HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 15/02/2555 ]
'สวทช.-มหิดล' วิจัยช่วยท่วม ทอ.เร่งแผนป้อง'ดอนเมือง'

         หมายเหตุ - สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล จัดเสวนาเรื่อง"ผลของน้ำท่วมต่อสุขภาพและงานวิจัยเพื่อรับมือเพื่อหาแนวทางและเตรียมรับมือในการป้องกันน้ำท่วม" เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ที่โรงแรมนารายณ์

          ขณะที่ พล.อ.อ.อิทธพร ศุภวงศ์ ผู้บัญชาการทหารอากาศ(ผบ.ทอ.) เป็นประธานเปิดสัมมนาเรื่อง  "ยุทธศาสตร์ป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยของกองทัพอากาศ เพื่อป้องกันแก้ไขปัญหาอุทกภัยของกองทัพอากาศร่วมกัน" ที่หอประชุมกองทัพอากาศ (ทอ.)
          ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล
          ผู้อำนวยการ สวทช.
          การเสวนานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อรับทราบข้อมูลและความก้าวหน้าของงานวิจัยด้านสุขภาพและการแพทย์ ที่ได้ดำเนินการในวิกฤตการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ซึ่งนำไปสู่การศึกษาวิจัยต่อยอดสำหรับเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับวิกฤตการณ์ที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต
          ช่วงที่ประเทศไทยประสบอุทกภัยครั้งใหญ่มหาวิทยาลัยมหิดล และหน่วยงานต่างๆ รวมทั้งสวทช.ต่างมีภารกิจเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมสวทช.ในฐานะที่เป็นหน่วยงานที่ดำเนินงานและสนับสนุนงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีก็มีภารกิจที่เข้ามาช่วยฟื้นฟูประเทศไทย เช่น สร้างความร่วมมือกับกลุ่มองค์กรเอกชนด้านเทคโนโลยีตั้งกลุ่มเพื่อน สวทช. ซึ่งมีแผนงานในการนำเทคโนโลยีต่างๆ เข้าไปฟื้นฟูบ้านและธุรกิจ หรือนวัตกรรมบำบัดน้ำเสียเอ็น-ค่า (nCA)ที่ผนวกเอาสารจับตะกอน เอ็น-เคลียร์ (nCLEAR) พร้อมกับเครื่องเติมอากาศ เอ็น-แอร์ (nAIR) ใช้คู่กันช่วยฟื้นน้ำเน่าให้กลับมาใสหายเหม็น ออกซิเจนเพิ่มสูง
          ด้านสุขภาพและการแพทย์ สวทช.มีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยมหิดล และกระทรวงสาธารณสุข พัฒนากระบวนผลิตจุลินทรีย์ควบคุมลูกน้ำยุงรำคาญ นอกจากนี้ สวทช.ยังพัฒนาระบบไอที เพื่อแจ้งเตือนภัยคนหูหนวก และในอนาคตจะขยายเป็นระบบบริหารจัดการช่วยเหลือผู้ประสบภัยทั่วไป รวมทั้งยังมีแนวคิดพัฒนาระบบโลจิสติกส์ และซัพพลายเชน ของการบริการทางการแพทย์ในภาวะฉุกเฉิน สำหรับในภาคมหาวิทยาลัย ก็มีการวิจัยเพื่อรับมือเช่นเดียวกัน งานวิจัยที่เกิดขึ้นทั้งหมดนั้นสามารถนำมาใช้งานได้ในยามที่ประเทศไทยต้องเผชิญกับภัยพิบัติต่างๆ ไม่เฉพาะเพียงปัญหาอุทกภัย
          ดร.เสรี ศุภราทิตย์
          ผู้อำนวยการศูนย์พลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยรังสิต
          จากประสบการณ์น้ำท่วมปีที่ผ่านมาหากไม่มีการทำอะไรเลยรับรองว่าปีนี้ท่วมแน่โดยมีความเสี่ยงจากพายุที่มักเกิดขึ้นมากในช่วงรอยต่อปลายปรากฏการณ์ลานิญาก่อนเข้าสู่ปรากฏการณ์เอลนิโญ อย่างไรก็ตาม หากมีการเตรียมความพร้อมและทำตามแผนที่คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) วางไว้  ก็พอจะป้องกันได้
          การเตรียมความพร้อมในการรับมือน้ำท่วมของรัฐบาลด้วยการระบายน้ำจากเขื่อนให้เหลือระดับต่ำสุดนั้น จะส่งผลกระทบกับ
          ชาวนา หากชาวนากลัวน้ำท่วมอีก จะทำนาไม่ได้ ทางแก้คือชาวนาควรทำนาปีละ 2 ครั้งโดยเป็นนาปี 1 ครั้งและนาปรัง1 ครั้ง การบริหารจัดการน้ำในเขื่อนควรมีความยืดหยุ่นแม้ว่าโอกาสที่ไทยจะเจอกับพายุจะมีสูงกว่าปกติ แต่ก็ใช่ว่าพายุจะเข้าไทยทั้งหมด
          สำหรับความเสี่ยงการเกิดน้ำท่วมกรุงเทพฯในอนาคตนั้น จะมาจากปัจจัยสำคัญ 5 อย่าง คือแผ่นดินทรุดตัว ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น ผังเมืองที่แออัด ฝนตกหนักทำให้ปริมาณน้ำเหนือมากขึ้นและการบริหารจัดการ หากไม่มีการแก้ไขหรือวางแผนป้องกันภายใน 5 ปี จะเริ่มเห็นปรากฏการณ์น้ำท่วมกรุงเทพฯ แน่นอน
          อย่างไรก็ดี จากสมมติฐานปีที่ผ่านมา ทางกยน.มุ่งวางแผนแก้ปัญหาระยะยาว สิ่งที่สำคัญที่สุดคือผังเมือง ซึ่งขณะมีเพียง 4 จังหวัดจาก 77 จังหวัด ที่มีการจัดทำผังเมืองคือ กทม. ภูเก็ต เชียงใหม่ นนทบุรี เท่านั้น
          ยังคาดการณ์ได้ยากสำหรับสถานการณ์น้ำท่วมในปีนี้ แต่ค่อนข้างเชื่อมั่นว่าอิทธิพลจากลานิญาจะน้อยลง ไม่น่าเกิดน้ำท่วมจากปริมาณน้ำฝน แต่ที่เป็นห่วงคือเรื่องพายุที่อาจมีเพิ่มขึ้น และเป็นสิ่งที่คาดการณ์ยาก
          ปัญหาภัยแล้งตั้งแต่ปลายปีเป็นต้นไปเป็นเรื่องน่าเป็นห่วงมาก หวังว่าแผนระยะยาวของ กยน.จะได้รับการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะเรื่องพื้นที่แก้มลิงรับน้ำ 2 ล้านไร่ สำหรับการพร่องน้ำจากเขื่อนใหญ่เหลือที่ระดับต่ำสุดเพื่อเตรียมรับมือน้ำท่วมนั้น อยากให้ปรับการจัดการให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น เพราะอาจทำให้น้ำไม่เพียงพอต่อการทำนาได้
          พล.อ.อ.อิทธพร ศุภวงศ์
          ผบ.ทอ.
          ปีที่ผ่านมาแม้กองทัพอากาศจะมีแผนเผชิญเหตุ แต่เนื่องจากมีมวลน้ำมหาศาล และพื้นที่ของกองทัพอากาศเป็นพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานอื่นด้วย ทำให้การแก้ไขปัญหาไม่สามารถจะป้องกันได้ด้วยหน่วยงานเดียว จึงต้องมีการเตรียมการในวันนี้ส่วนแผนป้องกันจะเน้นหนักในเรื่องการป้องกันพื้นที่ฐานทัพอากาศดอนเมือง แต่กองทัพอากาศไม่สามารถป้องกันด้วยตนเองเพียงอย่างเดียวได้ จะต้องได้รับความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน เพราะมีพื้นที่ที่เป็นพื้นที่ร่วมกับท่าอากาศยานไทย และการระบายน้ำจะต้องระบายออกจากคลองสอง และคลองเปรมประชากรเราจะมีการเขียนแผนขึ้น ถ้ามีส่วนงานไหนเกี่ยวข้องก็จะมีการนำเรียนขึ้นไปเพื่อให้เห็นในภาพรวมว่ากองทัพอากาศมีแผน และขอการรับการสนับสนุนอะไรบ้าง
          ส่วนงบประมาณที่กองทัพอากาศขอรัฐบาลไปมี 2 ส่วนคือ ส่วนโครงสร้างพื้นฐาน ที่ผ่านการอนุมัติจากครม.แล้ว ซึ่งส่วนดังกล่าวจะนำมาฟื้นฟูบ้านพักอาศัย อาคารส่วนราชการและถนนต่างๆ แต่ในส่วนของยุทธภัณฑ์ ระบบการสื่อสารคมนาคมกำลังรอขออนุมัติอยู่
          สำหรับการเตรียมการ เราจะเตรียมแผนเผชิญเหตุ แต่ด้วยงบประมาณปี 2555 ที่ได้รับเป็นงบประมาณเกี่ยวกับการดูแลกองทัพไม่ใช่งบป้องกัน ดังนั้น เราจึงต้องจัดลำดับความสำคัญว่าจะป้องกันในจุดสำคัญได้มากน้อยแค่ไหน ใน 1-2 วันนี้จะมาพูดกันในภาพรวม และจะออกมาเป็นแผนอีกทีหนึ่ง
          สิ่งแรกทุกคนต้องตระหนักว่าภัย
          พิบัติน้ำท่วมเป็นเรื่องของธรรมชาติ มีโอกาสเกิดขึ้นได้ตลอด แต่เราจะต้องมีแผนป้องกัน บทเรียนปี2554 เป็นปริมาณน้ำที่มากกว่าปกติ จึงเตรียมการว่าจุดที่จะต้องระวังตั้งแต่จ.นครสวรรค์ และที่เขื่อนเจ้าพระยา จะเป็นสิ่งบอกเหตุกองทัพอากาศสังเกตปริมาณน้ำที่มาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-มิถุนายนพบว่าหากปริมาณน้ำที่เขื่อนเจ้าพระยามากกว่า 2,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีเมื่อไรจะเป็นจุดชี้ให้เห็นว่าน้ำเริ่มล้นแม่น้ำเจ้าพระยาแน่นอน ดังนั้น จะทำอย่างไรให้จัดการน้ำออกไป รวมทั้งการระบายไม่ว่าฝ่ายตะวันออก หรือตะวันตก ต้องระบาย หรือผันน้ำบางส่วนลงไปในทุ่ง ซึ่งทราบว่ารัฐบาลเตรียมแผนจะผันน้ำลงทุ่งแล้ว ส่วนกองทัพอากาศวางแผนเตรียมการป้องกันที่ตั้งดอนเมือง
          จากบทเรียนปี 2554 ทุกฝ่ายจะต้องร่วมมือกันอย่างจริงจัง เพราะว่าปัญหาอุทกภัยเป็นเรื่องของชาติ ไม่ใช่เป็นเรื่องของชุมชนใดชุมชนหนึ่ง หรือเป็นเรื่องของพรรคใด พรรคหนึ่งแต่จะต้องร่วมกันแก้ไขปัญหา เพราะผลเสียหายเกิดขึ้นในภาพรวมของประเทศชาติ ทั้งนี้ ถ้ามีมวลน้ำจำนวนมากเหมือนปีที่แล้วก็จะต้องเริ่มระบายตั้งแต่ข้างบนลงมา ถ้าจะปล่อยให้น้ำลงมามากทีเดียวถึงรังสิตก็ไม่สามารถป้องกันได้ เมื่อน้ำไปไม่ได้จึงต้องหาพื้นที่รองรับ สนามบินดอนเมืองจึงกลายเป็นที่รับน้ำมหาศาลก่อนเข้ากทม.

pageview  1204906    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved