HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 24/07/2555 ]
มติ ครม.เห็นชอบให้กระทรวงสาธารณสุข ดำเนิน 6 มาตรการป้องกันการระบาดในวงกว้างและการเสียชีวิตจากโรค มือ เท้า ปาก

"รายงานสถานการณ์ โรคมือเท้าปาก ล่าสุดมีการรายงานทั่วประเทศพบผู้ป่วย 13,918 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต พบในกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี มากสุดและมักพบมากในภาคกลางมากที่สุดจำนวน 4,354 ราย รองลงมาคือภาคเหนือ 3,523 ราย ภาคใต้ 2,556 ราย และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2,418 ราย อัตราการพบผู้ป่วยรายใหม่ในปลายเดือนมิถุนายน เฉลี่ยวันละ 80-100 ราย เริ่มมีแนวโน้มชะลอในบางพื้นที่แต่จะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นในเขตเมืองใหญ่"
          นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่าจากเหตุการณ์ระบาดของโรคมือ เท้า ปาก จากเชื้อไวรัสเอนเทอโร 71 ซึ่งเกิดขึ้นในประเทศเพื่อนบ้านอย่างกัมพูชาจนลุกลามเรื่อยมาถึงประเทศไทย เนื่องจากมีเด็กเสียชีวิตจากโรคดังกล่าว อาจทำให้พ่อแม่ผู้ปกครองหลายคนพากันเป็นห่วงวิตกกังวลว่าเชื้อโรค มือ เท้า ปาก จะมากล้ำกลายบุตรหลานของตร สำหรับประเทศไทยนั้นสถานการณ์การระบาดของโรคมือ เท้า ปาก ไม่ได้รุนแรงเหมือนที่พบในประเทศเพื่อนบ้าน เพราะเป็นสายพันธุ์ที่มีอยู่แล้ว และไม่ได้เกิดการกลายพันธุ์แต่อย่างใด จึงไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต และมั่นใจได้ว่ากระทรวงสาธารณสุขสามารถควบคุมสถานการณ์ของโรคได้ ขณะนี้ได้ให้ทีมผู้เชี่ยวชาญของกรมควบคุมโรคติดตามสถานการณ์ในภาพรวมทั่วประเทศทุกวัน ซึ่งพบแนวโน้มการป่วยจะมีต่อเนื่องไปอีก 1-2 เดือน และอาจแพร่กระจายในหลายจังหวัด โดยเฉพาะในเขตเมืองอย่างกรุงเทพฯ เนื่องจากมีคนอยู่รวมกันอย่างหนาแน่น และยังอยู่ในช่วงฤดูฝนและเปิดเทอม ทั้งนี้ได้กำชับให้สำนักงานสาธารณสุขทุกจังหวัดทั่วประเทศ ให้ดำเนินการป้องกันและเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคภายใต้มาตรการเฝ้าระวังโรคคัดแยกผู้ติดเชื้อออกทันทีที่ตรวจพบ และรักษาความสะอาดพื้นที่เพื่อตัดวงจรการแพร่ระบาดของเชื้อ และเน้นย้ำให้เฝ้าระวังเป็นพิเศษในพื้นที่ที่มีเด็กมารวมตัวกันเป็นจำนวนมาก อาทิ ศูนย์เด็กเล็ก สถานรับเลี้ยงเด็กก่อนวัยเรียน โรงเรียนอนุบาล โรงเรียนประถมศึกษา สวนสนุกในห้างสรรพสินค้า  เมื่อพบเด็กป่วยโรคมือเท้าปาก 10 รายขึ้นไป หรือเป็นกลุ่มก้อน ให้ดำเนินการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการระดับจังหวัด โดยเชิญผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน เพื่อขอความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการควบคุมโรคอย่างต่อเนื่อง และขอยืนยันว่า มาตรการปิดโรงเรียนเป็นระบบการควบคุมป้องกันโรคของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยแก่เด็กเล็ก ซึ่งต่อจากนี้ไปอาจจะมีการปิดเรียนได้ตามความจำเป็น ขอให้ประชาชนไม่ต้องตกใจแต่อย่างใด
          รมว.สาธารณสุข กล่าวอีกว่าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบให้กระทรวงสาธารณสุข ดำเนินมาตรการ เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่กระจายของโรคมือ เท้า ปากในวงกว้างและการเสียชีวิตของผู้ป่วยดังนี้ 1.เร่งรัดมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรค 2.กำชับแพทย์ในสถานพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชน ในพื้นที่ให้ระมัดระวัง 3. ภาวะแทรกซ้อนรุนแรงของโรค โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ป่วยที่อาจไม่ได้มาด้วยอาการตุ่มที่ปาก หรือฝ่ามือ ฝ่าเท้า 4. ทำการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เรื่องโรค มือ เท้า ปาก แก่ประชาชน เน้นการรักษาสุขอนามัย ล้างมือบ่อยๆ หากมีผู้ป่วยสงสัยมือ เท้า ปาก ที่มีไข้สูง ซึม ชัก หายใจ หอบเหนื่อย ให้รีบพาไปพบแพทย์ 5. ให้จังหวัดที่พบผู้ป่วยมากกว่า 10 รายต่อวัน เปิดศูนย์ปฏิบัติการระดับจังหวัด (War room) โดยเรียนเชิญผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน 6.ทำหนังสือขอความร่วมมือไปยังผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ปลัดกระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม กระทรวงการพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และนายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ในการเฝ้าระวังป้องกัน และควบคุมการระบาดของโรคมือ เท้า ปาก ในศูนย์เด็กเล็ก สถานศึกษา และชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเน้นสุขอนามัย และการทำความสะอาดในโรงเรียนอนุบาลและโรงเรียนประถมศึกษาทั่วประเทศรวมทั้งคำแนะนำผู้เดินทางไป-กลับจากประเทศที่มีการระบาดของโรคนี้ ซึ่งยังสามารถเดินทางได้ตามปกติ แต่ควรปฏิบัติตามสุขอนามัยที่ดี ล้างมือบ่อยๆ
          "โรคมือ เท้า ปาก" ยังไม่มีวัคซีนป้องกันและยังไม่มียารักษาโดยเฉพาะ ซึ่งนายแพทย์พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค อธิบายว่า แพทย์จะให้ยารักษา "โรคมือ เท้า ปาก" ตามอาการ เช่น ยาลดไข้ ยาชาแก้เจ็บแผลในปาก ควรนอนพักผ่อนมากๆ เช็ดตัวเพื่อลดไข้เป็นระยะและให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารอ่อนๆ ไม่ร้อนจัด ดื่มน้ำ นม และน้ำผลไม้แช่เย็น เพื่อช่วยลดอาการเจ็บแผลในปาก และรับประทานอาหารได้มากขึ้น ถ้าเป็นเด็กอ่อน อาจต้องป้อนนมให้แทนการดูดจากขวด แต่โรคนี้สามารถป้องกันได้โดยการรักษาสุขอนามัยที่ดี โดยเฉพาะสุขอนามัยส่วนบุคคุล การรักษาความสะอาด ตัดเล็บให้สั้น หมั่นล้างมือด้วยน้ำสบู่บ่อยๆ หลังการขับถ่ายและก่อนรับประทานอาหาร รวมทั้งใช้ช้อนกลาง และไม่ใช้สิ่งของร่วมกัน ที่สำคัญคือ ต้องแยกผู้ป่วยที่เป็นโรคออกจากกลุ่มเพื่อนในโรงเรียน สถานเลี้ยงเด็ก โดยไม่ให้เด็กทำกิจกรรมร่วมกับคนอื่นๆ เป็นเวลา 1 สัปดาห์ และต้องคอยทำความสะอาดพื้น ห้องน้ำ สุขา เครื่องใช้ ของเล่น สนามเด็กเล่น ตลอดจนเสื้อผ้า ที่อาจปนเปื้อนเชื้อด้วยผงซักฟอกหรือน้ำยาฆ่าเชื้อที่ใช้ทั่วไปภายในบ้าน
          ตามปกติโรคมือ เท้า ปาก มักไม่รุนแรงและไม่มีอาการแทรกซ้อน แต่เชื้อไวรัสบางชนิด เช่น เอนเทอโรไวรัส 71 อาจทำให้มีอาการรุนแรงได้ จึงควรสังเกตอาการของเด็กอย่างใกล้ชิด หากพบว่ามีไข้สูงซึม ไม่ยอมดื่มนมหรือทานอาหารอาเจียนบ่อย หอบ แขนขาอ่อนแรง ชัก อาจเกิดภาวะสมองอักเสบ หรือน้ำท่วมปอด ซึ่งอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ต้องรีบพาไปโรงพยาบาลทันที อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าว
          สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเรื่อง "โรค มือ เท้า ปาก" ได้ที่สายด่วน กรมควบคุมโรค โทร.1422 หรือ www.ddc.moph.go.th หรือ http://pr.ddc.moph.go.th

 


pageview  1205836    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved