HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 06/08/2555 ]
เสียงเตือนจากร่างกาย มากมายหลายสิ่งประกอบเป็นหนึ่งร่างกายนี้ (ตอนที่ 1)

  "กิจฺโฉ มนุสฺสปฏิลาโภ ความได้เป็นมนุษย์เป็นการยาก" พุทธสุภาษิตบทนี้เป็นเครื่องเตือนให้เรา ได้หยุดคิด และตรึกตรองว่าการได้เกิดเป็นมนุษย์นั้นยากยิ่ง มนุษย์ที่ได้ร่างกายมาโดยสมบูรณ์จึงควรจะใช้ร่างกายนี้อย่างสมเหตุสมผล ใช้ให้พอเหมาะพอควร ใช้มากไปก็ช้ำ ใช้น้อยไปก็เฉา
          ในทางธรรมชาติบำบัดจะให้ความสำคัญกับ เสียงเตือนจากร่างกายมาก เพราะเมื่อมีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้นจะฟ้องด้วยอาการต่างๆ ทันที แต่ส่วนใหญ่เรามักไม่รู้สึกตัวถึงสิ่งที่ร่างกายพยายามบอก เรามักลืมกาย-ลืมใจอยู่เสมอ เพราะคอยสนใจแต่เรื่องนอกกาย ร่างกายมนุษย์เรานั้น ประกอบด้วยระบบสำคัญอันเป็นรากฐานที่ต้องแข็งแรง เพื่อเอื้อต่อการดำรงชีวิต ระบบสำคัญนี้ก็คือ ระบบโครงสร้างร่างกาย  ซึ่งหมายรวมถึงกระดูก ข้อต่อ เส้นเอ็น กล้ามเนื้อ เส้นประสาท ระบบไหลเวียนเลือด น้ำเหลือง  ทั้งหมดนี้ ต้องอาศัยการทำงานซึ่งกันและกัน
          กระดูก (Skeletal bone) หน้าที่หลักคือเป็นโครงพยุงร่างกาย เป็นตัวป้องกันอวัยวะภายในไม่ให้มีการ กระทบกระเทือน เพราะอวัยวะทุกส่วนล้วนสำคัญต่อการมีชีวิตอยู่ หากเพียงแค่ส่วนใดส่วนหนึ่งบกพร่อง ก็อาจทำให้เสียชีวิตได้  และไม่ว่าส่วนหนึ่งส่วนใดมีปัญหา ย่อมกระทบถึงส่วนอื่นทันที นอกจากนี้ไขกระดูกยังเป็นที่สะสมแร่ธาตุต่างๆ ซึ่งเป็นเสมือนสารตั้งต้นในกระบวนการต่างๆ ของร่างกาย ไขกระดูกเป็นตัวสร้างเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว (ฆ่าเชื้อโรค) เกล็ดเลือด  เพื่อนำไปเลี้ยงเซลล์ต่างๆ ในร่างกาย
          กล้ามเนื้อ (Muscle System) เป็นองค์ประกอบที่สำคัญมากของโครงสร้างร่างกาย เป็นตัวกำหนดการทรงตัวของกระดูก ซึ่งจะสามารถเรียงตัวอยู่ในแนวปกติได้ ต้องอาศัยความแข็งแรง ความทนทาน และความสมดุล ของกล้ามเนื้อนั่นเอง กล้ามเนื้อมีเยื่อหุ้มโยงใยตั้งแต่กะโหลกศีรษะไปจดปลายเท้า ไม่สามารถแยกส่วนกันได้เลย  ดังนั้นหากมีความผิดปกติเกิดที่กล้ามเนื้อส่วนใดก็ตาม อาจส่งผลถึงส่วนที่เชื่อมโยงอยู่ได้ตลอดทั้งแนว  กล้ามเนื้อมีหลายชั้นวางเรียงซ้อนทับกันอยู่ มีบทบาทและหน้าที่แตกต่างกันไป เช่น มัดใหญ่อยู่ด้านนอกปกป้องแรงกระแทกจากภายนอก มัดเล็กๆ อยู่ลึกสุดช่วยสร้างความมั่นคงต่อแกนกลางกระดูก ปกป้องระบบรากประสาท  ช่วยการเคลื่อนไหว ส่งเสริมให้อวัยวะภายในทำงานได้ดีขึ้น กล้ามเนื้อส่วนลึกนี้เป็นหลักสำคัญที่มีบทบาทและควบคุมให้ระบบโครงสร้างร่างกายสมดุล  และกล้ามเนื้อมัดลึกนี่เองที่มักมีปัญหาจนส่งผลให้เกิดความเจ็บปวด และเรื้อรังจนเป็นปัจจัยเสี่ยงให้เกิดเป็นโรคร้ายแรงได้  ส่วนกล้ามเนื้อมัดนอก เนื่องจากเป็นมัดใหญ่ จึงสามารถซ่อมแซมตัวเองได้
          เส้นใยกล้ามเนื้อยังเป็นทางลอดผ่านของระบบเลือด ระบบน้ำเหลือง ขับถ่ายของเสีย รวมถึงระบบประสาทอีกด้วย ดังนั้นเมื่อกล้ามเนื้อมีความผิดปกติ จะไม่เพียงแค่เกิดอาการเจ็บปวด แต่ยังส่งผลโดยตรงต่อระบบกระดูก ระบบเลือด น้ำเหลืองและระบบประสาท ให้มีความผิดปกติตามมา  ซึ่งอาจเป็นบันไดนำไปสู่การเป็นโรคร้ายแรงต่างๆ ได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น โรคกระดูกเสื่อมเร็ว โรคหมอนรองกระดูกเคลื่อน กระดูกทับเส้นประสาท โรคความดัน โรคไมเกรน โรคหัวใจ หรือแม้แต่อัมพฤกษ์อัมพาต
          ระบบการไหลเวียนเลือด-น้ำเหลือง (Circulatory System) หลอดเลือดแดง (Artery) เป็นเสมือน หน่วยลำเลียงอาหารไปสู่เซลล์ ไปสู่อวัยวะต่างๆ ของร่างกายเพื่อให้ชีวิตดำรงอยู่ได้   แม้เราจะบำรุงร่างกายนี้ด้วยของดีเพียงใด แพงขนาดไหน หากหน่วยลำเลียง คือระบบการไหลเวียนของเลือดไม่ดี ร่างกายก็ไม่ได้รับสารอาหารที่ดีเหล่านั้นได้  ในขณะเดียวกันอาหารต่างๆ ที่เข้าไปสู่ร่างกาย อาจปะปนไปด้วยพิษและเชื้อโรคต่างๆ  รวมถึงกระบวนการเผาผลาญ จะต้องมีพิษ หรือมีของเสียตกค้าง ระบบ น้ำเหลือง (Lymphatic System) และระบบเลือดดำ (Vein) จะเป็นหน่วยลำเลียงเอาพิษ เอาเชื้อโรคออกจากร่างกาย นั่นหมายความว่าหากหน่วยลำเลียงของเสียทำงานได้ไม่ดีพอ หรือบกพร่องไปก็จะนำพาให้ร่างกายเกิดโรคภัยไข้เจ็บได้เช่นเดียวกัน
          ระบบประสาท (Nervous System)  ที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างร่างกายโดยตรงก็คือ ระบบประสาทส่วนปลาย (Peripheral Nerve) เป็นระบบที่จะต้องนำคำสั่งจากสมองไปสู่อวัยวะต่างๆ เพื่อให้เกิดการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ สมองถือเป็นอวัยวะที่ควบคุมการทำงานทุกส่วนของร่างกายก็จริงอยู่ แต่หากขาดเส้นประสาทซึ่งเป็นเส้นทางที่นำเอาคำสั่งจากสมองไปสู่อวัยวะต่างๆ แล้ว สมองก็ไม่สามารถสั่งให้ส่วนต่างๆ ของร่างกายทำงานได้
          ไม่ว่าจะเป็นระบบไหลเวียน (Circulatory System) หลอดเลือดแดง (Artery) หลอดเลือดดำ (Vein) ระบบน้ำเหลือง ( Lymphatic System) หรือ ระบบประสาท (Nervous System)  ระบบเหล่านี้วิ่งทอดขนานไปด้วยกันตลอดทั้งร่างกาย ภายใต้เส้นใยกล้ามเนื้อ เพราะเหตุนี้เองกล้ามเนื้อจึงเป็นตัวหลักสำคัญมากที่มีผลต่อการทำงานของระบบเหล่านี้ด้วย
          ทั้งหมดที่กล่าวมาเพื่อให้ท่านได้ตระหนักว่า ร่างกายมนุษย์นี้เป็นที่น่าอัศจรรย์ยิ่ง ยากที่จะมีสิ่งใด ลอกเลียนแบบได้  ดังนั้นเมื่อท่านได้ร่างกายมาแล้วจึงควรฝึกฝน ป้องกัน และรักษาร่างกายนี้ให้สมดุล เพื่อการมีชีวิตอยู่อย่างมีคุณภาพจนถึงวัยอันควร แต่ทำอย่างไร? จึงจะสามารถดูแลร่างกาย-จิตใจนี้ให้สมดุลได้
 


pageview  1205849    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved