HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 28/08/2555 ]
เรียกร้องสิทธิให้คนจนเข้าถึงยาเลิกบุหรี่

กระทรวงการคลังปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตสุราและยาสูบ โดยปรับใน 8 ยี่ห้อ ในอัตรา 6-8 บาทต่อซอง ส่วนสุราแบ่งเป็นสุราผสม ปรับภาษีสรรพสามิตเพิ่มเป็น 150 บาทต่อลิตรและสุราต่างประเทศเพิ่มเป็น 400 บาทต่อลิตร การปรับราคาในครั้งนี้ทำให้บรรดาสิงห์อมควันและนักเลงสุราต้องคิดหนัก แต่กระนั้นการหยุดเสพสิ่งของมึนเมาต้องมีความตั้งใจอย่างเด็ดเดี่ยว ที่ผ่านมามีหน่วยงานที่ช่วยให้คนเลิกบุหรี่ที่ดำเนินการภายใต้หลักวิชการทางการแพทย์
          ศูนย์บริการเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์แห่งชาติ (Thailand National Quitline ) หรือ 1600 สายเลิกบุหรี่ บริการให้คำปรึกษาสำหรับผู้ต้องการเลิกบุหรี่ เปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี 2536 โดยมูลนิธิเพื่อการไม่สูบบุหรี่ ภายใต้เงื่อนไขแรกผู้สูบต้องมีความตั้งใจที่จะเลิกบุหรี่ จะมีทั้งบริการรับสายและโทรฯกลับหลังจากวันที่ผู้สูบได้กำหนดวันเลิกสูบบุหรี่ เพื่อการประคับประคองและติดตามผล นอกจากนี้ยังมีการทำงานที่เชื่อมต่อกับเครือข่ายต่าง ๆ เพื่อการช่วยเลิกบุหรี่ทั้งจากโรงพยาบาล คลินิก ร้านยา เปิดให้บริการระหว่าง 07.30-20.00 น. ตั้งแต่วันจันทร์-วันศุกร์ นอกเวลาฝากข้อความและเบอร์โทรฯกลับ ผู้ใช้บริการโครงการของบริษัททีโอที ทั่วประเทศไม่เสียค่าโทรศัพท์ และทางอินเทอร์เน็ต www.thailandquitline.or.th ผ่านช่องทาง U-Refer,U-Quit และ Live Chat
          รศ.ดร.จินตนา ยูนิพันธ์ ผู้อำนวยการศูนย์บริการเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์ เปิดเผยว่าในแต่ละวันมีผู้โทรฯเข้ามายังสายด่วนเลิกบุหรี่วันละ 500 สาย 70 เปอร์เซ็นต์เป็นผู้สูบเอง 30 เปอร์เซ็นต์เป็นคนใกล้ชิด ภรรยา พ่อแม่ โดยเน้นการให้บริการครั้งแรก 30 นาที เจ้าหน้าที่จะพูดคุยสอบถามสาเหตุ เมื่อผู้ติดบุหรี่ต้องการจะเลิกบุหรี่ในวันนั้น จะนับไปอีก 1 สัปดาห์ เพราะระยะนี้ผู้ติดบุหรี่จะมีอาการอยากยาต้องให้กำลังใจ ครั้งที่ 2 ในสัปดาห์ที่ 2 ครั้งถัดไป 1 เดือน 3 เดือน และ 1 ปีตามลำดับ จากงานวิจัยผู้เลิกบุหรี่ด้วยตัวเองหลังได้รับคำปรึกษาใน 100 คน สามารถเลิกบุหรี่ได้ 27 คน ภายใน 6 เดือน
          นอกจากสาย 1600 บริการเลิกบุหรี่ยังดำเนินการภายใต้โครงการ "เครือข่ายคลินิกฟ้าใส" ได้ผลักดันให้ประชาชนเลิกบุหรี่แบบบูรณาการที่มีรูปแบบแตกต่างจากที่เคยมีมาและมีการดำเนินการร่วมกันโดยบุคลากรวิชาชีพสุขภาพหลายสาขา ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ พยาบาล เภสัชกร นักกายภาพบำบัดและนักจิตวิทยา โดยคลินิกนี้มีลักษณะเฉพาะดำเนินงานเป็นอิสระ และมีลักษณะเป็น วันสต๊อปเซอร์วิส เพื่อให้เกิดความสะดวกแก่ผู้ป่วย และเป็นแรงจูงใจในการเข้ารับบริการต่อไป ปัจจุบันมีคลินิกฟ้าใสกระจายตามโรงพยาบาล และสถานพยาบาลของรัฐ 200 แห่งทั่วประเทศ
          นพ.สุทัศน์ รุ่งเรืองหิรัญญา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ม.ศรีนครินทรวิโรฒ ในฐานะผู้ริเริ่มโครงการ กล่าวว่าจุดเด่นของคลินิกฟ้าใสอยู่ที่มีบุคลากรที่มีเจตนาและมีความตั้งใจที่จะให้คนไข้เลิกบุหรี่ เพราะบุคลากรเหล่านี้เป็นกลุ่มสหวิชาชีพทำงานโดยไม่ได้รับค่าตอบแทน และใช้เวลาทำงานนอกเวลาราชการ ขณะที่จุดอ่อน ยังไม่ได้รับการสนับสนุนที่ชัดเจนจากกระทรวงสาธารณสุขและไม่มีงบประมาณสนับสนุน ขณะที่บุหรี่เป็นต้นเหตุสำคัญของการเกิดโรคร้ายแรง อาทิ หัวใจ หลอดเลือด มะเร็ง ทำให้ประเทศเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาปีละ 3 แสนล้านบาท เป็นต้น ปัจจุบันการเลิกบุหรี่ให้ได้ผลต้องใช้ยา โดยมีเพียง 5 เปอร์เซ็นต์ของผู้ติดบุหรี่ที่เลิกบุหรี่โดยอาศัยคำปรึกษาของแพทย์เพียงอย่างเดียวและ 30-25 เปอร์เซ็นต์ต้องใช้ยาเพื่อทดแทนนิโคติน ที่ชื่อ Bupropion ยาลดบุหรี่ชนิดกินซึ่งยาค่อนข้างมีราคาแพง
          ดังนั้นคนจนจึงไม่สามารถเลิกบุหรี่ได้ แต่ขณะที่ผู้ติดบุหรี่เป็นกลุ่มผู้มีรายได้น้อย แม้ราคาบุหรี่จะปรับขึ้นแต่ผู้สูบยาเส้น ยังซื้อยาเส้นได้ในราคาถูกเฉลี่ยถุงละ 5 บาท ขณะที่ยาเลิกบุหรี่เฉลี่ยเม็ดละ 40-50 บาทต้องใช้ต่อเนื่อง 3 เดือน ทำให้คนไทยเกิดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งผู้เลิกต้องใช้ยามากกว่า 1 อย่าง
          "ตั้งเป้าว่าจะเปิดคลินิกฟ้าใส 400 แห่งจึงจะครอบคลุมผู้สูบบุหรี่ทั่วประเทศ แต่ปีนี้เราโดนตัดงบ จึงต้องทำงานภายใต้งบประมาณที่จำกัด"
          ทั้งนี้ในการบรรยายหัวข้อประสบการณ์หลักประกันสุขภาพช่วยเลิกบุหรี่ของประเทศญี่ปุ่นในงานประชุมวิชาการ "บุหรี่กับสุขภาพแห่งชาติ" ครั้งที่ 11 เรื่อง "การแทรกแซงของอุตสาหกรรมยาสูบ" เมื่อเร็ว ๆ นี้ โดยการสนับสนุนของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ผู้จัดการสมาคมการควบคุมยาสูบของประเทศญี่ปุ่น นายมานาบุ ซาคูตะ ได้มาถ่ายทอดประสบการณ์การทำงานให้ผู้ร่วมประชุมฟัง ระบุว่าประเทศญี่ปุ่นมีผู้สูบบุหรี่มากเป็นลำดับต้น ๆ แต่มีระบบการดูแล และบำบัดผู้สูบบุหรี่ทำให้ระยะเวลาเพียง 5 ปี ประเทศญี่ปุ่นลดอัตราผู้สูบบุหรี่ลงได้ร้อยละ 16 ขณะที่การเข้าถึงแหล่งบริการด้านการบำบัดของประเทศญี่ปุ่นมีเพียงร้อยละ 12.7 เท่านั้น โดยวิธีการทำงานที่โดดเด่นคือรัฐบาลให้งบประมาณไปยังโรงพยาบาลเพื่อจัดทำโครงการเลิกบุหรี่ โดยให้ค่าตอบแทนกับแพทย์และพยาบาล โดยมีการประเมินผลงาน เพื่อจัดสรรงบประมาณเพื่อเป็นแรงจูงใจในการทำงาน
          นพ.สุทัศน์ กล่าวว่า ญี่ปุ่นประสบความสำเร็จในการเลิกบุหรี่ เพราะรัฐบาลสนับสนุน ขณะที่ประเทศไทยยังไม่มีระบบให้บริการเลิกบุหรี่อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ จึงอยากเรียกร้องภาครัฐ เร่งดำเนินการให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการรับบริการเลิกบุหรี่ และสามารถเข้าถึงยาช่วยเลิกบุหรี่ได้อย่างเท่าเทียมโดยบรรจุเข้าในบัญชียาหลัก เพราะจากการสำรวจร้อยละ 80 ของผู้ติดบุหรี่ส่วนใหญ่ฐานะยากจน
          เหตุผลการปรับขึ้นราคาบุหรี่ของรัฐเพื่อสุขภาพของประชาชนแต่ต้องกำหนดนโยบายเพื่อลดจำนวนผู้สูบโดยใช้หลักการแพทย์ควบคู่ไปพร้อมกันด้วย.
 


pageview  1206120    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved