HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 31/05/2555 ]
วันงด สูบบุหรี่ โลก มุ่งขจัดกลยุทธ์ซีเอสอาร์

 "2 -3 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจบุหรี่มุ่งทำกิจกรรมเพื่อสังคม หรือซีเอสอาร์ (CSR) มาก ทั้งในรูปการบริจาคสิ่งของ เครื่องไม้เครื่องมือให้โรงเรียน เห็นได้ชัดว่ามุ่งไปที่เยาวชนเพื่อหวังให้เกิดนักสูบหน้าใหม่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ..." ถ้อยคำนี้เป็นความห่วงใยของ ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ที่กล่าวไว้ในงานแถลงข่าว "วันงดสูบบุหรี่โลก กับกิจกรรมของไทย" เมื่อช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา
          ปีนี้วันงดสูบบุหรี่โลก ซึ่งตรงกับวันที่ 31 พฤษภาคมของทุกปี องค์การอนามัยโลกได้กำหนดประเด็นการรณรงค์ไว้ว่า "Tobacco Industry Interference" ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ใช้ภาษาไทย ว่า "จับตาเฝ้าระวัง ยับยั้งอุตสาหกรรมยาสูบ" ทำให้ปีนี้ประเทศไทย นอกเหนือจากกิจกรรมลดนักสูบหน้าใหม่แล้วยังมุ่งเน้นการรณรงค์ลดปัญหาการแทรกแซงของบริษัทบุหรี่ผ่านการทำซีเอสอาร์ด้วย เนื่องจากจัดเป็นการส่งเสริมการขายอย่างหนึ่ง อย่างไรก็ตาม พบว่าธุรกิจเหล่านี้ยังมุ่งการทำ ซีเอสอาร์ตามสถานศึกษาต่างๆ โดยเฉพาะในพื้นที่ต่างจังหวัดทั้งในรูปการบริจาคเครื่องมือเครื่องใช้ทางการศึกษา หรือการสนับสนุนกิจกรรมทางโรงเรียนต่างๆ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวขัดต่อมาตรา 5.3 อนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลกที่ 174 ประเทศทั่วโลกได้ร่วมลงนามไว้
          อนุสัญญาดังกล่าวให้จำกัดการติดต่อของเจ้าหน้าที่รัฐกับผู้แทนบริษัทบุหรี่ให้เหลือเท่าที่จำเป็น ห้ามเจ้าหน้าที่รัฐร่วมกิจกรรมเพื่อสังคมที่จัดโดยบริษัทบุหรี่ ห้ามรับบริจาคหรือบริการใดๆ ทั้งสิ้น นอกจากนี้มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2555 ยังให้หน่วยงานราชการปฏิบัติตามแนวทางของกรอบอนุสัญญาดังกล่าว เพื่อป้องกันการแทรกแซงนโยบายการควบคุมยาสูบของรัฐ โดยให้กระทรวงการคลังห้ามธุรกิจยาสูบทำกิจกรรมภายใต้นโยบาย ซีเอสอาร์ และให้กระทรวงวัฒนธรรม กรมประชาสัมพันธ์ และกระทรวงเทคโนโลยีและการสื่อสารปรับปรุงกฎหมาย ห้ามการประชาสัมพันธ์ความรับผิดชอบต่อสังคม ของภาคธุรกิจยาสูบทางภาพยนตร์ โทรทัศน์ และสื่อมวลชนต่างๆ
          ทั้งหมดจัดเป็นมาตรการที่ควรมีการดำเนินการอย่างจริงจัง ทั้งในส่วนภาครัฐ ควรมีกฎหมายที่ดำเนินการควบคุมการทำ ซีเอสอาร์ ซึ่งอาจต้องมีการปรับปรุงกฎหมาย คือ พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.2535 ดูเรื่องธุรกิจยาสูบอย่างเดียว และ พ.ร.บ.คุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ พ.ศ.2535 ดูเรื่องสุขภาพเป็นสำคัญ
          เกี่ยวกับเรื่องนี้ ล่าสุดกรมควบคุมโรค สธ.จึงเตรียมปรับปรุงกฎหมายทั้ง 2 ฉบับให้เป็นฉบับเดียว โดยยกร่าง พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบและคุ้มครองสุขภาพผู้ไม่ สูบบุหรี่ พ.ศ....ขณะนี้อยู่ระหว่างประชุมเนื้อหาสาระ ซึ่งหลักๆ จะมีเรื่องการควบคุมการทำซีเอสอาร์ด้วย แต่สุดท้ายจะเป็นเช่นใด คงต้องติดตาม
          ในส่วนของการรณรงค์ให้สังคมตระหนักและรู้เท่าทันธุรกิจบุหรี่กับกิจกรรมซีเอสอาร์นั้น หลากหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรมควบคุมโรค สธ.มูลนิธิรณรงค์เพื่อ การไม่สูบบุหรี่และภาคีต่างๆ มีกิจกรรม อย่างต่อเนื่อง ทั้งความร่วมมือของภาคเอกชน เช่น ศูนย์การค้าเดอะแพลทินัม แฟชั่นมอลล์ ห้ามการสูบบุหรี่ภายในอาคารเด็ดขาด เรียกว่า เป็นการปฏิบัติตามกฎหมาย เพื่อลดอันตรายของการได้รับควันบุหรี่มือสองของผู้มาใช้บริการ และเพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดอัคคีภัยจากการสูบบุหรี่ในห้างสรรพสินค้าด้วย หรือแม้แต่ กรุงเทพมหานคร (กทม.) ที่ดำเนินการโครงการนำร่อง โดยให้โรงเรียนสังกัด กทม. 6 แห่ง จาก 6 กลุ่มเขต เป็นโรงเรียนปลอดบุหรี่ และจัดสัมมนาครูแกนนำเพื่อเตรียมขยายผลไปยังโรงเรียนสังกัด กทม. ทั้ง 436 แห่ง นอกจากนี้ กทม.ยังมีการรณรงค์ให้มีการจัดสถานที่ปลอดบุหรี่ตามกฎหมาย นำร่องในเขตราชเทวี และเขต ห้วยขวาง และมีแผนจะขยายผลให้ครอบคลุมทั่วกรุงเทพฯ ต่อไปเป็นต้น
          การรณรงค์ผ่านกิจกรรมต่างๆ ก็เพื่อลดนักสูบหน้าใหม่รวมทั้งให้ผู้ที่สูบอยู่แล้วตระหนักถึงผลกระทบจากควันบุหรี่ โดยเฉพาะผลเสียต่อสุขภาพ สำหรับสถานการณ์ผู้สูบบุหรี่นั้น ข้อมูลปี 2552 พบคนไทย เสียชีวิตจากบุหรี่ 48,244 ราย ในจำนวนนี้พบ 14,204 คน หรือร้อยละ 29.4 เสียชีวิตก่อนอายุ 60 ปี แต่ละคนที่เสียชีวิตอายุสั้นลง 12.1 ปี ส่วนใหญ่มาจากบุหรี่และพบว่าก่อให้เกิดโรคมะเร็งสูงสุดถึง 18,041 ราย รองลงมาเป็นโรคทางเดินหายใจ หัวใจและหลอดเลือด
          เห็นได้ว่า "บุหรี่" ร้ายกว่าที่คิด...


pageview  1206109    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved