HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 31/05/2555 ]
คนไทย'ดื้อยา'มากขึ้น-ใช้เกินจำเป็น

เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม ที่โรงแรมสยามซิตี ศ.นพ.วิษณุ ธรรมลิขิตกุล อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ในฐานะประธานคณะกรรมการวิจัยและพัฒนาระบบการควบคุมและป้องกันการดื้อยาต้านจุลชีพ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) กล่าวภายหลังการประชุม "เชื้อดื้อยาปฏิชีวนะ:ภาวะวิกฤตต่อสุขภาพคนไทย" ว่าในประเทศไทยมีการใช้ยาปฏิชีวนะมากขึ้นและเกินความจำเป็น ทำให้ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา พบเชื้อดื้อยาปฏิชีวนะมากขึ้นและดื้อต่อยาหลายขนาน พบคนไทยติดเชื้อดื้อยากลุ่มนี้ 100,000 คน อยู่โรงพยาบาลนานขึ้น และเสียชีวิตกว่า 30,000 ราย ทั้งหมดล้วนมาจากการใช้ยาเกินความจำเป็นหาซื้อได้ง่าย ซึ่งมีมูลค่าการผลิตและนำเข้ายากลุ่มนี้สูงถึง 10,000 ล้านบาท ที่ผ่านมาเชื้อดื้อยาที่พบมากในโรงพยาบาล คือ เชื้ออะซินีโตแบคเตอร์ บอมานีไอ หรือ เอบอม (Acinetobacter baumannii) ก่อให้เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือด โลหิตเป็นพิษ ปอดอักเสบ เดิมทีใช้ยาปฏิชีวนะกลุ่มคาร์บาพีเนมส์ (Carbapenems) เป็นกลุ่มยาด่านสุดท้ายที่ใช้ฆ่าเชื้อดื้อยา แต่ 10 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2543-2554 พบว่า เชื้อกลุ่มนี้ดื้อต่อยาปฏิชีวนะกลุ่มคาร์บาพีเนมส์ถึงร้อยละ 80 แล้ว
          ศ.นพ.วิษณุกล่าวอีกว่า ทำให้ขณะนี้หันไปใช้ยาตัวเดิมที่ใช้มานานกว่า 50 ปี เรียกว่า โคเลสติน (Colestin) เป็นยาที่ใช้ยากมากเรียกว่าไม่มีทางเลือก นอกจากนี้ยังมีเชื้อฝีหนอง หรือ สแตฟ ออเรียส (Staph aureus) รวมทั้งเชื้ออีโคไล พบได้ทั้งในโรงพยาบาลและในชุมชน เชื้อนี้ทำให้เกิดโรคทางเดินปัสสาวะอักเสบ การติดเชื้อในช่องท้อง การติดเชื้อในกระแสเลือด มีการดื้อยามากขึ้นเช่นกัน เห็นได้ว่าหากไม่ดำเนินการอะไรจะยิ่งเป็นปัญหายิ่งขึ้น ขณะนี้อยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลทำเป็นคำแนะนำในการควบคุมการใช้ยาปฏิชีวนะ โดยจะเสนอสำนักงานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อพิจารณาว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่ สปสช.อาจเพิ่มเงินจากเหมาจ่ายรายหัวให้กับโรงพยาบาลที่มีการดำเนินการควบคุมการใช้ยาตัวนี้ รวมทั้งมีมาตรการควบคุมการติดเชื้อที่ดี นอกจากนี้จะมีการหารือกับสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) เกี่ยวกับการเพิ่มเกณฑ์คุณภาพสถานพยาบาล หรือค่า HA โดยให้มีแนวทางการควบคุมการใช้ยาปฏิชีวนะด้วย คาดว่าทั้งหมดจะแล้วเสร็จภายในปีนี้


pageview  1206107    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved