HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 27/04/2564 ]
1688 สายด่วนกรมการแพทย์ระดมจิตอาสาหมอ-พยาบาลรับข้อมูลส่งต่อผู้ป่วย สติ-สื่อสาร-สามัคคี ฝ่าวิกฤตโควิด

  1668 สายด่วนกรมการแพทย์
          หน่วยงานที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกที่ 3 เพราะทันทีที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 พุ่งมากขึ้นในแต่ละวัน แน่นอนว่าผู้ป่วยรวมถึงญาติพี่น้องต่างหวังพึ่งพิงสายด่วนตอบรับเพื่อเร่งนำผู้ป่วยส่งเข้ารักษาในโรงพยาบาลทันที แต่หลายคนก็ต้องเกิดอาการผิดหวังกับการรอสายบ้าง จนต้องระบายความอัดอั้นคับแค้นใจผ่านสื่อต่างๆ โดยเฉพาะทางช่องทางโซเชียลมีเดีย รวมไปถึงบางเคสที่รอการติดต่อสายด่วนจนอาการย่ำแย่ และถึงขั้นเสียชีวิตก็มี
          ทีมข่าวสาธารณสุข ทำหน้าที่ฉายภาพการปฏิบัติงานของสายด่วน 1668 ซึ่งเป็นคำแถลงบางตอนจาก นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ที่ออกโรงตั้งโต๊ะแถลงข่าวน้อมรับถึงปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้น เพื่อให้สังคมมองเห็นขั้นตอนการทำงาน
          "สายด่วนกรมการแพทย์ 1668 พี่หมอขอช่วยหาเตียงเป็นการจัดตั้งเฉพาะกิจซึ่งเปิดดำเนินการเมื่อวันที่ 10 เม.ย.2564 รองรับผู้ป่วยโควิด-19 ที่เพิ่มจำนวนรวดเร็ว จนเกิดปัญหาไม่ได้แอดมิตเข้าโรงพยาบาล ปัญหาหลักส่วนหนึ่งที่พบเนื่องจากคนไข้ไปตรวจที่ห้องปฏิบัติการหรือแล็บเอกชนบางที่ไม่มีโรงพยาบาลคู่สัญญารองรับหรือเตียงเต็ม อีกกรณีเป็นการตรวจเชื้อเชิงรุกซึ่งไม่มีโรงพยาบาลเจ้าของไข้ ทั้งนี้ สายด่วน 1668 ต้องใช้บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขมาเป็นจิตอาสารับสายตั้งแต่เวลา 08.00-22.00 น. เวลานี้ได้ขยายเป็น 30 คู่สาย มีจิตอาสาเข้ามาทำหน้าที่กว่า 230 คน การทำงานแบ่งเป็น 1.ทีมรับสาย จะสอบถามข้อมูลรายละเอียดผู้ป่วยและเบอร์โทรศัพท์ ให้คำปรึกษาในการปฏิบัติตัวเบื้องต้น 2.ทีมข้อมูล รวบรวมข้อมูลจากทีมสายด่วนวิเคราะห์จัดทำฐานข้อมูลสรุปรายวัน 3.ทีมแพทย์ ประเมินอาการระดับความรุนแรงแยกเป็น 3 ระดับ เขียว เหลือง แดง และ 4.ทีมประสานขอเตียง จากโรงพยาบาลเป้าหมายหรือศูนย์ประสานงานกลุ่มโรงพยาบาล ทั้งนี้ บุคลากรสาธารณสุขที่มารับสายต้องสละเวลาหลังเสร็จภารกิจหลักดูแลผู้ป่วยในแต่ละวันมาเป็นจิตอาสา ขณะนี้ได้ระดมจิตอาสาทุกส่วนรวมถึงต่างจังหวัดมาเสริมมากขึ้น ปรับการรับสายให้กระชับเพื่อความรวดเร็วในการส่งต่อผู้ป่วย ขณะเดียวกันยังมีสายด่วนที่เปิดให้บริการประชาชนอีก ทั้งสายด่วน สปสช.1330 สายด่วนศูนย์เอราวัณ 1669 และอีกช่องทางคือระบบไลน์ "สบายดีบอต @sabaideebot" ประชาชนสามารถแจ้งข้อมูลไว้ จะมีเจ้าหน้าที่ติดต่อกลับตามข้อมูลที่แจ้งทุกราย" อธิบดีกรมการแพทย์กล่าวในตอนหนึ่ง
          นพ.สมศักดิ์ กล่าวถึงระบบการจัดส่งผู้ป่วยเข้ารับการรักษาด้วยว่า ขณะนี้โรงพยาบาลทุกสังกัดทั้งรัฐ เอกชน ทหาร ตำรวจ กรุงเทพมหานคร มหาวิทยาลัย ได้ประสานการทำงานอย่างเต็มที่ในการนำผู้ป่วยเข้าสู่ระบบให้ได้มากและรวดเร็วที่สุด โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานครที่มีผู้ป่วยตกค้างจำนวนมาก มีสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน เป็นแม่ข่ายหลักในการส่งผู้ติดเชื้อไปจุดคัดกรอง เตรียมไว้ 4 โซน เพื่อคัดแยกและนำส่งผู้ป่วยเป็นระดับสีเขียว เหลือง แดง ส่งไปยังฮอสพิเทล โรงพยาบาลสนาม และโรงพยาบาลหลักของแต่ละโซน ขณะเดียวกัน หลายหน่วยงานนำบุคลากรและยานพาหนะในสังกัดมาสนับสนุนภารกิจ มีการขยายเตียงรองรับให้มากขึ้น รวมทั้งเปิดเพิ่มโรงพยาบาลสนามและฮอสพิเทล ได้หารือโรงเรียนแพทย์ และโรงพยาบาลหลักทั้งรัฐและเอกชนที่มีความสามารถรับผู้ป่วยที่ต้องรักษาในไอซียู เพื่อถ่ายโอนเคสผู้ที่อาการดีขึ้นไปอยู่ฮอสพิเทล และเปิดพื้นที่ให้โรงพยาบาลหลักรับเคสอาการหนักเพิ่มขึ้น
          ขณะเดียวกัน บนเว็บไซต์กรมการแพทย์ก็มีสารจากใจอธิบดีกรมการแพทย์ ระบุถึง 3 ส. ที่จะรับมือสถานการณ์โควิด-19 คือสติ ตื่นรู้ ไม่ประมาท ฉลาดคิด โควิด-19 ป้องกันได้ สื่อสาร เผยแพร่ข้อมูล เพิ่มพูนความรู้ นำสู่ความเข้าใจ ใช้ข้อมูลที่เชื่อถือได้ และ สามัคคี ร่วมฝ่าวิกฤติ แม้คิดต่าง สร้างทีมประเทศไทย
          หันมาที่เสียงสะท้อนของหนึ่งในทีมจิตอาสาสายด่วน 1668 น.ส.วรรณา ปดิฐพร พยาบาลวิชาชีพชำนาญการโรงพยาบาลราชวิถี กรมการแพทย์ เล่าถึงการทำงานว่า ตนมีงานประจำอยู่แผนกผู้ป่วยนอกศัลยกรรม ถึงโรงพยาบาลเวลา 06.30 น. เตรียมงานเพื่อพร้อมให้บริการผู้ป่วยเวลา 08.00-16.00 น. ทุกวันจันทร์-ศุกร์ การมาเป็นจิตอาสาสายด่วน 1668 นั้น ทันทีที่อธิบดีกรมการแพทย์ประกาศหาจิตอาสา ตนก็สมัครทันทีทั้งที่ยังไม่รู้ว่าต้องทำอะไรบ้าง รู้เพียงว่าจะต้องเข้ามาช่วยผู้ป่วยโควิด หลังการอบรมก็ทราบหน้าที่โดยพยาบาลต้องเป็นด่านหน้ารับสายจากผู้ป่วย คัดกรองอาการตั้งแต่เวลา 16.00-22.00 น. เป็นครั้งแรกที่ตนซักประวัติคนไข้โดยไม่เห็นตัว ต้องใช้ทักษะทุกอย่างมาช่วยบางครั้งก็รับฟังปัญหารวมทั้งปลอบคนไข้ และญาติคนไข้เราใส่ใจทุกสายที่โทร.เข้ามา ก็รู้สึกเครียดและร่วมรับรู้ความรู้สึกไปกับคนไข้ เมื่อรับสายประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง ก็ต้องพักปรับสภาพจิตใจ แล้วกลับมาทำงานต่อ บางครั้งก็พบคนไข้โทร.มาต่อว่า ก็ต้องนิ่งสักพัก แล้วรับฟังอย่างมีสติ แล้วตอบคำถามอย่างใจเย็น
          "การทำจิตอาสาครั้งนี้รู้สึกภูมิใจมาก ที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยผู้ป่วย พร้อมจะลุยงานนี้ต่อไป แค่ผู้ป่วยบอกเราว่าจะปฏิบัติตามที่เราแนะนำ ก็ดีใจและมีกำลังใจทำงานแล้ว ปัญหาในการทำงานของสายด่วน 1668 ถือเป็นความท้าทายทำให้เราแกร่งขึ้น ฝากถึงประชาชนทุกคนว่า พวกเราเป็นจิตอาสา ทำงานนี้ด้วยใจเต็มร้อย ไม่มีค่าตอบแทน ไม่มีผลต่อขั้นเงินเดือนใดๆ อยากให้มั่นใจ ไว้ใจ พวกเรา" จิตอาสาสายด่วน 1668 น.ส.วรรณา เผยถึงความมุ่งมั่น
          ทีมข่าวสาธารณสุข เชื่อมั่นคงไม่มีใครอยากเห็นเหตุการณ์คนไข้รอคอยการรักษาอย่างไร้การเหลียวแล ทั้งเรามั่นใจว่า ภาพความมุ่งมั่น ความพยายาม ความเสียสละของทีมแพทย์ พยาบาล บุคลากรด่านหน้าที่ทำงานช่วยเหลือผู้ป่วยต่อสู้โควิด-19 อย่างไม่ลดละ จะเป็นส่วนช่วยปลุกพลังทุกภาคส่วนระดมความร่วมมือกันคลี่คลายปัญหาอย่างเต็มที่โดยปราศจากเงื่อนไข การเมือง หรืออคติใดๆ รวมถึงการพยายามที่จะปรับกระบวนการในภาคปฏิบัติที่เหมือนกับจะเป็นในรูปแบบวันต่อวันเพื่อหาแนวทางที่มีประสิทธิภาพสูงสุด ในการรับเรื่องและส่งต่อผู้ป่วยโควิด-19
          แต่สิ่งที่เราขอฝากไว้คือเรื่องของระบบ การประสานงาน และการระดมสรรพกำลัง ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการแก้วิกฤติปัญหา โดยเฉพาะการสื่อสารระหว่างผู้รับเรื่องและผู้ป่วย ที่มีความละเอียดอ่อน ที่ต้องใช้สติกันทั้งสองฝ่าย โดยเฉพาะผู้รับเรื่องที่ต้องเน้นความอดทน เข้าใจ และเห็นอกเห็นใจกัน
          ด้วยการนำ "สติ-สื่อสาร-สามัคคี" มาผนวกกับความเป็นทีมไทยแลนด์ เป็นพลังฝ่าวิกฤติโควิด-19 ครั้งนี้ไปด้วยกัน.


pageview  1205083    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved