HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 05/07/2555 ]
3อ.....วัคซีนชีวิต... สร้างได้ด้วย'มือเรา'

 นายแพทย์วิชัย เทียนถาวร  อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข
          ข้อมูล Real time ของสถาบันวิจัย"ข้ประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล แสดงตัวเลขจำนวนผู้เสียชีวิตนับแต่ต้นปี 2555 มีสาเหตุจากโรคหัวใจ 16,391 คน โรคหัวใจขาดเลือด 16,846 คน โรคเส้นเลือดในสมองแตก 12,748 คน และโรคเบาหวาน 11,838 คน" (ข้อมูล มอนิเตอร์ประเทศไทย ณ วันที่ 23 มิถุนายน 2555)
          เนื่องจากเป็นตัวเลขการมอนิเตอร์แบบ Real time แสดงว่า คงไม่หยุดอยู่ที่ตัวเลขดังกล่าวข้างต้น
          ประเทศไทยก้าวเข้าสู่ยุคโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือโรควิถีชีวิต อันมีสาเหตจากพฤติกรรมสุขภาพและผลกระทบจากสภาพแวดล้อม ซึ่งนับวันจะรุนแรงมากยิ่งขึ้น ต้องสูญเสียค่าใช้จายในการดูแลรักษาผู้เจ็บป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง
          เมื่อปี 2551 โดยแบ่งเป็นโรคเบาหวาน 3 ล้านคน เป็นเงิน 47,596 ล้านบาท
          โรคความดันโลหิตสูง 10 ล้านคน เป็นเงิน 79,263 ล้านบาท
          โรคหัวใจ 4 ล้านคน เป็นเงิน 154,846 ล้านบาท   โรคหลอดเลือดสมอง 5 แสนคน เป็นเงิน 20,632 ล้านบาท
          โรคไต 30,000 คน เป็นเงิน 6,000 ล้านบาท รวมจำนวนผู้ป่วย 17.5 ล้านคน ใช้งบประมาณทั้ง 5 โรค เป็นเงิน 308,337 ล้านบาท (ข้อมูล: สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข)
          ภัยคุกคามสุขภาพของคนไทยอันนำมาสู่การเจ็บป่วย พิการ เสียชีวิต และจำนวนที่เพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายทางด้านสุขภาพและการสูญเสียทางเศรษฐกิจที่ประเทศไทยกำลังเผชิญ มีสาเหตุจากพฤติกรรมสุขภาพที่ไม่ถูกต้อง
          การบริโภคอาหารและเครื่องดื่มที่มีรสหวาน มัน เค็ม มากเกินไป กินผักและผลไม้น้อย ขาดการออกกำลังกาย น้ำหนักเกิน อ้วน และการดื่มเหล้า สูบบุหรี่ ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันใน 5 โรค คือ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หัวใจ หลอดเลือดสมอง และโรคมะเร็ง
          คำถามคือ เราจะลดปัญหาและความรุนแรงของโรคเหล่านี้ได้อย่างไร
          กระทรวงสาธารณสุข ในฐานะหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบงานด้านสุขภาพของคนไทย ได้กำหนดมาตรการ ออกนโยบายสาธารณะ และอีกสารพัดกลยุทธ์ เพื่อกระตุ้นเตือนให้คนไทยได้หันมาใส่ใจในการดูแลสุขภาพของตนเอง
          เพราะการแก้ไขปัญหาโรคอันเกิดจากพฤติกรรมที่ดีที่สุดคือการปรับพฤติกรรมสุขภาพให้ถูกต้อง ลดภาวะเสี่ยงให้น้อยที่สุดและเป็นไปตามครรลองแห่งวิถีชีวิตแบบไทยไทย
          จากประสบการณ์การทำงานกว่า 40 ปีที่ผ่านมา ทั้งในฐานะผู้ปฏิบัติ ผู้เชื่อมประสานและผู้บริหาร ผู้เขียนได้เสนอแนวทางในการทำงานและสิ่งที่จะนำพาความสำเร็จในการป้องกันและควบคุมโรค โดยยึดหลักการและกลวิธีเช่นเดียวกับการแก้ไขปัญหาโรคขาดสารอาหารในเด็ก เมื่อครั้งอดีต นั่นคือ ต้อง "กัดติดเกาะติด" งานแก้ไขปัญหาเด็กขาดสารอาหารโปรตีนและพลังงานในอดีต ใช้การคัดกรอง เฝ้าระวัง การตรวจสุขภาพเด็กโดยการชั่งน้ำหนัก หากพบต้องมีการแก้ไขโดยให้เพิ่มสารอาหารที่จำเป็นประเภท เนื้อ นม ไข่ ต้องติดตามชั่งน้ำหนักอย่างต่อเนื่องทุกเดือนในกรณีเป็นโรคขาดสารอาหารชนิดรุนแรง และใช้ "บัตรโภชนาการ"ให้พ่อแม่ ใช้แลก นม ไข่ ข้าว ถั่ว งา กับร้านค้าในชุมชน ให้เด็กกิน จนกว่าเด็กจะเข้าสู่ภาวะ ปกติ
          แต่สำหรับ/โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ที่เป็นปัญหาในปัจจุบัน เป็นโรคที่เกิดจากการ กิน "เกิน"กิน "ไม่ถูกต้อง" และ "ขาด" สิ่งที่ควรทำ นั่นคือ เมื่อกินแล้วไม่เผาผลาญและสร้างความทนทนและยืดหยุ่นให้กับร่างกายด้วยการออกกำลังกาย อันตรายจึงตามมา
          แนวทางของการป้องกันและควบคุม จึงต้องใช้การ "เกาะติด กัดติด" โดยต้องคัดกรองโดยการตรวจสุขภาพเพื่อหาภาวะเสี่ยงในกลุ่มคนอายุ 15 ปีขึ้นไป และแบ่งกลุ่มเพื่อการติดตามและให้ความรู้ในการดูแลตนเอง ประกอบด้วย กลุ่มคนปกติ กลุ่มเสี่ยงและกลุ่มป่วย การจัดกลุ่มจะเป็นประโยชน์ทั้งในส่วนของเจ้าหน้าที่ และตัวชาวบ้านเอง เพราะจะทำให้รู้สถานะด้านสุขภาพและโรคของตัวเอง
          ตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญที่สุด เพราะที่ผ่านมา ชาวบ้านจะไม่รู้สถานการณ์ของตัวเอง การจัดระดับของอาการป่วยโดยแบ่งเป็นสีตามไฟจราจร เขียว เหลือง แดง เปรียบเสมือน "จราจรชีวิต" จะช่วยให้ "หมอ" กับ "ชาวบ้าน" สื่อสารกันได้อย่างเข้าใจ
          เมื่อเข้าใจเรื่องสี ต้องชี้แจงและทำความเข้าใจด้วยว่า แต่ละสี หมายถึงมีอาการป่วยระดับใด ต้องปรับพฤติกรรมอย่างไรให้ตัวเองลดระดับลงมาอยู่ในกลุ่มคนปกติได้ในที่สุด และคนปกติจะต้องมีสุภขาพแข็งแรง ไม่ละเลย 3 อ. "วัคซีนชีวิต" จนทำให้เป็นโรค
          อย่างไรก็ตาม แม้รัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุข จะออกมาตรการหรือแนวทางมากมายเพียงใด คงไม่ประสบความสำเร็จ หากขาดความร่วมมือจากตัว "เรา" เอง เพราะสิ่งที่ดีที่สุดคือการ "สร้างภูมิคุ้มกัน" หรือ "วัคซีนชีวิต" ให้กับตัวเอง โดยการปรับพฤติกรรมสุขภาพตามหลัก 3 อ. ที่เป็นสาเหตุให้เกิดโรควิถีชีวิต
          อ.อาหาร กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ ถูกต้องและพอเพียง ลดหวาน มัน เค็ม เพิ่มผักผลไม้ให้ได้ครึ่งหนึ่ง งดบุหรี่ สุรา และสารเสพติด รักษารูปร่างไม่ให้อ้วน
          อ.ออกกำลังกาย ออกกำลังกายสม่ำเสมอให้ได้สัปดาห์ละ 3 วัน วันละอย่างน้อย 30 นาที ตามวิถีชีวิต หรือรูปแบบที่ท่านสนใจ เช่น การวิ่ง การเต้นแอโรบิก ฯลฯ
          อ.อารมณ์ ทำอารมณ์ให้แจ่มใสเบิกบาน สวดมนต์ ไหว้พระ หรือปฏิบัติศาสนกิจ ตามหลักศาสนา
          ดังนั้น "คำตอบ" ของการลดปัญหาความรุนแรงโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง จึงไม่ได้ขึ้นอยู่กับจำนวนกลยุทธ์และมาตรการของรัฐ แต่ปัจจัยหลักแห่งความสำเร็จอยู่ที่ "ท่าน" ผู้เป็น "เจ้าของ" สุขภาพ หากต้องการให้ตัวเองอายุยืนอย่างมีคุณค่า ต้องลงมือสร้าง "วัคซีนชีวิต" ด้วยมือท่านเอง...เดี๋ยวนี้!...


pageview  1205896    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved