HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 03/12/2555 ]
ชายไทยเสี่ยงสูง ตาบอดสีแบบไม่รู้ตัว

ตาบอดสี...ไม่ใช่โรคติดต่อภายนอก แต่ส่งทอดกันในระดับโครโมโซมเพศ ซึ่งจะมียีนตาบอดสี ฮีโมฟิเลีย ทำให้กล้ามเนื้อแขนขาลีบ งานนี้ผู้ชายตั้งใจอ่านดีๆ เพราะโรคนี้ผู้ชายมีโอกาสเป็นมากกว่าผู้หญิง สัดส่วนถึง 10 ต่อ 1 เลยทีเดียว
          นพ.ฐาปนวงศ์ ตั้งอุไรวรรณ จักษุแพทย์โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า ให้ข้อมูลว่า ผู้ป่วยตาบอดสี (Color Blindness) ยังสามารถมองเห็นได้ตามปกติ แต่จะผิดปกติในเรื่องการแยกสีโดยทั่วไปสามารถแบ่งรูปแบบความผิดปกติออกเป็น 2 กลุ่ม
          กลุ่มแรก เป็นกลุ่มตาบอดสีแต่กำเนิด พบในเพศชายร้อยละ 7 เพศหญิงร้อยละ 1 ประเภทสีที่พบในผู้ป่วยมากที่สุดคือ ตาบอดสีแดง สีเขียว โดยผู้ป่วยจะแยกสีดังกล่าวออกจากสีอื่นๆ ไม่ได้ ยิ่งในช่วงมืดๆ ที่แสงสว่างไม่มากนักจะแยกได้ลำบากมาก
          ตาบอดสีน้ำเงิน สีเหลือง พบได้รองลงมาหน่อย แย่หน่อยตรงที่คนที่บอดสีแดง เขียว จะบอดสีน้ำเงิน สีเหลืองไปด้วยอีก 2 สีด้วย แต่ตาบอดสีทุกสี (Achromatopsia หรือ Total Color Blindness) ใช่ว่าจะไม่มี แต่พบได้น้อย อาการคือจะมองไม่เห็นสีอื่นใดนอกจากสีขาวและดำ
          อีกกลุ่มหนึ่ง เป็นกลุ่มที่เพิ่งตาบอดสีในภายหลัง โดยปริมาณแล้วพบได้น้อย แต่ส่วนใหญ่เกิดในผู้ป่วยโรคจอประสาทตาหรือเส้นประสาทตาอักเสบ ผู้ป่วยจะมองเห็นสีต่างๆ อยู่แต่จะเรียนชื่อสีหรือเห็นสีผิดเพี้ยน ส่วนใหญ่จะผิดปกติในสีน้ำเงิน สีเหลือง มากกว่าสีแดง สีเขียว อาจเป็นทั้งสองข้างหรือข้างเดียวก็ได้แล้วแต่สาเหตุและความรุนแรงของโรค
          ปัจจุบันวงการจักษุแพทย์ทั่วโลกยังไม่สามารถรักษาโรคตาบอดสีให้หายขาดได้ และตาบอดสีในคนไทยส่วนใหญ่จะเป็นมาแต่กำเนิด จะรู้ตัวอีกทีก็เมื่อสาย เช่น ตรวจพบว่าเป็นตาบอดสีหลังผ่านข้อเขียนสอบเข้าโรงเรียนเตรียมทหาร
          การตรวจความผิดปกติของสายตาจึงเป็นวิธีเช็กว่าตัวเองเป็นตาบอดสีหรือไม่ ถ้ารู้ว่าแยกสีได้ไม่เหมือนคนอื่นก็ควรไปพบจักษุแพทย์ เพราะถ้าเป็นโรคนี้แล้วอาจเลือกที่จะหายขาดไม่ได้ แต่เลือกที่จะใช้ชีวิตแบบปกติสุขได้
          สำหรับสามีภรรยาคู่ไหนที่เป็นตาบอดสี ขอแนะให้รีบพาลูกไปพบจักษุแพทย์เสียแต่เนิ่นๆ จะได้รู้ว่าเป็นตาบอดสีอยู่ในกลุ่มไหน เพื่อจะได้วางแผนอนาคตของลูกว่าจะเลือกสายการเรียนใด อาชีพในอนาคตอะไรเพื่อไม่ให้ข้อจำกัดเรื่องการมองเห็นทำลายความตั้งใจของลูกโดยไม่รู้ตัว
          ให้ความรู้เพิ่มอีกนิดว่า อาชีพที่ไม่เหมาะสมกับคนตาบอดสี ประกอบด้วย ทหาร ตำรวจ นักบิน นักเดินเรือ นักร้อยสายไฟ วิชาชีพแพทย์ และสาธารณสุข เจ้าหน้าที่ห้องแล็บ อาชีพที่ต้องใช้ความสามารถในการแยกแยะสี เช่น นักเคมี จิตรกร พนักงานตรวจคุณภาพสินค้ารวมถึงอาชีพอื่นๆ ที่ต้องทำงานกับสีด้วย
          ตรวจก่อนรู้ก่อนแก้ไขเสียแต่เนิ่นๆ
          ขณะนี้กำลังมีการเสนอให้กระทรวงศึกษาธิการ เพิ่มบริการตรวจโรคตาบอดสีให้แก่เด็ก ป.1 ทุกโรงเรียน เพื่อให้เด็กหรือพ่อแม่รู้ปัญหาของลูกว่าตาบอดสีหรือไม่ โดยใช้ภาพทดสอบตาบอดสีอย่างง่าย 13 แผ่น เบื้องต้นถ้ามีความผิดปกติให้ส่งตัวพบจักษุแพทย์ใกล้บ้าน
          สำหรับคนที่เพิ่งตาบอดสีภายหลัง อาการไม่หนักมากนักให้ตรวจเช็กสายตา แล้วใช้แว่นตาช่วยปรับการมองเห็น คนที่ตาบอดสีแต่กำเนินควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับคำแนะนำถึงโอกาสการถ่ายทอดทางพันธุกรรม และหลีกเลี่ยงภาวะตาบอดสีในหมู่ญาติ
 


pageview  1206111    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved