HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 30/01/2556 ]
หุ่นยนต์บำบัดอัมพฤกษ์ฝีมือ..นักเรียน'บ้านบัว'

 นักวิทยาศาสตร์ได้คิดพัฒนาหุ่นยนต์ทำงานแทนมนุษย์ในด้านต่างๆ แม้แต่ด้านการแพทย์ ที่ใช้หุ่นยนต์ช่วยในกระบวนการรักษา บำบัดฟื้นฟูผู้ป่วย โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคอัมพฤกษ์ ซึ่งต้องใช้เวลา ความเอาใจใส่ในการดูแลรักษา และเงินจำนวนมาก ทำให้ครู และนักเรียน  โรงเรียนบ้านบัว  คิดโครงงานการออกแบบ "หุ่นยนต์บำบัดผู้ป่วยโรคอัมพฤกษ์"
          นางวารุณี ปราบสาร ครูที่ปรึกษา เล่าถึงแรงบันดาลใจในการทำหุ่นยนต์บำบัดผู้ป่วยโรคอัมพฤกษ์ว่า เกิดจากการออกเยี่ยมบ้านนักเรียน พบว่าหลายรายมีญาติป่วยเป็นโรคอัมพฤกษ์ ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ เป็นภาระแก่บุตรหลาน หากผู้ป่วยไม่ได้รับการดูแล และทำกายภาพบำบัด จะทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรงจนใช้งานไม่ได้ ถ้าระยะแรกได้รับการเอาใจใส่โดยการฝึกออกกำลังกล้ามเนื้อ จะฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกายกลับมาใช้งานได้ ตน และ นายกษิดิ์เดช ปราบสาร พร้อม  อาทิตย์ สุคุณพันธ์, เกศมณี สอดสูงเนิน  และ ยุพา มหาโยธี  นักเรียน ม.2 จึงศึกษาค้นคว้า และออกแบบโครงร่าง "หุ่นยนต์บำบัดผู้ป่วยโรคอัมพฤกษ์" โดยได้รับคำแนะนำจาก  นายสมหมาย เหมืองทอง  ผู้เชี่ยวชาญด้านอิเล็กทรอนิกส์ และ นายบุญเพ็ง วงษ์สิม  ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านบัว
          "หุ่นยนต์บำบัดผู้ป่วยอัมพฤกษ์ ช่วยให้ผู้ป่วยได้ออกกำลังกายทั้งซีกซ้าย และซีกขวา ส่วนลำตัว และท่อนขาไปพร้อมๆ กัน และรับน้ำหนักได้มากถึง 85 กิโลกรัม" อาทิตย์กล่าว
          อาทิตย์บอกว่า เขากับเพื่อนๆ ต้องช่วยกันรวบรวมวัสดุที่เหลือจากการทำงานต่างๆ ของโรงเรียน เช่น เศษไม้ กระดาษ เหล็ก สเตอร์รถจักรยานยนต์ โซ่ รอก เพื่อลดค่าใช้จ่าย และจะซื้อเพียงของจำเป็นเพียงไม่กี่อย่าง เช่น มอเตอร์ไฟฟ้า เมื่อได้อุปกรณ์พร้อม ทีมสร้างหุ่นยนต์เริ่มลงมือ ใช้เวลา 2 เดือนเศษ ก็ได้หุ่นยนต์บำบัดผู้ป่วยอัมพฤกษ์ ที่มีหน้าตาเป็นเก้าอี้มีพนักพิง ที่ส่วนวางเท้า และท่อนแขนขยับได้ วางบนฐานไม้ ด้านล่างเป็นมอเตอร์ไฟฟ้า พร้อมสายพาน อยู่ในกรอบเสา
          เหล็ก สี่ด้านในส่วนด้านหน้าของเก้าอี้มีรอกผูกสะลิง เพื่อใช้ยกตัวผู้ป่วยขึ้นลง ช่วยอำนวยความสะดวกแก่ญาติ อาศัยหลักการทำงานของมอเตอร์ ที่เปลี่ยนพลังงานไฟฟ้าเป็นพลังงานกล ยกแขนเหวี่ยงขึ้นลงเพื่อยกแท่นรองขาขึ้นลงสลับกัน พร้อมปรับระดับความเร็วได้ ทำให้แขนขาของผู้ป่วยเคลื่อนไหว เป็นการบริหารกล้ามเนื้อ ช่วยให้การไหลเวียนของโลหิตดีขึ้น ครั้งแรกทดสอบกับผู้ป่วยของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ พบว่าที่วางแขนอยู่ในระดับที่ต่ำเกินไป สเตอร์ไม่ตรง โซ่ทำงานไม่คล่อง ตัวล็อกเพื่อรองรับน้ำหนักไม่แข็งแรงพอที่รองรับเท้าคู่หน้ากระตุกเมื่อใช้งาน จึงแก้ไขโดยปรับที่วางแขนให้สูงขึ้น และปรับได้ 3 ระดับ เปลี่ยน สเตอร์ และโซ่ใหม่ เปลี่ยนที่รองรับที่วางเท้าคู่หน้า พร้อมปรับระดับโดยดูจากความสัมพันธ์ของการใช้งาน เมื่อทดสอบอีกครั้ง ได้เสียงตอบรับจากผู้ป่วยว่าทำงานได้ดี
          หุ่นยนต์บำบัดผู้ป่วยโรคอัมพฤกษ์ยังคว้ารางวัลโครงงานการออกแบบและเทคโนโลยี "หุ่นยนต์ทำงานแทนมนุษย์" ระดับมัธยมต้น ในงานศิลปหัตถกรรมนักเรียนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ครั้งที่ 62 และเป็นตัวแทนไปแข่งขันในระดับชาติในเดือนกุมภาพันธ์นี้
 


pageview  1206168    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved