HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 26/07/2555 ]
จริยธรรมแห่งวิชาชีพในกรอบกฎหมาย คือพื้นฐานสู่คุณธรรม

 ศ.นพ.วิรัติ พาณิชย์พงษ์
          จริยธรรมแห่งวิชาชีพเป็นระเบียบข้อบังคับในการประกอบวิชาชีพ  ที่มีสภาวิชาชีพควบคุม การปฏิบัติงานให้อยู่ในกรอบของจริยธรรมแห่งวิชาชีพ  ควบคู่ไปกับการพัฒนาด้านวิชาการซึ่งเป็นหัวใจของวิชาชีพให้เกิดมาตรฐานการประกอบวิชาชีพที่ดีที่สุดทันยุคสมัยในระดับสากล  อีกทั้งยังมีการพิจารณาตัดสินลงโทษผู้ละเลยฝ่าฝืนข้อบังคับที่ทำให้เกิดผลเสียต่อวิชาชีพและประชาชนผู้เกี่ยวข้องโดยตรง  ซึ่งผู้เสียหายสามารถใช้สิทธิฟ้องร้องต่อกระบวนการยุติธรรมที่ถูกละเมิดต่อร่างกาย ชีวิต หรือทรัพย์สินได้
          การประกอบวิชาชีพเวชกรรมของแพทย์เป็นตัวอย่างที่จะนำมาเสนอเป็นกรณีศึกษาด้านจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม คือ  เริ่มจากการคัดเลือกนักเรียนที่สอบผ่านเกณฑ์แล้วมาสอบทัศนคติด้านจริยธรรม คุณธรรม ที่ยอมรับได้ในสังคมไทยและวงการวิชาชีพแพทย์ปัจจุบันในระดับนานาชาติก่อนเริ่มการศึกษาแพทย์จะมีการปฐมนิเทศด้านจริยธรรมโดยอาจารย์แพทย์อาวุโสที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้มีคุณธรรม หลากหลายประสบการณ์
          เมื่อเริ่มการศึกษาแพทยศาสตร์จะมีการสอดแทรกพฤติกรรมด้านจริยธรรมของสังคมและของวิชาชีพตลอดหลักสูตร เช่น การศึกษาฝึกปฏิบัติกับผู้ป่วยจริง เพื่อให้เกิดประสบการณ์การเรียนรู้ ยอมรับนำไปประยุกต์เพื่อปฏิบัติในอนาคต และเมื่อจบหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตจะมีการปัจฉิมนิเทศ เพื่อเตรียมออกฝึกปฏิบัติงานจริง  อีกหนึ่งปีภายใต้การควบคุมดูแลของแพทย์รุ่นพี่ตามระบบการเพิ่มพูนทักษะที่ต้องประเมินด้านจริยธรรมเป็นหลักจากแพทยสภาที่ได้อนุมัติใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรมไว้ แพทย์ต้องขึ้น
          ทะเบียนเป็นสมาชิกแพทยสภาที่ต้องทำพิธีปฏิญาณตนต่อพระราชบิดา ก่อนนำใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรมไปปฏิบัติงานในวิชาชีพที่ถูกต้องตามกฎหมาย  ภายใต้กำกับของแพทยสภาตลอดไป ตามอำนาจหน้าที่ในพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรมพ.ศ.2525 ซึ่งควบคุมจริยธรรมโดยคณะกรรมการควบคุมจริยธรรม  ควบคุมคุณภาพวิชาการและมาตรฐานวิชาชีพ โดยราชวิทยาลัย  วิทยาลัยวิชาการแพทย์  ซึ่งมี  79 สาขาในปัจจุบัน
          นอกเหนือจากจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรมแล้ว  แพทย์ยังมีอุดมคติในการประกอบวิชาชีพ ตามคำสั่งสอนของพระราชบิดาว่า"ฉันไม่ต้องการให้เธอเป็นหมอเท่านั้น แต่ฉันต้องการให้เธอเป็นคนด้วย ขอให้ถือประโยชน์ส่วนตนเป็นที่สอง ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง  ลาภทรัพย์และเกียรติยศจะตกมาแก่ท่านเอง ถ้าท่านทรงธรรมแห่งวิชาชีพไว้ให้บริสุทธิ์" โดยที่แพทย์ยังต้องปฏิญาณตนและยึดมั่นถือมั่นนำไปปฏิบัติ ดังต่อไปนี้"ข้าพเจ้าจะปฏิบัติตน ตามมาตรฐานวิชาชีพและจรรยาแพทย์ โดยคำนึงถึงสิทธิของผู้ป่วย"
          ในสภาพสังคมไทยปัจจุบันมีการฟ้องร้องแพทย์เรียกค่าเสียหายที่ละเมิดต่อร่างกายชีวิต และทรัพย์สินของผู้ป่วยหรือญาติ  เป็นปัญหาอุปสรรคที่บั่นทอนกำลังใจของแพทย์ในการปฏิบัติงานด้วยจริยธรรม โดยไม่คำนึงถึงประเด็นกฎหมายที่มีองค์ประกอบความผิดซ่อนเร้นอยู่  เช่น  กรณีศึกษาแพทย์จบใหม่ในโรงพยาบาลชุมชนมีเจตนาที่จะช่วยเหลือผู้ป่วยด้วยจรรยาบรรณผ่าตัดรักษาผู้ป่วยไส้ติ่งอักเสบ  โดยการให้ยาชาทางไขสันหลังแล้วมาทำการผ่าตัด โดยให้พยาบาลห้องผ่าตัดเฝ้าระวังผู้ป่วยด้วยประสบการณ์เฉพาะ แต่เกิดปัญหาแทรกซ้อน  โดยผู้ป่วยเป็นโรคหัวใจมีอาการหยุดหายใจเมื่อเริ่มลงมือผ่าตัดแพทย์และพยาบาล จึงหยุดการผ่าตัดมาช่วยผายปอด กระตุ้นหัวใจผู้ป่วยและใส่ท่อช่วยหายใจโดยการอัดออกซิเจนด้วยมือ บีบถุงออกซิเจนตลอดการนำส่งไปรักษาที่ห้องไอซียู โรงพยาบาลจังหวัด
          ต่อมาสองสัปดาห์ผู้ป่วยเสียชีวิตจากโรคแทรกซ้อนทางการหายใจและโรคหัวใจที่มีเส้นเลือดหัวใจตีบตันกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ความเสียหายที่ผู้ป่วยเสียชีวิต มีประเด็นความผิดทางกฎหมาย คือ แพทย์มีความประมาทที่ไม่มีความพร้อมในการผ่าตัดผู้ป่วยโดยไม่มีวิสัญญีแพทย์หรือวิสัญญีพยาบาลในห้องผ่าตัดเป็นความประมาททางแพ่งที่กระทรวงต้องจ่ายค่าเสียหายหกแสนบาทแต่กระทรวงต่อสู้ชนะเรื่องคดีหมดอายุความจึงมีการฟ้องทางอาญาให้แพทย์ถูกจำคุกและนำผลแห่งคดีมาฟ้องเรียกเงินทางแพ่งต่อแพทย์ได้รับโทษจำคุก 3 ปี ไม่รอลงอาญาแม้ยึดหลักจริยธรรม จึงเป็นเรื่องสะเทือนใจในวงการแพทย์  ทำให้ต้องยึดหลักกฎหมายก่อนหลักจริยธรรม  เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงด้วยวิจารณญาณจากประสบการณ์กรณีศึกษานี้จึงทำให้ผู้ป่วยทั่วประเทศได้รับความเดือดร้อนโดยถ้วนหน้า  เนื่องจากแพทย์จะไม่ทำผ่าตัดในโรงพยาบาลชุมชนทั่วประเทศเพราะโรงพยาบาลไม่มีศักยภาพความพร้อมกรณีศึกษานี้น่าจะพิจารณาความผิดที่แท้จริงคือ ศักยภาพของโรงพยาบาลที่รัฐไม่สามารถจัดหาให้ได้มาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศประชาชนสมควรร่วมมือกับแพทย์ช่วยกันพัฒนาศักยภาพมาตรฐานของโรงพยาบาลให้เกิดประโยชน์สูงสุด  ไม่ใช่มาฟ้องร้องเอาชนะกันเพื่อประโยชน์ตอบแทนส่วนตัว ทำให้เกิดผลเสียต่อทุกฝ่าย
          สำหรับวิชาชีพอื่นที่ไม่มีสภาวิชาชีพควบคุมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาการ  บางอาชีพมีการปฏิญาณตนก่อนปฏิบัติงาน  เช่นปฏิญาณตนว่า "จะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตเพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน  ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ"
          แต่ถ้าบางคนไม่ปฏิบัติตามคำปฏิญาณตนดำเนินการล้มล้างรัฐธรรมนูญทุกวิถีทาง เป็นข้อเตือนใจของประชาชนไทยที่จะพิจารณาให้ความเชื่อถือไว้วางใจใครมาปฏิบัติหน้าที่แทนท่านในอนาคต  จึงจำเป็นต้องเลือกผู้ที่ยึดหลักนิติธรรม  ปฏิบัติหน้าที่ถูกต้องตามจริยธรรมของสังคมเป็นอันดับแรก


pageview  1205849    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved