HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 30/03/2564 ]
สธ.ห้ามรพ.ทั่วปท. เปิดรับจอง วัคซีน ป่วย โควิด เพิ่ม77 หญิงติดเตียงดับ1

ป่วยโควิด 77 หญิงติดเตียงดับ 1 บราซิลอ่วมป่วยใหม่วันละ 8.3 หมื่นราย สธ.สั่ง รพ.เอกชนระงับโฆษณาจองวัคซีน
          ป่วยโควิด77หญิงติดเตียงดับ1
          เมื่อวันที่ 28 มีนาคม ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์โรคโควิด-19 ประจำวัน ในประเทศไทย ผ่าน เฟซบุ๊กศูนย์ข้อมูลโควิด-19 ว่า เมื่อเวลา 11.00 น. สถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 มีผู้ป่วย รายใหม่ 77 ราย แบ่งเป็นผู้ป่วยจากระบบ เฝ้าระวังและบริการ 32 ราย ผู้ป่วยจากการคัดกรองเชิงรุก 26 รายและผู้เดินทางมาจากต่างประเทศและเข้าสถานกักกันโรค 19 ราย รวมสะสม 28,834 ราย แบ่งเป็นการติดเชื้อในประเทศ 25,688 ราย และเป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 3,047 ราย รักษาหายป่วยแล้ว 27,239 ราย ยังรักษาอยู่ใน โรงพยาบาล (รพ.) 1,401 ราย ผู้เสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย สะสม 94 ราย จำนวนผู้ติดเชื้อในการระบาดรอบใหม่ สะสม 24,497 ราย แบ่งเป็นการคัดกรองเชิงรุกในชุมชน 16,040 ราย ผู้ป่วยรายใหม่ 7,184 ราย และผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 1,273 ราย และ ผู้เสียชีวิตสะสม 34 ราย ผู้เสียชีวิตรายใหม่ เป็นรายที่ 94 ของประเทศไทย หญิงไทย อายุ 75 ปี อาศัยที่กรุงเทพฯ มีโรคประจำตัวคือโรคไทรอยด์ ไขมันในเลือดสูง เนื้องอกต่อมใต้สมอง และเป็น ผู้ป่วยติดเตียง มีแผลกดทับระดับ 4 มีประวัติสัมผัสกับผู้ติดเชื้อ 4 ราย เป็นสมาชิกในครอบครัว เมื่อวันที่ 23 มีนาคม มีอาการไข้ ไอ มีเสมหะ ซึม และเรียกไม่ตอบ จึงเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล และเก็บตัวอย่างตรวจหาเชื้อโควิด-19 ต่อมาอาการแย่ลงและเสียชีวิตในวันที่ 27 มีนาคมที่ผ่านมา
          บราซิลป่วยใหม่วันละ8.3หมื่น
          ทั้งนี้ สำหรับผู้ติดเชื้อรายใหม่ 77 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและบริการ 32 ราย พบใน กรุงเทพฯ 20 ราย สมุทรปราการ 3 ราย ปทุมธานี 2 ราย สมุทรสาคร 7 ราย ส่วนการคัดกรองเชิงรุก 26 ราย พบในกรุงเทพฯ 12 ราย นนทบุรี 2 ราย ราชบุรี 1 ราย สมุทรปราการ 2 ราย สมุทรสาคร 9 ราย และผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 19 ราย ได้แก่ สหรัฐอเมริกา 3 ราย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 2 ราย อินเดีย 2 ราย ฮังการี 6 ราย และเกาหลีใต้ สวีเดน รัสเซีย บัลแกเรีย เอธิโอเปีย คูเวต ประเทศละ 1 ราย
          ส่วนสถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลก มีผู้ติดเชื้อรวม 127,282,394 ราย เป็นผู้ติดเชื้อรายใหม่ 580,097 ราย อาการรุนแรง 93,080 ราย รักษาหายแล้ว 102,566,132 ราย เสียชีวิต 2,789,628 ราย อันดับประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด ได้แก่ 1.สหรัฐอเมริกา 30,917,130 ราย เป็นรายใหม่ 63,647 ราย 2.บราซิล 12,490,362 ราย เป็นรายใหม่ 83,039 ราย 3.อินเดีย 11,971,004 ราย เป็นรายใหม่ 62,631 ราย 4.รัสเซีย 4,501,744 ราย เป็นรายใหม่ 8,885 ราย 5.ฝรั่งเศส 4,508,575 ราย เป็นรายใหม่ 42,619 ราย ประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ 116 ของโลก
          'กทม.-มหาชัย-ปทุมฯ'แชมป์แพร่
          นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค พร้อมด้วย นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดี กรมควบคุมโรค แถลงรายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 และสถานการณ์การฉีดวัคซีนป้องกัน โควิด-19 ในประเทศไทยว่า สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยค่อนข้างคงที่ อยู่ในระดับอุ่นใจแต่ไม่คลายใจทีเดียว ส่วนพื้นที่ระบาดหลักยังอยู่ในกรุงเทพมหานคร สมุทรสาคร ปทุมธานี แผนที่ประเทศไทยสัปดาห์นี้พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 6 จังหวัด ส่วนใหญ่จังหวัดอื่นค่อนข้างปลอดภัย สำหรับสถานการณ์ในพื้นที่เขตบางแค กรุงเทพฯ จากการดำเนินงานการสอบสวนโรคอย่างใกล้ชิด ระหว่างสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร (กทม.) และ กรมควบคุมโรค สธ. และหน่วยงานเกี่ยวข้องต่างๆ สถานการณ์ภาพรวมยังพบการระบาดในพื้นที่ตะวันตกของกรุงเทพฯ แต่ล่าสุดการติดเชื้อเริ่มลดลง
          นพ.โอภาสกล่าวว่า เขตที่มีอัตราป่วยสะสมสูงสุด 5 อันดับแรก คือ เขตบางขุนเทียน 93.0 ต่อประชากรแสนคน เขตภาษีเจริญ 89.6 ต่อประชากรแสนคน เขตบางแค 77.0 ต่อประชากรแสนคน เขตปทุมวัน 41.9 ต่อประชากรแสนคน และเขตบางรัก 41.5 ต่อประชากรแสนคน อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจตลาดหลายแห่ง ไม่เพียงแค่เขตบางแค พบว่าส่วนใหญ่สวมหน้ากากอนามัยแต่ไม่ถูกต้องถึง 1 ใน 3 โดยสวมใต้ค้าง คล้องไว้ที่คอ และเว้นระยะห่างค่อนข้างยาก
          "จากการสัมภาษณ์เชิงลึกผู้ดูแลตลาด ร้านขายของชำ ตัวแทนชุมชน พบว่าแผงขายอาหารแต่ละชนิดอยู่ปะปนกัน ไม่ได้จัดหมวดหมู่ ลูกค้าและคนส่งของเข้าออกตลาดหลายทาง พนักงานเก็บเงินห้องน้ำ พนักงานตลาด พนักงานรักษาความปลอดภัยมีการติดเชื้อไปด้วย เพราะเจอคนในตลาดทั้งหมด และบางแผงขายไม่มีการทำความสะอาด ที่สำคัญสุดคือ พฤติกรรมสวมหน้ากากอนามัยไม่ถูกต้อง พูดคุยใกล้ชิดกัน ร้องเรียกตะโกน สัมผัสใกล้ชิดกัน ถ่มน้ำลาย บ้วนน้ำหมาก ลูกจ้างอยู่กันเป็นกลุ่ม จึงขอความร่วมมือตลาดอื่นๆ ด้วย ที่ยกมาไม่ได้ตั้งใจว่าใคร แต่อยากให้เป็นบทเรียน กรณีนี้ไม่ใช่แค่กรุงเทพฯ จังหวัดใกล้เคียงก็ด้วย อย่างปทุมธานี หรือแม้แต่ตลาดในนนทบุรีก็พบลักษณะนี้เช่นกัน แต่มีสิ่งที่ได้ดำเนินการไปแล้ว คือ ปิดตลาด ปรับปรุงสุขาภิบาล มีมาตรการค้นหาเชิงรุก ออกบัตรรับรองผลการตรวจโควิด-19 ก่อนอนุญาตให้เข้าขายของในตลาด ติดตามตรวจซ้ำ 1 เดือน" นพ.โอภาสกล่าว
          สธ.ไม่ห้ามสงกรานต์สาดแป้ง
          อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวว่า อีกไม่กี่วันจะเข้าสู่เทศกาลสงกรานต์ จึงต้องย้ำเรื่องการสวมหน้ากากอนามัย โดยเฉพาะปีนี้ ศบค.และ สธ. เห็นด้วยว่าการพบปะของครอบครัวในเทศกาลสงกรานต์เป็นประเพณีที่ดีงาม จึงไม่ห้ามการเดินทาง แต่ขอความร่วมมือผู้ที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยง เดินทางกลับไปเยี่ยมญาติผู้ใหญ่ ขอให้สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ และหากมีอาการป่วย ก็ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่
          นพ.โอภาสกล่าวถึงกิจกรรมสาดสี จ.เชียงใหม่ ว่า เชียงใหม่เป็นพื้นที่สีเขียว การใช้ชีวิตของประชาชน ร้านอาหาร สถานศึกษา การจัดกิจกรรมที่รวมคนหมู่มากสามารถจัดได้ แต่ต้องจัดรูปแบบ นิว นอร์มอล ผู้เข้าร่วมกิจกรรมต้องสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง มีมาตรการคัดกรองอุณหภูมิร่างกาย การลงทะเบียนไทยชนะ โดยเฉพาะกิจกรรมรวมคนหลักร้อย จะต้องขออนุญาตส่วนท้องถิ่นที่ดูแลรับผิดชอบ เช่น เทศบาล อำเภอ ผู้ว่าราชการจังหวัด แต่หากเป็นกิจกรรมภายในครอบครัว ญาติสนิทคนไม่มาก ก็สามารถดำเนินการได้ แต่ต้องระมัดระวัง เชื่อว่างานรูปแบบนี้ ส่วนใหญ่คนมางานก็จะรู้จักกัน เวลาติดตามผู้สัมผัสจะไม่ยุ่งยากมากนัก ต่างจากกิจกรรมสาธารณะ จะติดตามตัวได้ยาก ดังนั้นไม่ได้ห้ามการจัดกิจกรรมสงกรานต์ แต่จะต้องขออนุญาต กำกับ ติดตาม และปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค เพื่อให้เกิดความปลอดภัยกับทุกคน
          "กิจกรรมสาดแป้ง หากถามว่าผิดหรือไม่ ก็คงตอบว่าไม่ผิด เพราะ ศบค.ประกาศห้ามสาดน้ำ อย่างไรก็ตาม เมื่อสอบทานข้อมูลกับเชียงใหม่ ได้รับรายงานเบื้องต้นว่ากิจกรรมที่จัด ได้ขออนุญาตผู้รับผิดชอบแล้ว เพียงแต่เวลาจัดกิจกรรมอาจมีความหละหลวมของผู้จัด ผู้เกี่ยวข้องต้องเข้าไปกำกับ จะเป็นตัวอย่างให้เราได้เห็นว่ายังไม่ถึงเทศกาลสงกรานต์เต็มตัว ก็เริ่มมีกิจกรรมเสี่ยงอันตรายในการควบคุมโรค ขอเน้นย้ำผู้ที่เกี่ยวข้องดูกรณีนี้เป็นตัวอย่างและกำกับให้รัดกุมมากยิ่งขึ้น" นพ.โอภาสกล่าว
          ปทุมฯติดเชื้อเพิ่ม2ราย
          ที่ จ.ปทุมธานี รายงานสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) จังหวัดปทุมธานี พบผู้ติดเชื้อรายใหม่จากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 2 ราย รายแรก เป็นหญิงไทย อายุ 21 ปี ไทม์ไลน์ฝึกงานวอร์ดวิกฤตศัลยกรรม ไปร้าน Zine รังสิต ไปร้าน Slow ซอยอารีย์สัมพันธ์ และไปร้านหมูกระทะ ซอยรังสิตภิรมย์ และรายที่ 2 เป็นชาวกัมพูชา อายุ 23 ปี เป็นแม่บ้าน ต.คลองสอง
          แจงแม่ค้าฉีดวัคซีนแล้วยังติด
          นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยถึงสถานการณ์การให้วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ในประเทศไทย ระหว่างแถลงรายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ว่า ขณะนี้ประเทศไทยได้ฉีดให้ประชาชนแล้ว 150,107 โดส แบ่งเป็นผู้ที่ได้รับเข็มที่ 1 จำนวน 130,187 ราย และผู้ที่ได้รับเข็มที่ 2 อีก 19,920 ราย จะเป็นผู้ที่ได้รับวัคซีนซิโนแวค
          "ภาพรวมการให้บริการฉีดวัคซีนเป็นไปตามแผน จังหวัดที่ได้รับการจัดสรรวัคซีนรอบแรก 13 จังหวัด ส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดฉีดแล้วครบ 100% ดังนั้นกราฟแสดงจำนวนผู้ได้รับวัคซีน ทยอยเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา และผู้ที่มีอาการไม่พึงประสงค์หลังรับวัคซีน 2 ราย มีอาการ ผื่นแดง ความดันต่ำแต่ได้รับการรักษาหายดีแล้ว ไม่มีภาวะแทรกซ้อน ฉะนั้น วัคซีนทั้ง 2 ชนิด มีความปลอดภัยสูง ไม่มีผู้แพ้รุนแรงหรือเสียชีวิต" รองอธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าว
          นพ.โสภณกล่าวว่า กรณีหญิงไทย อายุ 29 ปี อาชีพขายอาหารทะเลที่ตลาดกิตติ เขตบางแค ผลตรวจยืนยันติดเชื้อ แต่รายนี้ได้รับวัคซีนแล้ว เนื่องจากเป็นกลุ่มเสี่ยงในพื้นที่ระบาด จากประวัติการสอบสวนของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ราชบุรี และโรงพยาบาล (รพ.) ราชบุรี พบว่าช่วงก่อนฉีดวัคซีน ผู้ป่วยขายของในตลาดดังกล่าว เมื่อวันที่ 13 มีนาคม เคยตรวจหาเชื้อ แต่ไม่พบเชื้อ และช่วงตลาดปิดหยุดขายของ จึงได้พักอยู่บ้านเป็นหลัก และเมื่อได้รับแจ้งว่าในพื้นที่มีการฉีดวัคซีน เมื่อวันที่ 18 มีนาคม ผู้ป่วยจึงไปฉีดวัคซีน อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 20 มีนาคม หลังฉีดวัคซีน 2 วัน สสจ.ราชบุรี ได้สอบสวนและตรวจพบว่ามีผู้สัมผัสเสี่ยงสูง แต่ยังไม่ได้ตรวจหาเชื้อในผู้ป่วยรายดังกล่าว จึงให้เข้าพักในสถานกักกันโรคของรัฐ จ.ราชบุรี ในระหว่างนั้น มีการตรวจหาเชื้อด้วยวิธีอาร์ที-พีซีอาร์ (RT-PCR) เมื่อวันที่ 26 มีนาคม ผลตรวจพบเชื้อ แต่จากข้อมูลทางห้องปฏิบัติการ (แล็บ) ระบุว่าเชื้อมีปริมาณน้อยและไม่มีอาการป่วย
          สำรวจพบสวมหน้ากากลด
          "เมื่อสอบทานระยะเวลาแล้ว คาดว่าน่าจะได้รับเชื้อก่อนฉีดวัคซีนในวันที่ 18 มีนาคม เพราะกิจกรรมส่วนใหญ่ก่อนหน้านั้น ขณะขายของก็อยู่ในพื้นที่ระบาด ดังนั้น จะเห็นได้ว่าแม้มีการฉีดวัคซีนแล้ว แต่หากรับเชื้อมาก่อนก็สามารถตรวจพบเชื้อได้ ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลของ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยาคลินิก ที่ให้ข้อมูลว่า วัคซีนที่ดีที่สุด ฉีดแล้วป้องกันการติดเชื้อ รองลงมาคือ วัคซีนสามารถติดเชื้อได้ แต่ไม่เกิดอาการป่วย และรองลงมาอีก คือ ฉีดแล้วเกิดอาการน้อย ไม่รุนแรง ไม่เสียชีวิต สำหรับวัคซีนโควิด-19 ในขณะนี้ ฉีดแล้วก็ติดเชื้อได้ มีอาการแต่ไม่รุนแรง แต่สามารถป้องกันการเสียชีวิตได้เกือบ100% ในทุกตัว" นพ.โสภณกล่าว และว่า ดังนั้นผู้ฉีดวัคซีนแล้ว แต่ก็ยังต้องสวมหน้ากากอนามัย เพราะอาจได้รับเชื้อมาก่อนหรือ หลังได้รับวัคซีน เมื่อตรวจพบเชื้อก็มีโอกาสแพร่สู่ผู้อื่นได้ แต่ส่วนใหญ่หลังได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 แล้วก็ต้องรอประมาณ 2 สัปดาห์ เพื่อให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันระดับสูง สู้กับเชื้อโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ
          รองอธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวว่า กรมควบคุมโรคสำรวจทัศนคติความคิดเห็นของประชาชน ในช่วงระหว่างวันที่ 9-22 มีนาคม พบว่า 1.คำถามว่า หากท่านมีอาการไข้ มีอาการของโรคระบบทางเดินหายใจ ท่านจะสวมหน้ากากอนามัยหรือไม่ จากเดิมเคยสูงถึงร้อยละ 95 ลดลงเหลือ ร้อยละ 84.6 จึงน่าเป็นห่วงอย่างมาก 2.หากท่านไม่มีอาการป่วย ท่านจะสวมหน้ากากอนามัยหรือไม่ ลดลงต่ำเหลือเพียง ร้อยละ 74.5 ดังนั้นต้องเน้นย้ำประชาชนว่าสถานการณ์ที่ยังพบผู้ติดเชื้อและยังมีการระบาดในบางพื้นที่ ยังคงต้องสวมหน้ากากอนามัยให้ถึง 100% อยู่ ขณะเดียวกัน ข้อมูลจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) สำรวจการสวมหน้ากากอนามัยของคนไทย พบว่า เปอร์เซ็นต์ผู้สวมหน้ากากอนามัยถูกต้องลดลงเหลือ ร้อยละ 94.36 ส่วนผู้ไม่สวมหน้ากากอนามัยก็เพิ่มขึ้นเป็น ร้อยละ 2.51
          "หลายเขตที่สวมหน้ากากอนามัยน้อยกว่าร้อยละ 90 เช่น ยานนาวา บางคอแหลม คลองสาน สาทร จอมทอง เป็นหนึ่งใน 50 เขตของกรุงเทพมหานคร ยังมีการระบาดของโควิด-19 โดยภาพรวมพบว่าสถานการณ์ในหลายเขตมีความน่าเป็นห่วง ดังนั้นช่วงใกล้วันหยุดยาว ขอให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของการสวมหน้ากากอนามัยในที่สาธารณะ ต้องสวมให้ครอบปากและจมูก เพื่อป้องกันการรับและแพร่กระจายเชื้อ" นพ.โสภณกล่าว
          'อนุทิน'เผยแอสตร้าในไทยฉลุย
          ที่ จ.บุรีรัมย์ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้เรารีบจัดหาวัคซีนให้ได้มาก ข่าวล่าสุดการผลิตวัคซีนโควิด-19 ของบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า ในประเทศไทย ขั้นตอนการผลิตวัคซีนหลายขั้นตอนได้ผ่านมาตรฐานเรียบร้อย ก็พยายามขึ้นทะเบียนในส่วนของโรงงานผลิตในประเทศไทยให้เร็วที่สุด เพื่อจะได้มีวัคซีนให้กับประชาชน คาดว่าจะเป็นไปตามแผนคือเดือนมิถุนายนนี้ ขณะเดียวกันก็จัดหาวัคซีนจากต่างประเทศเข้ามาเพิ่มด้วย ส่วนใหญ่เป็นของซิโนแวค ประเทศจีน และมีการตกลงกันว่าจะกระจายไปยังภูเก็ตให้มากที่สุด เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยวและผู้ให้บริการธุรกิจท่องเที่ยว ส่วน จังหวัดอื่นๆ มีการจัดการดูแลประชาชนเช่นกัน
          "พี่น้องประชาชนน่ารักมาก ดูแลตัวเองเป็นอย่างดี โดยเฉพาะภาคอีสาน การแพร่ระบาดมีน้อยมาก วันนี้แม้คนต่างชาติยังไม่ได้เข้ามามาก แต่ถ้าคนไทยเที่ยวกันเอง อุดหนุนกันเองก็จะสามารถทำให้เกิดการหมุนเวียนของเม็ดเงินในประเทศได้ เป็นการซ้อมเปิดประเทศ เพราะเมื่อวัคซีนมาแล้วต้องเปิดประเทศอยู่แล้ว ดังนั้นเหตุผลที่รัฐบาลทุ่มเทเพื่อให้ได้วัคซีน เพราะเราต้องการรีบเปิดประเทศทำให้เศรษฐกิจฟื้นกลับมาโดยเร็วที่สุด" นายอนุทินกล่าว
          สธ.สั่งรพ.ระงับโฆษณาวัคซีน
          นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า กรณีพบโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง มีการโฆษณาเปิดจองวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 โดยต้องเสียค่าใช้จ่าย 500 บาทต่อคน ถือว่าเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนกฎหมายมาตรา 38 วรรคหนึ่ง พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สถานพยาบาล พ.ศ.2541 ถือเป็นการโฆษณาการประกอบกิจการสถานพยาบาลที่ไม่ได้รับอนุญาต สบส.จึงได้ส่งหนังสือไปยังสถานพยาบาลดังกล่าวเพื่อให้ระงับการเผยแพร่การโฆษณา โรงพยาบาลได้รับทราบเรื่องแล้ว
          นพ.นเรศฤทธิ์ ขัดธะสีมา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) สมุทรสาคร กล่าวว่า สสจ.สมุทรสาครได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าวแล้ว พบว่ามีการโฆษณาเปิดจองวัคซีนโควิด-19 ผ่านช่องทางเว็บไซต์ และเฟซบุ๊กของสถานพยาบาล โดยไม่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) และมีการคัดลอก นำข้อมูลไปเผยแพร่ต่อยังเว็บไซต์และเฟซบุ๊กอื่นๆ จริง จึงได้ดำเนินการแจ้งให้ผู้รับอนุญาตดำเนินการสถานพยาบาลเอกชนดังกล่าวเข้าพบ และสั่งระงับการโฆษณาทันที สถานพยาบาลดังกล่าวยินดีให้ความร่วมมือ ยินยอมระงับการโฆษณาในทุกช่องทางแล้ว
          "สธ.ยังไม่อนุญาตให้สถานพยาบาลทุกสังกัด รวมถึง รพ.เอกชน เปิดให้ประชาชนจองวัคซีน โควิด-19 ทุกกรณี เนื่องจากยังอยู่ในสภาวะฉุกเฉิน หากพบเห็นการโฆษณาขอให้นำหลักฐานแจ้งไปยัง สธ. กรมสนับสนุนบริการฯหรือ สสจ. ที่สถานพยาบาลตั้งอยู่ทันที เพื่อป้องกันประชาชนหลงเชื่อ" นพ.นเรศฤทธิ์กล่าว


pageview  1205124    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved