HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 27/06/2555 ]
เตือนภัยใช้ 'สมาร์ทโฟน-แท็บเล็ต' โรค'ทาสติดจอ'ถามหา!

โรค "ทาสติดจอ" หรือ "สกรีนสแลฟส์" เป็นคำที่สมาคมนักกายภาพบำบัดชาร์เตอร์ด (ซีเอสพี) ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ใช้เรียกบรรดาผู้ที่ใช้งานสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต หรือแม้แต่คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กมากจนเกินไป เรียกว่าติดมือติดตัวอยู่ตลอดเวลาทั้งที่ทำงาน ที่บ้านหรือในทุกสถานที่ จนกลายเป็นที่มาของความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายต่อสุขภาพ
          ในบรรดาอุปกรณ์เหล่านี้ สมาร์ทโฟน และแท็บเล็ตดูจะทำให้เกิดความเสี่ยงที่ว่านี้มากที่สุด เพราะนอกจากมันสามารถติดตัวเราไปไหนมาไหนได้ตลอดเวลาแล้ว มันยังให้ความรู้สึกกึ่งเล่นกึ่งทำงาน ที่ทำให้เรารู้สึกดีเหมือนมีประโยชน์อยู่ในตัว ทำให้เราใช้มันพร่ำเพรื่อโดยไม่รู้จักหยุดหย่อน ในทุกๆ ที่ ไม่ว่าสภาวะแวดล้อมจะเหมาะสมหรือไม่ก็ตามที แล้วก็ทำให้เหมือนกับเรา "เอางานกลับมาทำ" อยู่ตลอดอีกต่างหาก
          ซีเอสพีสำรวจครั้งล่าสุดผ่านอินเตอร์ เน็ต พบว่าในจำนวนพนักงานออฟฟิศ 2,010 คน ที่เป็นกลุ่มตัวอย่างนั้น มีเกือบ 2 ใน 3 ที่ยังคงทำงานอยู่แม้จะหมดเวลาประจำที่สำนักงานแล้ว การสำรวจแสดงให้เห็นว่าพนักงานเหล่านี้ทำงานเพิ่มมากขึ้นจากเวลางานปกติโดยเฉลี่ยแล้วกว่า 2 ชั่วโมงผ่านหน้าจอของสมาร์ทโฟน หรือแท็บเล็ตทุกวัน สาเหตุสำคัญมีอยู่ 2 อย่าง หนึ่งก็คือ มีงานให้ทำมากเกินไป อีกหนึ่งก็คือ ต้องการทำงานในภาวะที่ผ่อนคลายมากขึ้นจากภาวะแวดล้อมในที่ทำงาน
          อย่างไรก็ตาม ดร.เฮเลนา จอห์นสัน ประธานซีเอสพี บอกว่า การที่พนักงานทำงานเพิ่มเติมมากกว่าเวลางานปกติดังกล่าวนั้นถือว่าน่าวิตกอย่างใหญ่หลวง แม้ในระยะสั้นๆ หรือตอนแรกๆ ดูเหมือนจะให้ผลดี แต่ทันทีที่มันกลายเป็นกิจวัตร มันก็จะเริ่มสร้างปัญหาให้กับเราตามมาในทันทีเช่นเดียวกัน
          ปัญหาอย่างแรกสุดที่ใหญ่โตไม่น้อยเพราะก่อปัญหาให้กับคนที่เป็น "ทาสติดจอ" มานักต่อนักแล้วก็คือ อาการปวดบริเวณแผ่นหลังและลำคอ หรือแขน สืบเนื่องจากการใช้งานอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เป็นเวลานานๆ ในสถานที่ที่ไม่เหมาะสม ด้วยท่วงท่าการใช้งานที่ไม่เหมาะสม ทำให้เกิดอาการปวดกล้ามเนื้อในบริเวณที่อยู่ผิดท่าผิดทางนานๆ ดังกล่าวนั้นได้ ปัญหาอื่นที่เกิดขึ้นจากอาการทาสติดจอที่ว่านี้ก็คืออาการเจ็บไข้ได้ป่วยจากความเครียดที่เกิดจากการทำงานมากเกินไปนั่นเอง
          เบรนแดน บาร์เบอร์ เลขาธิการสมัชชาสหภาพแรงงานของอังกฤษ ยืนยันว่า การทำงานมากเกินไป ไม่เป็นผลดีสำหรับทุกๆ ฝ่าย คนที่ทำงานมากเกินไปไม่เพียงทำงานได้ไม่ดี แต่การทำงานหนักโดยไม่มีการบริหารจัดการจะยิ่งทำเจ้าตัวล้มป่วยได้ง่ายอีกต่างหาก
          ดังนั้นใครก็ตามที่เริ่มรู้สึกตัวว่าไม่สามารถทิ้งงานเอาไว้แต่เฉพาะที่สำนักงานได้ ก็ต้องเริ่มหาทางแก้ด้วยการพูดคุยกับหัวหน้างาน และที่สำคัญที่สุดก็คือ รู้จักละวางหรือปิดสมาร์ทโฟนเสียบ้างจะช่วยบรรเทาหรือแก้ปัญหาได้ในที่สุด-


pageview  1205836    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved