HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 05/02/2555 ]
เตรียมพร้อม 'กาย-ใจ'(หาก) น้ำท่วมซ้ำ
          วารุณี สิทธิรังสรรค์
          warunee11@yahoo.com
          วันนี้ แม้หลายคนทั้งเมืองกรุงและปริมณฑลจะหวาดหวั่นกับข่าวน้ำท่วมซ้ำซาก แต่ไม่ใช่คุณหมอหนุ่มหน้าใส อย่างนพ.กฤษดา   ศิรามพุช ผู้อำนวยการสถาบันเวชศาสตร์อายุรวัฒน์นานาชาติ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ของประเทศไทยหรือทีเซลส์ (TCELS)  เพราะเขามีเคล็ดลับในการรับมือหากน้ำท่วมซ้ำ โดยเน้นสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกายและจิตใจนั่นเอง
          สาเหตุที่ต้องเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้ตัวเองนั่นเพราะเมื่อครั้งน้ำท่วมที่ผ่านมา นอกจากความเสียหายทางทรัพย์สินแล้ว ยังส่งผลต่อความเสียหายทางร่างกาย และจิตใจ โดยเฉพาะสภาพจิตใจ เนื่องจากไม่มีใครรับได้กับสภาพที่เกิดขึ้น ยิ่งคนในเมืองไม่เคยพบปัญหาดังกล่าว การทำใจให้ยอมรับอาจไม่ใช่เรื่องง่าย ทำให้เกิดความเครียดง่ายและมาก
          บางรายกลายเป็นโรคซึมเศร้า และยังส่งผลต่อร่างกาย ทั้งเครียดลงผิว เครียดลงกระเพาะ บางรายป่วยเป็นโรคลำไส้แปรปรวนหรือ IBS ก็มี ปัญหาเหล่านี้มาจากสภาพจิตใจที่ย่ำแย่ทั้งสิ้น เรียกว่า เป็นโรคขาดใจ ซึ่งต้องรักษาด้วยวิธี "เมตตาบำบัด"ง่ายๆ วิธีนี้คือ ต้องมองทุกอย่างด้วยจิตเมตตา มีความเกื้อกูลซึ่งกันและกัน เพราะในยามน้ำท่วม ยามทุกข์  ครอบครัว เพื่อนบ้านคือด่านแรกของการพึ่งพาอาศัยกัน
          หากเครียดก็ควรพูดคุยกัน ระบายความในใจให้กันและกันอะไรช่วยได้ต้องช่วย อย่างในครอบครัวสิ่งสำคัญคือ การกอด แค่กอดก็สัมผัสได้ถึงความรู้สึกดีๆ ความรัก ความห่วงใยโดยไม่ต้องมีคำพูดปลอบโยนใดๆ ส่วนใครที่ถูกคนด่า คนต่อว่า อาจเพราะเขาเครียดจากภาวะที่เกิดขึ้น ก็ให้มองว่าเขายังเป็นเด็ก ซึ่งจะทำให้เราไม่ถือสา วิธีคิดแบบนี้จะช่วยให้เราสบายใจขึ้น ไม่โกรธจนกลายเป็นเรื่องเป็นราว
          "การทำใจให้ยอมรับกับปัญหาน้ำท่วมไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ยากหากจะทำ อย่างตอนน้ำท่วมที่ผ่านมา ผมก็ประสบปัญหาเช่นกัน แต่เราต้องคิดว่า ไม่ใช่เราคนเดียว เมื่อปัญหามาก็ต้อง
          ผ่านพ้นไปไม่ช้าก็เร็ว เราต้องยอมรับ คิดเสียว่าบ้านที่เสียหาย
          ข้าวของต่างๆ หากเป็นของเราก็เป็นของเราวันยังค่ำ หากข้าวของที่เสียหายไปแสดงว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ของเรา ให้คิดว่าเราทำดีที่สุดแล้ว ทั้งหมดเป็นเพียงปัญหาที่ต้องผ่านไปให้ได้ เรียกว่าต้องรู้จักปล่อยวาง"
          ส่วนการสร้างภูมิคุ้มกันสำหรับร่างกายก็สำคัญ แม้น้ำท่วม แต่ใช่ว่าจะไม่ดูแลอาหารการกิน ยิ่งในเมืองกรุง น้ำท่วมแค่นั้นก็ไม่ยากในการหาข้าวปลาอาหาร  สิ่งสำคัญต้องเน้นเสริมสร้างให้ร่างกายแข็งแรง ด้วยการบริโภคอาหารถูกสุขลักษณะ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ พักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอ
          การบริโภคอาหารมีสูตรง่ายๆ คือ อาหารร่าเริง เน้นผักใบเขียว นอกจากสุขภาพดีแล้ว ยังมีสร้างต้านอนุมูลอิสระ ชะลอความชราได้ โดยในแต่ละวันควรบริโภคผักใบเขียว เช่น คะน้าผักตำลึง หรือผักบุ้ง บริโภควันละ 5 กำมือ   ส่วนโปรตีน เน้นบริโภคปลาโดยเฉพาะปลาทูวันละ 2 ตัว ซึ่งปลาทูมีโอเมก้า 3 สูง ทำให้เราอารมณ์ดี และสร้างภูมิคุ้มกันเพิ่มขึ้น ที่สำคัญยังมีสารแอสตาแซนธิน(Astaxanthin) เป็นสารที่มีความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระ ลด
          ความเจ็บปวด อาการอักเสบต่างๆ ได้ ซึ่งนอกจากปลาทู ยังพบในปลาน้ำจืดชนิดต่างๆ รวมไปถึงกะปิก็พบเช่นกัน
          นอกจากนี้ควรบริโภคอาหารสีม่วง จำพวกองุ่น มะเขือม่วง ลูกหว้าตะขบ รวมไปถึงข้าวเหนียวม่วงก็ช่วยได้ ซึ่งอาหารกลุ่มนี้จะมีวิตามินสีม่วงที่เรียกว่า OPC ช่วยชะลอความชรา ป้องกันมะเร็งได้ มีฤทธิ์มากกว่าวิตามินอีถึง 100 เท่าทีเดียว ทั้งนี้ การบริโภคพริก ยังช่วยในแง่ความเผ็ดร้อน ซึ่งจะทำให้เรารู้สึกสบายตัว หลังจากเผ็ดร้อนไปแล้ว เนื่องจากมีสารเอ็นโดรฟิน สารความสุขนั่นเอง
          ขณะเดียวกันการออกกำลังกายก็ต้องทำ แต่ต้องทำอย่างเหมาะสมและสม่ำเสมอ อย่างในที่ทำงาน หรือในบ้านชั้น 2 (หากน้ำท่วมชั้นล่าง)อยู่ว่างๆ แทนจะมานั่งเครียด เสียใจ ก็หันมาออกกำลังกาย โดยแค่ยืนและแกว่งแขนก็ช่วยได้เช่นกัน หรือจะซิทอัพ ก็เป็นวิธีการออกกำลังกายในพื้นที่จำกัดที่ดี แต่ทั้งนี้ ไม่ควรออกกำลังกายนานเกิน 2 ชั่วโมง เพราะมากเกินไปก็อาจส่งผลร้ายได้เช่นกัน
          เห็นได้ว่าการดูแลร่างกายและจิตใจ ปรับสภาพกับปัญหาที่เกิดขึ้นทำไม่ยาก อยู่ที่จะทำและพร้อมจะต่อสู้หรือไม่

pageview  1205153    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved