HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 30/01/2556 ]
ปฏิบัติการ'อ่อนหวาน'พา'เด็กไทย'ต้าน'โรคอ้วน-ฟันผุ'

  ด้วยสีสันของขนม ลูกอม น้ำอัดลม รสหวานที่ถูกปาก ทำให้จูงใจ และดึงดูดให้เด็กชอบบริโภค โดยลืมที่จะระมัดระวังภัยที่มาพร้อมกับความหวาน ซึ่งในปี 2554 พบข้อมูลที่น่าสนใจว่าคนไทยบริโภคน้ำตาลเกินความจำเป็น โดยทุกช่วงวัยบริโภคน้ำตาลเกินเกณฑ์มาตรฐาน หรือเพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่า
          ในรอบ 10 ปี การปลูกฝังให้เด็ก และเยาวชนไทย รู้จักเลือกบริโภคอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะการหลีกเลี่ยงน้ำตาล ที่เป็นส่วนประกอบหลักในขนม ลูกอม และน้ำอัดลม ถือเป็นการเรียนรู้ที่สำคัญ เพราะเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ปริมาณน้ำตาลเพิ่มขึ้น
          จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้สถานศึกษาหลายแห่งเห็นความสำคัญในการจำกัดปัจจัยเสี่ยงด้านโภชนาการ ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพนักเรียน นำไปสู่การร่วมมือระหว่าง  เครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน และ  โรงพยาบาลลำลูกกา  จ.ปทุมธานี เพื่อขับเคลื่อนโภชนาการที่ถูกต้องให้กับโรงเรียนในพื้นที่ เป็นโรงเรียนที่ปราศจากของหวาน น้ำตาล โดย "พ่อค้า แม่ค้าที่มาขายอาหารในโรงเรียน ต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดอย่างเคร่งครัด ขายอาหารที่มีประโยชน์ ที่สำคัญ ห้ามขายขนม ลูกอม น้ำอัดลม ของทอด ของที่มีรสเค็ม รสหวานจนเกินไป"
          นี่เป็นมาตรการควบคุมการขายอาหารของ โรงเรียนแย้มสะอาดรังสิต คลอง 4 ลำลูกกา ที่ นางศุภลักษณ์ ชูเดช ผู้อำนวยการโรงเรียนเน้น และปฏิบัติมากว่า 9 ปี หลังเข้าร่วมโครงการเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน "เดิมโรงเรียนมีสัดส่วนของเด็กอ้วนมากกว่า 10% แต่หลังเข้าร่วมโครงการ เด็กอ้วนลดลงเหลือ 7% การเลือกอาหารที่ครบตามหลักโภชนาการให้กับนักเรียน มีประโยชน์ต่อสุขภาพอย่างมาก โดยอาหารกลางวันจะเน้นตามหลักโภชนาการครบ 5 หมู่ ไม่เน้นประเภททอด รสจัด เค็ม หวานจนเกินไป ไม่มีน้ำอัดลม และถูกแทนที่ด้วยน้ำสมุนไพร และของว่างคือนมจืด ที่ให้ดื่มเช้า และบ่าย"
          นอกจากนี้ ยังปลูกฝังให้นักเรียนทุกระดับรู้จักประโยชน์ ความสำคัญของอาหารที่มีประโยชน์ ไม่ต่างจาก  โรงเรียนวัดราษฎร์ศรัทธาราม  คลอง 7 ลำลูกกา ที่ให้ความสำคัญกับการควบคุมการบริโภคอาหารในโรงเรียนไม่แพ้กัน
          "ที่นี่เป็นโรงเรียนปลอดขนมหวาน น้ำอัดลม โดยส่งเสริมการเรียนรู้เรื่องอาหารที่มีประโยชน์ในทุกระดับชั้น จัดสภาพแวดล้อมภายในโรงเรียน กิจกรรมต่างๆ จะปราศจากอาหารที่ไม่มีประโยชน์ มิหนำซ้ำยังจัดแสดงนิทรรศการให้ความรู้ถึงพิษภัยของขนมกรุบกรอบ และน้ำอัดลม เพื่อสร้างความตระหนักให้นักเรียน ผลทางอ้อมของการปลูกฝัง คือนักเรียนนำประสบการณ์ไปเผยแพร่ให้ครอบครัว หลายครอบครัวดื่มน้ำอัดลมลดลง"  นางจิตรา บุญเขตต์  ครูอนามัยกล่าว"น้องโอม" พงศกร หมอศาสตร์ ม.1 โรงเรียนวัดราษฎร์ศรัทธาราม บอกว่า รู้จักเลือกบริโภคอาหารมากขึ้น โดยเฉพาะน้ำอัดลม หลังเห็นการทดลองที่พบว่ากรดในน้ำอัดลม กัดสนิม และเนื้อหมูให้เปื่อยยุ่ยได้ ก็คิดว่าหากน้ำอัดลมอยู่ในท้องเรา ก็คงมีสภาพเหมือนกัน และน้ำตาลในน้ำอัดลมจะทำให้เป็นเบาหวานในอนาคต ตอนนี้ผมดื่มน้ำเปล่า
          ทันตแพทย์หญิงวัลธินี สยามพันธ์  โรงพยาบาลลำลูกกา บอกว่า การเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดคือนักเรียนมีสุขภาพช่องปากดีขึ้น ฟันไม่ผุ และอ้วนน้อยลง เด็กหันมาสนใจกินผัก ผลไม้มากขึ้น
          ทั้งนี้ หากครอบครัว และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควบคุมปัจจัยเสี่ยงที่จะส่งผลต่อสุขภาพเด็กโดยตรง โดยเฉพาะโรงเรียนที่เด็กใช้เวลาอยู่เป็นส่วนใหญ่ ให้เด็กห่างไกลจากของหวานอย่างจริงจัง เด็กไทยก็จะมีสุขภาพที่แข็งแรง


pageview  1206163    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved