HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 03/01/2556 ]
'ศิริราช'เจ๋งผ่าตัดส่องกล้อง ช่วยทารกในครรภ์รอดชีวิต

ทีมแพทย์ศิริราชสำเร็จครั้งแรกในเอเชีย บูรณาการรักษาด้วยเทคนิค 'ผ่าตัดส่องกล้อง'ช่วยชีวิตทารกในครรภ์ภาวะกระเพาะปัสสาวะอุดกั้น เผยพบ 1 ใน 50,000 คน แต่รอดยาก


เมื่อวันที่ 2 มกราคม คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล แถลงข่าว "สำเร็จเป็นแห่งแรกในเอเชีย ศิริราชผ่าตัดส่องกล้องทารกในครรภ์ รักษาภาวะกระเพาะปัสสาวะอุดกั้น"
ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราช แถลงว่า คณะแพทยศาสตร์ศิริราชได้พัฒนาเทคนิคการผ่าตัดส่องกล้องมาใช้ในการผ่าตัดทารกในครรภ์ เพื่อรักษาภาวะกระเพาะปัสสาวะอุดกั้นสำเร็จเป็นแห่งแรกในเอเชีย ทั้งนี้ การผ่าตัดลักษณะดังกล่าวค่อนข้างยาก ต้องอาศัยแพทย์ที่เชี่ยวชาญในการใช้กล้องและเครื่องฟีโตสโคป (fetoscope) และต้องอาศัยแพทย์จาก ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา ร่วมกับภาควิชาศัลยศาสตร์ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ บูรณาการรักษาเพื่อช่วยชีวิตทารก


รศ.นพ.วิทยา ถิฐาพันธ์ หัวหน้าหน่วยเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวช แถลงว่า ภาวะดังกล่าวเป็นความผิดปกติแต่กำเนิด พบได้เพียง 1 ใน 50,000 คน เกิดจากมีแผ่นเนื้อเยื่อผิดปกติอุดกั้นทางออกของกระเพาะปัสสาวะที่ต่อไปยังท่อปัสสาวะ เป็นผลให้น้ำปัสสาวะไม่สามารถผ่านออกได้ ทำให้กระเพาะปัสสาวะบวมตึง รวมถึงแรงดันที่ย้อนกลับขึ้นไปตามท่อไตจะทำให้ไตบวมและไตวายในที่สุด ซึ่งทารกที่ป่วยด้วยโรคนี้จะแท้งหรือเสียชีวิตในครรภ์เป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะเพศชาย เนื่องจากท่อปัสสาวะยาวเอื้อต่อการเกิดภาวะดังกล่าว
รศ.นพ.ตวงสิทธิ์ วัฒกนารา แพทย์ผู้ทำการรักษาประจำหน่วยเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ แถลงว่า ปกติไตทารกสร้างน้ำปัสสาวะแล้วปล่อยลงไปเก็บที่กระเพาะปัสสาวะ จากนั้น จะบีบตัวเพื่อขับน้ำออกมาเข้าไปปนกับน้ำคร่ำที่อยู่ล้อมรอบตัวทารก ปริมาณน้ำคร่ำที่มีในถุงน้ำคร่ำส่วนใหญ่จึงมีน้ำปัสสาวะปนด้วย แต่จากการตรวจอัลตราซาวด์ในครรภ์มารดารายนี้เมื่ออายุครรภ์ 18 สัปดาห์ พบน้ำคร่ำน้อยมาก จึงรู้ว่ามีความผิดปกติ เมื่อตรวจเพิ่มด้วยคลื่นสะท้อนพลังแม่เหล็ก (เอ็มอาร์ไอ) พบว่าทารกมีภาวะกระเพาะปัสสาวะอุดกั้น ซึ่งหากไม่รักษาทารกอาจเสียชีวิตได้


"การผ่าตัดเริ่มที่อายุครรภ์ 16-26 สัปดาห์ เพราะหากมากหรือน้อยจะมีผลต่อเด็ก ในการผ่าตัดทีมแพทย์ใช้วิธีบล็อกหลังแทนการดมยาสลบ เพื่อสื่อสารกับแม่เด็กได้ตลอดเวลา จากนั้น สอดกล้องขนาด 1.3 มิลลิเมตร ผ่านผนังหน้าท้องเข้าไปในถุงน้ำคร่ำ ต่อไปยังกระเพาะปัสสาวะของทารกในครรภ์ แล้วสำรวจโครงสร้างภายในกระเพาะปัสสาวะของทารกโดยละเอียด เมื่อพบตำแหน่งอุดกั้นในท่อปัสสาวะ จึงใช้เลเซอร์กำลังต่ำเจาะเปิดตำแหน่งที่อุดกั้นเพื่อให้น้ำปัสสาวะสามารถผ่านท่อปัสสาวะออกมาได้ หลังการผ่าตัดพบว่า ทารกมีหัวใจเต้นดี กระเพาะปัสสาวะยุบตัวและน้ำคร่ำมีปริมาณเพิ่มขึ้น การผ่าตัดใช้เวลา 1 ชั่วโมง จากการติดตามทารกคลอดออกมาเป็นปกติดี แม้น้ำหนักแรกคลอดเพียง 1.8 กิโลกรัม แต่ปัจจุบันมีน้ำหนัก 2.3 กิโลกรัม ขณะนี้อายุ 1 เดือน"


รศ.นพ.ตวงสิทธิ์กล่าว และว่า ขณะนี้ รพ.ศิริราช ได้เปิด "กองทุนการรักษาทารกในครรภ์" เพื่อช่วยเหลือมารดากลุ่มดังกล่าว ผู้สนใจสามารถบริจาคได้ที่ ศิริราชมูลนิธิ ตึกมหิดลบำเพ็ญ ชั้น 1 รพ.ศิริราช โทร.0-2419-7658-60


pageview  1205464    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved