HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 24/08/2564 ]
มองมุมกม.-จัดซื้อ เอทีเค อภ.เลิกได้ เอกชนมีสิทธิฟ้อง

 นายธนกฤต วรธนัชชากุล อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด และผู้อำนวยการสำนักงานประสานงานกระบวนการยุติธรรม สถาบันนิติวัชร์ สำนักงานอัยการสูงสุด ปกติโดยทั่วไปแล้วขอบเขตของงาน หรือทีโออาร์ ของหน่วยงานรัฐในการจัดซื้อจัดจ้าง มักจะมีข้อกำหนดในทีโออาร์สงวนสิทธิ์ไว้ว่า หน่วยงานรัฐทรงไว้ซึ่งสิทธิที่จะไม่รับราคาต่ำสุด หรือราคาหนึ่งราคาใด หรือราคาที่เสนอทั้งหมดได้ และอาจพิจารณายกเลิกการจัดซื้อจัดจ้างนั้นได้ ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ของทางราชการเป็นสำคัญ และให้ถือว่าการตัดสินของหน่วยงานรัฐนั้นเป็นเด็ดขาด ผู้เสนอราคาจะเรียกร้องค่าเสียหายใดๆ มิได้
          นอกจากนี้ ตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 มาตรา 67 วรรคหนึ่ง (3) ได้กำหนดไว้ว่า ก่อนลงนามในสัญญา หน่วยงานของรัฐอาจประกาศยกเลิกการจัดซื้อจัดจ้างที่ได้ดำเนินการไปแล้วได้ หากปรากฏว่าการทำการจัดซื้อจัดจ้างต่อไปอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่หน่วยงานของรัฐหรือกระทบต่อประโยชน์สาธารณะ และมาตรา 67 วรรคสอง กำหนดว่า การยกเลิกการจัดซื้อจัดจ้างดังกล่าวเป็นเอกสิทธิ์ของหน่วยงานของรัฐ ผู้ยื่นข้อเสนอในการจัดซื้อจัดจ้างที่ถูกยกเลิกนั้นจะเรียกร้องค่าเสียหายใดๆ จากหน่วยงานของรัฐไม่ได้
          และเมื่อพิจารณาจากทีโออาร์ขององค์การเภสัชกรรมในการจัดซื้อชุดตรวจเชื้อโควิด-19 แบบ Antigent test kit (ATK) ตามที่ นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ประธานคณะทำงานกำหนดอัตราค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้กล่าวไว้ ทีโออาร์ ข้อ 4.2 ได้กำหนดให้องค์การเภสัชกรรมทรงไว้ซึ่งสิทธิที่จะลดหรือเพิ่มจำนวน จะงดซื้อหรือเลือกซื้อ โดยไม่จำเป็นต้องซื้อจากผู้เสนอราคาต่ำสุดเสมอไป รวมทั้งสงวนสิทธิ์ที่จะพิจารณายกเลิกการเสนอราคาเพื่อประโยชน์ขององค์การเภสัชกรรมเป็นสำคัญ
          เห็นได้ว่าทีโออาร์ขององค์การเภสัช กรรมได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการสงวนสิทธิ์ไว้ให้แก่องค์การเภสัชกรรมซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐในการยกเลิกการเสนอราคาหรือการจัดซื้อเพื่อประโยชน์ของทางราชการ ได้เช่นเดียวกันกับทีโออาร์ในการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานรัฐทั่วๆ ไป
          ดังนั้น เมื่อนายกรัฐมนตรีได้มีข้อสั่งการในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2564 ว่า ชุดตรวจเชื้อโควิด-19 แบบ Antigent test kit (ATK) ต้องได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ด้วย และต้องมีความแม่นยำในการตรวจ เพื่อนำไปสู่การรักษาที่ทันท่วงที ซึ่งเป็นข้อสั่งการที่คำนึงถึงประโยชน์สาธารณะและประโยชน์ของประชาชนเพื่อให้ได้รับชุดตรวจเชื้อ โควิด-19 ที่มีประสิทธิภาพและความแม่นยำสูงในระดับที่องค์การอนามัยโลกให้การรับรอง ไม่ใช่เพียงแค่ได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เท่านั้น
          ในการดำเนินการตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีดังกล่าว องค์การเภสัชกรรมในฐานะผู้จัดซื้อย่อมสามารถใช้ดุลพินิจพิจารณาถึงประโยชน์ของทางราชการในการจัดซื้อชุดตรวจเชื้อโควิด-19 ที่ได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลก ที่มีประสิทธิภาพและความแม่นยำสูงมากขึ้นกว่าเดิม ในการไปใช้ให้บริการตรวจแก่ประชาชนทั่วประเทศ ซึ่งน่าจะทำให้การให้บริการสาธารณสุขแก่ประชาชนมีประสิทธิภาพและมีความรวดเร็วมากยิ่งขึ้น รวมทั้งองค์การเภสัชกรรมควรพิจารณาด้วยว่า หากมีการลงนามในสัญญาจัดซื้อชุดตรวจเชื้อโควิด-19 ต่อไป โดยไม่มีการยกเลิกการเสนอราคาหรือการจัดซื้อ จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่หน่วยงานของรัฐหรือกระทบต่อประโยชน์สาธารณะตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 มาตรา 67 วรรคหนึ่ง (3) ดังที่ได้กล่าวไปหรือไม่
          หากองค์การเภสัชกรรมพิจารณาแล้วเห็นว่าเพื่อประโยชน์แก่ทางราชการ ควรที่จะดำเนินการจัดหาชุดตรวจเชื้อโควิด-19 ที่ได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลกตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี อีกทั้งหากยังทำการจัดซื้อต่อไปอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่หน่วยงานของรัฐหรือกระทบต่อประโยชน์สาธารณะ จากการใช้ชุดตรวจเชื้อโควิด-19 ที่องค์การอนามัยโลกยังไม่ได้ให้การรับรอง ซึ่งไม่เป็นไปตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี องค์การเภสัชกรรมก็ย่อมมีสิทธิที่จะใช้ดุลพินิจในการพิจารณายกเลิกการเสนอราคาหรือการจัดซื้อชุดตรวจเชื้อโควิด-19 ในครั้งนี้ได้ โดยอาศัยอำนาจตามทีโออาร์ ข้อ 4.2 และ พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 มาตรา 67 วรรคหนึ่ง (3) และวรรคสอง ทั้งนี้ มาตรา 67 วรรคสอง กำหนดไว้ว่า เป็นเอกสิทธิ์ของหน่วยงานของรัฐในการยกเลิกการจัดซื้อที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่หน่วยงานของรัฐหรือกระทบต่อประโยชน์สาธารณะดังกล่าวได้
          ส่วนหากผู้เสนอราคาจะไปใช้สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายและดำเนินคดีทางศาลก็เป็นสิทธิที่ผู้เสนอราคาสามารถกระทำได้ ถึงแม้ว่าในทีโออาร์จะกำหนดไว้ว่า หากมีการยกเลิกการเสนอราคา ผู้เสนอราคาจะเรียกร้องค่าเสียหายใดๆ มิได้ และ พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 มาตรา 67 วรรคสอง จะกำหนดไว้ว่า ผู้ยื่นข้อเสนอในการจัดซื้อจัดจ้างที่ถูกยกเลิกนั้นจะเรียกร้องค่าเสียหายใดๆ จากหน่วยงานของรัฐไม่ได้ ก็ไม่ตัดสิทธิผู้เสนอราคาที่จะดำเนินการใช้สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายตามกฎหมาย
          หากคดีขึ้นสู่การพิจารณาในศาลก็เป็นอำนาจของศาลในการพิจารณาว่าผู้เสนอราคามีสิทธิที่จะเรียกร้องค่าเสียหายได้หรือไม่ แค่ไหน เพียงใด


pageview  1205098    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved