HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 13/09/2555 ]
ชีวิต.เวลา...กับศรัทธาบารมี

 นพ.วิชัย เทียนถาวร  อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข
          พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์ เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติ วางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา (สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส : กฤษณาสอนน้องคำฉันท์)
          "บัดนี้เราถึงเวลา เกษียณานุสติ ไม่ใช่ มรณานุสติ"
          ณ โรงแรมซิตี้บีช อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2555 "เครือข่ายวิทยาลัยสิรินธร สถาบันพระบรมราชชนก กระทรวงสาธารณสุข  จัดประชุมวิชาการระดับชาติเรื่อง สุขภาวะกับการเปลี่ยนแปลงของสภาวะโลก โดยได้เชิญผู้เขียนเป็นประธานเปิดงานและบรรยายพิเศษหัวข้อ นโยบาย  และทิศทางการจัดการด้านสุขภาพของประเทศไทย ซึ่ง ผู้อำนวยการวิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร ตรัง และอุบลราชธานี กรุณามาเรียนเชิญด้วยตัวเองที่ห้องทำงาน
          นอกจากการประชุมวิชาการที่เข้มข้นแล้ว ในเย็นวันที่ 22 สิงหาคม 2555 ยังมีงานมุทิตาจิต ผู้เกษียณอายุราชการของวิทยาลัยสาธารณสุขทั้ง 17 แห่ง รวมทั้งหมด 11 คน ผู้เขียนรู้สึกดีใจ และภูมิใจที่ได้รับเกียรติ จึงตอบตกลงด้วยความเต็มใจ โดยไม่รอช้า
          ในวันงาน นอกจากผู้เขียนแล้วยังมีหมอรุ่นน้อง คือ ท่านรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข อาจารย์หมอนิทัศน์  รายวา ซึ่งเป็นผู้กำกับวิทยาลัยสาธารณสุข (วสส.) ทั้ง 17 แห่ง มาร่วมงานด้วย ดังนั้น เมื่อได้รับเชิญให้ขึ้นบนเวทีเพื่อกล่าวเปิดงานและให้โอวาทแก่ผู้เกษียณและผู้ร่วมในงานมุทิตาจิต ผู้เขียนจึงแสดงเจตจำนงว่า จะเป็นเกียรติยิ่งขึ้น หากอนุญาตให้อาจารย์หมอนิทัศน์  รายวา มาเป็นประธานและเป็นผู้กล่าวแสดงมุทิตาจิตแก่ผู้เกษียณแทนผม ด้วยเพราะความเหมาะสมในบทบาทและหน้าที่ของท่าน
          และไม่ผิดหวังเลยสำหรับการกล่าวแสดงมุทิตาจิตของท่านนิทัศน์ ท่านพูดได้น่าสนใจอย่างยิ่ง ผู้ใต้บังคับบัญชาที่นั่งอยู่ข้างล่างก็ตั้งใจฟังโดยตลอดด้วยความปีติ
          ภายในงานเกษียณอายุ มีอาจารย์ 10 ท่าน คนขับรถ 1 ท่าน และหนึ่งในนั้นมีผู้อำนวยการวิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร พิษณุโลก คือ อาจารย์ วีรพันธุ์ อนันตพงศ์ ซึ่งกล่าวแทนผู้เกษียณทั้งหมด ซึ่งสิ่งที่ท่านกล่าวนั้น ให้ข้อคิดได้อย่างดียิ่ง โดยเฉพาะ
          ความแตกต่างระหว่าง "เกษียณานุสติ" กับ "มรณานุสติ"
          การเกษียณอายุ คือการที่ข้าราชการต้องพ้นจากราชการตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จ บำนาญข้าราชการ เป็นการออกจากราชการโดยกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2494 ซึ่งกำหนดให้ข้าราชการ ที่มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์แล้ว จะต้องพ้นจากราชการเมื่อสิ้นปีงบประมาณที่มีอายุครบ 60 ปี บริบูรณ์นั้น
          ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่าเกษียณานุสติ คือ ระบบราชการที่ขีดเส้น และตีกรอบเวลาและชีวิตของเราไว้ในอายุ 60 ปี
          ส่วนชีวิตจริงๆ ของ "คน" การจะถึงเวลาหยุดหรือยุติ ไม่มีกรอบเวลากำหนดที่ชัดเจน แน่นอน "ฟ้าประทาน" ให้เวลากับชีวิตทุกคนมาเท่าๆ กัน แต่ทุกคนต้องอยู่ในสัจธรรมแห่งชีวิต คือ กฎแห่งไตรลักษณ์ "อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา" เรียกว่าจะไปเมื่อใด หรือยุติชีวิตเมื่อใด หรือตาย หรือไปไม่กลับ หลับไม่ตื่น ฟื้นไม่มี หนีไม่พ้น สั้น ยาว ต่างกันไป ทั้งนี้ แล้วแต่กฎแห่งกรรม เรียกว่า "มรณานุสติ"
          ผู้เขียนฟังผู้อำนวยการวิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร พิษณุโลก แล้วหวนนึกถึงเรื่องเวลากับชีวิต (อีกครั้ง) จากที่เคยเขียนเรื่องเวลากับชีวิต ในมุมของสุขภาพกับการใช้ 3 อ. (อาหาร อารมณ์ ออกกำลังกาย) เพื่อทำให้ชีวิตยืนยาวได้นั้น บัดนี้อาจต้องมองในมุมของเวลากับชีวิต เมื่อถูกขีดเส้นให้หยุดไว้ที่ 60 ปี
          เมื่อชีวิตถูกขีดเส้นให้หยุดที่ 60 ปี หมายถึงวันรุ่งขึ้นหลังอายุ 60 ปี เราต้องหยุดทำหน้าที่ 60 ปี 1 นาที ก็ไปทำงานไม่ได้ หรือจะไปก็ได้แต่คงไม่เหมาะ เพราะลิเกเขาเก็บกลอง ปีพาทย์ ฉากม่านก็เก็บพับไปเสียแล้ว ขืนเดินออกไป รังแต่จะเป็นลิเกหลงโรง
          แม้จะถูกขีดเส้นเรื่องเวลา แต่ถ้ามองกลับมาถึงชีวิต น้อง พี่ ข้าราชการของเราทั้งหลาย เรามีสิทธิเลือกหรือกำหนดชีวิตของเราเองได้ คือ เราขีดเส้นใต้ชีวิตของเราเองได้ จะขีดเมื่อไรก็ได้ ตามความเหมาะสม บางคนตั้งใจขีดก่อนอายุ 60 ปี ขึ้นอยู่กับเหตุผลของแต่ละท่าน ที่ต้องพิจารณาตัวท่านเอง ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับคุณค่า และมูลค่าของชีวิต ขณะที่อยู่ในระบบ
          แต่อย่างไรก็ตาม ในระหว่างงานแสดงมุทิตาจิตนั้น ผู้เกษียณอายุราชการมีความแตกต่างกันในด้านตำแหน่ง หน้าที่ แต่สิ่งที่ทุกคนมีเท่ากันอย่างทัดเทียมคือ ผลสัมฤทธิ์ของงาน ที่เกิดขึ้นในขณะปฏิบัติหน้าที่ว่ามีมากน้อยเพียงใด จะถูกกล่าวสรรเสริญถึงเมื่อเขาจากไป แม้จะนานแสนนานก็ตาม ซึ่งในช่วงที่ทำงานนั้น ระบบราชการ "เวลา" มีความหมายมาก เวลาไม่มีขาย และมันสั้นมาก เราต้องใช้ให้คุ้มค่า ในเวลาที่ผ่านไปแต่ละวินาที
          ผู้เขียนเอง เชื่อว่าทุกคนหรือทุกสิ่งในโลกนี้มี "คุณค่า" อยู่ในตัว การเห็นคุณค่าของคนหรือสิ่งหนึ่งสิ่งใดย่อมขึ้นอยู่กับปัญญาของบุคคลนั้นๆ พระพุทธเจ้าท่านทรงสั่งสอนให้คนมี "ปัญญา" เนื่องจากปัญญาเป็นที่มาของเหตุและผลในการพิจารณาไตร่ตรอง ควรไม่ควร เหมาะสมหรือไม่ เป็นต้น
          การทำงานในองค์กรใดองค์กรหนึ่งก็ตาม ความสัมพันธ์อันดีงามระหว่าง หัวหน้า กับ ลูกน้องเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้งานราบรื่น เรียบร้อย มีประสิทธิภาพสูงสุดได้นั้น คือการ "ครองใจ" กันและกันให้ได้ ด้วยความเสียสละ อยู่ในวินัย รู้จักหน้าที่ สามัคคี เสียสละ กตัญญู ซื่อสัตย์ต่อกัน ให้เกียรติ จริงใจ และอภัยต่อกัน ร่วมงานกันด้วยความรัก ความเมตตาต่อกัน จะทำงานด้วยความสบายใจ ดีกว่าร่วมงานด้วยความเกลียดชัง หรือความกลัว ซึ่งจะทำให้ทำงานด้วยความคับใจ เราต้อง "ผูกใจให้รักและเมตตา" ระหว่าง "หัวหน้าและลูกน้อง" ให้ได้
          ถ้าเป็นบทบาท "หัวหน้า" ก็ต้องทำให้ครบ เช่น เป็นผู้นำ ผู้จัดการ ครู พี่เลี้ยง ผู้ประสานงาน ผู้แก้ปัญหา ผู้สนับสนุน ผู้คุ้มครองลูกน้อง และองค์กร และที่สำคัญที่สุด คือ เป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมดขององค์กรอย่างไม่ขาดตกบกพร่อง
          ถ้าเป็นบทบาทลูกน้อง เล่นเป็น ผู้ช่วยเหลือ ผู้ทำงาน ผู้ร่วมงาน ผู้สู้งาน ผู้ไว้วางใจเชื่อถือได้ ผู้รักษาผลประโยชน์ขององค์กร และเป็นผู้ที่รับผิดชอบตามที่ได้รับมอบหมาย
          ตัวเชื่อมที่ต้องสร้างให้เกิด "งานดี" ได้ผลพอกพูนและเต็มใจที่จะร่วมทำงาน คือ "ศรัทธาบารมี" เป็นคุณธรรม จริยธรรมที่หัวหน้าต้อง มี และลูกน้องยอมรับด้วยความภาคภูมิใจ ทั้งในด้านปฏิบัติตนดี ปฏิบัติต่อลูกน้องดี และปฏิบัติต่องานดี
          ความเลื่อมใส "ศรัทธา" ต่อหัวหน้านั้น เป็นมูลเหตุจูงใจสำคัญที่ทำให้ลูกน้องผู้ร่วมงาน อุทิศกำลังกาย กำลังใจ ทำงานให้หัวหน้าและองค์กร โดยไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อย หรือ ค่าตอบแทน ความเลื่อมใสศรัทธานี้ ย่อมก่อให้เกิดความรู้สึก เมตตา การทำงานให้เพราะความรัก และศรัทธา ย่อมจะได้ผลงานที่สม่ำเสมอ แน่นอน ไว้ใจได้ และดีกว่าทำงานด้วยความกลัวหรือถูกบังคับ หรือทำเพราะจำใจ หรือทำตามหน้าที่ ซึ่งทั้งหัวหน้าและลูกน้องต้องตระหนักเสมอว่า ทุกอย่างเป็นของสมมุติ เป็นหัวโขน สวมให้เล่น ก็เล่นตามบท ผู้เขียนในฐานะทำงานราชการมาอย่างยาวนาน อยากฝากให้น้องๆ ที่ยังอยู่ในระบบราชการนั้น ขอให้เราอยู่ด้วยกันด้วยความความรัก และเมตตา ต่อกัน ความดีให้รีบทำ ไม่ต้องรอ เพราะเวลาราชการเขาขีดเส้นใต้ไว้สำหรับเราที่ "60" หลังเกษียณน้องๆ ที่ยังอยู่ก็จะยังคง "รักและศรัทธา" ต่อผู้เกษียณไปแล้วไม่รู้คลาย หรือเมื่อเกษียณไปแล้วกลับเข้ามาที่ทำงานเก่า ก็จะภูมิใจในผลงาน และน้องๆ ที่ยังอยู่ ก็ยัง "รักและศรัทธา" ต่อเราเช่นเดิม
          นอกจากมองในมุมผลงาน ผู้เขียนในฐานะคนทำงานด้านสุขภาพ ก็คงอดไม่ได้ที่จะเตือนใจสำหรับผู้เกษียณว่า แม้จะต้องหยุดทำงานในหน้าที่ให้กับประเทศชาติ แต่ท่านหยุดทำสิ่งที่ดีให้กับตัวเองไม่ได้
          นั่นคือ การดูแลสุขภาพร่างกาย เพราะวัยนี้อวัยวะในร่างกายเริ่มเสื่อมถอย อ่อนแรง จึงต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ
          ตั้งแต่ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอในแต่ ละวัน ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เช่น การเดินออกกำลังกายไม่ต่ำกว่า 30-45 นาที อย่างน้อย 3-5 ครั้ง/สัปดาห์ เรื่องอาหารการกิน ต้องลดอาหารจำพวกแป้ง ของหวาน น้ำตาล อาหารที่มีไขมันสูง โปรตีนจากเนื้อสัตว์ หันมาทานปลา โปรตีนจากนมถั่วเหลือง เต้าหู้ และอาหารที่ ย่อยง่าย ทานผักผลไม้ที่หลากหลายให้มากขึ้นทั้งผักสดและผักสุก ไม่ควรดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ น้ำอัดลม และงดสูบบุหรี่
          และประการสำคัญคือต้อง ตรวจสุขภาพเป็นประจำ เท่านี้ท่านก็จะสุขสันต์ในวัยเกษียณ ได้
          ท้ายสุดนี้ เพื่อเป็นแบบอย่างแห่งการสร้างความดีเพื่อก่อให้เกิดศรัทธา ซึ่งเชื่อว่าเหมาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่ยังไม่ถึงวัยเกษียณ เพราะยังมีเวลาสั่งสมผลงานได้อีกยาวนาน ขอยกตัวอย่าง มหาบุรุษของโลก คือ มหาตมะ คานธี ที่กล่าวว่า บาป 7 อย่าง สำหรับตัวท่านคือ
          ร่ำรวยโดยไม่ต้องทำงาน มีความสุขโดยขาดสติยึดมั่นในวิทยาศาสตร์ โดยปราศจากมนุษยธรรม
          มีสมองแต่ไม่มีหัวใจ เล่นการเมืองโดยไม่มีหลักธรรมประจำใจ ค้าขายโดยไม่มีศีลธรรม และกราบไหว้บูชาแต่ไม่รู้จักเสียสละ
          สำหรับผู้เกษียณอายุราชการในวันที่ 30 กันยายนนี้ ขออำนาจคุณพระศรีรัตนตรัย จงดลบันดาลให้ท่านประสบแต่ความสุขทั้งกายและใจ ร่างกายแข็งแรง เป็นที่เคารพรักของทุกคนในครอบครัว
          ...อยู่รัก จากอาลัย อยู่มีชัย จากไปไชโย...
 


pageview  1206115    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved