HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 26/12/2555 ]
ตบเท้า-เช็กความพร้อม หน่วย SOS ระวังภัย 24 ชม.

ศิวพร อ่องศรี


เริ่มต้นนับ 1 วันนี้เป็นวันแรกสำหรับโครงการ 7 วันอันตรายลดอุบัติเหตุทั่วประเทศ ช่วงเทศกาลปีใหม่ตั้งแต่วันที่ 27 ธันวาคม 2555 ถึง 2 มกราคม 2556


ที่ผ่านมาแม้จะตั้งเป้าลดการเกิดอุบัติเหตุให้เหลือเพียง 0 แต่ยังคงมีผู้สูญเสียปีละไม่น้อย
ล่าสุด ข้อมูลจากศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2555 ได้สรุปสถิติอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2555 รวม 7 วัน เกิดอุบัติเหตุรวม 3,093 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 335 ราย และมีผู้บาดเจ็บ 3,375 คน


เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกสำหรับผู้ที่พบเห็นเหตุร้าย หรืออาจจะประสบอุบัติเหตุด้วยตนเอง เราไปสำรวจตรวจสอบการเตรียมความพร้อมของหน่วยกู้ภัยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง มูลนิธิร่วมกตัญญู สำหรับผู้ที่กำลังจะเดินทางในช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่


เริ่มจากหน่วยงานแรก สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) หรือที่ใครๆ ก็รู้จักกันอีกชื่อหนึ่งว่า ศูนย์นเรนทร โดย นพ.ประจักษวิช เล็บนาค รองเลขาธิการ สพฉ.เล่าถึงหน้าที่ของ สพฉ.หรือศูนย์ นเรนทร ว่าทาง สพฉ.มีศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการทางเบอร์โทรศัพท์ 1669 ซึ่งทาง สพฉ.จะมีการสั่งการให้รถแผนกฉุกเฉินออกไปปฏิบัติการโดยไม่จำเป็นว่าต้องเป็นเพียงรถของศูนย์นเรนทรเท่านั้นจะเป็นรถของโรงพยาบาลไหนก็ได้


"เรามีศูนย์รับแจ้งเหตุอยู่ทุกจังหวัด 77 จังหวัด และบางแห่งใน 1 จังหวัดมี 2 ศูนย์ เช่น อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ และ อ.แม่สอด จ.ตาก โดยศูนย์เหล่านี้จะมีหน้าที่ประสานงานและสั่งการไปยังทีมรถกู้ชีพหรือรถการแพทย์ฉุกเฉินทุกหน่วยงานที่มีการขึ้นทะเบียนกันไว้ ซึ่งมีทั้งหมดทั่วประเทศประมาณ 14,000 คน โดยมี สพฉ.ประสานงานเป็นหลัก" นพ.ประจักษวิชเล่าส่วนการเตรียมความพร้อมของศูนย์นเรนทรนั้น นพ.ประจักษวิชบอกว่า ในช่วงเทศกาลปีใหม่นี้ โอเปอร์เรเตอร์จะทำงานตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อรองรับกับเหตุที่เกิดขึ้น นอกจากแจ้งเหตุทางโทรศัพท์แล้ว จะมีการรับแจ้งทางเครือข่ายวิทยุ เครือข่ายอาสาต่างๆ


ในส่วนของหน่วยกู้ภัย มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง นั้นวรพจน์ จรัสเศรษฐสิริ เจ้าหน้าที่หัวหน้ากู้ภัยผลัดที่ 1 หน่วยกู้ภัย มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง เล่าถึงหน้าที่และการทำงานของมูลนิธิ ว่าป่อเต็กตึ๊งจะออกช่วยเหลือประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง โดยจะทำหน้าที่เฝ้าระวัง และจะมีการประจำตามจุดต่างๆ ทั้งสถานีตำรวจและจุดเสี่ยงล่อแหลมเกิดอุบัติเหตุต่างๆ ในพื้นที่ 6 จังหวัดภาคกลาง ได้แก่ จ.พระนครศรีอยุธยา, ปทุมธานี, อ่างทอง, สิงห์บุรี, ลพบุรี และ จ.สระบุรี โดยเราจะมีอาสาสมัครกู้ภัยประจำจังหวัดร่วมกับทางมูลนิธิต่างๆ ที่รับผิดชอบในพื้นที่


"ทางมูลนิธิจะอยู่ร่วมกับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจในเขตปริมณฑล ในจุดเสี่ยงล่อแหลมเกิดอุบัติเหตุและจุดที่ประชาชนเดินทางออกไปต่างจังหวัด สำหรับเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิจะมีประมาณ 2,000-3,000 คน กระจายกำลังโดยมีผู้บังคับบัญชาจะสั่งการไปยังหัวหน้าในแต่ละจุดต่างๆ" วรพจน์บอกสำหรับจุดล่อแหลมและต้องเฝ้าระวังให้มากที่สุด ส่วนมากจะเป็นตามแยกไฟแดง เช่น ถนนบรมราชชนนี ฝั่งพุทธมณฑล, มอเตอร์เวย์, ถนนบางนา-ตราด, ถนนวิภาวดีรังสิต, ถนนสายเอเชีย พหลโยธิน


ส่วนทางด้านมูลนิธิร่วมกตัญญู อัญวุฒิ โพธิ์อำไพ รองหัวหน้าฝ่ายประชาสัมพันธ์ มูลนิธิร่วมกตัญญู เล่าถึงการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่มูลนิธิร่วมกตัญญูว่า ในช่วง 7 วันอันตรายตามทางหลวงต่างๆ ที่มีด่านตรวจเข้มมากกว่าเดิม ทางมูลนิธิร่วมกตัญญูจะอำนวยความสะดวก สร้างความปลอดภัยตลอดทุกเส้นทางจะอยู่ในสี่มุมเมืองของถนน ทางด้านขาออกนอกเมืองทุกพื้นที่ โดยจะมีเจ้าหน้าที่ประจำจุดต่างๆ พร้อมอุปกรณ์ และทางมูลนิธิได้ขอความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่ไม่อนุญาตให้ขาด, ลางาน และหยุดงานในช่วง 7 วันอันตราย และเพิ่มศักยภาพโดยจะมีรถพยาบาลเตรียมเวชภัณฑ์ต่างๆ ให้เต็มศักยภาพและเต็มรูปแบบ ส่วนรถกู้ภัยเราได้มีการตรวจเช็กความพร้อมเพื่อป้องกันความปลอดภัย ลดความสูญเสียให้น้อยลงที่สุด


"เรามีอาสาสมัครประมาณ 5,000 คน ในช่วง 7 วันอันตรายจะเตรียมเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครไว้ประมาณ 2,000-3,000 คน โดยจะมีการตรวจร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในแต่ละพื้นที่ เช่น กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ประจำจังหวัดต่างๆ, เจ้าหน้าที่ ศพฉ.ในแต่ละพื้นที่ ฯลฯ โดยจะเน้นตรวจในช่วงวันที่ 27-28 ธันวาคม 2555 ในการเดินทางออกต่างจังหวัด และในช่วงวันที่ 2-3 มกราคม 2556 ในการเดินทางกลับเข้ากรุงเทพฯ" รองหัวหน้าฝ่ายประชาสัมพันธ์ มูลนิธิร่วมกตัญญูเล่า


เส้นทางที่เกิดอุบัติเหตุมากที่สุดนั้น อัญวุฒิบอกว่าจะใช้เส้นทางหลวง เช่น ถนนมิตรภาพ เราจะเน้นอาสาสมัครในพื้นที่ในแต่ละจังหวัด ในวันเดินทางจะดูแลในช่วงถนนมอเตอร์เวย์ตัดสาย 9 ตั้งแต่ด่านเก็บเงินทับช้างมุ่งหน้าไปจนถึงลงมอเตอร์เวย์เบี่ยงซ้าย, ถนนมิตรภาพ จะมีเจ้าหน้าที่อาสาสมัคร จ.สระบุรี และ อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา และในส่วนของนครบาลจะดูแลในช่วงถนนมอเตอร์เวย์มุ่งหน้าออกทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ, ถนนพระราม 2 ออกเส้นทางเพชรเกษมลงสายใต้, ถนนบางนา-ตราด กับมอเตอร์เวย์มุ่งหน้าไป จ.ชลบุรี


ทางที่ดีควรตั้งสติก่อนสตาร์ต รวมทั้งก่อนออกเดินทางควรจะมีการตรวจเช็กรถให้เรียบร้อย เช่น ลมยาง, น้ำมัน, น้ำกลั่น ฯลฯ โดยเฉพาะลมยางสำคัญที่สุด หากเติมลมยางแข็งมากเกินไป อาจเกิดยางระเบิดขึ้นได้
ที่สำคัญควรหลีกเลี่ยงสุราและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในขณะขับรถเมาไม่ขับ และควรพักผ่อนให้เพียงพอ ควรเตรียมร่างกายให้พร้อมในการเดินทาง เพื่อจะเดินทางให้ถึงจุดหมายได้อย่างปลอดภัย
สายด่วน"กู้ภัย"


1. ศูนย์กู้ภัยโยธิน โทร.0-2901-6232 กด 0
2. มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง โทร.0-2226-4444
3. มูลนิธิร่วมกตัญญู โทร.0-2751-0951
4. ศูนย์หัวเฉียวพิทักษ์ชีพ รพ.หัวเฉียว โทร.0-2223-1774
5. ศูนย์กู้ชีพนเรนทร รพ.ราชวิถี โทร.0-2248-2222
6. ศูนย์ส่งกลับ รพ.ตำรวจ โทร.0-2255-1133-6, 1691
7. ศูนย์นเรนทร โทร.1669
8. หน่วยแพทย์กู้ชีวิต วชิรพยาบาล โทร.1554


pageview  1205457    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved