HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 03/01/2556 ]
'สปสช.'ยึดโมเดลญี่ปุ่นตั้งกองทุนชรา รับสังคมผู้สูงอายุเก็บเบี้ยวัย40ปีขึ้นเล็งออกกม.เฉพาะ

 สปสช.เตรียมขยายสิทธิดูแลสุขภาพผู้สูงวัยเท่าเทียมทุกกองทุน


กรณีที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) เตรียมขยายนโยบายบูรณาการ 3 กองทุนสุขภาพภาครัฐ ทั้งกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ 30 บาทรักษาทุกโรคกองทุนประกันสังคม และกองทุนสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการไปยังกลุ่มผู้ป่วยโรคมะเร็ง เบื้องต้นมุ่งไปที่โรคมะเร็งปากมดลูกและมะเร็งเต้านม ก่อนจะขยายไปยังมะเร็งชนิดอื่นๆอีกรวมประมาณ 4-5 ชนิด คาดจะเห็นผลเป็นรูปธรรมช่วงเดือนเมษายน 2556


เมื่อวันที่ 2 มกราคม นพ.วินัย สวัสดิวรเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) กล่าวว่า ภายใน 1-2 สัปดาห์นี้จะมีการหารือร่วมกับสำนักงานประกันสังคม (สปส.) และกรมบัญชีกลาง ถึงความร่วมมือในการขยายสิทธิบูรณาการ 3 กองทุนสุขภาพภาครัฐ กรณีรักษาผู้ป่วยมะเร็ง โดยในเพศหญิงจะเน้นไปที่มะเร็งปากมดลูก และมะเร็งเต้านม ส่วนในเพศชายจะเน้นไปที่มะเร็งปอด มะเร็งตับ และมะเร็งลำไส้มะเร็งเหล่านี้เป็นชนิดที่พบได้บ่อย แต่ปัญหาคือในเรื่องของค่าใช้จ่ายในการรักษาค่อนข้างสูง ตรงนี้ต้องมาหารือกันว่าจะทำอย่างไรให้อัตราค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลเท่ากัน เพราะหากสปสช.ต้องเป็นเคลียริ่งเฮ้าส์ (Clearing house)หรือเป็นหน่วยเบิกจ่ายกลาง โดยต้องสำรองจ่ายค่ารักษาให้ผู้ป่วยก่อน และไปเรียกเก็บเงินจากกองทุนเจ้าของสิทธิภายหลัง กรณีดังกล่าวทำให้ต้องมีอัตราค่าเบิกจ่ายเท่ากันหมด เรื่องนี้ต้องคุยรายละเอียดด้วย


นพ.วินัยกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างศึกษาในกลุ่มผู้ป่วยอื่นๆ รวมไปถึงการดูแลผู้สูงอายุ เนื่องจากสังคมไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ จึงต้องเตรียมพร้อมในแง่การดูแลสุขภาพขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษาโมเดลจากประเทศพัฒนาต่างๆ เช่น ญี่ปุ่น เพราะเป็นประเทศที่มีผู้สูงอายุมากและมีการดูแลดี อย่างไรก็ตามเบื้องต้นจะเน้นการดูแลผู้สูงอายุในพื้นที่คือ ไม่เน้นสร้างบ้านพักผู้สูงอายุ เพื่อให้ไปอยู่ยามชราโดยปราศจากลูกหลานดูแล แต่จะเน้นพัฒนาชุมชน ให้คนในชุมชนช่วยดูแลกัน อาจเป็นอาสาสมัครประจำหมู่บ้าน (อสม.) ร่วมกับท้องถิ่นหรืออาจเป็นเยาวชนลงพื้นที่ดูแลในส่วนนี้ โดยต้องมีค่าใช้จ่ายให้คนดูแลในสัดส่วนที่เหมาะสม จึงมีความเป็นไปได้ที่จะเรียกเก็บเบี้ยประกันสุขภาพวัยชรา โดยอาจเริ่มเก็บที่อายุ 40 ปี จนถึง 60 ปีก็หยุดและระบบจะดูแลคนกลุ่มนี้เอง รายละเอียดจะต้องหารือร่วมกับอีก 2 กองทุนเช่นกัน


ผู้สื่อข่าวถามว่า การเก็บเบี้ยประกันสุขภาพวัยชราจำเป็นต้องตั้งเป็นกองทุนหรือไม่เลขาธิการ สปสช.กล่าวว่า หากจะตั้งเป็นกองทุนจำเป็นต้องปรับแก้กฎหมายหรือออกเป็นกฎหมายเฉพาะในการเรียกเก็บเบี้ยดังกล่าว แต่ตรงนี้ต้องหารืออีกครั้ง เพราะยังไม่แน่ชัดว่าจำเป็นต้องตั้งเป็นกองทุนหรือจะเป็นเพียงการเพิ่มเติมจากสิทธิประโยชน์ด้านการรักษาพยาบาลพื้นฐานที่ทุกคนได้รับอยู่แล้ว คาดว่าจะมีความชัดเจนภายหลังศึกษาดูงานที่ประเทศญี่ปุ่นในกลางเดือนมกราคมนี้


"จริงๆ แล้วนโยบายบูรณาการนั้น นอกจากจะให้ประชาชนทั้ง 3 กองทุน ได้เข้าถึงการบริการรักษาอย่างเท่าเทียมแล้ว ยังเป็นการสร้างระบบการเบิกจ่ายของ 3 กองทุนให้มาอยู่ในที่เดียวกันโดยเฉพาะในกลุ่มโรคราคาแพง และเข้าถึงยากทำให้ได้ฐานข้อมูลระดับประเทศ และรู้ว่าแต่ละกองทุนมีปัญหาอะไร เพื่อจะได้หาทางแก้ไขที่สำคัญยังช่วยควบคุมค่าใช้จ่าย การควบคุมทางการเงิน จะต้องไม่กระทบการเข้าถึงบริการโดยหลักคือ การบูรณาการ 3 กองทุน ไม่ว่าจะเป็นนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉิน หรือมาตรฐานการรักษาโรคเอดส์และไต ที่ผ่านมา รวมทั้งการจะขยายไปยังกลุ่มโรคมะเร็งนั้น ทั้งหมดจะต้องคำนึงถึงประชาชนให้ได้รับการบริการอย่างเสมอภาคทุกคน" เลขาธิการ สปสช.กล่าว


pageview  1205463    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved