HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 24/08/2564 ]
เฮลท์แคร์วันสุดท้ายข้อมูลปึ้กเปิดเคล็ดใช้ สมุนไพร สู้โควิด

 เฮลท์แคร์วันสุดท้ายความรู้ยังแน่น รพ.อภัยภูเบศรเปิดเคล็ดลับใช้สมุนไพรไทยสู้โควิด-19
          เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม เครือมติชนผู้นำสื่ออันดับต้นของเมืองไทย และผู้นำด้านการจัดอีเวนต์ออนไลน์ ในฐานะผู้จัดมหกรรมสุขภาพ เฮลท์แคร์ อย่างต่อเนื่องมาตลอด 12 ปี ปรับรูปแบบการจัดงานปีนี้บนแพลตฟอร์มออนไลน์ Healthcare 2021 วัคซีนประเทศไทย #เราจะฝ่าวิกฤติไปด้วยกัน โดยในวันสุดท้าย เวลา 14.00 น. ในเซ็กชั่น Health Talk Special หัวข้อเรื่อง CPR New Normal โดยมูลนิธิหัวใจแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์
          นายเขตนภันต์ จุลจิรวัฒน์ วิทยากรสอนการช่วยชีวิตของมูลนิธิหัวใจแห่งประเทศไทยฯ กล่าวว่า ทุกคนทุกเพศทุกวัยมีโอกาสเป็นโรคหัวใจโดยไม่รู้ตัว การทำ CPR ใน ยุคนิว นอร์มอล นั้น ต้องเพิ่มความปลอดภัยเป็นพิเศษเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการติดเชื้อทั้งสองฝ่าย มีการสาธิตผ่านวิดีโอ โดย นพ. เรืองฤทธิ์ ศิริพานิช หรือหมอริท สรุปขั้นตอนง่ายๆ ของการทำซีพีอาร์แบบนิว นอร์มอล 7 ขั้นตอน ดังนี้ หากมีโอกาสพบผู้ที่มีภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน เช่น อาจมีอาการสลบ หรือเป็นลม ให้ทดสอบว่ามีสติอยู่หรือไม่ สำหรับยุคนิว นอร์มอล ต้องป้องกันตัวเองด้วยการใส่หน้ากากอนามัยปิดปากตลอดเวลาที่ทำ CPR หรืออาจเพิ่มการใส่ถุงมือ พร้อมกับใส่หน้ากาก หรือหาผ้าคลุมให้ผู้ป่วยเพื่อป้องกันการฟุ้งกระจายของสารคัดหลั่ง หากผู้ป่วยนอนสลบอยู่กลางถนนให้นำตัวมาไว้ในที่ปลอดภัย จากนั้นตบแรงๆ ที่ไหล่ หรือเรียกดังๆ และเรียกรถพยาบาลฉุกเฉิน 1669 แจ้งเหตุ เริ่มทำ CPR ตามขั้นตอนปกติ แต่เมื่อถึงขั้นตอนการเปิดทางเดินหายใจให้โล่ง จะลงมือทำเฉพาะ HANDS-ONLY CPR เป็นการช่วยโดยการกดหน้าอกเท่านั้น เพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสสารคัดหลั่งจะต้องไม่มีการเป่าปากอย่างเด็ดขาด
          เวลา 15.00 น. เป็นกิจกรรม Healing Workshop เปิดเคล็ดลับใช้ สมุนไพรไทย ให้ปลอดภัยช่วงโควิด โดยวิทยากรจากโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ได้แก่ ดร.ภญ.ผกากรอง ขวัญข้าว หัวหน้าศูนย์หลักฐานเชิงประจักษ์ด้านการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร และสาธิตการทำเครื่องดื่มและอาหารต้านเชื้อโควิดจาก พท.ป.ปรางทิพย์ เทียนทอง แพทย์แผนไทยปฏิบัติการ และ พท.ป.ณิชนันท์ ปุ่มเพชร แพทย์แผนไทยปฏิบัติการ
          ดร.ภญ.ผกากรอง ขวัญข้าว กล่าวว่า การดูแลสุขภาพด้วยสมุนไพรไทยแบ่งออกเป็น 3 ช่วง ก่อนติดเชื้อ ติดเชื้อ หลังติดเชื้อ การดูแลสุขภาพที่จะไม่ติดโควิดต้องทำให้ร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ด้วยสารอาหารต่างๆ รวมถึงเครื่องเทศอย่าง ขิง กระชาย ข่า ตะไคร้ เครื่องต้มยำต่างๆ หากยังไม่ติดเชื้อ จึงควรกินอาหารเป็นยา
          สำหรับฟ้าทะลายโจรในปัจจุบันมีการศึกษาว่ายับยั้งไวรัสในเซลล์ ไม่ทำให้ไวรัสแบ่งตัวแล้วเกิดเป็นไวรัสลูกแล้วลุกลามไปยังเซลล์อื่นๆ กลุ่มที่ใช้ได้ก็คือกลุ่มเสี่ยง หรือผู้ที่ไปสัมผัสกับผู้ป่วยเพื่อป้องกันการแบ่งตัวของไวรัส จากนั้นให้รีบไปหาชุดตรวจ เพื่อดูว่าติดเชื้อหรือไม่ จะเข้าสู่กระบวนการรักษาตามมาตรฐาน หรือกรณีติดเชื้อแล้วแนะนำให้ใช้ฟ้าทะลายโจรให้เร็วที่สุดเป็นเวลา 5 วัน ขนาดที่ควรใช้ต้องมีปริมาณแอนโดร กราโฟไลด์ 140-180 มิลลิกรัมต่อวัน แต่ต้องไม่ใช้ฟ้าทะลายโจรร่วมกับยาพาราเซตามอล เพราะอาจทำให้เกิดตับอักเสบได้ รวมถึง ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ หรือมีประวัติแพ้ฟ้าทะลายโจรก็ห้ามใช้
          หัวหน้าศูนย์หลักฐานเชิงประจักษ์ด้านการแพทย์แผนไทยฯ ยังกล่าวถึงขิงว่าเป็นสมุนไพรรสร้อน ลดการอักเสบได้ดีโดยเฉพาะขิงสดแก่นำมาต้มน้ำจะช่วยต้านเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ RSV ในเด็กได้ดี แต่ต้องระวังในผู้ที่มีภาวะร้อนในง่าย ส่วนขมิ้นชันเป็นสมุนไพรที่มีฤทธิ์ต้านการอักเสบดีมาก น้ำต้มขมิ้นช่วยทำให้ตัวเซลล์ ซึ่งเป็นส่วนประกอบในร่างกายอายุยืนขึ้น ในต่างประเทศแนะนำให้บริโภคผงขมิ้นชันด้วยการผสมกับนมเพื่อเพิ่มการดูดซึม นอกจากนี้ ยังมีพืชสมุนไพรไทยที่มีสรรพคุณต่างกันไป ผู้ที่สนใจติดตามได้ที่เพจสถาบันการแพทย์แผนไทยอภัยภูเบศร
          จากนั้น ทีมแพทย์แผนไทยปฏิบัติการได้แนะนำเมนูสุขภาพสำหรับช่วงนี้ ได้แก่ เครื่องดื่มสมุนไพรเสริมภูมิคุ้มกัน และน้ำพริกจากกระชาย ซึ่งเป็นน้ำพริกสูตรโบราณของชาวบุรีรัมย์ ทั้งสองเมนูใช้วัตถุดิบ ได้แก่ กระชาย ใบหูเสือ กระเทียม ขิง ตะไคร้ ข่า ใบเตย และใบหม่อน
          ต่อด้วยกิจกรรม Health book talk : เจาะลึกเบื้องหลังวัคซีนและวิกฤติโรคระบาดกับ ภก.ดร.นรภัทร ปีสิริกานต์ รักษาการผู้อำนวยการกองผลิตวัคซีนจากไวรัสฝ่ายชีววัตถุ องค์การเภสัชกรรม และเป็นหนึ่งในผู้เขียนหนังสือ vaccine war สมรภูมิวัคซีนโควิด-19
          พร้อมด้วยนางสาวชนมน วังทิพย์ หัวหน้ากองบรรณาธิการหนังสือภาษาไทย สำนักพิมพ์มติชน มาพูดคุยถึงเบื้องลึกเบื้องหลังการจัดทำหนังสือ และอัพเดตสถานการณ์วัคซีนในไทยและทั่วโลก
          ภก.ดร.นรภัทร ปีสิริกานต์ กล่าวว่า สถานการณ์การฉีดวัคซีนไทยและทั่วโลก มีการปูพรมฉีดตั้งแต่เดือนธันวาคมปีที่แล้ว จนถึงปัจจุบันผ่านไปแล้ว 8-9 เดือน เห็นได้ว่าสถานการณ์ของแต่ละประเทศแบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรกคือกลับมาระบาดใหม่ เช่น สหรัฐอเมริกา กลุ่มสองคือ ประเทศที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อที่ไต่ขึ้นมาสูงเรื่อยๆ เช่น ประเทศไทย ส่วนกลุ่มสามคือ ประเทศไทยที่ตัวเลขเริ่มลดลง เช่น อินเดีย ซึ่งอาจจะเกิดจากการสร้างภูมิคุ้มกันจากการระบาด แต่สำหรับประเทศไทยคิดว่าภายในต้นเดือนกันยายนน่าจะเลยจุดพีคไปแล้ว
          หัวหน้ากองบรรณาธิการหนังสือภาษาไทย สำนักพิมพ์มติชน กล่าวถึงหนังสือชุด COVID-19 ที่ระดมความรู้เรื่องโควิด ประกอบด้วยหนังสือ COVID-19 โรคระบาดแห่งศตวรรษ, จากปีศาจสู่เชื้อโรค, ไดอารี่ล็อกดาวน์อู่ฮั่น, Vaccine War สมรภูมิวัคซีนโควิด-19 และบทเรียนเพื่อโลกหลังการระบาด Ten Lessons เขียนโดยผู้ที่คร่ำหวอดในวงการจริงๆ ทั้ง 5 เล่มมีความเกี่ยวข้องกับวิกฤตโรคระบาดที่ทุกคนในโลกกำลังเผชิญ ให้ความรู้ถึงวัคซีนซึ่งเป็นอาวุธที่จะช่วยให้
          ประเทศผ่านวิกฤต ทั้งพาไปทบทวนบทเรียนทั้งทางเศรษฐกิจและสภาพบ้านเมืองที่ได้รับผลกระทบจากโควิด สำหรับผู้ที่สนใจสามารถสั่งซื้อได้ที่สำนักพิมพ์มติชน
          ในช่วงเย็นเป็นกิจกรรมประจำวัน Work (out) From Home Home Workout บริหารกายคลายเครียด ชวนคนไทยสุขภาพดีช่วงกักตัวอยู่บ้านโดยกรมพลศึกษา ก่อนจะปิดท้ายงาน Healthcare 2021 วัคซีนประเทศไทย #เราจะฝ่าวิกฤติไปด้วยกัน ด้วยกิจกรรม Health Innovation PETE เปลปกป้อง สุดยอดนวัตกรรมฝีมือคนไทย ช่วยคนไทยในยามวิกฤติ ซึ่งเป็นนวัตกรรมเปลเคลื่อนย้ายผู้ป่วยความดันลบ ซึ่งทีมนักวิจัยศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) ภายใต้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) พัฒนาขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงการแพร่เชื้อโควิดระหว่างผู้ป่วยกับบุคลากรทางการแพทย์ โดยเครือ มติชนยังได้ร่วมกับบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM มอบ PETE เปลปกป้อง จำนวน 10 เปล รวมมูลค่า 2.5 ล้านบาท แก่โรงพยาบาล 5 แห่ง ได้แก่ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ โรงพยาบาลบ้านแพ้ว (องค์การมหาชน) โรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ และ ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
          อนึ่ง เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม มีกิจกรรม Health Forum ซึ่งเป็นเวทีใหญ่ประจำ งานเฮลท์แคร์ปีนี้จัดขึ้นหัวข้อ วัคซีนประเทศไทย ก้าวใหม่ฝ่าวิกฤติ โดย ศ.นพ.มานพ พิทักษ์ภากร นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผศ.ดร.ป๋วย อุ่นใจ ได้รับความสนใจมีจำนวนยอดการเข้าถึง 223,044 คน ยอดชมวิดีโอ 53,825 วิว ยอดการมีส่วนร่วม 11,175 คน ยูทูบ 23,172 วิว และกิจกรรม Healing Workshop นวดไทย กักตัวปลอดภัยในสถานการณ์โควิด-19 โดยกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก มีจำนวนยอดการเข้าถึง 9,131 คน ยอดชมวิดีโอ 2,029 วิว ยอดการมีส่วนร่วม 1,123 คน ยูทูบ 2,566 วิว และกิจกรรม Matichon Academy Care ล้างแอร์ง่ายๆ ปลอดภัยโควิด มียอดการเข้าถึง 11,396 คน ยอดชมวิดีโอ 2,664 วิว ยอดการมีส่วนร่วม 826 คน ยูทูบ 8,495 วิว
          กิจกรรม Health Marketplace ช้อป โอท็อปดีต่อใจ ปลอดภัยต่อสุขภาพ โดย กรมการพัฒนาชุมชน มีจำนวนยอดการ เข้าถึง 41,944 คน ยอดชมวิดีโอ 7,178 วิว ยอดการมีส่วนร่วม 3,419 คน ยูทูบ 7,178 วิว และกิจกรรม Work (out) From Home เทคนิคออกกำลังกายง่ายๆ ห่างไกลโควิด-19 โดยกรมพลศึกษา มีจำนวนยอดการเข้าถึง 101,981 คน ยอดชมวิดีโอ 19,626 วิว ยอดการมีส่วนร่วม 2,560 คน และ ยูทูบ 2,492 วิว


pageview  1205004    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved