HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 26/07/2555 ]
นวัตกรรมปิดรูรั่วหัวใจ ลดภาวะแทรกซ้อน

 อีกครั้งกับความสำเร็จโดยคนไทยกับนวัตกรรมทางการแพทย์ของผู้ป่วยโรคหัวใจที่มีภาวะรูรั่วผนังกั้นหัวใจห้องล่าง ซึ่งไม่ต้องผ่าตัดเหมือนที่ผ่านมา...
          ในงานแถลงข่าว "ผลสำเร็จ การคิดค้นอุปกรณ์ปิดรูรั่วที่ผนังกั้นหัวใจห้องล่าง โดยไม่ต้องผ่าตัด" ของคณะแพทย์ศูนย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย รศ.นพ.โศภณ นภาธร ผู้อำนวยการ รพ.จุฬาฯ เปิดเผยว่า ศูนย์โรคหัวใจประสบความสำเร็จ ในการคิดค้นอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับการปิดรูรั่ว ที่ผนังกั้นหัวใจห้องล่าง โดยไม่ต้องผ่าตัด นับเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ป่วยซึ่งจะช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น สามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้เร็วขึ้น ถือเป็นนวัตกรรมทางการแพทย์ครั้งแรกโดยคนไทยที่สามารถผลิตอุปกรณ์เพื่อรักษาผู้ป่วยได้จริง
          รศ.นพ.พรเทพ เลิศทรัพย์เจริญ แพทย์ ผู้เชี่ยวชาญโรคหัวใจเด็ก ฝ่ายกุมารเวชศาสตร์ กล่าวว่า อุปกรณ์ชิ้นนี้มีความพิเศษกว่าอุปกรณ์เดิม เพราะผลิตจากโลหะนิทินอล และ เคลือบด้วยทองคำขาวจากนาโนเทคโนโลยี ซึ่งนอกจากนี้ ยังมีความยืดหยุ่นสูงกว่าอุปกรณ์เดิม เพื่อป้องกันไม่ให้นิเกิลทำปฏิกิริยากับเนื้อเยื่อเหมือนอุปกรณ์เดิม ซึ่งจะช่วยลดอาการข้างเคียง อาทิ นิเกิลเข้ากระแสเลือด และการกดทับทางเดินเส้นประสาท และ กล้ามเนื้อหัวใจ เพื่อเป็นการแก้ปัญหาภาวะหัวใจขัด (Heart Lock) ที่เกิดจากอุปกรณ์เดิม โดยภาวะดังกล่าวทำให้หัวใจห้องล่างเต้นช้ากว่าห้องบน ผู้ป่วยจึงต้องใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจ ซึ่งกรณีนี้เกิดขึ้นได้ร้อยละ 2-8
          "อุปกรณ์ชิ้นนี้จะเป็นการนำลวดนิทินอล มาสานและขึ้นรูปเป็นอุปกรณ์ที่สามารถปิดรูรั่วได้ดี และเปลี่ยนโครงสร้างของแกนกลางทำให้เกิดแรงกดบนเนื้อเยื่อรอบข้างน้อยที่สุด และ ได้ออกแบบรูปร่างของอุปกรณ์เป็น 3 แบบ เพื่อให้สอดคล้องกับลักษณะที่แตกต่างกันของรูรั่วที่ผนังกั้นหัวใจห้องล่าง สำหรับการใช้งานนั้น แพทย์จะเจาะรู 2 รู บริเวณเส้นเลือดดำและเส้นเลือดแดงที่ขาหนีบ ขนาดเพียง 2 มิลลิเมตร และใช้อุปกรณ์นี้ใส่เข้าไปในลวดตัวนำ คล้ายๆ ท่อนำผ่านอุปกรณ์เข้าสู่หัวใจห้องล่างที่มีรูรั่ว และยิงอุปกรณ์ปิดรูรั่วนั้นๆ หลังใส่อุปกรณ์ แพทย์จะสังเกตอาการผู้ป่วย 1 คืน หากไม่พบความผิดปกติจะอนุญาตให้กลับบ้าน อย่างไรก็ตาม มีข้อจำกัด
          ในการใช้คือ แพทย์จะพิจารณาตำแหน่งและขนาดของรูรั่ว หากตำแหน่งอยู่ใกล้กับทางเดินเส้นประสาท และขนาดรูรั่วใหญ่ เกิน แพทย์จะแนะนำให้ใช้วิธีการผ่าตัด สำหรับเด็ก หากมีน้ำหนักตัวน้อยกว่า 8 กิโลกรัม แพทย์จะแนะนำให้ผ่าตัดเช่นเดียวกัน" รศ.นพ.พรเทพ กล่าว และว่า อุปกรณ์ชิ้นนี้ยังไม่ได้กำหนดราคา แต่เป้าหมายคือต้องการช่วยเหลือผู้ป่วยในประเทศไม่ให้เดือดร้อนจากค่าใช้จ่ายในการรักษา ผู้ป่วยที่สามารถรักษาด้วยวิธีนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ป่วยเด็กที่มีอาการหัวใจพิการแต่กำเนิด ซึ่งปัจจุบันเด็กหัวใจพิการแต่กำเนิดมีอัตรา 8 ต่อ 1,000 ราย ส่วนเด็กที่มีรอยรั่วหัวใจจะมีร้อยละ 30 ของเด็กที่มีหัวใจพิการแต่กำเนิด และอาจมีหลายปัจจัยร่วมด้วย อาทิ หัวใจตีบตัน รูรั่วหัวใจบน เป็นต้น
          อุปกรณ์ชิ้นนี้ แม้จะไม่ใช่ชิ้นแรกในโลก เพราะมีการผลิตใช้มาแล้วกว่า 30 ปี แต่ของเดิม ให้ผลการรักษาไม่ค่อยดี ยังมีผลข้างเคียง จึงมีการพัฒนาต่อยอด ล่าสุด มีการทดสอบใส่อุปกรณ์ชิ้นนี้ไปแล้ว 16 ราย สามารถปิดรูรั่วสำเร็จ 12 ราย ทุกรายให้ผลการรักษาดี ส่วน 2 ราย ใส่แล้วเกิดภาวะแทรกซ้อน อุปกรณ์ปิด ไม่สนิท เส้นเลือดแดงแตก ส่วนอีก 2 ราย เกิดติดเชื้อที่ลิ้นหัวใจหลังการผ่าตัด และเม็ดเลือดแดงแตก จึงต้องหยุดการรักษาด้วยวิธีดังกล่าวทันที และแนะนำให้ทำการผ่าตัดแทน
          ด้าน รศ.นพ.สุพจน์ ศรีมหาโชตะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคหัวใจ ฝ่ายอายุรศาสตร์ กล่าวว่า วิธีนี้ยังใช้ได้ในผู้ใหญ่ที่ป่วยด้วยโรคหลอดเลือดเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจอุดตัน ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจตาย ซึ่งในบางรายกล้ามเนื้อบริเวณผนังกั้นหัวใจห้องล่างเปื่อยยุ่ยและ ทะลุ เกิดเป็นรูรั่วที่ผนังกั้นหัวใจห้องล่าง ทำให้หัวใจห้องล่างซ้ายต้องทำงานหนักขึ้นกว่าเดิมและเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว แม้การรักษา ที่เป็นมาตรฐานคือ การผ่าตัดเย็บปิดรูรั่ว แต่เนื่องจากผู้ป่วยกลุ่มนี้มีความเสี่ยงต่อการผ่าตัดสูงมาก การรักษาด้วยการใช้อุปกรณ์ปิดผนังกั้นหัวใจที่รั่วจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ทั้งนี้ กว่า 1 ปีที่ผ่านมา ได้รักษาผู้ป่วยรายแรกที่มีอาการหอบเหนื่อยและมีภาวะหัวใจล้มเหลวด้วยอุปกรณ์ชนิดใหม่นี้ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น และสามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติ แต่ยังจำเป็นต้องได้รับยารักษาโรคหัวใจอย่างต่อเนื่อง
          นายสุดศิลป์ ศรีสุวรรณ อายุ 57 ปี ผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน และมีผนังหัวใจรั่ว กล่าวว่า ก่อนจะรับการผ่าตัด มีอาการเหนื่อยง่าย แม้จะเดินเข้าห้องน้ำยังต้องหยุดพักอย่างน้อย 2-3 ครั้ง แต่หลังรับการผ่าตัดไม่มีอาการเหนื่อยเหมือนที่ผ่านมา สามารถทำงานได้ตามปกติ เดินขึ้นบันไดได้ และไม่พบภาวะแทรกซ้อนใดๆ


pageview  1205849    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved