HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 06/09/2555 ]
โรคคนเมืองคุกคามสุขภาพดีสร้างได้ไม่ยาก

ในฐานะที่เป็นคนเมืองคนหนึ่ง ได้ยินชื่อ "โรคคนเมือง" ครั้งแรกก็ตกใจเล็กน้อย ไม่คิดว่าจะกลายเป็นชื่อโรคภัยได้ เมื่อดูตามไลฟ์สไตล์คนเมืองก็พอมีมูลให้ประเมินว่า คุณภาพชีวิตอยู่ในเกณฑ์สุ่มเสี่ยงพอตัว เพราะต้องเผชิญกับมลภาวะทางสิ่งแวดล้อม และนิสัยการบริโภคของคนเมืองที่เข้าขั้นวิกฤต
          สังเกตดูได้เลยว่า ถ้าโรคไหนกระทรวงสาธารณสุขไม่ประกาศสถานการณ์โรคไม่วิกฤติ ไม่แสดงอาการของโรคอย่างรุนแรงและเป็นวงกว้าง คนไทยจะไม่รู้สึกตื่นตัวกลัวภัย
          จะเตรียมแก้ไขปัญหาอีกก็ตอนที่ภัยมาเยือนถึงตัว เช่น ถ้าโรคมือ เท้า ปาก ไม่มาก็จะไม่ใส่ใจสุขอนามัยลูกน้อยกันเป็นพิเศษ โรคพิษสุนัขบ้าแพร่เชื้อสู่คนจึงแห่ไปฉีดวัคซีนกันมากขึ้น
          หยิบยกสาระข้อมูลดีๆ มาบอกเตือนคนเมือง จากกิจกรรม "พิชิตสุขภาพดี หลีกหนีโรคคนเมือง" ของบริษัท เนสท์เล่ (ไทย) ให้ข้อมูลโดย ธิดารัตน์ วิเศษจินดาวัฒน์ นักโภชนาการเนสท์เล่ เผยว่า ปัจจุบันคนไทยเผชิญกับโรควิถีชีวิต หรือโรคคนเมือง เนื่องจากมีพฤติกรรมการดูแลสุขภาพที่ไม่เหมาะสม เช่น บริโภคอาหารจานด่วนบ่อยครั้ง ติดอาหารที่มีรสชาติหวานจัด มันจัด เค็มจัด บริโภคผักและผลไม้น้อยเกินปริมาณที่ร่างกายต้องการ ออกกำลังกายอย่างไม่เพียงพอ
          สอดคล้องตามสถิติสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ที่ระบุว่า คนไทยอ้วนเพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่าภายในช่วงระยะเวลา 20 ปี นิยมบริโภคผักผลไม้น้อยลง ออกกำลังกายน้อยลง เผชิญภาวะเครียดมากขึ้น ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่บ่อยขึ้น
          พฤติกรรมดังกล่าวนำไปสู่โรคร้ายแรงมากมาย อาทิ โรคมะเร็ง โรความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคเบาหวาน โรคดังกล่าวพบว่ามีอัตราการเจ็บป่วยเพิ่มขึ้นทุกปี และยังเป็นสาเหตุการตายที่สำคัญของคนไทยด้วย
          นักโภชนาการเนสท์เล่ ยังแนะนำ 5 เคล็ดลับในการสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อสร้างเสริมสุขภาพดี หลีกหนีโรคคนเมือง ต้องเริ่มต้นจาก 1. ลดน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ควบคุมรอบเอว ด้วยการคำนวณค่าดัชนีมวลกาย (ค่า BMI มาตรฐานสากลควรอยู่ระหว่าง 18.5-24.9)
          2. หมั่นชิมอาหารก่อนปรุง ไม่เน้นทานหวานจัด มันจัด หรือเค็มจัดจนเกินไป 3. อาหารทุกมื้อควรมีสัดส่วนผักและผลไม้รวมกันวันละครึ่ง กก. 4. ออกกำลังกายเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ อาทิตย์ละ 3 วัน ครั้งละประมาณ 30 นาที และ
          5. อ่านฉลากโภชนาการทุกครั้ง เพื่อช่วยเลือกอาหารให้เหมาะกับความต้องการของร่างกายที่ควรได้รับในแต่ละวันได้อย่างถูกต้อง
          สุขภาพก็เหมือนเงิน ใครทำใครได้ แต่อย่าให้เงินนำหน้าสุขภาพจนเกินไป เพราะถ้าสุขภาพทรุดเมื่อไร เงินก็ไม่งอกเงย ดังนั้นจึงควรสร้างเสริมสุขภาพไปพร้อมๆ กับการปั๊มเงิน เพราะสุขภาพดีหาซื้อไม่ได้ แต่สร้างให้ดีได้

          เคลื่อนไหวให้ถูกท่าปลอดภัยไร้กังวล
          ฉัตริษา ศรีสานติวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกกำลังกายรูปแบบใหม่ บอกว่า โรคคนเมืองเป็นความเจ็บป่วยทางกายภาพ แสดงออกในรูปอาการปวดคอ ปวดหลัง ปวดไหล่ ซึ่งเกิดจากการใช้ชีวิตประจำวันแบบผิดๆ เช่น การนั่ง เดิน และยืนผิดท่า โดยอาการจะค่อยๆ สะสมไปเรื่อยๆ จนกลายเป็นความเจ็บปวดแบบเรื้อรัง เราจะไม่รู้สึกอะไรจนกว่ามันปวดขั้นสุดแล้ว
          บ่อยครั้งที่คนเมืองมุ่งทำงานหนักจนลืมใส่ใจเรื่องเล็กๆ น้อยๆ แก้ง่ายๆ เพียงรู้หลักปฏิบัติที่ถูกต้อง เริ่มจากการยืน ควรยืนให้น้ำหนักตกลงบนฝ่าเท้าทั้งสองข้างเท่าๆ กัน หลังตรงการเดินที่ถูกต้องควรเดินให้ปลายเท้าชี้ไปด้านหน้าตรงๆ มีระยะห่างที่เหมาะสม ไม่เร็วหรือก้าวยาวจนเกินไป
          ส่วนการนั่ง ควรปรับระดับเก้าอีกให้เหมาะสมนั่งหลังตรง อาจนำหมอนมาหนุนเพื่อไม่ให้หลังงอ หรือหาเก้าอี้ตัวเล็กๆ มาวางเท้าเพื่อไม่ให้เลือดไหลลงเท้าจนเท้าบวม


pageview  1205893    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved