HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 02/01/2556 ]
'เจ็บป่วยฉุกเฉิน' สู่ทิศทางบูรณาการสามกองทุน

วารุณี สิทธิรังสรรค์ catcatt_2927@hotmail.com


"การบูรณาการสามกองทุน" กลายเป็นนโยบายเด่นด้านสาธารณสุขของพรรคเพื่อไทย ที่แซงหน้ากว่าการฟื้นคืน "30 บาทรักษาทุกโรค" ที่มีการพัฒนาการบริการเพิ่มจากเดิมเสียอีก เนื่องจากเห็นผลชัดเจนกว่า จากนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินรักษาได้ทุกแห่ง ที่ประเดิมเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2555 และตามมาด้วยนโยบายการรักษาเอดส์และไตมาตรฐานเดียว


ต่อด้วยในปี 2556 รัฐบาลยังครอบคลุมไปถึงการรักษาโรคมะเร็งสามกองทุนให้ได้สิทธิเท่าเทียม ซึ่งเชื่อว่าจะขยายไปยังกลุ่มโรคอื่นๆ อีก ด้วยเหตุนี้กลายเป็นคำถามว่า จะมีการรวมสามกองทุน ทั้งกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า กองทุนประกันสังคม และกองทุนสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ โดยให้หน่วยงานเดียวเป็น ผู้บริหารจัดการหรือไม่ เพราะนอกจากจะทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงการบริการอย่างเท่าเทียมแล้ว ยังช่วยในเรื่องการควบคุมค่าใช้จ่าย "ต้องถามกลับว่า หากรวมแล้วจะก่อประโยชน์อย่างไร เพราะเมื่อมีการบูรณาการในบางกลุ่มโรคจำเป็นที่มีราคาแพง นอกจากผู้ป่วยจะเข้าถึงบริการ และได้รับการรักษาอย่างเสมอภาคแล้ว แนวคิดรวมสามกองทุนก็ไม่มีความหมาย..." ถ้อยคำของ นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ไขข้อข้องใจเรื่องนี้


ประเด็นการรวมสามกองทุน มีการพูดคุยมานาน แต่ไม่ได้รับการตอบรับมากนัก เพราะเชื่อว่าการรวมลักษณะ ดังกล่าวจะทำให้การเพิ่มสิทธิประโยชน์ไม่กระเตื้อง แต่หากแยกส่วนกันจะทำให้เกิดการแข่งขัน ซึ่งจะส่งผลดีต่อประชาชน จึงนำมาสู่นโยบายการบูรณาการฯ ที่เน้นในเรื่องการจัดการปัญหาการรักษาที่ไม่เท่าเทียมของแต่ละกองทุนแทน โดยเริ่มจากการบริการ "เจ็บป่วยฉุกเฉิน" นพ.วินัยกล่าวว่า หลังจากให้บริการเจ็บป่วยฉุกเฉิน ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน-30 พฤศจิกายน 2555 มีผู้ใช้สิทธิ 12,845 ราย จากโรงพยาบาล (รพ.) ทั้งหมด 239 แห่ง โดยสัดส่วนข้าราชการใช้สิทธิมากที่สุดในสัดส่วน 121 คนต่อแสนประชากร หลักประกันสุขภาพฯ 12 คนต่อแสนประชากร และผู้ประกันตน 9 คนต่อแสนประชากร ส่วนใหญ่มาด้วยโรคหัวใจ และอุบัติเหตุต่างๆ ซึ่งในภาพรวมถือว่าช่วยเหลือชีวิตของประชาชนได้รวดเร็วขึ้น ทำให้การเข้าถึงบริการง่ายขึ้น


เมื่อถามถึงอุปสรรค ยังติดเรื่องคำนิยาม ประชาชนบางคนไม่อยู่ในกรณีฉุกเฉินแต่อยากใช้สิทธิ แต่ รพ.บางแห่งก็ไม่ดำเนินการตามคำนิยาม แม้จะรักษาให้พ้นวิกฤตแต่ก็มีปัญหาเรียกเก็บอีก ตรงนี้ก็ต้องสร้างความเข้าใจในคำว่า "ฉุกเฉิน" จะยึดตาม พ.ร.บ.การแพทย์ฉุกเฉิน พ.ศ.2551 ส่วนเรื่องการส่งต่อผู้ป่วยเมื่อพ้นภาวะวิกฤต ยังเป็นเรื่องที่ต้องปรับปรุง เพราะที่ผ่านมา สปสช.หาเตียงเพื่อส่งต่อผู้ป่วยไปยัง รพ.ในสิทธิใช้เวลา 2 วัน ทั้งที่ต้องเร็วกว่านี้ แม้จะมีอุปสรรค แต่ด้วยเจตนารมณ์ที่ดีจึงขยายไปสู่การรักษาเอดส์และไตมาตรฐานเดียว ซึ่งมุ่งเน้นการวินิจฉัยโรค การให้ยาเหมือนกัน และเมื่อเปลี่ยนแปลงสิทธิจะสามารถรักษาต่อได้เหมือนสิทธิเดิม


แม้ปี 2555 การบูรณาการต่างๆ จะไม่สมบูรณ์เต็มร้อย แต่รัฐบาลยังสานต่อนโยบายด้วยการขยายไปยังโรคมะเร็ง เบื้องต้นเลือกกลุ่มมะเร็งปากมดลูก และมะเร็งเต้านม รวมทั้งจะให้บริการดูแลผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายทุกชนิดอีก ยังมีแนวคิดในการครอบคลุมไปยังผู้สูงอายุ เนื่องจากสังคมไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย จึงต้องเตรียมพร้อมในแง่การดูแลสุขภาพ แว่วว่า ผู้บริหาร สปสช.เตรียมบินไปญี่ปุ่นเพื่อศึกษาดูงานการดูแลผู้สูงอายุในเดือนมกราคมนี้ เพราะญี่ปุ่นจัดเป็นประเทศที่มีกลุ่มคนสูงวัยมาก โดยสัดส่วนผู้สูงวัยอายุ 65 ปี พบถึง 24 คนต่อ 100 คน ส่วนไทยอายุ 60 ปีพบ 11 คนต่อ 100 คน


หวังว่าจะไม่ใช่แค่นโยบายที่สวยหรู เพียงเพื่อรวมการบริหารแค่หน่วยเดียวเท่านั้น...
 


pageview  1205464    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved