HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 08/06/2555 ]
จี้จด'สิทธิบัตร'ตำรับยาไทย โผล่'ญี่ปุ่น-เยอรมนี'ราคาพุ่ง

 เผยคัมภีร์ตำรับยาไทยโผล่ญี่ปุ่น 40 เล่ม เยอรมนี140 เล่ม วอนรัฐเร่งจด'สิทธิบัตร'สูตรยาโบราณแฉต่างชาติกว้านซื้อจากชาวบ้านเพียงเล่มละ1,000-3,000 บาท
          จากกรณีที่สำนักคุ้มครองภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก หวั่นเกรงว่าตำรับยาสูตรโบราณ โดยเฉพาะคัมภีร์ใบลานสูญหาย เหตุพบชาวบ้านนำไปชั่งกิโลขายนั้น
          เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน ที่ศูนย์ศึกษาประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมลุ่มแม่น้ำลพบุรี ภายในโรงเรียนบ้านแพรกประชาสรรค์ อ.บ้านแพรก จ.พระนครศรีอยุธยา นายประสาน เสถียรพันธุ์ ได้นำกระดาษข่อย ตำรายาโบราณอายุกว่า 200 ปี จำนวน 50 เล่ม เป็นตำรายารักษาโรคต่างๆ รวมทั้งตำรายารักษาช้าง ออกมาทำความสะอาดและรวบรวม
          นายประสานเปิดเผยว่า กว่า 30 ปี ที่ศึกษาค้นคว้าเรื่องราวประวัติศาสตร์ของวิถีชีวิตของชาวบ้านในลุ่มแม่น้ำลพบุรี ได้รวบรวมคัมภีร์โบราณที่เป็นใบลาน และสมุดข่อย รวบรวมเรื่องราว กฎหมายต่างๆ และตำรายาโบราณที่ปัจจุบันนั้นหายากมากขึ้น ที่ตนเองมีอยู่ในปัจจุบันได้มาจากชาวบ้านในลุ่มแม่น้ำลพบุรี และเคยไปศึกษาดูงานในประเทศญี่ปุ่น พบคัมภีร์ตำรายาโบราณของแพทย์แผนไทย จำนวน 40 เล่ม ในประเทศเยอรมนี จำนวน 140 เล่ม เห็นแล้วรู้สึกหดหู่ที่คัมภีร์โบราณเหล่านั้น เป็นมรดกของคนไทยแต่กลับไปอยู่ต่างประเทศ ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ และยังพบว่ามีการกว้านซื้อไปจากประเทศไทยจำนวนมาก โดยจะมาซื้อจากชาวบ้านในราคาเล่มละ 1,000-3,000 บาท เมื่อถูกส่งขายไปในต่างประเทศจะมีราคาถึงเล่มละ 100,000 บาท
          นายประสานกล่าวต่อว่า จากนั้นจะมีการว่าจ้างคนไทยที่มีความชำนาญสามารถอ่านภาษาได้จะแปลและตีความให้ ซึ่งเป็นการเสียประโยชน์ทางภูมิปัญญาของชาติไทยไป ตำรายาโบราณบรรพบุรุษได้ศึกษาค้นคว้าตำรายาต่างๆ แล้วจดบันทึกเอาไว้ ตำรายาต่างๆ ส่วนใหญ่ค้นคว้ามาจากพืชผักใกล้ตัวที่มีการใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น กะเพรา กระเทียม ขิงขา ตะไคร้ ล้วนมีประโยชน์หาได้ง่ายประหยัด ไม่ต้องไปสั่งซื้อยาจากต่างประเทศ ส่วนคัมภีร์โบราณที่ตนเองเก็บรักษาไว้ได้มาจากลุ่มแม่น้ำลพบุรี จากการศึกษาค้นคว้าคำบอกเล่าของชาวบ้านพบว่า ในวัดโพธิ์ ต.โรงช้าง อ.มหาราช จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นสถานที่รวบรวมคัมภีร์ตำรับยาโบราณเนื่องจากที่วัดแห่งนี้จะเป็นเหมือนโรงพยาบาลและสถานที่ศึกษาวิชา ตำรายาโบราณต่างๆ รักษาอาการเจ็บป่วยของชาวบ้าน จึงมีการเก็บรวมตำรายาต่างๆ เอาไว้จำนวนมากแต่ด้วยกาลเวลาผ่านไปนานไม่มีการดูแลรักษาทำให้ตำรับตำรายาโบราณสูญหายไป
          "ผมอยากฝากให้ภาครัฐให้ความสำคัญศึกษาค้นคว้ารวบรวมตำรับยาโบราณและทำการวิจัยจดสิทธิบัตรคัมภีร์ตำรายาโบราณเอาไว้ให้เป็นของประเทศไทย ให้ความรู้ความเข้าใจคุณค่าของคัมภีร์ เพื่อที่ชาวบ้านที่ไม่มีความเข้าใจ ได้รักและหวงแหนสิ่งเหล่านี้ ปัจจุบันเริ่มหายากมากขึ้น เพราะสูญหายไปและถูกขายไปต่างประเทศในอนาคตเราอาจจะต้องซื้อยาแผนโบราณจากต่างประเทศก็ได้ หรือเวลาจะดูเราต้องเสียเงินค่าเครื่องบินและเสียค่าเข้าชมคัมภีร์โบราณเรานี้ มีหลายอย่างที่มรดกทางวัฒนธรรมทางภูมิปัญญาที่เสียไป" นายประสานกล่าว และว่า ผมเห็นด้วยที่กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกกระทรวงสาธารณสุขได้ออกมารื้อฟี้นถึงเรื่องตำรายาจากคัมภีร์โบราณและต้องรีบศึกษาทำเป็นตำราเก็บเอาไว้
          ขณะที่ ภญ.สุภาภรณ์ ปิติพร หัวหน้ากลุ่มงานเภสัชกรรม โรงพยาบาล (รพ.) เจ้าพระยาอภัยภูเบศร จ.ปราจีนบุรี เปิดเผยว่า จนถึงขณะนี้มีตำรายาสมุนไพรโบราณ ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้การยอมรับว่านำไปใช้เพื่อการบำบัดและรักษาได้อยู่กว่า 700 ชนิด ส่วนใหญ่ยังเป็นยาสมุนไพรที่กระจายอยู่ในพื้นที่ภาคกลางเท่านั้น และจากการเก็บข้อมูลสมุนไพรทั่วประเทศ พบว่าในภาคเหนือมีสมุนไพรอยู่มากกว่า 4,000 ชนิด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีประมาณ 2,000 ชนิด ส่วนภาคใต้ยังไม่ได้รวบรวมไว้เป็นระบบ แต่คาดว่าน่าจะมีถึง 2,000 ชนิดเช่นกัน ทั้งหมดนี้ไม่รวมองค์ความรู้ในกลุ่มชาติพันธุ์ และกลุ่มชนเผ่าต่างๆ ซึ่งรวมกันแล้วไม่ต่ำกว่า 10,000 ชนิดเป็นอย่างน้อย องค์ความรู้เหล่านี้ถูกบันทึกเอาไว้ในรูปของใบลาน สมุดข่อย แผ่นไม้ กระดาษสา ซึ่งในมูลนิธิ รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศรเก็บรักษาเอาไว้ส่วนหนึ่ง
          ภญ.สุภาภรณ์กล่าวว่า ปัญหาเกี่ยวกับองค์ความรู้เรื่องสมุนไพรในประเทศไทยคือ ขาดการจัดการที่เป็นระบบ ทั้งๆ ที่ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ และมีสมุนไพรมากที่สุดประเทศหนึ่ง เช่น ภาคเหนือ มีสัตฤๅษี หญ้าลิ้นงู เป้าเลือด หญ้าหมูป่อย เป็น กลุ่มยาบำรุงกำลัง ภาคอีสาน มีกองกอยลอดขอน หัวค้อนกระแต เป็นยาแก้ปวดเมื่อย ที่สำคัญเรามีผู้เฒ่าผู้แก่และหมอยาพื้นบ้าน ซึ่งเป็นแหล่งรวบรวมองค์ความรู้และสูตรยาโบราณชั้นดีจำนวนมาก โดยหมอยาเหล่านี้ เมื่อเวลาผ่านไปจะล้มหายตายจากไปพร้อมกับองค์ความรู้ ซึ่งน่าเสียดายมาก หากเราไม่ทำอะไรเลย
          ด้าน นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยฯ กล่าวถึงกรณี รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร แนะให้ใช้งบประมาณซื้อคัมภีร์ใบลาน รวมทั้งตำรับตำรายาแผนโบราณต่างๆ จากชาวบ้านในท้องถิ่นว่า กรมการแพทย์แผนไทยฯไม่ได้นิ่งเฉยดำเนินการมาตลอด ซึ่งการใช้ช่องทางของหมอพื้นบ้าน 50,000 คนทั่วประเทศ ก็เป็นแนวทางหนึ่งในการช่วยสอดส่อง หากชาวบ้านส่งมอบตำรับยา ก็มีค่าตอบแทนให้มาตลอด
          "อีกทั้งมีทุนวิจัยให้แก่อาจารย์มหาวิทยาลัยต่างๆ ทั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ที่สนใจเรื่องสูตรยาโบราณ ศึกษาค้นคว้าหาว่ามีสูตรยาใดหลงเหลือในประเทศไทย ยังมีเครือข่ายทั้งผู้ประกอบโรคศิลปะด้านแพทย์แผนไทย ผู้ปลูกและแปรรูปสมุนไพร ผู้ผลิตยาและจำหน่ายยาแพทย์แผนไทย รวมทั้งเอ็นจีโอด้านนี้ช่วยกันรวบรวมข้อมูล" นพ.สุพรรณกล่าว
          นพ.สุพรรณกล่าวอีกว่า ล่าสุดมีการรวบรวมข้อมูล แบ่งเป็นตำรา 6,247 ฉบับ ตำรับ 99,098 สูตร รวมทั้งสิ้น 105,345 ตำราและตำรับ หลังจากนี้จะขึ้นทะเบียนตาม พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ.2542 โดยช่วงแรกจะรวบรวมและคัดเลือกตำรับตำราที่เป็นของประจำชาติให้เป็นสมบัติของหลวง จากนั้นเปิดโอกาสให้ชาวบ้านที่ต้องการจดทะเบียนเป็นสิทธิส่วนบุคคล หรือเฉพาะกลุ่มต่อไป คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปีนี้
          ส่วนที่ จ.สุราษฎร์ธานี นายเสถียร แสงอรุณ นายกสมาคมส่งเสริมและพัฒนาแพทย์แผนไทย จ.สุราษฎร์ธานี  กล่าวว่า ตำรายาสมุนไพรโบราณของ จ.สุราษฎร์ธานี ส่วนใหญ่จะสูญหายไปพร้อมกับหมอโบราณ คนรุ่นลูก ไม่สนใจจะรับมรดกตกทอด เพราะคนไทยไม่นิยมบันทึกรับมรดกตกทอด เพราะคนไทยไม่นิยมบันทึกข้อมูล คัมภีร์เก่าหรือตำรายาเก่าจึงสูญไปอย่างน่าเสียดาย สำหรับพืชสมุนไพรที่มีชื่อเสียงของจังหวัดสุราษฎร์ธานี คือขมิ้นชันของบ้านเขาวง อ.บ้านตาขุน ซึ่งเป็นที่ยอมรับในวงการขมิ้นว่ามีคุณภาพดีที่สุดในโลก และปัจจุบันสบู่ขมิ้นเป็นสินค้าโอท็อปของกลุ่มสมุนไพรชุมชน นอกจากนี้ยังมีสวนสมุนไพรของหมอสัมฤทธิ์ วิชัยดิษฐ์ อ.กาญจนดิษฐ์ ซึ่งมีพันธุ์พืชสมุนไพรกว่า 40 ชนิด
 


pageview  1205453    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved