HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 15/02/2555 ]
ฮูหาไม้เรียวคุม'แอลกอฮอล์' ไทยกินเหล้าสูงกว่าโลก9เท่า

         เริ่มแล้ว งานประชุมนโยบายแอลกอฮอล์ระดับโลก (Global Alcohol Policy Conference : GAPC)วันที่  13-15 กุมภาพันธ์นี้ ที่ศูนย์ประชุมอิมแพคเมืองทองธานี ภายใต้หัวข้อ "จากแผนยุทธศาสตร์ระดับโลกสู่การปฏิบัติระดับชาติและท้องถิ่น" ซึ่งเป็นการประชุมครั้งแรกของโลก โดยความร่วมมือของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) องค์การอนามัยโลก(WHO) เครือข่ายนโยบายแอลกอฮอล์ระดับโลก และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) มีนักวิชาการ ทั้งภาคสาธารณสุข ภาครัฐ นักรณรงค์ต่างๆ เข้าร่วมกว่า 1,200 คน จาก 59 ประเทศ อาทิ เกาหลี ญี่ปุ่น อินเดีย นิวซีแลนด์สกอตแลนด์ ไอร์แลนด์ สหรัฐอเมริกา เป็นต้น

          นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดงานว่า การประชุมครั้งนี้เป็นการขับเคลื่อนนโยบายการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกระบุมีประชากรทั่วโลกดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประมาณ 2,000 ล้านคน หรือประมาณ 1 ใน 3 ของประชากรโลก เฉลี่ยดื่มคนละ 6.13 ลิตร เป็นอันตรายและเป็นสาเหตุให้เกิดมากกว่า 60 โรค เช่นเป็นสาเหตุเกิดโรคตับแข็ง 20-50% โรคติดต่อที่สำคัญเช่น การติดเชื้อเอชไอวี/โรคเอดส์ วัณโรค โรคเบาหวาน โรคหัวใจ มีรายงานผู้เสียชีวิตจากการดื่มแอลกอฮอล์ปีละ 2.5 ล้านคน คนไทยดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นอันดับที่ 40 ของโลก เหล้ากลั่นดื่มมากเป็นอันดับ 5 ของโลก ผู้ที่อายุ 15 ปีขึ้นไป ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 16.2 ล้านคน เฉลี่ยดื่มคนละ 58 ลิตรต่อปีสูงกว่าค่าเฉลี่ยโลก 9 เท่าตัว ซึ่งแอลกอฮอล์เป็นต้นเหตุการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจรถึงร้อยละ 90 โดยมีผู้เสียชีวิต 26,000 คนต่อปี ส่วนใหญ่เป็นเยาวชน ก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจปีละไม่ต่ำกว่า150,000 ล้านบาท
          นพ.อนาฟี อัสสาโม บา รองผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก แสดงความเป็นห่วงว่าแต่ละประเทศไม่ควรประเมินศักยภาพของอุตสาหกรรมสุราต่ำเกินไป เพราะอุตสาหกรรมนี้มีงบมหาศาล ทำให้มีอำนาจในการต่อต้านมาตรการต่างๆ หลักฐานทางวิชาการ เพื่อผลักดันนโยบายให้ไปในทิศทางที่อุตสาหกรรมสุราต้องการ เช่น การใช้ล็อบบี้ยิสต์ทำให้สังคมหลงเชื่อไปว่ามาตรการนโยบายแอลกอฮอล์จะทำร้ายระบบเศรษฐกิจ ดังนั้น ภาคประชาชนจึงควรมีส่วนสำคัญในการสร้างความโปร่งใสด้วย
          ดร.ซันดารัม อรุลราช ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคไม่ติดต่อของประเทศอินเดีย ให้ข้อมูลว่าร้อยละ 60  ผู้ป่วยที่เป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCD) ทั้งมะเร็ง หัวใจ ปอด เบาหวาน โรคอ้วน ล้วนมีประวัติการดื่มแอลกอฮอล์ ร่วมกับการสูบบุหรี่ และการบริโภคอาหารขยะ อัตราการเสียชีวิตจะพบมากในผู้มีรายได้ต่ำ และพบว่าเพศหญิงมีการดื่มสุรามากขึ้นด้วย จากข้อมูลของฮู พบว่าอัตราการเกิดโรคหัวใจมีประวัติการดื่มแอลกอฮอล์เกิดขึ้นในเพศชายร้อยละ 23 และเพศหญิงร้อยละ 18 ทั้งนี้ แม้แอลกอฮอล์จะไม่ใช่ปัจจัยหลักของการเกิดโรค แต่มีส่วนทำลายภูมิต้านทานของร่างกายได้ ส่วนจะเป็นสาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งหรือไม่นั้น ในภาพรวมยังไม่มีรายงานวิชาการรองรับ แต่มีข้อมูลว่า ผู้ที่บริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ร้อยละ 10 เสี่ยงเกิดโรคมะเร็ง  เพราะกลไกการบริโภคทำให้เนื้อเยื่อเสียหาย หากได้รับพิษจากเหล้า และสารนิโคตินร่วมกันอาจเพิ่มความเสี่ยงของ
          การเกิดโรคมะเร็งด้วย

pageview  1204951    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved