HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 28/11/2555 ]
เครื่องล้างผักไฮเทคนวัตกรรมขจัดสารพิษ

ร้านอาหารในปัจจุบันเริ่มหันมาใช้ผักปลอดสารพิษเพื่อเป็นจุดขายให้กับผู้บริโภค แต่นั้นหมายถึงต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น กลายเป็นอุปสรรคสำคัญที่ผู้ประกอบการต้องเผชิญ แต่ไม่ใช่ปัญหาสำหรับ หจก.แสบซอย 9 ผู้ประกอบการร้านอาหาร บุฟเฟต์ชื่อดังใน จ.อุบลราชธานี ที่หันมาใช้เครื่องล้างผักแนวใหม่ สามารถกำจัดสารตกค้างในผักให้หมดไปได้ โดยไม่จำเป็นต้องใช้ผักออร์แกนิก
          ความสำเร็จดังกล่าวเริ่มต้นจากปัญหาใหญ่ของร้านอาหารบุฟเฟต์ที่ต้องจัดการกับวัตถุดิบจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นของสดที่ต้องการคุณภาพ  ฌานนท์ ศรีธัญญรัตน์ หุ้นส่วนและผู้จัดการร้านแสบซอย 9 บอกว่า การกำจัดสารตกค้างในผักให้หมดไปเป็นเรื่องที่ยากมาก แม้จะใช้วิธีล้างด้วยด่างทับทิม แต่ก็ยังคงพบสารตกค้างทุกครั้งที่สุ่มตรวจ
          ด้วยความตั้งใจพัฒนาคุณภาพของร้านอาหารทั้ง 2 สาขา ซึ่งมีลูกค้ากว่า 800 คนต่อวัน ให้เข้าโครงการร้านอาหารปลอดภัย เขาได้ขอรับคำปรึกษาจาก ผศ.อดุลย์ จรรยาเลิศอดุลย์ อาจารย์จากภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เพื่อพัฒนาต้นแบบเครื่องล้างผักที่สามารถกำจัดสารพิษที่ตกค้างในผักให้หมดไปได้
          โครงการดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากไอเทป หรือ โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ที่สนับสนุนเงินทุนส่วนหนึ่งในการพัฒนาตัวเครื่อง จากงบประมาณรวมทั้งสิ้นกว่า 5 แสนบาท
          ฌานนท์บอกว่า เป้าหมายของ หจก.แสบซอย 9 คือ กำจัดสารตกค้างในผักหลากชนิด ซึ่งมีต้นทุนราว 7-8 พันบาทต่อวัน ด้วยเครื่องล้างผักที่มีประสิทธิภาพทดแทนแรงงานคน
          ผศ.อดุลย์บอกว่า เครื่องล้างผักต้นแบบนี้ ใช้ระบบโอโซนร่วมกับการหมุนวนน้ำ ซึ่งสามารถล้างทำความสะอาดผักโดยไม่พบสารปนเปื้อนในผักชนิดต่างๆ ได้แก่ ยาฆ่าแมลง ฟอร์มาลิน โซเดียมไฮโดรซัลไฟต์ (สารฟอกขาว) กรดซาลิซิลิค (สารกันรา) สารบอแรกซ์ตกค้างอยู่ในผักหลังจากการสุ่มตรวจ อีกทั้งด้วยกระบวนการดังกล่าวสามารถประยุกต์ใช้ได้กับผักหลากหลายชนิด เช่น ผักบุ้ง ผักคะน้า ผักชี ผักกาดขาว สะระแหน่ ถั่วงอก ฯลฯ โดยใช้เวลาในการล้างไม่นานนัก อีกทั้งยังพบว่าปริมาณสารตกค้างลดลงได้อีกเมื่อใช้ระยะเวลาล้างนานขึ้น
          "ผักแต่ละชนิดใช้เวลาต่างกัน และเวลาในการล้างผัก มีผลต่อความสะอาดของผักแต่ละชนิดที่นำมาล้าง เช่น เครื่องล้างผักต้นแบบมีขนาดความจุ 50 ลิตร ผักใบใช้เวลาในการล้างครั้งละ 5-10 นาที ถั่วงอกใช้เวลาครั้งละ 10 นาที" ผศ.อดุลย์กล่าวปัญหาสารเคมีตกค้างต้องควบคุมเป็นพิเศษ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้กำหนดค่ามาตรฐานความปลอดภัยของอาหาร ซึ่งผู้ประกอบการต้องทำตาม จากเดิมที่ต้องล้างผักหลายครั้งเพื่อให้ผักสะอาด ทำให้สิ้นเปลืองน้ำ อีกทั้งผักบางชนิดอาจจะช้ำ บางชนิดที่มีใบหยิก และไม่สามารถกำจัดสารตกค้างได้หมด
          ฌานนท์ บอกว่า เครื่องล้างผักแนวใหม่ ถือว่าเป็นนวัตกรรมที่เข้ามาช่วยแก้ปัญหาได้มาก โดยหลังจากทดลองใช้งานในช่วง 5-6 เดือนที่ผ่านมา ประสิทธิภาพเป็นที่น่าพอใจ สามารถลดขั้นตอนการทำงานของพนักงานล้างผักให้เหลือแต่การเอาดินและรากออกก่อนเข้าเครื่อง ทำให้ได้ผักที่มีคุณภาพมากขึ้น โดยไม่ต้องลงทุนผักปลอดสารพิษ
          "ความสำเร็จดังกล่าวทำให้มั่นใจว่า ในอนาคตเครื่องจักรอัตโนมัติจะเข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพให้กับธุรกิจร้านอาหารได้มากขึ้น โดยมีโครงการเพิ่มเติมอื่นๆ เพื่อพัฒนากระบวนการผลิต เช่น เครื่องล้างจาน และเครื่องสไลด์เนื้อ ที่มีคุณสมบัติตรงตามที่ต้องการ สามารถสไลด์เนื้อในขนาดที่แตกต่างกันได้ โดยจะร่วมกับมหาวิทยาลัยพัฒนาต้นแบบและทดสอบใช้งานต่อไป" ฌานนท์กล่าวองค์ความรู้ที่ทันสมัยนี้ เชื่อมั่นว่าในอนาคตจะสามารถผลิตและจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ให้กับผู้ประกอบการที่สนใจ ในราคาที่ถูกได้แน่นอน
 


pageview  1206114    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved