HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 10/01/2556 ]
สร้าง.:.ดุลยภาพ'กาย-จิต' ...ชีวิตปลอดภัย

นพ.วิชัย เทียนถาวร อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข
          "อโรคยา ปรมาลาภา" ความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ
          ทุกคนเกิดมา..แม้จะมั่งมีเงินทองเป็นหมื่นๆ ล้าน หรือเป็นใหญ่เป็นโต เป็นนายพล เป็นรัฐมนตรี..หากเจ็บไข้ได้ป่วยมีโรคประจำตัว ชีวิตก็คงไม่มีความหมาย พระสงฆ์ผู้ทรงธรรมทั้งหลาย แม้ให้ศีลให้พร ยังต้องลงท้ายด้วยอายุ วรรณะ สุขะ พละ คนส่วนใหญ่เมื่อถูกถามว่า "อยากได้อะไรมากที่สุด" คำตอบก็จะมี "อยากได้สุขภาพดี" ไว้ก่อนเลย
          มีคราวหนึ่งผู้เขียนลงพื้นที่โรงพยาบาลสุไหง โก-ลก เพื่อเยี่ยมเยียนและดูความก้าวหน้าของการเฝ้าระวังโรคเบาหวาน ความดัน เมื่อเสร็จภารกิจ นพ.จรัญ จันทมัตตุการ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนราธิวาส และ นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสุไหงโก-ลก พาไปกิน "บะกุ๊ดเต๋" ร้านที่มีชื่อมาก ชื่อร้าน "นายอ้วน"ผู้เขียนไปถึงท่านผู้อำนวยการแนะนำเจ้าของร้าน ด้วยอัธยาศัยของเถ้าแก่ร้าน แกอ้วนมากๆ สมชื่อร้านของเขาเลย ให้การต้อนรับพูดคุยอย่างดีมาก แขกก็เต็มร้านแต่ยังอุตส่าห์เสียสละเวลามาพูดคุยด้วย ผู้เขียนได้พูดคุยถามถึงเรื่องกิจการเป็นอย่างไรบ้าง เขาบอกว่าเงียบไปหน่อย หลังมีการวางระเบิดหน้าโรงแรม ห้วงหนึ่งของการสนทนาได้เอ่ยถามว่า เถ้าแก่อยากได้อะไรบ้าง?ในชีวิตนี้ เขาตอบอย่างรวดเร็วโดยไม่ต้องคิดว่า "อยากได้สุขภาพดี" ชีวิตนี้ไม่ต้องการอะไรแล้ว และที่สำคัญคือมี "สุขใจ" ด้วย แม้ตนจะอ้วนแต่สุขภาพจิตและสุขภาพกายยังดี ไม่มีปัญหา
          ทันทีที่เถ้าแก่พูดคำนี้ ผู้เขียนก็นึกถึงคำที่ว่า "จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว" หมายความว่าร่างกาย จิตใจ ที่องค์ประกอบ "รูป""นาม" เป็นตัวตนของเราของขันธ์ 5 "สังขาร" มีหน้าที่ปรุงแต่งจิตใจ จิตคิดดีสังขารก็ปรุงแต่งให้ทำดีจนได้ ถ้าจิตคิดชั่วสังขารก็ปรุงแต่งให้ทำชั่วได้ เพราะฉะนั้น "จิต" เป็นต้นเหตุทุกเรื่องที่เกิดจากความคิด ส่งผลต่อสุขภาพกาย จะเจ็บป่วย แข็งแรงหรือไม่ จิตมีส่วนอย่างมาก ประมาณว่า แม้เถ้าแก่จะอ้วนแต่ด้วยเป็นคนคิดดี ทำให้จิตใจดี สุขภาพก็ดีตามไปด้วย
          ความสัมพันธ์ระหว่างกายกับจิต เกิดได้อย่างไร? ถ้ากายจิตสมดุลจะส่งผลอย่างไร?
          อนุมานได้ว่า "ความเจ็บป่วย" ที่เกิดขึ้นกับ "คน" มีสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่ง มาจากการที่ร่างกายและจิตใจเสียสมดุล โดยมีปัจจัยมาจากสภาพแวดล้อม มลพิษ สารเคมี ฝุ่นละออง และเชื้อโรค รวมถึงการดำเนินชีวิตประจำวัน ที่มีความเร่งรีบ แข่งขันกับเวลา แข่งขันแย่งชิงตำแหน่งกัน แข่งขันระหว่างผู้ค้าด้วยกันเอง โดยเฉพาะกองกิเลส 3 กอง คือ โลภ โกรธ หลง
          พระพรหมคุณาภรณ์ (ป. อ. ปยุตฺโต) แปลเข้าใจง่ายๆ ว่า อยากได้ ก็คือ ความอยากจะสนองประสาทสัมผัส ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อยากใหญ่ ก็คือ ความอยากเป็นนั่น เป็นนี่ อยากมีตัวตนโดดเด่น อยากครอบงำ ใจแคบ ก็คือ ความหลงผิดยึดติดมั่นอยู่ในเงาของความจริงอย่างหน้ามืดตามัว
          กิเลสพื้นฐานนี้ คือ รากเหง้าของกิเลสที่เหลือทั้งหมด การจัดการกิเลสทั้งสามนี้เท่ากับว่ากิเลสทั้งหมดได้จัดการไปด้วย ทั้งหมดนี้มีผล ทำให้เกิดผลต่อ "จิตใจ" เช่น ความเครียด ความวิตกกังวล นอนไม่หลับ หรือซึมเศร้า
          แม้ว่าธรรมชาติร่างกายของเรา จะมีกลไกในการป้องกันและรักษาตนเองจากการเจ็บป่วยได้ แต่การรักษาสมดุลทั้งร่างกายและจิตใจเป็นวิธีที่ดีที่สุด จะช่วยป้องกันการเจ็บป่วย ทั้งยังช่วยส่งเสริมศักยภาพให้เซลล์และอวัยวะต่างๆ ภายในร่างกาย มีความแข็งแรง สมบูรณ์ และทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด สูงที่สุด และดีที่สุด
          การสร้างความสมดุลให้ร่างกายและจิตใจ มีความสำคัญและมีความจำเป็นอย่างยิ่ง จึงจะทำให้มีร่างกายที่สมบูรณ์ ไม่เจ็บไม่ป่วย มีความสุขทั้งการทำงาน การเล่น การออกกำลังกาย ตลอดจนการดำเนินชีวิต แต่เมื่อใด "กาย" และ "จิต" เกิดไม่สมดุล ก็จะเกิดผลกระทบขึ้นมาได้ ทางการแพทย์ระบุว่า "จิตใจ" มีส่วนก่อให้เกิดโรคทางกายได้ เช่น เวลาเครียดมากๆ จะมีฮอร์โมนความเครียดเกิดขึ้น และฮอร์โมนนั้นก็จะส่งผลถึงอวัยวะและความสมดุลระบบฮอร์โมนและเซลล์ต่างๆ ทำให้เกิดการทำงานหนัก เซลล์แก่เร็วขึ้น ทำให้คนแก่เร็วขึ้น
          จะเห็นได้ว่าอีกนัยหนึ่งคนที่มีสุขภาพจิตดี หรือคนที่ปฏิบัติ "ธรรม" ไม่ว่าจะเป็นวิปัสสนากรรมฐาน คนพวกดังกล่าวนี้จะสวย หน้าตาอิ่มเอิบ ดูแล้วสบายตา สบายใจ ไม่แก่ไว ซึ่งเรียกคนพวกนี้ว่าพวก "อิ่มบุญ"
          เวลาบางคนเครียดมากๆ หรือพักผ่อนไม่เพียงพอ ฮอร์โมนความเครียดก็จะสูงขึ้น การทำงานของระบบฮอร์โมนอื่นๆ ก็จะกระทบกระเทือนไปด้วย ส่งผล ต่ออวัยวะ เช่น เวลาเครียดมากๆ ท้องจะผูก ระบบขับถ่ายผิดปกติ อวัยวะระบบต่างๆ ในร่างกายก็ทำงานปั่นป่วน ไม่เป็นปกติ เกิดความอ่อนแอขึ้น อาการเจ็บป่วยจะมีมากขึ้น เวลาอดนอนหรือพักผ่อนไม่เพียงพอ ก็จะมีอาการหงุดหงิด โกรธง่าย ไม่มีสมาธิ ผุดลุกผุดนั่ง ลุกลี้ลุกลน เป็นต้น
          นอกจากนี้การเสียสมดุลโดยเฉพาะจิตใจไม่ปกติ ก็จะส่งผลให้ร่างกายสูญเสียความสามารถในการดูแลรักษาตนเอง เสียดุลยภาพในการปรับตัวเองด้านระบบประสาทอัตโนมัติ (Autonomic Nervous System) เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรค หรืออาการผิดปกติได้หลายอย่าง เช่น เป็นแผลร้อนในบ่อยๆ เนื่องจากเกิดความร้อนที่ตับและหัวใจ จึงแสดงออกที่อวัยวะภายนอก มีแผลร้อนในที่ปาก ปากแดง ลิ้นแดง ตาแดง เพราะตาถือเป็นอวัยวะทวารเปิดของอาการและอาการแสดงให้เห็นภายนอก
          หากมีความร้อนที่ปอดก็จะออกมาทางจมูกและผิวหนัง จะมีความรู้สึกอาการร้อนทางลมหายใจ หรือร้อนผิวตัว หรือมีผื่นภูมิแพ้ที่ผิวหนัง เป็นสิวเรื้อรัง รวมถึงโรคกระเพาะอาหารเรื้อรัง กรดไหลย้อน ท้องอืดอาหารไม่ย่อย ท้องผูก ท้องเสีย นอนไม่หลับ ตื่นขึ้นมาไม่สดชื่น อารมณ์แปรปรวน อ่อนเพลียโดยไม่ทราบสาเหตุ บางคนอาจเกิดอาการซึมเศร้า บางรายถึงมีความคิดทำร้ายร่างกายตนเองและคิดฆ่าตัวตายได้
          หลายคนเมื่อเกิดอาการเหล่านี้ ก็จะรักษาไปตามอาการโดยการรับประทานยา เมื่อหายแล้วสักพักก็อาจจะเกิดอาการซ้ำอีกได้ เพราะเมื่อหากร่างกายหายเป็นปกติสมบูรณ์แล้ว แต่จิตใจยังมีปัญหาอยู่ ไม่ได้รับการแก้ไข "เรื่องที่ไม่สมดุล" ก็จะทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยกลับมาเป็นอีกได้
          เมื่อร่างกายเกิดการสมดุลของร่างกายและจิตใจ จะส่งผลให้ระบบต่างๆ ของร่างกาย เกิดการกระตุ้นให้ร่างกายซ่อมแซมตัวเองได้ อาการผิดปกติจะดีขึ้นและสามารถป้องกันโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งมีข้อแนะนำจากแพทย์ทางกายและแพทย์ทางจิต ได้แนะนำวิธีการสร้างสมดุลของจิตใจและร่างกาย เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นมีหลัก 5 ประการ ดังนี้
          1.หมั่นออกกำลังกายหรือเล่นกีฬา เพื่อเสริมสร้างสุขภาพให้แข็งแรงสมบูรณ์ มีระบบภูมิต้านทาน ที่ดี ด้วยการออกกำลังกายสม่ำเสมอสัปดาห์ละ 3-5 วัน วันละ 30 นาที อวัยวะต่างๆ ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ การออกกำลังกายจะช่วยทำให้ป้องกันโรคและมีสุขภาพดี
          - ลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็ง
          - ลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคความดันโลหิตสูง- ลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจ หัวใจสูบฉีดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ เพิ่มขึ้น หัวใจแข็งแรงยืดหยุ่นได้ดี
          - ลดไขมันในเลือด ซึ่งถ้าไขมันสูงจะเป็นสาเหตุหนึ่งของโรคหัวใจตีบตัน
          - ช่วยทำให้ปอด หัวใจ กระดูก กล้ามเนื้อ ข้อต่อแข็งแรง ช่วยป้องกันโรคกระดูกเปราะ
          - ช่วยลดความเครียด นอนหลับง่าย ความจำดี
          - ช่วยระบบย่อยอาหาร ทานอาหารได้มากขึ้น และขับถ่ายดีท้องไม่ผูก
          2.กินอาหารที่มีประโยชน์และจำเป็นต่อร่างกาย
          ดื่มน้ำให้เพียงพอ ไม่ควรกินกรดด่างมากเกินไป แต่ถ้าเมื่อใดที่ร่างกายและอวัยวะภายในมีความร้อน อาหารที่มีฤทธิ์เย็นจะช่วยปรับสมดุลของร่างกายให้เป็นปกติได้ คือ ผักบุ้ง ตำลึง ผักหวาน แตงกวา ฟัก หัวปลี ส่วนผลไม้ควรเป็นประเภท มังคุด มะยม แตงโม แตงไทย แคนตาลูป ส้มโอ กล้วยน้ำว้า แก้วมังกร กระท้อน แอปเปิล มะพร้าว ลูกพรุน เป็นต้น
          หลักการกินอาหารกินให้ครบ 5 หมู่ โดยแต่ละหมู่ให้กินหลากหลายชนิด ไม่ซ้ำซาก กินอาหารในปริมาณเหมาะสมกับการใช้พลังงานแต่ละวัน จะสามารถลดภาวะเสี่ยงและป้องกันโรคมะเร็ง โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด
          - กินข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือเป็นหลัก สลับกับอาหารอื่นประเภทแป้งบางมื้อ เช่น ก๋วยเตี๋ยว ขนมจีน ขนมปัง
          - กินผักผลไม้สด ปลอดสารพิษเป็นประจำ เพราะเป็นแหล่งวิตามิน แร่ธาตุ กากใยสูง กินสลับกันไป
          - กินเนื้อสัตว์ไม่ติดมัน กินปลา ไข่ และถั่วเมล็ดแห้งเป็นประจำ
          - ดื่มนมให้เหมาะสมตามวัย
          - กินอาหารสะอาดปราศจากสารปนเปื้อน
          3.อากาศดี สิ่งแวดล้อม ที่อยู่อาศัยดี เป็นปัจจัยสำคัญต่อ "สุขภาพ" กาย จิตเป็นอย่างมาก อากาศบริสุทธิ์ปราศจากมลภาวะสิ่งแวดล้อม สารเคมี ฝุ่นละอองต่างๆ จะเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดมลภาวะทางจิตใจ อารมณ์ขุ่นมัว บางรายมีภูมิแพ้อยู่ด้วยกันจะทำให้เกิดอาการผิดปกติทาง "กาย" ได้อย่างมาก เพราะฉะนั้น อากาศและสิ่งแวดล้อม ภูมิทัศน์ดี เจริญตา เจริญใจ จะเป็นตัวปรับดุลยภาพของจิตใจ และกายได้อย่างดีเยี่ยม โรคภัยไข้เจ็บไม่มี ร่างกายจะแข็งแรงและสมบูรณ์ดี
          4.พักผ่อนให้เพียงพอ เพราะการอดนอนทำให้ระบบการเผาผลาญในร่างกายไม่ดี ฮอร์โมนทำงานไม่ปกติ เกิดการติดขัดของเมตาโบลิซึมและส่งผลต่อด้านอารมณ์และจิตใจได้
          5.เสริมสร้างจิตใจให้แข็งแรง โดยการฝึกทักษะดูแลจิตใจหรือรับมือกับความเครียด โดยการผ่อนคลายจิตใจอย่างสม่ำเสมอ หยุดพักหยุดคิดเรื่องเครียดต่างๆ คิดบวก ยิ้มแย้มเข้าไว้ การที่มีเรื่องเข้ามากระทบจิตใจมากมายแต่ละวัน ทำให้อารมณ์ขุ่นมัว เศร้าหมอง เครียด ไม่แจ่มใส อารมณ์เหล่านี้หากไม่ระบายออกบ้างจะเกิดความเครียดสะสมได้ ควรหากิจกรรมสร้างสรรค์ เช่น ฟังเพลง ดูหนัง เล่นกีฬา ท่องเที่ยวสถานที่ต่างๆ หรือทำกิจกรรมกับสมาชิกในครอบครัวเพลินๆ อย่างมีสุข
          พอถึงตรงนี้ผู้เขียนก็จะถามตัวเองว่า "มีตาชั่ง" อะไรจะมาบอกว่า น้ำหนักข้างซ้ายเท่ากับข้างขวาแล้วจะสื่อให้พี่ๆ น้องๆ รู้ได้อย่างไรว่า ตรงนี้แหละคือตาชั่ง เข็มชี้ที่ "ศูนย์" เท่ากับ "สมดุล" แล้วผู้เขียนขอบอกว่าวิธีเดียวเท่านั้นจะบอกได้ คือ การหมั่น "สังเกตดูแลเอาใจใส่ตัวเอง" ทั้งร่างกายและจิตใจอยู่ตลอดเวลาว่าอยู่ในภาวะสมดุลหรือไม่? ทำอะไรเกินไปหรือขาดไป? ประหนึ่ง "ตาชั่งใจ" ไวอัตโนมัติดั่ง "เซฟทีคัท" ให้ฟังเสียงของร่างกายและจิตใจเพื่อจะได้ "ปรับ" ตัวเอง เพื่อให้ร่างกายและจิตใจอยู่ในภาวะสมดุล...
          หมั่นฝึกปฏิบัติให้เป็นประจำจนเกิดความเคยชินเป็นนิสัย หากเกิดภาวะไม่สมดุล ร่างกายและจิตใจ จะช่วยปรับให้เกิดสมดุลแบบ "อัตโนมัติ" จะช่วยให้ร่างกายและจิตใจปกติสุข สมดังที่ว่า "สร้างสมดุลกายจิต ชีวิตปลอดภัย" ไม่เจ็บป่วย และมีสุขภาพแข็งแรงในที่สุดไงละครับ
 


pageview  1205495    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved