HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 14/07/2564 ]
รัฐคาด ยาฟาวิพิราเวียร์ จับขึ้นทะเบียน อย. ได้ภายในเดือนนี้

  รัฐบาล คาดยาฟาวิพิราเวียร์ที่วิจัย-พัฒนาในไทยขึ้นทะเบียน อย. ได้ภายในเดือนนี้ ด้านโฆษก ศบศ.ยันเดินหน้าภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ตามแผน ไม่มีปิดเกาะ เผย มียอดจองโรงแรมเข้ามาแล้ว 176,993 คืน
          น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ติดตามความคืบหน้าการวิจัยและพัฒนาการผลิตยาฟาวิพิราเวียร์ในประเทศ สำหรับต้านไวรัสโควิด-19 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนตามแผนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจ BCG (Bio-Circula-Green Economy) ของรัฐบาล โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) รายงานว่า ได้มีการลงนามความร่วมมือระหว่าง สวทช. องค์การเภสัชกรรม (อภ.) และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT เพื่อร่วมกันวิจัยและพัฒนากระบวนการสังเคราะห์สารตั้งต้น (Active Pharmaceutical Ingredients : API) ของการผลิตยาฟาวิพิราเวียร์ ความเป็นไปได้ในการผลิตเชิงพาณิชย์ เพี่อสร้างความมั่นคงทางยาให้แก่ประเทศไทย
          "ความร่วมมือดังกล่าว มีความคืบหน้าอย่างมาก สามารถสังเคราะห์สารตั้งต้นที่มีความบริสุทธิ์ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน และยังเป็นการสังเคราะห์จากสารตั้งต้นที่มีราคาถูก โดยไม่ต้องนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันต้องมีการนำเข้ามากถึง 95%" น.ส.รัชดา กล่าว
          นอกจากนั้น ในเดือนก.ค.นี้ องค์การเภสัชกรรม คาดว่ายาฟาวิพิราเวียร์ที่ได้วิจัยและพัฒนาขึ้นนั้น จะได้รับการขึ้นทะเบียนตำรับยาจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และจากนั้นจะเป็นการผลิตเชิงพาณิชย์ เพื่อให้ผู้ป่วยโควิด-19 เข้าถึงยาอย่างเพียงพอ เมื่อทุกอย่างสำเร็จลุล่วง ประเทศไทยจะสามารถผลิตยาฟาวิพิราเวียร์ในราคาที่ถูกกว่านำเข้าอย่างมาก
          น.ส.รัชดา กล่าวเพิ่มเติมถึงความร่วมมือระหว่าง สวทช. อภ. และ ปตท. ด้วยว่าครอบคลุมตั้งแต่การทดสอบในระดับห้องปฏิบัติการ (Laboratory scale) การถ่ายทอดเทคโนโลยี จนถึงระดับอุตสาหกรรม (Industrial scale) ตลอดจนการศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาสารออกฤทธิ์ทางเภสัชกรรม (Feasibility Study) ที่มีศักยภาพในเชิงพาณิชย์ จึงถือเป็นอีกหนึ่งโมเดลความร่วมมือรัฐ-เอกชนในการพัฒนาอุตสาหกรรมยา
          ขณะเดียวกัน การพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 โดยนักวิจัยไทยก็มีความก้าวหน้าไปมากเช่นกัน แสดงให้เห็นถึงความสามารถทางด้านการแพทย์และสาธารณสุขของไทย ระยะยาวนำไปสู่การลดการนำเข้า และยังเป็นแนวทางหนึ่งที่ช่วยให้ประเทศก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลาง ซึ่งบุคลากรมีทั้งความรู้และนำไปต่อยอดเพื่อการผลิตขายต่อไปด้วย
          ด้านนายธนกร วังบุญคงชนะ เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะโฆษกประจำศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบศ.) เปิดเผยว่า ตามที่มีการเผยแพร่ข้อมูลผ่านโซเชียลมีเดียในประเด็นโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ควบคุมการแพร่โควิด-19 ไม่อยู่ สั่งปิดทั้งเกาะภูเก็ตแล้วนั้น ขอยืนยันว่าเรื่องดังกล่าวไม่เป็นความจริง
          ขณะนี้ยังไม่มีการปิดเกาะภูเก็ต และโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ยังดำเนินการตามแผนเดิม นักท่องเที่ยวยังคงเดินทางเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งต้องขอความร่วมมือประชาชนไม่ส่งต่อข้อความดังกล่าว เพื่อป้องกันข่าวปลอมหรือข่าวที่ทำให้เกิดการตื่นตระหนก ซึ่งตอนนี้จังหวัดภูเก็ตได้มีการตรวจคัดกรองป้องกันตามมาตรการสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด ในส่วนผู้ที่ติดเชื้อทุกรายเข้าสู่กระบวนการรักษาแล้ว ส่วนผู้สัมผัสเสี่ยงสูงก็กักตัวตามมาตรการเช่นกัน
          “ตั้งแต่มีการเปิดโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์เมื่อวันที่ 1 ก.ค. 64 จนถึงวันนี้เกือบ 2 สัปดาห์แล้ว มียอดนักท่องเที่ยวสะสมจำนวน 4,778 คน มีการจองโรงแรมที่ได้เครื่องหมายมาตรฐานความปลอดภัยด้านการท่องเที่ยวและสุขอนามัย SHA Plus ตลอดไตรมาส 3 (ก.ค.-ก.ย. 2564) จำนวน 176,993 คืน โดย ททท.ตั้งเป้าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในช่วง 3 เดือนแรกของการเปิดภูเก็ตไว้ที่ 100,000 คน คาดว่าจะสร้างรายได้ราว 8,900 ล้านบาท”


pageview  1206088    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved