HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 31/05/2555 ]
การออกกำลังกายกับเบาหวาน

 นพ.ธีรวัฒน์ กุลทนันทน์ และคณะ
          คำถามจากคุณมงคล ถามมาว่า กระผมอายุ 50 ปี เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 มาประมาณ 8 ปีแล้วครับ ตอนนี้น้ำหนักมาก (90 กก.) แพทย์แนะนำให้ออกกำลังกาย แต่ไม่ได้แนะนำวิธีการออกกำลังกายแบบไหนเพื่อให้โรคเบาหวานควบคุมได้ง่ายครับ
          ผมขอเชิญ  ผศ.นพ.บวรฤทธิ์ จักรไพวงศ์ แพทย์ประจำสาขาเวชศาสตร์การกีฬา ภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิคส์และกายภาพบำบัด คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ตอบดังนี้ครับ
          จากอาการที่คุณมงคลเล่ามา และผู้ป่วยเบาหวานทุกท่าน คนปกติเวลาออกกำลังกายร่างกายจะมีการหลั่งฮอร์โมนเพื่อเผาผลาญน้ำตาล กล้ามเนื้อ และไขมัน แต่จะมี insulin คอยควบคุมไม่ให้น้ำตาลสูงเกินไป นอกจากนี้ยังมี Hormone อื่นเช่น glucogen และ adrenalin หลั่งมาต้านเพื่อป้องกันภาวะน้ำตาลต่ำ ในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 เกิดจากการหลั่ง insulin ผิดปกติ ดังนั้นในขณะออกกำลังกายจะเกิดภาวะน้ำตาลต่ำหรือสูงเกินไปได้ง่ายกว่าชนิดที่ 2 ครับ ดังนั้นจึงควรมีการเจาะน้ำตาลระหว่างการออกกำลังกายในผู้ที่เป็นเบาหวานประเภทที่ 1 ที่เพิ่งเริ่มออกกำลังกาย
          การออกกำลังกายในเบาหวานนั้นมีประโยชน์มาก อาทิ ทำให้น้ำตาลในเลือดและน้ำหนักควบคุมได้ง่าย ป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากเบาหวาน เช่น (ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เบาหวานขึ้นตา ปลายประสาทเสื่อม เป็นต้น) นอกจากนี้ยังช่วยทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น สุขภาพจิตดีขึ้นด้วยครับ หลักการออกกำลังกายคือ ให้เริ่มจากกีฬาที่เบา หรือดัดแปลงจากชีวิตประจำวันก่อนครับ เช่น การเดินให้เร็ว การขึ้นลงบันได แต่ที่สำคัญคือการทำต่อเนื่อง และสม่ำเสมอครับ เช่น ควรเดินเร็ว วิ่ง ขี่จักรยานหรือว่ายน้ำ อย่างน้อยวันละประมาณ 20-30 นาที เดินให้เหงื่อออกและรู้สึกเหนื่อย ทำอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3-4 วัน (ให้ดีควรได้มากกว่า 150 นาทีต่อสัปดาห์) การออกกำลังกายในช่วงเย็นจะทำให้ควบคุมน้ำตาลมื้อเช้าได้ดีและช่วยลดน้ำหนักด้วย ไม่ควรเปลี่ยนช่วงเวลาการออกกำลังกายบ่อย เพราะจะทำให้ระดับฮอร์โมนไม่สมดุลส่วนข้อควรระวังมีดังนี้
        1.ควรมีป้ายติดตัวเสมอว่าท่านเป็นเบาหวาน

        2.การออกกำลังกายเป็นกลุ่มจะปลอดภัยกว่า

        3.ไม่ควรออกกำลังกายหลังอาหารทันที

       4.ให้พกน้ำตาลหรือลูกอมที่มีรสหวานติดตัวไว้

       5.หากมีอาการน้ำตาลต่ำ เช่น เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ หน้ามืด ให้หยุดพักดื่มน้ำและน้ำตาลที่เตรียมไว้
       6.ควรดื่มน้ำให้เพียงพอทั้งก่อน ระหว่าง และหลังออกกำลังกาย

       7.หากน้ำตาลตอนเช้ามากกว่า 250 mg/dl หรือต่ำกว่า 100 mg/dl ให้ปรึกษาแพทย์ก่อนออกกำลังกาย
       8.หากมีอาการชาปลายมือปลายเท้าแล้วไม่ควรออกกำลังกายที่มีการวิ่งหรือกระโดด
       9.หากมีอาการเบาหวานขึ้นตาไม่ควรออกกำลังกายที่ใช้แรงมากหรือกีฬาที่มีการเบ่ง เช่น ยกน้ำหนัก
      10.ควรตรวจเท้าทุกครั้งหลังออกกำลังกาย เนื่องจากผู้ป่วยเบาหวานมีความเสี่ยงที่จะเกิดแผลที่เท้าสูงครับ
          หวังว่าคงพอเข้าใจนะครับ ถ้ามีข้อสงสัยหรือคำถามประการใดเกี่ยวกับการออกกำลังกายหรือเล่นกีฬากรุณาส่งไปที่สาขาเวชศาสตร์การกีฬา ภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิคส์ฯ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล หรือ  Email address sisportsmed@hotmail.com


pageview  1206109    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved