HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 07/06/2564 ]
มองภาพหลังฉีด วัคซีนโควิด-19 ยังติดเชื้อได้ - ยังไม่เปิดหน้ากาก

 พวงชมพู ประเสริฐ qualitylife4444@gmail.com
          7 มิ.ย.2564 เป็นวันคิกออฟที่ประเทศไทยจะเริ่มฉีดวัคซีนโควิด-19 พร้อมกันทั่วประเทศ หลังจากก่อนหน้านี้มีการเริ่มฉีดไปบ้างแล้วในแต่ละจังหวัด โดยมีเป้าหมายให้ครอบคลุม 70%ของประชากรในประเทศไทย หรือราว 50 ล้านคน ใช้วัคซีนประมาณ 100 ล้านโดส หากฉีดได้ตามแผนภายในสิ้นปี 2564 คนไทยจะยัง ไม่สามารถ "ปลดหน้ากาก" ได้ เพราะยังมีโอกาสติดเชื้อได้ โดยเฉพาะไวรัสสายพันธุ์ที่ดื้อวัคซีน
          กรุงเทพธุรกิจ การวางเป้าหมายให้ครอบคลุม 70% ของประชากรนั้น อ้างอิงตามหลักวิชาการ หากประชากรได้รับวัคซีนราว 60% ก็จะสร้างภูมิคุ้มกันหมู่เกิดขึ้นได้ และจะทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อค่อยๆลดลง ทั้งนี้ จากที่รัฐบาล มีการจัดสรรวัคซีนไปในจังหวัดต่างๆมาก่อนหน้า ในบางส่วนแล้วนั้น จะส่งผลให้จังหวัดแรกของประเทศที่จะมีการฉีดวัคซีนครอบคลุมตามเป้า คือ "ภูเก็ต" เพื่อให้ทันตามแผนเปิดจังหวัด รับการท่องเที่ยววันที่ 1 ก.ค.นี้ ส่วนจังหวัดอื่นๆ ก็จะทยอยฉีดตามความสมัครใจของผู้รับ โดยแต่ละจังหวัดจะเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ได้จะต้องมีคนได้รับวัคซีน 60-70%
          ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญ ไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่าภาวะการระบาดของโควิด-19 ใหญ่หลวง จะมีผู้เสียชีวิต ถ้าให้ 1% กว่าๆ ประเทศไทยจะมี ผู้ป่วย 2,000-3,000 คนต่อวัน ก็จะมีผู้เสียชีวิต ประมาณวันละ 30 คน เดือนละพันคน ถ้ามี ผู้ป่วยขึ้นไปถึง 4,000 คนก็อาจจะมีผู้เสียชีวิตถึงวันละ 50 คน ซึ่งคงรอเวลาไม่ได้ อาวุธที่ดีที่สุดในการควบคุมการระบาดขณะนี้ คงหนีไม่พ้นให้ทุกคนมีภูมิต้านทานและลดความรุนแรงของโรคลงให้ได้ วัคซีนจึงเป็นทางออก หรือเป็นอาวุธที่สำคัญ วัคซีนที่มีอยู่ขณะนี้ ต้องรีบเอามาใช้ให้เร็วที่สุดเท่าที่มีอยู่
          ศ.นพ.ยง ระบุด้วยว่า โควิด 19 วัคซีน เปรียบเทียบระหว่างอังกฤษกับฝรั่งเศส โดยประเทศฝรั่งเศส มีประชากร 65 ล้านคน อังกฤษมีประชากร 67 ล้านคน เท่ากับไทยทั้ง 2 ประเทศ มีปัญหาโควิดอย่างมาก และมีมาตรการ ต่างๆรวมทั้ง lock down อังกฤษมีปัญหาระบาดหนักในช่วงที่เกิดสายพันธุ์อังกฤษ จนระบบสาธารณสุขของอังกฤษจะไปไม่รอด
          แต่อังกฤษระดมฉีดวัคซีนอย่างเต็มที่ เดินหน้า ปูพรมได้วัคซีนอย่างน้อย 1 เข็ม และสามารถฉีด วัคซีนได้ถึง 75 โดสต่อประชากร 100 คน ในขณะที่ ฝรั่งเศสฉีดวัคซีนได้เพียง 34 โดส ต่อประชากร 100 คน (ข้อมูล ณ 4 พ.ค.) จะเห็นผลต่างชัดเจน
          อังกฤษใช้วัคซีน Pfizer และ AstraZeneca โดยภายหลังใช้ AstraZeneca เป็นหลัก ฝรั่งเศส ก็เช่นเดียวกัน แต่เมื่อมีปัญหาอาการแทรกซ้อน ที่เกี่ยวกับลิ่มเลือด ของวัคซีน virus vector (AstraZeneca) การฉีดวัคซีนของฝรั่งเศสช้าลงมากเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอังกฤษ น้อยกว่ากันกว่าครึ่ง
          ผลลัพธ์ขณะนี้ผู้ป่วย โควิด 19 ของอังกฤษ อยู่ในหลัก 1,000 ถึง 2,000 คนต่อวัน และมีการ เสียชีวิตหลักหน่วย ถึง หลักสิบต้นๆ ส่วน ฝรั่งเศส ยังมีผู้ป่วยประมาณวันละ 20,000 คน เสียชีวิต 200 ถึง 300 คนต่อวัน หรือมากกว่ากัน 10 เท่า แสดงให้เห็นการให้วัคซีนในประชากรหมู่มาก มีประโยชน์อย่างเห็นได้ชัดเจนต่อระบบสาธารณสุขและชีวิตโดยรวมของประชาชน
          ในอนาคต ถึงแม้ว่าข้าศึกจะเปลี่ยนแปลง หรือไวรัสจะเปลี่ยนแปลง ก็จะมีอาวุธที่ดีกว่า เช่นเดียวกัน ทั่วโลกกำลังพัฒนาวัคซีน สายพันธุ์ใหม่ที่ให้ตรงกับไวรัสที่กำลังระบาด และถึงเวลานั้นก็สามารถใช้อาวุธดังกล่าว มาเสริมได้เช่นเดียวกัน เกือบทุกบริษัทกำลังเร่งรีบพัฒนาให้ได้สิ่งที่ดีกว่าที่มีอยู่ในปัจจุบัน
          "วัคซีนที่มีอยู่ขณะนี้ ฉีดกระตุ้นให้สร้างภูมิต้านทานเพื่อป้องกันไปก่อน ในอนาคต จะต้องมีการเสริมสร้าง หรือวัคซีนที่ดีกว่า และมีจำนวนเพียงพอ ก็สามารถที่จะให้เพิ่มเติมได้ ขณะนี้จึงไม่มีความจำเป็น ที่จะต้องรอวัคซีนที่ยังมองไม่เห็น" ศ.นพ.ยง ระบุด้าน นพ.นคร เปรมศรี  ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวว่า มักจะมีคำพูดบอกว่าฉีดวัคซีนมากๆแล้วจะได้เปิดหน้ากากกัน ซึ่งไม่อยากให้เป็นแบบนี้ แม้ฉีดวัคซีนแล้วยังคงต้องคงมาตรการป้องกัน ควบคุมโรคให้เข้มแข็งต่อไป คิดว่าไม่ช้าจะได้เห็นบทเรียนของประเทศที่เร่งรีบการผ่อนคลายมาตรการมากเกินไป โดยคิดว่าวัคซีน คือ Magic Bullet ซึ่งองค์การอนามัยโลกก็พยายามสื่อสารตรงนี้ ออกมาว่า วัคซีนจะต้องควบคู่กับมาตรการควบคุม ป้องกันโรคที่ดี
          "อย่าเพิ่งเข้าใจว่าฉีดวัคซีนจำนวนมากแล้วจะได้เปิดหน้ากาก เพราะหน้ากากจะยังต้องคงไว้นานพอสมควร โดยเฉพาะ ในสถานการณ์ที่ไวรัสมีการกลายพันธุ์ไปข้างหน้า" นพ.นคร กล่าว
          เช่นเดียวกับ นพ. แดเนียล เอ เคอร์ เทสซ์ ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย ที่ย้ำว่า แม้ฉีดวัคซีนแล้วก็ อย่าการ์ดตก ไม่ใช่ว่าวัคซีนมาทุกอย่างหายไป เรายังต้องใส่หน้ากากอนามัยเหมือนเดิม เว้นระยะห่างเหมือนเดิม ล้างมือบ่อยๆ ทุกคนยังต้องยึดมาตรการป้องกันโรคยังต้องเข้มเช่นเดิม ขณะที่ ดร.ซุมยา สวามินาธาน หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ขององค์การอนามัยโลก(WHO) ให้ข้อมูลสื่อมวลชนผ่านทางออนไลน์ระบบ Zoom เกี่ยวกับ ประเด็นวัคซีนโควิด-19 ว่า องค์การอนามัยโลก มีการติดตามการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 มาตลอด เนื่องจากเมื่อกลายพันธุ์จะกระทบต่อมาตรการทางสาธารณสุข ความรุนแรงของโรคที่เพิ่มขึ้นหรือไม่ รวมทั้งมีผลอย่างไรกับการทำงานของวัคซีนโควิด-19 หรือไม่ ทั้งนี้ อย่างคนส่วนใหญ่ที่ป่วยเมื่อหายแล้วจะมีภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติ ซึ่งในส่วนวัคซีนก็จะกระตุ้นภูมิฯที่สูงขึ้นกว่าภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติ
          ส่วนสายพันธุ์ที่น่ากังวล คือ สายพันธุ์ที่ค้นพบครั้งแรกในอังกฤษ คือ B.1.1.7 หรือ Alpha สายพันธุ์ที่ค้นพบ ครั้งแรกในแอฟริกาใต้ คือ สายพันธุ์ B 1.351หรือBeta ซึ่งเป็นสายพันธุ์แพร่ง่ายและความรุนแรงก็มีแนวโน้ม เพิ่มขึ้น และยังเชื่อว่าติดต่อได้ง่ายกว่า รวมทั้งคนที่ติดสายพันธุ์อื่นก็สามารถติดซ้ำได้ด้วยสายพันธุ์นี้
          นอกจากนี้ ยังมีสายพันธุ์ P.1 หรือ Gamma ที่ค้นพบครั้งแรกในบราซิล และสายพันธุ์ที่ค้นพบในอินเดีย B.1.617 หรือ Delta
          "ฉีดวัคซีนครบ 2 โดสแล้วจะ มีประสิทธิผลยาวนานแค่ไหนนั้น ยังเก็บข้อมูลอยู่ ขณะนี้มีข้อมูลแค่ช่วง 6 เดือนเท่านั้น และการทดลองในคนก็ยังไม่มากมาย จึงต้องรอเพื่อให้เห็นผลกว่านี้จะต้องใช้เวลาเป็นปี และอาจต้องมีการฉีดอีกเข็มเพื่อกระตุ้น หรือไม่ เป็นงานที่ต้องศึกษาต่อเนื่อง โดยการฉีดเข็มที่ 3 ที่จะกระตุ้นก็ยังไม่มีการพิจารณาเรื่องนี้อย่างชัดเจน" ดร.ซุมยา กล่าว
          ท้ายที่สุด กรมควบคุมโรค ย้ำว่า "ฉีดวัคซีนแล้ว ไม่ได้แปลว่าจะไม่ติดเชื้อ แต่จะช่วยป้องกันการเสียชีวิต และป่วยรุนแรงได้ วัคซีนที่ดีที่สุด คือ การใส่หน้ากาก เว้นระยะห่าง 1-2 เมตร และล้างมือบ่อยๆด้วยน้ำและสบู่หรือแอลกอฮอล์เจล"


pageview  1205098    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved