HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 20/05/2564 ]
สปสช.-สบส. ย้ำ รพ.เอกชน รักษาโควิด-19 ไม่เรียกเก็บผู้ป่วย

 วิกฤติโควิด 19 ที่ส่งผลให้ไทย มียอดผู้ป่วยรวมกว่าแสนราย กระทรวงสาธารณสุข ได้ประกาศให้ "โรคโควิด-19" เป็นโรคฉุกเฉิน "โรคติดต่ออันตราย" ตาม พ.ร.บ. โรคติดต่อ พ.ศ.2558 เป็นภาวะฉุกเฉินที่ทุกคนในประเทศไทยต้องได้รับการรักษาพยาบาล สถานพยาบาลทุกแห่งทั้ง รพ.รัฐ รพ.เอกชน และ รพ.สังกัดอื่นๆ ต้องรักษาผู้ป่วย
          กรุงเทพธุรกิ   จากประกาศดังกล่าว มีสาระสำคัญ คือ สถานพยาบาลต้องให้ การรักษาผู้ป่วยโดยทันทีตามแนวทางที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด ส่วนค่าใช้จ่ายต่างๆ โดยเฉพาะโรงพยาบาลเอกชนต้องเรียกเก็บกับ สปสช. เท่านั้น ห้ามเรียกเก็บกับประชาชน ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่ค่าอาหาร ค่ายา ค่ายานพาหนะรับส่ง หากฝ่าฝืน มาตรา 66 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน สองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ ส่วนการจ่ายชดเชยให้ โรงพยาบาลเอกชนนั้น จะเป็นไปตาม "ระบบ UCEP" หรือ "รักษาฉุกเฉินเร่งด่วน"
          อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังพบเรื่องร้องเรียน ในกรณีที่ รพ.เอกชน มีการเรียกเก็บเงินกับผู้เข้ารับการรักษา นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวในการประชุมชี้แจงกับ รพ.เอกชน เรื่องแนวทางการเบิกค่าใช้จ่ายตรวจรักษา โควิด-19 ตามนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉิน วิกฤติมีสิทธิทุกที่ โดย สปสช. ผ่านระบบ ZOOM ว่า หากติดตามข่าวจะพบว่า การเรียกเก็บเงินกับผู้ป่วยบางครั้งอาจเป็นการเข้าใจผิดในกติกา โดย 4 สาเหตุหลัก ประกอบด้วย
          1. สปสช.จ่ายเงินช้า ทำให้ต้องเรียกเก็บเงินจากประชาชนไว้ก่อน แต่ขณะนี้ สปสช.ปรับรอบการจ่ายเงินให้เร็วขึ้นเป็นทุกๆ 15 วัน 2. เบิกค่าใช้จ่ายแพงกว่าหรือเกินกว่าอัตราที่มีการตกลงกับ สปสช. กรณีนี้ต้องขอให้เก็บตามอัตราที่กำหนด
          3. เรียกเก็บค่าใช้จ่ายที่ไม่มีในประกาศ ประเด็นนี้ทางกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) จะพิจารณาขยายรายการจ่ายให้ และเมื่อขยายแล้ว สปสช.จะจ่ายเงินคืนให้ย้อนหลัง ดังนั้นจึงไม่มีเหตุต้องเก็บจากผู้ป่วย และ 4. กติกาเบิกจ่ายมีการเปลี่ยนแปลง แต่ทางรพ.ตามกติกาไม่ทัน เช่น เกณฑ์คัดกรองกลุ่มเสี่ยงเปลี่ยนเป็นระยะๆ จากเดิมที่ต้องแสดงอาการ แต่ตอนนี้เปลี่ยนเป็นให้แพทย์พิจารณา บาง รพ. ไม่ทราบ จึงไม่ตรวจ เพราะกลัว สปสช.ไม่จ่ายเงิน
          "เป็น 4 สาเหตุที่มี รพ.เอกชน เรียกเก็บเงิน จากผู้ป่วย แต่ตอนนี้แก้ปัญหาหมดแล้ว เชื่อว่าสถานการณ์น่าจะดีขึ้น ในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล จะพบว่าผู้ป่วยโควิด 19 เกินครึ่งอยู่ในการดูแลของภาคเอกชน ถือเป็นคนไข้กลุ่มใหญ่ ขอเป็นกำลังใจ แม้จะมีอุปสรรคอะไรบ้าง ให้ร่วมด้วยช่วยกัน แต่หากมีตรงไหนที่ สปสช. สามารถช่วยเหลือได้ก็ยินดีที่จะช่วย" นพ.จเด็จ กล่าว
          ด้านพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ระบุว่า รพ.เอกชน ดูแลผู้ป่วยโดยเฉพาะ พื้นที่กทม.และปริมณฑล คิดเป็นสัดส่วนกว่า 2 ใน 3 ของผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวและสีเหลือง ขณะเดียวกัน ในส่วนของปัญหาร้องเรียนเรื่องถูกเก็บค่ารักษาพยาบาลนั้น ถือว่าไม่เยอะเมื่อเทียบกับการรักษา
          โดยประเด็นที่พบร้องเรียนกันมาก คือ 1. การตรวจคัดกรอง 2. ขอคืนค่ารักษา แต่โดยรวมเมื่อเกิดเรื่องร้องเรียน สิ่งที่ สบส. หรือ สปสช. ใช้ คือ กลไกไกล่เกลี่ย และดูข้อเท็จจริงว่า ผู้ป่วยมีสิทธิรักษาฟรีตรงนี้หรือไม่ หากไม่มีก็จะแจ้งให้ ผู้ป่วยทราบ แต่หากมีส่วนใหญ่ก็ใช้การไกล่เกลี่ย
          ที่พบอีกกรณี คือ ปกติใน รพ. จะมีการแจ้งอัตราค่ารักษา ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยเข้าใจผิดว่าจะเก็บเงิน แต่ความจริงเป็นแค่การแจ้งในระบบปกติ ดังนั้น จึงขอความร่วมมือในการงดแจ้งค่ารักษาใน ผู้ที่มีสิทธิเบิกจ่าย สปสช. เพื่อลดประเด็นดังกล่าว
          "ส่วนค่าใช้จ่ายที่ไม่อยู่ในรายการที่กำหนด สามารถแจ้งมาที่ สบส. เพื่อพิจารณาขยายเพิ่มเติมแล้วจะคืนเงินให้เมื่อผ่านการพิจารณาจาก ครม.แล้ว โดยขณะนี้สมาคม  รพ.เอกชน ได้เสนอเพิ่มเติมรายการเข้ามา 6-7 รายการ นอกจากนั้น สบส.ได้ปรับประกาศ เป็นระยะๆ โดยเพิ่มบางรายการเพื่อสนับสนุนการทำงานของเอกชนได้เต็มที่"
          "นอกจากนี้ สบส. พยายามดูแลเอกชนเพื่อสนับสนุนให้ท่านทำงานได้สะดวกขึ้น เช่น การรักษาพยาบาล ถ้าท่านดูแลผู้ป่วยแล้วติดเชื้อโควิด-19 ท่านจะได้รับการเยียวยาช่วยเหลือเบื้องต้นตามหลักเกณฑ์มาตรา 41 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพ แห่งชาติ และเรื่องการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้ประชาชน ซึ่งท่านได้ทำหน้าที่แทน ภาครัฐในการฉีดวัคซีนให้ประชาชน ท่านจะได้รับการดูแลปกป้องเช่นกัน ขณะนี้ สบส.กำลังดำเนินการในเรื่องนี้" นพ.ธเรศ กล่าว
          ด้าน เบญจมาศ เลิศชาคร ผู้อำนวยการ สำนักบริหารการจัดสรรและชดเชยค่าบริการ สปสช. ชี้แจงการขอรับค่าใช้จ่ายตรวจคัดกรอง การตรวจทางห้องปฏิบัติการ และบริการอื่นๆ กรณีโควิด 19 โดยระบุว่า สำหรับภาพรวมการจ่ายชดเชยค่าบริการสำหรับการรักษาคนไทยทุกคน สปสช. จะดูแลเบิกจ่ายให้กับโรงพยาบาลรัฐ และ เอกชน ทั่วประเทศ ไม่ว่าจะอยู่ในระบบ หรือนอกระบบ ได้แก่
          1. การคัดกรองในกลุ่มเสี่ยงที่ สธ.กำหนดและดุลพินิจของแพทย์ 2. กรณี Quarantine ใน Hospital Quarantine หรือ รพ.กักตัวในกลุ่มเสี่ยงสูง สปสช.รับผิดชอบค่าตรวจ ห้องแล็บ ค่าดูแล รวมอาหาร 3 มื้อ วันละ ไม่เกิน 1,500 บาท ไม่เกิน 14 วัน 3. กรณีค่าฉีดวัคซีนโควิด 19 ค่าฉีด จ่ายให้ รพ.ทั้งรัฐและเอกชน แบบเหมาจ่ายครั้งละ 20 บาท 4. กรณีค่าความเสียหายเบื้องต้นจากการฉีดวัคซีนโควิด เสียชีวิต 4 แสนบาท พิการทุพลภาพ 2.4 แสนบาท และบาดเจ็บต่อเนื่อง 1 แสนบาท
          กรณีหากมีผู้ป่วยต้องเข้ารับ การรักษา สปสช.จะเป็นผู้ทำเรื่องไปยังกองทุนต่างๆ ที่รองรับผู้ป่วย เพื่อเบิกจ่าย ค่ารักษาคืนกับโรงพยาบาล แต่ถ้า โรงพยาบาลเอกชนใดเป็นหน่วยบริการในระบบ สปสช. จะรับผิดชอบใน 2 ส่วน คือ กรณีผู้ป่วยนอก จ่ายค่าห้องแล็บ ค่าเก็บตัวอย่าง ค่ายา ค่าพาหนะ ค่าส่งต่อทั้งหมด ขณะที่ผู้ป่วยในหรือต้องแอดมิท หากรักษากับโรงพยาบาล จ่ายค่าห้องไม่เกิน 2,500 บาท ถ้าเป็นหอเฉพาะกิจ โรงพยาบาลสนาม hospital จ่าย 1,500 ต่อคืน รวมถึงรับผิดชอบค่าห้องแล็บ เก็บตัวอย่าง ค่ายา ค่าชุด PPE ค่าห้อง ค่าอาหาร
          นอกจากนี้ สปสช. ยังรับผิดชอบ ค่าตรวจโควิดทางห้องปฏิบัติการแบบรวมตัวอย่าง หรือ Pooled sample  ซึ่งเริ่มใช้มาตั้งแต่เดือนมกราคม และแบ่งเป็น 2 แบบ คือ Pooled saliva 5 กลุ่มตัวอย่างต่อครั้ง จ่ายค่าแล็บ 320 บาท/ครั้ง ค่าบริการอื่นๆ ที่เกี่ยวกับห้องแล็บ 100 บาท ค่าเก็บตัวอย่าง 40 บาท และแบบ Pool swab 4 กลุ่มตัวอย่าง จ่ายค่าตรวจแล็บ 400 บาท ค่าอื่นๆ 75 บาท/ครั้ง ทำ Swab 100 บาท  หากผลเป็นบวก ทำ RT-PCR จ่าย 1,800 บาท/ครั้ง (ค่าตรวจ 1,600 บาท ค่าอื่นๆ 200 บาท)
          ขณะที่ การตรวจ Antibody  เหมาจ่าย 350 บาท/ครั้ง และ Antigen จ่ายตามจริงไม่เกิน 1,200 บาท/ครั้ง ส่วนกรณีเร่งด่วนก่อนผ่าตัด จ่ายตามจริงไม่เกิน 500 บาท/ครั้ง อย่างไรก็ตาม การชี้แจงรับผิดชอบ ค่าใช้จ่ายตรวจคัดกรอง รักษาผู้ป่วย โควิด-19 สปสช.เน้นย้ำ ว่า หากโรงพยาบาลใดได้รับการจ่าย หรือการสนับสนุน ค่าใช้จ่ายรายการใดรายการหนึ่งจากงบประมาณของรัฐแล้ว ห้ามส่งข้อมูลมาขอเบิกซ้ำซ้อนกับ สปสช.
          "ทั้งนี้ ขอย้ำว่า ประเด็นสำคัญ ในการบันทึกข้อมูลเบิกจ่ายค่า บริการ กรณีที่ทำการคัดกรอง ทาง โรงพยาบาล ต้องทำ Authen Code หรือระบบบพิสูจน์ตัวตนเพื่อยืนยัน การเข้ารับบริการด้วยบัตร Smart Card ถัดมา คือ มีคำสั่งแพทย์ บันทึกไว้ในเวชระเบียน โดยเก็บหลักฐานไว้ที่สถานบริการไม่ต้องส่งมาที่ สปสช. สุดท้าย ขอรับค่าใช้จ่าย ผ่านโปรแกรม e-Claim โดยสามารถเข้าไปลงทะเบียนขอ Usename / Password ผ่านเว็บไซต์ http://eclaim.nhso.go.th แต่หาก เป็น กรณีรักษา ให้เบิกโดยจ่ายตามรายการ Free Schedule กรณี UCEP COVID 19 ไม่เกี่ยวกับ Authen Code" เบญจมาศ กล่าว


pageview  1205105    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved