HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 04/01/2556 ]
โรคขี้เกียจทำงานภัยคุกคามมนุษย์เงินเดือน

"มนุษย์เงินเดือน" อย่างเราๆ เมื่อได้หยุดยาวในเทศกาลปีใหม่ "มันต้องเต็มที่กับชีวิต" สักหน่อย โดยเฉพาะคนที่อยู่ไกลบ้านหลังจากกราบไหว้ผู้เฒ่าผู้แก่เสร็จสรรพ กิจกรรมปิดท้ายคงหนีไม่พ้นกินดื่มสังสรรค์ คนที่กินดื่มแบบหอมปากหอมคอก็ดีไป แต่มีบางคนและส่วนใหญ่เสียด้วยที่กินดื่มยันเช้า
          พอผ่านพ้นช่วงเทศกาล ถึงวันต้องกลับมาทำงาน การหยุดยาวหลายๆ วันก็ทำให้เป็นโรค "ขี้เกียจทำงาน" ได้เหมือนกัน
          เพื่อทำให้อารมณ์กลับมากระชุ่มกระชวยพร้อมจะทำงานหนักจึงมีเคล็ดลับดีๆ ชนิดเจ้านายไม่ต้องบ่นให้เอือมระอามาฝากกัน ซึ่งกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ได้ให้ความรู้ว่า ตามจิตวิทยาทั่วไปของพฤติกรรมมนุษย์ เมื่อมีวันหยุดยาวช่วงเทศกาลจะปลดปล่อยอารมณ์เที่ยวอย่างเต็มที่ เพราะเห็นว่าทำงานเหน็ดเหนื่อยมาทั้งปีต้องเต็มที่สักหน่อย
          เมื่อต้องกลับมาทำงานจึงคล้ายกับการเปลี่ยนชีวิตไปอีกด้านหนึ่งแบบกะทันหัน ตามจิตวิทยามักเกิดอาการ "Fatigue" หรืออาการอ่อนล้า หรืออาการอิดโรยของกายและใจ
          อาการที่ว่านี้มักมาในหลายปัจจัย อาทิ ต้องนั่งรถหรือขับรถเพื่อเดินทางไกล หรือเป็นหลังจากดื่มกินสังสรรค์กับเพื่อนฝูง หรือจากคนที่รักเพื่อไปทำงาน เป็นต้น
          ภายใต้สภาวะดังกล่าว มักจะเกิดขึ้นในช่วงระยะสั้นๆ เท่านั้น เป็นเรื่องที่สามารถแก้ไขได้ ทั้งการดื่มกินแบบรู้ตัวเอง ถ้ารู้ว่าไม่ไหวก็ต้องพักผ่อนให้เพียงพอ อย่าฝืน หรือหมั่นโทรศัพท์หาพ่อและแม่ หรือลูก รวมไปถึงญาติพี่น้องเมื่อมาทำงาน ตรงนี้จะช่วยคลายเหงาได้มาก
          แต่หากปล่อยเวลาผ่านไปสักระยะอาการอ่อนล้าจากการทำงานยังไม่หาย กรมสุขภาพจิต แนะว่า ขอให้ระวังอาจเป็น "อาการเหนื่อยล้าเรื้อรัง" อาการดังกล่าวนี้ย่อมทำให้เกิดการเสื่อมถอยทั้งกายและใจ มีผลกระทบต่ออารมณ์และจิตใจด้วยเสมอ
          ขอย้ำว่าอาการเหนื่อยล้าไม่เหมือนกับอาการง่วงนอน ถึงแม้ว่าอยากจะนอนก็ตามที อาการเหนื่อยล้าเป็นอาการที่ขาดแรงกระตุ้น ทำให้เกิดความเบื่อหน่าย ไม่อยากทำอะไรทั้งสิ้น
          อาการที่เกิดขึ้น อาทิ สายตาพร่ามัว ปัสสาวะออกน้อยหรือไม่มี บางรายน้ำหนักตัวลด มีอาการท้องผูก นอนหลับๆ ตื่นๆ ตลอดคืน พร้อมทั้งมีอาการปวดศีรษะร่วมด้วยในบางราย
          อาการเหนื่อยล้าเป็นอาการของปัญหาทางสุขภาพที่มีอยู่แล้ว อาทิ โรคตับ โรคไต โรคหัวใจ โรคความดัน เป็นต้น บางรายหากพื้นฐานเป็นคนเครียดและมีอาการซึมเศร้าเป็นทุนเดิม จะเป็นตัวกระตุ้นชั้นดีต่อการเกิดโรคนี้อย่างมาก หากมีอาการเหล่านี้แนะนำว่าควรไปพบแพทย์เพื่อทำการักษาจะดีที่สุด
          เอาเป็นว่าหลังเฉลิมฉลองช่วงเทศกาลแล้วเสร็จ หมั่นดูแลสุขภาพกายใจของตนเอง จากที่เคยดื่มหัวราน้ำยันเช้าก็เพลาๆ ลงบ้าง หาเวลาพักผ่อนเพื่อจะได้มีแรงในการทำงาน
          และอย่าลืมโทรศัพท์หาคนที่รัก อาทิ พ่อแม่ ลูก รวมไปถึงคู่รักในยามที่ห่างไกลจะเป็นกำลังใจชั้นดีต่อการสู้งานหนักแถมโรคอ่อนล้าจากการทำงานก็ไม่ถามหา

          หลีกให้ไกลยานอนหลับ
          กรมสุขภาพจิต แนะว่าหลังกลับมาจากเฉลิมฉลองช่วงเทศกาลปีใหม่ ควรจะลดละแอลกอฮอล์และพักผ่อนให้เพียงพอ โดยการนอนหลับจะดีที่สุด และหมั่นออกกำลังกายเมื่อมีโอกาสหากใครเป็นโรคประจำตัวก็หมั่นกินยาหรือหมั่นไปหาหมอ
          ข้อระวังอีกอย่าง หากรู้สึกนอนไม่หลับแต่อยากพักผ่อน ไม่ควรกินยานอนหลับ หากกินเป็นเวลานานๆ อาจทำให้ติดและอาจเกิดอาการข้างเคียงได้ เช่น เวียนศีรษะ เบื่ออาหาร ท้องเสีย สะลึมสะลือ
          หากใช้ยาเกินขนาดอาจทำให้เกิดอาการสับสน ความดันเลือดต่ำ การหายใจถูกกด หมดสติ จนถึงช็อกได้ ดังนั้น การใช้ยานอนหลับจึงควรอยู่ในการควบคุมดูแลของแพทย์จะดีกว่า
      


pageview  1205734    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved