โมน Calcitionin ชนิดพ่นจมูก ซึ่งจะช่วยลดอาการเจ็บปวดจากกระดูกสันหลังหักยุบ และยังช่วยในการสมานตัวของกระดูกด้วย
          6. นอกจากนี้ ผู้ป่วยควรบริหารแขนขา โดยการขยับแขนขาอยู่เสมอแม้ในท่านอนเพื่อลดการฝ่อตัวของกล้ามเนื้อจากการใช้งานที่น้อยลง และช่วยการไหลเวียนโลหิตด้วย การบริหารปอดโดยการหายใจเข้าออกลึกๆ ยาวๆ เพื่อป้องกันภาวะปอดฟุบแฟบจากการนอนนานๆ
          ทั่วๆ ไปนั้นอาการปวดจะดีขึ้นภายใน 2-4 สัปดาห์ ผู้ป่วยจะสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ และอาการปวดจะหายในเวลา 3 เดือน ซึ่งก็คือระยะเวลาที่กระดูกติดนั่นเอง แต่ถ้าอาการหนักกว่านั้นต้องใช้วิธีการรักษาโดยการฉีดซีเมนต์หรือผ่าตัด


pageview  1206169    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved