HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 16/07/2564 ]
WINMEDเล็งยื่นขออย. นำเข้าเครื่องตรวจไวรัส

 “WINMED” เตรียมยื่น “อย.” ขอใบอนุญาตนำเข้าและจำหน่ายเครื่องตรวจอัตโนมัติหาเชื้อไวรัสเฉพาะทาง (แพนเทอร์) และน้ำยาตรวจหาเชื้อภายในไตรมาส 3/64 หนุนรายได้ปีนี้ตามนัดโต 20% ลั่นงบครึ่งหลังเด่น-รับไฮซีซั่น ฟาก SMD เด้งรับดีมานด์เครื่องกระตุกหัวใจด้วยไฟฟ้าแบบอัตโนมัติ (AED) พุ่ง คาดยอดคำสั่งซื้อไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท
          นายนันทิยะ ดารกานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วินเนอร์ยี่ เมดิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ WINMED เปิดเผยว่า ปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างเตรียมเอกสารเพื่อขอใบอนุญาตนำเข้าและจำหน่ายเครื่องแพนเทอร์ (Panther) และน้ำยาตรวจหาเชื้อ จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เบื้องต้นคาดว่าจะสามารถยื่นเอกสารดังกล่าวได้ภายในไตรมาส 3/2564 และจะใช้ระยะเวลาในการอนุมัติกว่า 1 เดือน
          สำหรับ Panther เป็นเครื่องตรวจอัตโนมัติที่สามารถตรวจเชื้อไวรัสเฉพาะทางได้หลายโรค เช่น เชื้อไวรัสเอชพีวี (human papilloma virus : HPV), เชื้อไวรัสเอชไอวี (Human Immunodeficiency Virus : HIV) เป็นเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นต้น โดยจุดเด่นที่สำคัญของเครื่องดังกล่าวคือ ใช้เวลาในการวิเคราะห์เพื่อระบุเชื้อได้เร็วมาก ซึ่งจะช่วยลดระยะเวลาและขั้นตอนในการหาเชื้อให้ลดลง ปัจจุบันในประเทศไทยมีใช้เพียง 1 เครื่องเท่านั้น
          ส่วนภาพรวมอุตสาหกรรมในระบบการดูแลสุขภาพของประเทศไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 ยังคงมีความท้าทาย จากปัจจัยของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังคงกดดัน ซึ่งล่าสุดมีบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อ ห้องฉุกเฉินไม่เพียงพอ และเตียงที่โรงพยาบาลเต็ม ซึ่งปัญหาดังกล่าวล้วนเป็นที่น่ากังวล แต่ WINMED เป็นผู้ดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพและชีวิตเป็นหลัก ซึ่งยังคงมีผู้ใช้บริการอย่างต่อเนื่อง
          โดยในปี 2564 บริษัทเชื่อว่าแนวโน้มผลการดำเนินงานงานจะเติบโตจากปีก่อน ที่มีรายได้รวม 531.05 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 51.59 ล้านบาท ซึ่งได้วางเป้าหมายรายได้รวมจะเติบโต 20% จากปีก่อน ซึ่งในช่วงไตรมาส 1/2564 บริษัทมีรายได้รวม 119.09 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 10.56 ล้านบาท
          ขณะที่แนวโน้มผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 จะมีการเติบโตที่โดดเด่น ทั้งรายได้และกำไร ซึ่งจะมีการรับรู้รายได้ในสัดส่วนประมาณ 60% เมื่อเทียบกับช่วงครึ่งปีแรกที่มีการรับรู้รายได้ในสัดส่วน 40% ของรายได้รวมทั้งปี เนื่องจากธุรกิจเข้าสู่ช่วงไฮซีซั่น ประกอบกับได้รับปัจจัยสนับสนุนจากโครงการของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ตรวจหาเชื้อ HPV เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการคัดกรองมะเร็งปากมดลูก
          ส่วนกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับโควิด-19 ปัจจุบันบริษัทมีพันธมิตรที่นำเข้าชุดตรวจเชื้อโควิด-19 ด้วยตนเอง แบบเร่งด่วน (Rapid Test) อยู่แล้ว และมีพันธมิตรมากกว่า 1 ราย ดังนั้นบริษัทจึงมีสินค้าในกลุ่มนี้จากหลายแบรนด์ ซึ่งลูกค้าสามารถเลือกสินค้าได้ พร้อมรองรับกับความต้องการที่มีอย่างมากในปัจจุบัน
          นอกจากนี้ ปัจจุบัน WINMED ยังถือหุ้นในสัดส่วนมากกว่า 10% ในบริษัท โปรเฟสชั่นเนล ลาโบราทอรี่ แมเนจเม้นท์ คอร์ป จำกัด (Pro-Lap) ซึ่งดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับห้องปฏิบัติการตรวจวิเคราะห์ทางการแพทย์ (Lap) ให้บริการรับวินิจฉัย ตรวจ และวิเคราะห์เฉพาะทาง หรือโรคติดต่อ รวมถึงการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วย ซึ่ง Pro-Lap เป็นทั้งคู่ค้าและพันธมิตรของ WINMED จึงไม่มีความกังวลเกี่ยวกับสินค้าในกลุ่มนี้
          SMD รับดีมานด์เครื่อง AED พุ่ง
          ดร.วิโรจน์ วสุศุทธิกุลกานต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซนต์เมด จำกัด (มหาชน) หรือ SMD เปิดเผยว่า อีกก้าวสำคัญหนึ่งของการยกระดับมาตรฐานการช่วยชีวิตฉุกเฉินภาคประชาชนในประเทศไทย เมื่อกระทรวงมหาดไทยประกาศกฎกระทรวง กำหนดให้อาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษที่เป็นอาคารสาธารณะ ต้องติดตั้งเครื่องกระตุกหัวใจอัตโนมัติ หรือ AED (Automated External Defibrillator) และต้องมีพื้นที่สำหรับรถฉุกเฉิน รวมถึงต้องจัดให้มีลิฟต์ที่มีขนาดสำหรับเคลื่อนย้ายผู้ป่วยฉุกเฉินได้ โดยจะมีผลบังคับใช้นับจากวันที่ประกาศ (4 มิ.ย. 2564) ในอีก 180 วัน
          ทั้งนี้ สอดคล้องกับการดำเนินธุรกิจของบริษัท โดยในปัจจุบัน SMD ได้นำเข้าและจัดจำหน่ายเครื่องมือประเภทนี้ให้แก่โรงพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชนอยู่แล้ว โดยประเมินว่าเมื่อภาครัฐมีมาตรการดังกล่าวข้างต้น จะส่งผลดีต่อยอดคำสั่งซื้อของ SMD ให้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งคาดว่าจะมีเข้ามาไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท
          “มาตรการภาครัฐครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญในการช่วยชีวิตฉุกเฉินภาคประชาชนของประเทศไทย เนื่องจากในปัจจุบันประเทศไทยมี AED ติดตั้งใช้งานกระจายอยู่ทั่วประเทศ ทั้งในโรงพยาบาลภาครัฐและเอกชน โรงงาน โรงแรม โรงเรียน สถานที่ราชการและเอกชนอื่น ๆ รวมกันแล้วประมาณ 30,000 เครื่อง” ดร.วิโรจน์ กล่าว
          อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับประเทศญี่ปุ่นที่มีการติดตั้งเครื่อง AED ในพื้นที่สาธารณะจำนวน 600,000 เครื่อง และประเทศเกาหลีติดตั้งแล้วประมาณ 200,000 เครื่อง ก็ยังถือว่าประเทศไทยมีเครื่อง AED น้อยมาก ซึ่งหากกฎหมายดังกล่าวบังคับใช้ คาดว่าประเทศไทยจะมี AED ใกล้เคียงกับประเทศเกาหลีภายใน 5 ปีข้างหน้า จะทำให้ประชาชนที่ประสบเหตุหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันนอกโรงพยาบาลมีอัตราการรอดชีวิตมากขึ้น ใกล้เคียงกับนานาอารยประเทศในทวีปเอเชีย


pageview  1206089    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved