HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 31/07/2555 ]
คอเหล้า98%เมินรับการบำบัด

 เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พญ.พันธุ์นภา กิตติรัตนไพบูลย์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต และผู้จัดการแผนงานการพัฒนาระบบการดูแลผู้มีปัญหาการดื่มสุรา (ผรส.) กล่าวถึงคำแนะนำสำหรับผู้มีปัญหาการดื่มสุราว่า ในทางการแพทย์ถือเป็นโรคชนิดหนึ่งที่เรียกว่า "ความผิดปกติพฤติกรรมดื่มสุรา" ซึ่งเป็นความผิดปกติของพฤติกรรมการดื่ม ทั้งดื่มแบบติด และดื่มแบบอันตราย ก่อให้เกิดโรค เช่น ตับแข็ง ตับอักเสบ ระบบประสาท หรือเสี่ยงต่ออันตราย เช่นอุบัติเหตุ ขณะนี้มีผู้ป่วยติดสุราเพิ่มและพบว่าเป็นผู้หญิงมากขึ้น และมีอายุน้อยลง สาเหตุหนึ่งมาจากเยาวชนหาซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ง่าย ประกอบกับผู้ที่ติดสุราไม่ยอมรับว่าตนเองติดสุรา ดังนั้น การสังเกตอาการติดสุรา คือ ดื่มเป็นประจำ หรือดื่มเกือบทุกวัน หากไม่ได้ดื่มจะมีอาการ เช่น นอนไม่หลับ หงุดหงิด กระสับกระส่าย เครียด โมโหง่าย มือไม้สั่น มีเหงื่อออกตามร่างกาย ฝันร้าย หูแว่ว ประสาทหลอน หรือมีอาการชัก แต่อาการดังกล่าวสามารถปรึกษาแพทย์และรับการบำบัด รักษาได้
          พญ.พันธุ์นภากล่าวว่า จากผลการสำรวจประชากรไทยอายุ 15-60 ปี พบผู้มีปัญหาการดื่มสุรามากถึง 5 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นโรคติดสุรา 3 ล้านคน เป็นเพศชายมากกว่าเพศหญิง และในพื้นที่ภาคเหนือ และภาคอีสานมีปริมาณสูงกว่าภาคอื่นๆ ข้อมูลที่น่าเป็นห่วง คือ ผู้ติดสุราขอเข้ารับการบำบัดรักษาในสถานพยาบาลเพียงร้อยละ 2 แสดงว่าผู้ติดสุราอีกร้อยละ 98 ไม่ได้เข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษา ซึ่งอาจเชื่อว่า ตัวเองไม่ได้ติดสุรา สำหรับผู้ที่คิดจะเลิกดื่มสุรา โดยเริ่มจากช่วงเทศกาลเข้าพรรษานั้น ก่อนอื่นต้องประเมินอาการว่า ที่ผ่านมาการดื่มสุราส่งผลกระทบต่อร่างกายรุนแรงแค่ไหน และมีปฏิกิริยาอย่างไร เมื่อไม่ได้ดื่มหรือลดปริมาณการดื่มลง ซึ่งหากรุนแรงมากควรพบแพทย์ เพื่อขอคำแนะนำ ส่วนคนที่ดื่มไม่มากไม่เคยมีอาการดังกล่าว หรือมีเพียงเล็กน้อยก็สามารถเลิกดื่มได้เอง โดยการฟื้นฟูของร่างกายจะใช้เวลาประมาณ 5-7 วันจะหายเป็นปกติ
 


pageview  1205849    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved