HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 08/01/2556 ]
การทดสอบการนอนหลับ (Sleep test)

 นพ.ชัยยศ เด่นอริยะกูลโรงพยาบาลกลาง
          จากบทความเรื่องการนอนกรนรักษาได้ มีการพูด ถึงการทดสอบการนอนหลับ ซึ่งในคราวนี้ เรามาทราบถึงรายละเอียดของการทดสอบ การนอนหลับเพื่อให้ผู้นอนกรนหรือผู้มีความผิดปกติของการนอนหลับ ที่กำลังตัดสินใจอยู่ว่าควรจะไปทำดีหรือไม่ ได้เข้าใจถึงวิธีการตรวจค่าใช้จ่าย และประโยชน์ที่จะได้รับ จากการตรวจ รวมถึงรายละเอียดเทคนิคเคล็ดลับ บางประการ เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการประกอบการตัดสินใจ
          การทดสอบการนอนหลับ (Sleep test) เป็นการตรวจด้วยเครื่องมือทันสมัย เพื่อบอกคุณภาพของการนอนหลับในคืนนั้นๆ ว่าคุณหลับได้ดีหรือไม่ หลับสนิทเพียงใด มีภาวะผิดปกติใดเกิดขึ้นบ้างขณะนอนหลับ เช่น ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ภาวะเต้นผิดปกติของหัวใจ ภาวะขาดออกซิเจนขณะหลับ หรือมีการทำงานของกล้ามเนื้อแขนขาผิดปกติ ฯลฯ และภาวะดังกล่าวถ้าเกิดขึ้นนานๆ ครั้งก็ไม่จำเป็นต้องรักษา แต่ถ้าเกิดขึ้นบ่อยจนทำให้เป็นอันตรายต่อผู้ป่วยคงจำเป็นต้องรักษา เป็นต้น
          การตรวจจะประกอบด้วย 1. การตรวจคลื่นสมองเพื่อวัดระดับความลึกของการนอนหลับและการทำงานของสมองขณะหลับ 2. การตรวจการทำงานของกล้ามเนื้อโดยเฉพาะบริเวณหน้าอกและแขนขา 3. การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ 4. การวัดค่าความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือด 5. การวัดลมหายใจจากจมูก  และจำนวนครั้งของการหยุดหายใจขณะหลับ
          วิธีการตรวจแบ่งเป็นได้ 3 ขั้นตอน คือ 1) ติดตั้งอุปกรณ์การตรวจ 2) การตรวจ และ 3) การนำผลการตรวจไปวิเคราะห์และแปลผล ในขั้นตอนแรกจะเป็น ขั้นตอนติดตั้งอุปกรณ์เข้ากับตัวผู้ป่วยก่อนถึงเวลานอน ใช้เวลาประมาณ 1 2 ชั่วโมง โดยจะทำการติดแผ่นอีเลคโตรดและตัวเซ็นเซอร์ต่างๆ เช่น ตัววัดคลื่นสมอง จะเป็นแผ่นเล็กๆ ติดเข้ากับใบหน้าและศีรษะ ตัววัดลมหายใจ จะติดเข้ากับบริเวณรูจมูก ตัววัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจติดเข้ากับแผ่นหน้าอก ตัววัดค่าออกซิเจนในเลือดจะติดเข้ากับปลายนิ้วมือ นิ้วใดนิ้วหนึ่ง และการตรวจการทำงานของกล้ามเนื้อก็จะเป็นสายคาดรัดกับหน้าอกและแขนขา เป็นต้น
          ทั้งหมดเป็นการติดไว้ภายนอกร่างกาย ผู้ป่วยอาจจะรู้สึกรำคาญ เพราะจะมีสายห้อยระโยงระยางเต็มไปหมด สายทั้งหมดจะเข้าไปรวมกับเครื่องตรวจและต่อเข้ากับเครื่องคอมพิวเตอร์แบบ Notebook เพื่อบันทึกข้อมูลตลอดเวลาที่ทำการทดสอบ หลังจากนั้นเริ่มเปิดเครื่องเข้าสู่ ขั้นที่ 2 เครื่องจะทำการตรวจบันทึกข้อมูลไปเรื่อยๆ ถ้าผู้ป่วยนอนหลับๆ ตื่นๆ หรือนอนไม่ค่อยหลับ ผลที่ได้จะคลาดเคลื่อน ไม่ใช่ข้อมูลในภาวะหลับจริง ดังนั้นสถานที่ตรวจควรจะต้องเป็นห้องเงียบ มืดสนิท บรรยากาศน่านอน ถ้าเป็นโรงพยาบาลก็ต้องเป็นห้องพิเศษที่ไม่มีคนพลุกพล่าน
          นอกจากนี้ ในปัจจุบัน ยังมีบริการของบริษัทเอกชนที่รับตรวจติดตั้งเครื่องให้ถึงที่บ้าน ทำให้มีข้อดี คือ ผู้ป่วยรู้สึกเคยชิน นอกจากนี้ยังประหยัดค่านอนโรงพยาบาล 1 คืน แต่ก็มีข้อเสียคือใช้สิทธิต่างๆ ไม่ได้ ส่วนค่าใช้จ่ายจะอยู่ที่ประมาณ 1 2 หมื่นบาท หลังจากตรวจเสร็จจนตื่นนอน เครื่องจะทำการประมวลผลและแสดงเป็นเส้นกราฟ สรุปข้อมูลต่างๆ เป็นแผ่นกระดาษประมาณ 3 แผ่น เพื่อให้แพทย์แปลผลการทดสอบต่อไป
          ผู้ที่สมควรได้รับการตรวจทดสอบการนอนหลับ ได้แก่ ผู้นอนกรนเสียงดังมากผิดปกติ ผู้มีการหยุดหายใจขณะหลับ นอนหลับไม่สนิท  มีการสะดุ้งตื่นบ่อยเป็นพักๆ ตื่นนอนตอนเช้าด้วยความรู้สึกไม่สดชื่น เหมือนนอนไม่เต็มอิ่ม มึนศีรษะ ง่วงหงาวหาวนอนเป็นประจำ นอนหลับง่ายมาก นั่งเผลอเป็นหลับ เคยมีประวัติหลับในขณะขับรถหลายครั้ง ขณะนอนหลับมีการเคลื่อนไหวแขนขาและร่างกายผิดปกติ
          ดังนั้น ถ้าท่านมีปัญหาเรื่องการนอนหลับหรือนอนกรนที่ต้องการทดสอบการนอนหลับ สามารถปรึกษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้อง เช่น แพทย์ระบบทางเดินหายใจ แพทย์ระบบประสาท หรือแพทย์หู คอ จมูก ในโรงพยาบาลใหญ่ใกล้บ้านท่านได้ครับ


pageview  1205831    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved