HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 28/08/2555 ]
ขึ้นภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โจทย์ใหญ่รัฐบาลไทย รับมือแรงกดดันค้าเสรี

 นายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวยอมรับถึงสาเหตุของการปรับขึ้นภาษีสุรา 3 รายการ หนึ่งในนั้นคือ เหล้าขาว ซึ่งมีผลทันทีตั้งแต่วันที่ 21 สิงหาคมที่ผ่านมา ว่า เหตุผลส่วนหนึ่งเป็นแรงกดดันจากประเทศสหภาพยุโรป (อียู)
          เป็นข้อกดดันเรื่องไทยเก็บภาษีสุราขาวต่ำกว่า วอดก้า ซึ่งเป็นประเด็นหลักที่อียูฟ้องร้ององค์การการค้าโลก หรือดับเบิลยูทีโอ จนได้ข้อยุติผลักดันให้สุราขาวประเภทสาเก-ญี่ปุ่น โซจู-เกาหลี หรือเหล้าปิสโคชิลี แบบเดียวกับสุรารวงข้าวของไทย ต้องปรับวิธีการคิดภาษีใหม่จัดสินค้ากลุ่มนี้อยู่ในกลุ่มเดียวกับสุราพิเศษเช่นเดียวกับวอดก้า เป็นผลสำเร็จมาแล้ว  
          ไทยผูกพันตัวเองไว้กับการค้าเสรีหลากหลายรูปแบบไล่เรียงมาตั้งแต่ ข้อตกลงการค้าเสรีอาเซียน (อาฟต้า), ดับเบิลยูทีโอ, กรอบความร่วมมือใหม่อยู่ระหว่างเจรจาอย่างเสรีการค้า (เอฟทีเอ), ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี ซึ่งจะมีผลในอีก 3 ปีข้างหน้า
          กฎเกณฑ์เหล่านี้จะบีบไทยให้ต้องมีการปฏิรูป ปรับเปลี่ยนภาษีสรรพสามิตสุราครั้งใหญ่ทั้งลดลงเหลือ 0% หรือปรับเพิ่มบางรายการเพื่อความเท่าเทียมกันตามกลไกการค้าเสรี และเรื่องนี้จะกลายเป็นโจทย์ใหญ่ท้าทายรัฐว่า จะเลือกยืนอยู่ฝั่งไหน ระหว่างการค้าเสรีกับสุขภาพของคนในชาติ เพราะการบริโภคสุราเป็นสาเหตุการตายมากสูงอันดับ 2 ของคนในประเทศ
          กลไกการค้าเสรีกดภาษีนำเข้าให้ต่ำลงจนเหลือ 0 มีส่วนสัมพันธ์โดยตรงกับการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของคนในประเทศ หลักฐานชิ้นสำคัญคือ การขึ้นสู่ยอดขายในระดับ 2 ล้านลังต่อปี ของสุราพิเศษแบรนด์ สเปย์ รอยัล และฮัน เดรด ไพเพอร์ส จากกลไกอาฟต้า ในช่วงราวปี 2545-2550
          ย้อนความทรงจำเรื่องเหล้าอาฟต้า จะใช้วิธีนำเข้าหัวเชื้อวิสกี้จากสกอตแลนด์ แต่นำมาบรรจุและติดตราสินค้าใหม่ในฐานผลิตประเทศฟิลิปปินส์ นำสินค้าส่งออกเข้ามาขายในประเทศไทย ด้วยปัจจัยได้เปรียบเรื่องราคาถูกเพราะจ่ายภาษีต่ำ แต่พะยี่ห้อเป็นวิสกี้นำเข้า สุราพิเศษวิสกี้กลุ่มนี้ได้เปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของคนไทยไปได้อย่างพลิกฝ่ามือในช่วงหนึ่ง
          และอีกข้อตกลงการค้าที่ประเมินกันว่า จะทำให้สินค้าราคาถูกประเภททั้งวิสกี้ และวอดก้าจากยุโรป ทะลักเข้าไทยคือ เอฟทีเอ ไทย-อียู ซึ่งการเจรจาคืบหน้าไปมาก คาดว่าจะนำเข้าสู่การพิจารณาของสภาต่อจากวาระงบประมาณภายในเดือนสิงหาคม-กันยายนนี้
          อียูมีท่าทีชัด ไม่ให้นำสุราออกจากบัญชีเอฟทีเอ หรือจัดสินค้ากลุ่มนี้อยู่รายการบัญชีสินค้าอ่อนไหวหรือ "เซ็นซิทีฟ ลิสต์" ต้องทยอยลดภาษีแบบค่อยเป็นค่อยไป เพราะวอดก้าและวิสกี้ถือเป็นพอร์ตสินค้าส่งออกรายการใหญ่ของภูมิภาคนี้ ยืนยันได้จากข้อมูลสถิติการนำเข้าของไทยปี 2553 ไทยมีมูลค่าการนำเข้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประมาณ 245 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในจำนวนนี้นำเข้าจากสหภาพยุโรปสูงถึงร้อยละ 75
          สอดรับกับท่าทีการบริหารประเทศสไตล์พรรคเพื่อไทย ที่ให้ความสำคัญกับการค้าเสรีอย่างเห็นได้ชัด วิเคราะห์ได้จากคำพูด "ไม่ถอนสุราออกจากบัญชีเอฟทีเอ" ของ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมปฏิเสธการทำประชาพิจารณ์ตามข้อเรียกร้องของเอ็นจีโอ และเดินหน้าเสนอให้สภาพิจารณา
          สวนทางกับท่าทีเสรีการค้าสไตล์พรรคประชาธิปัตย์ ที่ก่อนหน้าทั้งเตะถ่วง ดองเรื่อง!!
          จริงอยู่แม้จะเลือกยืนอยู่ฝั่งเสรีทางการค้า ไม่สนเสียงค้านของเอ็นจีโอ แต่ใช่ว่ารัฐบาลจะหย่อนยานเรื่องมาตรการดูแลนักดื่ม
          ไทยเป็นประเทศที่มีกฎหมายควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้มงวดอันดับต้นๆ ของโลกทั้งเรื่องกำหนดอายุการซื้อ เข้มงวดเรื่องเมาไม่ขับ ไม่นับรวมกฎหมายใหม่ อย่างห้ามโฆษณาส่งเสริมการตลาด ห้ามแสดงตราสินค้าตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
          กับอีก 4 ร่างรอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ประกอบด้วย 1.ห้ามขายเหล้าปั่นทุกพื้นที่ 2.ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บริเวณรอบสถานศึกษา 300 เมตร 3.กำหนดเวลาห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกประเภท รวมทั้งร้านที่มีใบอนุญาตและไม่มีใบอนุญาต 4.ห้ามขายห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในทางสาธารณะเพื่อการจราจรทางบก ครอบคลุมถนนสาธารณะ ไหล่ทาง ทางเท้า 
          แต่ไม่ว่าจะมีมาตรการควบคุมยังไง ดูเหมือนว่าปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์ของคนไทยไม่มีแนวโน้มจะลดลง ไทยยังได้ชื่อว่า เป็นตลาดเบียร์และสุราที่ใหญ่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และยังโตเร็วสุดติดอันดับโลก ปีล่าสุดเฉพาะเบียร์มีปริมาณการบริโภคสูงถึง 2,000 ล้านลิตร คิดเป็นมูลค่าการขายมากกว่า 130,000 ล้านบาท ตามด้วยสุราขาว ที่คาดว่าน่าจะมีมูลค่าการขายอยู่ราว 40,000-50,000 ล้านบาทต่อปี
          คนไทยยังคงติดอันดับนักดื่มแอลกอ ฮอล์ต่อคนสูงเป็นอันดับ 5 ของโลก เป็นรองก็เพียงแต่ประเทศในกลุ่มยุโรปอย่างรัสเซีย อังกฤษเท่านั้น 
          สวนทางกับทั่วโลก ซึ่งการดื่มมีแนวโน้มลดลง ภาครัฐต้องจ่ายเงินในการดูแลรักษาสุขภาพอันเป็นผลมาจากการดื่มมากขึ้น และดื่มแล้วขับยังเป็นสาเหตุการตายลำดับต้นๆ ของคนไทยต่อไป
          นั่นเพราะสุราเป็นเครื่องดื่มที่สามารถทดแทนกันได้ด้วยกลไกราคาในลักษณะเลิกดื่มของแพงมากินของถูกได้ เพราะกลไกภาษีไทยผิดเพี้ยน เอื้อให้คนดื่มสุราราคาถูกแต่ดีกรีสูง หรืออีกทาง การปรับเพิ่มภาษีให้สูงด้วยหวังว่าจะลดการบริโภค กลับกลายเป็นการเปิดทางให้คนหันไปดื่มสุราราคาถูก แต่ดีกรีสูง แถมยังเปิดช่องให้สินค้าหนีภาษีทะลักเข้าไทย 
          กล่าวสำหรับวิธีการจัดเก็บสุราของไทยกำหนดอัตราทั้งในเชิง "ตามมูลค่า" (ร้อยละ) หรือราคาขาย และ "ตามปริมาณ" หรือดีกรีความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ฝั่งไหนให้ภาษีมากกว่าให้เลือกเก็บขานั้น
          ประเด็นอยู่ตรง การคำนวณภาษีสุราขาวสำหรับผู้ผลิตในประเทศคิดภาษีตามดีกรีอัตราดีกรีละ 1.5 บาท ขณะที่สินค้านำเข้าประเภทเดียวกันใช้การคำนวณภาษีเชิงมูลค่าบวกภาษีฝังใน รวมภาษีในส่วนของมูลค่าเพิ่ม ภาษีศุลกากร เข้าไปด้วย ทำให้อัตราภาษีที่แท้จริงต้องจ่ายสูงถึง 176% สูงลิ่วเมื่อเทียบกับสุราขาว 40 ดีกรี ขนาดบรรจุ 0.75 ลิตร จ่ายภาษีเพียง 40 บาท
          โครงสร้างภาษีแบบนี้ ทำให้กลไกตลาดบิดเบือน สินค้านำเข้าแจ้งต้นทุนต่ำกว่าเป็นจริงเพื่อจ่ายภาษีถูก เอื้อให้สินค้าเลี่ยงภาษีทะลักเข้าไทย
          โครงสร้างภาษีแบบนี้นี่เองที่ทำให้อียูใช้เป็นช่องในการกดดันให้ไทยปรับภาษีเหล้า ยกเอาเรื่อง discrimination  หรือการเลือกปฏิบัติ ไม่เท่าเทียมกันระหว่างการจัดเก็บภาษีนำเข้าวอดก้ากับสุราขาวในประเทศมาเป็นเครื่องมือหลังกดดันให้เปลี่ยนโครงสร้างภาษีสำเร็จมาแล้วในหลายประเทศข้างต้น     นั่นก็หมายความว่า ต่อไปสุราขาวอาจจะถูกจัดอยู่ในสุราพิเศษกลุ่มเดียวกับวอดก้า ต้องจ่ายภาษีเต็มเพดาน 400 บาท หรือ 4 บาท/ดีกรี/ลิตร เท่ากับเพดานวอดก้าในเชิงปริมาณ จากปัจจุบันสุราขาวจ่ายภาษี ลิตรละ 150 บาท หรือ 1.5 บาท/ดีกรี/ลิตร 
          นอกเหนือจากการค้าเสรีแล้วยังมีเรื่องรายจ่ายงบประมาณในส่วนนโยบายประชานิยมกดดันให้โครงสร้างภาษีเพิ่มขึ้นอีกทางหนึ่งด้วย  
          ไม่แปลกหากจะมีแนวคิดเรื่องขยายเพดานการจัดเก็บภาษีเบียร์เพิ่มจากเดิมเก็บในเชิงมูลค่าเต็มเพดานร้อยละ 60 เพราะเบียร์ถือเป็นตลาดใหญ่ในการสร้างรายได้จากภาษีสรรพสามิตให้รัฐสูงถึงร้อยละ 30-40 ของภาษีสรรพสามิตทั้งหมด สามารถนำเงินส่วนนี้มาชดเชยงบประมาณในส่วนอุดหนุนนโยบายประชานิยมก้อนโต เฉพาะมาตรการภาษีรถคันแรก ตัวเลขพุ่งขึ้นไปแตะที่ 30,000 ล้านบาท เข้าไปแล้วได้เป็นอย่างดี  
          ...แล้วภาครัฐได้มีการขบคิดเรื่องการปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศหรือยัง?
          นั่นคือคำถามในยุคพลวัตการค้าเสรี ที่จะมีสินค้าราคาถูกทะลักเข้าไทยตามกลไกการค้าเสรี มีผลกับความสามารถด้านการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยอย่างเลี่ยงไม่ได้ เพราะสุรา ไม่มีแบรนด์รอยัลตี้ สามารถทดแทนกันด้วยราคา ยืนยันได้จากการขยายตัวของเบียร์กลุ่มอีโคโนมีพุ่งเพิ่มเป็นมากกว่า ร้อยละ 80 ของตลาดเบียร์รวม หลังรัฐปรับเพิ่มภาษีกลุ่มสุราผสม และสุราขาว 2 รอบช่วง 5 ปีที่ผ่านมา
          ในส่วนผู้ประกอบการมีทางเลือกไม่มากนัก หนึ่งในนั้นคือ การออกไปต่างประเทศ หากยังปักหลักอยู่ในประเทศเพียงขาเดียว เท่ากับพาตัวเองไปสู่ทางตัน และเป็นเรื่องดีที่ภาคเอกชนไทยตื่นตัว เตรียมความพร้อมออกไปต่างประเทศในรายของบริษัทไทย เบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) หรือการ เตรียมความพร้อมออกไปสู่เออีซีของกลุ่มสิงห์ คอร์ปอเรชั่น 
          เพราะกลเกมการค้าเสรีบีบให้รัฐต้องเลือกข้างมากกว่าคำนึงเรื่องสุขภาพคนในชาติ จากนี้ไปข้อตกลงทางการค้าในส่วน discrimination  หรือ การเลือกปฏิบัติ เป็นสิ่งสำคัญยิ่งยวดที่รัฐบาลไทยต้องยึดไว้สูงสุดละเมิดไม่ได้ หลังเจอฝันร้ายรัฐบาลฟิลิปปินส์ชนะคดีที่ฟ้องไทยต่อดับเบิลยูทีโอ ว่ากีดกันนำเข้าบุหรี่ ขัดต่อหลักการ


pageview  1206118    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved