HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 25/05/2555 ]
หัดเยอรมัน

  รศ.นพ.ชิษณุ พันธุ์เจริญ
          ฝ่ายกุมารเวชศาสตร์ รพ.จุฬาลงกรณ์
          หัดเยอรมันเป็นโรคที่พบได้บ่อยทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ มีอาการไข้และออกผื่นคล้ายหัดแต่มีความรุนแรงและโรคแทรกซ้อนน้อยกว่าหัด โรคนี้หั ไม่ใช่โรคร้ายแรง หากเป็นกับเด็กหรือผู้ใหญ่ทั่วไปมักจะหายได้เองโดยไม่มีโรคแทรกซ้อนที่รุนแรง ที่สำคัญคือ ถ้าเกิดกับหญิงตั้งครรภ์ในระยะ 3 เดือนแรก เชื้ออาจแพร่กระจายสู่ทารกในครรภ์ทำให้ทารกพิการได้
          โรคหัดเยอรมันเกิดจากเชื้อไวรัสหัดเยอรมัน ซึ่งอยู่ในน้ำมูกและน้ำลายของผู้ป่วย ติดต่อโดยการไอจาม หรือหายใจรดกันเช่นเดียวกับไข้หวัดหรือหัด ระยะฟักตัวของโรคใช้เวลา 14-21 วัน
          อาการมีไข้ต่ำๆ ปวดศีรษะ เจ็บคอ ต่อมน้ำเหลืองโต และเบื่ออาหารร่วมกับมีผื่นเล็กๆสีชมพูอ่อนขึ้นกระจายทั่วไป ผื่นมักอยู่แยกจากกันชัดเจน แต่อาจแผ่รวมกันเป็นแผ่นได้  เริ่มขึ้นที่หน้าผากบริเวณไรผม รอบปากและใบหูก่อน แล้วลงมาที่คอ ลำตัวและแขนขา ผื่นอาจมีอาการคันหรือไม่ก็ได้ ผื่นอาจขึ้นในวันเดียวกับที่มีไข้หรือหลังมีไข้1-2 วัน และ มักจะจางหายไปภายใน 3-5 วัน โดยจางหายไปอย่างรวดเร็ว ไม่ทิ้ง รอยแต้มดำๆ ให้เห็นเหมือนผื่นของหัดทั่วไปผู้ป่วยบางรายอาจมีผื่นโดยไม่มีไข้ หรือมีไข้โดยไม่มีผื่นบางรายอาจมีอาการแสบตา เคืองตาหรือปวดเมื่อยตามตัวเล็กน้อยบางรายอาจติดเชื้อหัดเยอรมันโดยไม่มีอาการแสดงใดๆ เลย
          ภาวะแทรกซ้อน อาจทำให้ข้อนิ้วมือ นิ้วเท้าอักเสบเล็กน้อย หรือพบว่ามีสมองอักเสบได้บ้างแต่น้อยมาก ที่สำคัญคือ ถ้าเป็นในหญิงตั้งครรภ์ 3 เดือนแรก อาจทำให้ทารกในครรภ์พิการได้ เช่น ทารกที่คลอดออกมาเป็นต้อกระจก ต้อหิน หูหนวก หัวใจพิการ มีน้ำหนักตัวน้อยกว่าปกติ ตับอักเสบ ซีด มีจ้ำเขียวขึ้นตามตัว สมองอักเสบ ปัญญาอ่อน เป็นต้น ความพิการเหล่านี้อาจเกิดร่วมกันหรือเป็นเพียงอย่างเดียวก็ได้ ทารกที่ติดเชื้อหัดเยอรมันขณะอยู่ในครรภ์เรียกว่าเป็น "โรคหัดเยอรมันแต่กำเนิด"
          สำหรับหญิงตั้งครรภ์ระยะ 3 เดือนแรก ควรไปรับการตรวจเลือดเพื่อดูภูมิคุ้มกันต่อโรคหัดเยอรมัน ถ้าพบว่ามีการติดเชื้อ แพทย์อาจพิจารณาให้ยุติการตั้งครรภ์
          ข้อแนะนำ  1.โรคนี้ไม่ใช่โรคร้ายแรงสำหรับคนทั่วไป ความรุนแรงมีน้อยกว่าหัด แต่เป็นปัญหามากถ้าเกิดกับหญิงตั้งครรภ์อ่อนๆ ภายในระยะ 3 เดือนแรก เพราะทำให้ทารกในครรภ์เกิดมาพิการ
          2.ผู้ที่เคยเป็นหัดเยอรมันแล้ว มักมีภูมิคุ้มกันไปจนตลอดชีวิต จะไม่เป็นซ้ำอีก
          3.หญิงที่เป็นหัดเยอรมันให้คุมกำเนิดไว้ 3 เดือน เพื่อให้แน่ใจว่าการตั้งครรภ์ครั้งนั้นทารกปลอดภัยจากการติดเชื้อ
          4.ในระยะที่มีการระบาดของโรค สำหรับหญิงที่แต่งงานแล้วซึ่งยังไม่เคยฉีดวัคซีนหรือไม่เคยเป็นโรคนี้ ควรคุมกำเนิดไว้ก่อนจะพ้นระยะระบาด ระหว่างนี้ควรฉีดวัคซีนป้องกันโรค
          5.หญิงตั้งครรภ์ที่มีอาการไข้และมีผื่นขึ้นหรืออยู่ใกล้ชิดกับคนที่เป็นโรคหัดเยอรมัน แม้จะไม่มีอาการอะไรเลยก็ตาม ควรไปพบแพทย์ เพื่อตรวจเลือดให้โดยเจาะเลือดตรวจอย่างน้อย 2 ครั้ง ห่างกัน 1 สัปดาห์ หรือ 1 เดือน ซึ่งแล้วแต่แพทย์จะพิจารณา หากพบว่าเป็นหัดเยอรมันสำหรับหญิงตั้งครรภ์ในระยะ 3 เดือนแรก แพทย์จะแนะนำให้ยุติการตั้งครรภ์ 
 


pageview  1205007    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved