HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 08/09/2563 ]
520ผู้ใกล้ชิดดีเจโล่งตรวจไม่พบเชื้อโควิดกทม.สายด่วน24ชม.รบ.อัดงบเร่ง วัคซีน

  สธ.ตรวจหาเชื้อกลุ่มสัมผัส ผู้ต้องขังชายรวม 520 คน ไม่พบติดเชื้อโควิด กทม.เปิดสายด่วนให้ประชาชนที่กังวลต่อความเสี่ยงติดเชื้อปรึกษา
          พบติดเชื้อเพิ่ม1รายจากอินเดีย
          เมื่อวันที่ 7 กันยายน เฟซบุ๊กศูนย์ข้อมูล COVID-19 รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ในประเทศไทย ระบุว่า วันจันทร์ที่ 7 กันยายน เวลา 11.00 น. สถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 มีผู้ป่วยรายใหม่ 1 ราย เดินทางจากต่างประเทศและเข้าสถานกักกันโรค (Quarantine) รวมสะสม 3,445 ราย แบ่งเป็นการติดเชื้อในประเทศ 2,445 ราย และอยู่ในสถานกักกันโรคของรัฐ (State Quarantine) 507 ราย รักษาหายป่วยแล้ว 3,281 ราย ยังรักษาอยู่ในโรงพยาบาล (รพ.) 106 ราย เสียชีวิตสะสม 58 ราย ทั้งนี้ในจำนวนผู้ป่วยสะสม 3,445 ราย รับรักษาในกรุงเทพมหานคร (กทม.) และนนทบุรี จำนวน 1,861 ราย ภาคเหนือ 95 ราย ภาคกลาง 633 ราย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 112 ราย ภาคใต้ 744 ราย ผู้ป่วยรายใหม่ 1 ราย เดินทางมาจากต่างประเทศ และเข้าพักในสถานกักกันโรค ได้แก่ ประเทศอินเดีย
          ตรวจผู้สัมผัสดีเจผลเป็นลบ
          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) รายงานความคืบหน้าผลการสอบสวนและควบคุมโรคโควิด-19 กรณีผู้ต้องขังชายที่อยู่ระหว่างกักกันก่อนเข้าแดนปกติในเรือนจำ ตรวจพบสารพันธุกรรมของเชื้อโควิด-19 เมื่อวันที่ 3 กันยายนที่ผ่านมา ผลการดำเนินงาน ณ วันที่ 7 กันยายน สธ.โดยทีมปฏิบัติการสอบสวนควบคุมโรค กรมควบคุมโรค หน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ลงพื้นที่สอบสวนโรค เพื่อค้นหาและติดตามตัวผู้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ต้องขังชายที่อยู่ระหว่างกักกันก่อนเข้าแดนปกติในเรือนจำทันที เพื่อเก็บตัวอย่างส่งตรวจหาเชื้อก่อโรคโควิด-19 ด้วยวิธี RT-PCR
          1.บุคคลในครอบครัว มีผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 6 คน (ภรรยา ลูก 2 คน น้องภรรยา พ่อตา แม่ยาย) ผู้สัมผัสใกล้ชิดรายอื่น 6 คน รวม 12 คน ผลการตรวจหาเชื้อทางห้องปฏิบัติการ (แล็บ) พบว่าทั้งหมดให้ผลเป็นลบ ไม่พบสารพันธุกรรมของเชื้อโควิด-19
          2.ผู้ที่พักอาศัยในคอนโดมิเนียม มีผู้สัมผัส รวม 137 คน เป็นผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำทั้งหมด ผลตรวจห้องแล็บทั้งหมดให้ผลเป็นลบ
          3.ศาลอาญา มีผู้สัมผัส รวม 492 คน เป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 14 คน ได้ผลการตรวจทางห้องแล็บแล้ว 13 คน ทั้งหมดให้ผลเป็นลบ อีก 1 คน นัดหมายตรวจวันที่ 8 กันยายน และมีผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ 478 คน ผลตรวจห้องแล็บ 146 คน ทั้งหมดให้ผลเป็นลบ อีก 332 คน อยู่ในสถานที่กักกันเฝ้าระวังอาการ 14 วัน
          ตรวจเรือนจำก็ไม่พบแพร่เชื้อ
          4.โรงพยาบาล (รพ.) ราชทัณฑ์ มีผู้สัมผัส รวม 6 คน เป็นผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ อยู่ในสถานที่กักกันเฝ้าระวังอาการ 14 วัน 5.ทัณฑสถานบำบัดพิเศษกลางมีผู้สัมผัส รวม 111 คน แบ่งเป็น เจ้าหน้าที่ 76 คน เป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 24 คน ทั้งหมดนัดเก็บตัวอย่างครั้งแรกวันที่ 8 กันยายน ครั้งที่ 2 วันที่ 16 กันยายน ส่วนผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ 52 คน ทั้งหมดอยู่ในสถานที่กักกันเฝ้าระวังอาการ 14 วัน และแบ่งเป็น ผู้ต้องขัง 35 คน เป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูงทั้งหมด ผลตรวจทางห้องแล็บครั้งที่ 1 แล้ว 34 คน ทั้งหมดให้ผลเป็นลบ ส่วนอีก 1 คน นัดหมายตรวจอีก 2 ครั้ง ในวันที่ 8 และ วันที่ 16 กันยายน
          6.เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มีผู้สัมผัส รวม 8 คน (ผู้ต้องขังรถคันเดียวกัน) เป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูงทั้งหมด ผลการตรวจทางห้องแล็บทั้งหมดให้ผลเป็นลบ และนัดหมายตรวจอีก 1 ครั้ง ในวันที่ 8 กันยายน 7.ร้านอาหารพระราม 3 มีผู้สัมผัส รวม 34 คน เป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 4 คน ผลตรวจห้องแล็บให้ผลเป็นลบ และเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ 14 คน ได้ผลตรวจห้องแล็บให้ผลเป็นลบ ส่วนอีก 16 คน อยู่ระหว่างการตรวจสอบ 8.ร้านอาหารพระราม 5 มีผู้สัมผัส รวม 60 คน เป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 25 คน ผลตรวจทางห้องแล็บให้ผลเป็นลบ และเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ 35 คน ทั้งหมดอยู่ในสถานที่กักกันเฝ้าระวังอาการ 14 วัน
          9.ร้านอาหารที่ถนนข้าวสาร มีผู้สัมผัส รวม 15 คน เป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 2 คน ผลตรวจทางห้องแล็บให้ผลเป็นลบ และเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ 13 คน ผลตรวจห้องแล็บให้ผลเป็นลบ 10.ถนนข้าวสาร มีผู้สัมผัสเป็นพนักงานร้านอาหารและร้านค้า รวม 112 คน เป็นผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำทั้งหมด ผลตรวจทางห้องแล็บให้ผลเป็นลบ 11.สถานศึกษาย่านประชาอุทิศ มีผู้สัมผัส รวม 3 คน เป็นผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำทั้งหมด และอยู่ในสถานที่กักกันเฝ้าระวังอาการ 14 วัน 12.ห้างสรรพสินค้าย่านสุขสวัสดิ์ อยู่ระหว่างการลงพื้นที่ติดตาม
          สรุปผลการค้นหาผู้สัมผัสรวม 990 คน เป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 118 คน ผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ 856 คน อยู่ระหว่างการตรวจสอบอีก 16 คน ส่งตรวจ 520 คน ทั้งหมดให้ผลเป็นลบ ไม่พบสารพันธุกรรมของเชื้อโควิด-19
          กทม.เปิดสายด่วนปรึกษาโควิด
          พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า ผลควบคุมป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 โดยศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขกรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 สำนักอนามัย กทม. เมื่อวันที่ 6 กันยายน เวลา 17.00 น. พบว่าร้าน First cafe at Khao San road มีผู้สัมผัสรวม 127 คน เสี่ยงสูง 2 คน ทำการเฝ้าระวังและสอบสวนโรค (PUI) ที่ รพ.วชิรพยาบาล 1 คน ไม่พบเชื้อ และ PUI จำนวน 1 คน รพ.กลาง ไม่พบเชื้อ ได้กักตัวทั้ง 2 คน เพื่อติดตามเฝ้าระวังที่โรงพยาบาล ส่วนผู้เสี่ยงต่ำ 125 คน ให้ปฏิบัติตัวตามมาตรการป้องกันควบคุมโรค นอกจากนี้ ยังจัดรถพระราชทานให้บริการส่งตรวจของประชาชนที่มีความกังวลบริเวณถนนข้าวสาร  112 คน พบว่าไม่มีผู้ติดเชื้อ โดยเจ้าหน้าที่ควบคุมโรคติดต่อได้สั่งปิดสถานที่ดังกล่าวจนกว่าสำนักงานเขตจะอนุญาตให้เปิดบริการต่อไป
          พล.ต.อ.อัศวินกล่าวว่า ได้จัดทำแบบประเมินความเสี่ยงการติดเชื้อโควิด-19 ด้วยตนเอง ด้วยระบบคัดกรองความเสี่ยง BKK COVID-19 ผ่านเว็บไซต์ http://bkkcovid19.bangkok.go.th ไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น เป็นแบบทดสอบที่ออกแบบโดยทีมแพทย์ นักวิชาการ ร่วมกับ กทม. และเป็นแบบฟอร์มที่ใช้จริงในโรงพยาบาลเพื่อการสอบสวนโรคของกลุ่มเสี่ยง เมื่อประเมินผลแล้วระบบจะวิเคราะห์ว่าบุคคลนั้นอยู่ในกลุ่มใด จาก 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มไม่พบประวัติเสี่ยง (สีเขียว) กลุ่มเฝ้าระวัง (สีเหลือง) กลุ่มเสี่ยง (สีส้ม) และกลุ่มเข้าเกณฑ์สงสัย (สีแดง) เพื่อดำเนินการต่อให้เหมาะสม
          เก็บข้อมูลผู้ใช้ระบบเป็นความลับ
          "หากระบบประเมินว่ามีความเสี่ยง เจ้าหน้าที่จะโทรสอบถามอาการและยืนยันอาการ หากประเมินว่าเป็นผู้ที่ต้องได้รับการตรวจ จะนัดมาตรวจอาการด้วยวิธีการเก็บตัวอย่างสารคัดหลั่ง (SWAB) จมูกหรือปาก ส่งตรวจแล็บที่คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช หรือห้องแล็บของโรงพยาบาลในสังกัด กทม.ที่ได้มาตรฐาน ทาง กทม.จะเก็บข้อมูลผู้เข้าใช้ระบบ BKK COVID-19 เป็นความลับ และกทม.ได้เปิดสายด่วนในพื้นที่กรุงเทพฯ ผู้ที่มีความกังวลต่อความเสี่ยงการติดเชื้อ แจ้งข้อมูลและขอคำปรึกษาที่สายด่วน 1646 และ 1669 ศูนย์ตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน (EOC) หรือ สายด่วน 1422 กรมควบคุมโรค หรือ 0-2245-4964, 0-2203-2393 และ 0-2203-2396 (ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง) และ 09-4386-0051, 08-2001-6373 (ให้บริการเวลา 08.00-16.00 น.) สายด่วนกองควบคุมโรค สำนักอนามัย กทม." พล.ต.อ.อัศวินกล่าว
          รบ.อัดงบเร่งพัฒนาวัคซีน
          นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญในการที่ประเทศไทยจะพัฒนาและผลิตวัคซีน เพื่อให้ประชาชนได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 อย่างเร็วที่สุด โดยได้อนุมัติงบประมาณในวงเงิน 1,000 ล้านบาท ให้สถาบันวัคซีนแห่งชาติในการสนับสนุนหน่วยงานเครือข่าย สร้างความร่วมมือกับสถาบันวิจัยพัฒนา และหน่วยผลิตวัคซีนในประเทศ ตลอดจนสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อส่งเสริมการผลิตวัคซีนใช้ได้เอง พร้อมเจรจาสร้างความร่วมมือกับต่างประเทศเพื่อการขอรับถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตทั้งจากประเทศจีนและยุโรป นอกจากนี้ ยังอนุมัติงบประมาณวงเงิน 883 ล้านบาท เป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการจัดทำพื้นที่กักกันโรคแห่งรัฐ (State Quarantine) ในส่วนของสถานที่เอกชน ในการที่คนไทยทุกคนที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศจะต้องเข้าพักกักกันโรคเป็นเวลา 14 วัน งบประมาณทั้งสองส่วนนี้ได้ผ่านการเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
          'หมอธีระวัฒน์'ห่วงแพร่เชื้อ
          ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์โรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กตระหนักถึงโอกาสเสี่ยงที่จะป่วยเป็นโรคติดเชื้อโควิด-19 หลังตรวจพบดีเจของร้านอาหารติดเชื้อโควิด-19 ขณะที่ตกเป็นผู้ต้องหาคดียาเสพติด การตรวจพบเชื้อครั้งนี้เกิดขึ้นในช่วงการตรวจร่างกายก่อนเข้าเรือนจำ ยังไม่ชัดเจนว่าติดเชื้อมาจากที่ใด ว่า สิ่งที่ต้องตระหนักในประเทศไทยคือ มีคนที่ติดเชื้อแพร่เชื้อได้โดยไม่มีอาการอยู่แล้ว ถ้าคนที่ติดเชื้อไม่อ่อนแอ อาจจะแพร่เชื้อไปได้ 20-30 วัน และหยุดแพร่ แต่ถ้าคนติดเชื้อรายนั้น มีวินัย สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า รักษาระยะห่าง ล้างมือ ก็ไม่สามารถแพร่เชื้อไปให้ผู้อื่นได้ และคนอื่นๆ ก็ต้องมีวินัยป้องกันเชื้อเข้าร่างกายด้วยเช่นกัน
          ศ.นพ.ธีระวัฒน์ ระบุอีกว่า เมื่อใดที่เริ่มผ่อนคลายวินัย เชื้อจากคนที่ไม่มีอาการเหล่านี้ จะค่อยๆ เริ่มแพร่เป็นลูกโซ่ และในที่สุดก็จะแพร่ถึงคนที่อาจไม่แข็งแรง และได้รับเชื้อค่อนข้างมาก จนเกิดอาการป่วย และในที่สุดก็จะเริ่มเห็นคนอาการหนักเข้ารักษาในโรงพยาบาล
          "การตรวจหาว่ามีคนติดเชื้อโดยไม่มีอาการหรือไม่ มากน้อยเพียงใดในแต่ละพื้นที่ด้วยการตรวจเลือด จะเป็นการให้ข้อมูลที่ถูกต้อง นำไปสู่การวางแผนที่รัดกุม ถ้าตรวจเลือดได้ผลบวก จึงค่อยตรวจว่ามีเชื้อปล่อยออกมาได้หรือไม่ด้วยการแยงจมูก แต่โดยสรุป การรักษาวินัยดังที่ผ่านมา จะทำให้ระบบสาธารณสุขอยู่รอดได้ และคนไทยปลอดภัย" ศ.นพ.ธีระวัฒน์ ระบุพร้อมแจ้งอีกว่า ในเร็วๆ นี้ คณะทำงานจะมีการเผยแพร่ข้อมูลด้วย
          ตากการ์ดไม่ตกรับมือโควิด
          นพ.ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เขตสุขภาพที่ 2 กล่าวว่า กรณีพบแรงงานต่างชาติเข้าประเทศอย่างผิดกฎหมายผ่านบริเวณพรมแดนธรรมชาติในเขตพื้นที่ จ.ตาก มีความเสี่ยงสูงที่อาจนำเชื้อโควิด-19 เข้าสู่ประเทศไทยได้ ขณะนี้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดตาก ยังไม่มีมติอนุมัติให้แรงงานต่างชาติเข้าประเทศผ่านชายแดนได้นั้น ได้สั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ตาก เร่งสำรวจอุปกรณ์ในการป้องกันโรค จากทุกโรงพยาบาลในสังกัด พบว่าอุปกรณ์ป้องกันดังกล่าวมีเพียงพอใช้ประมาณ 1-3 เดือน เพื่อเตรียมไว้ใช้หากพบผู้ติดเชื้อ และได้ขอการสนับสนุนอุปกรณ์ป้องกันจากส่วนกลางสำรองไว้เพิ่มเติมหากเกิดการระบาดในพื้นที่
          นายพรชัย สังข์เอียด ปลัดอำเภอบางละมุง พ.ต.ต.ชัยณรงค์ ไชยอินทร์ สวป.สภ.เมืองพัทยา นายอาทร เนี่ยกุล นักวิชาการสาธารณสุข ปฏิบัติการแทนสาธารณสุขอำเภอบางละมุง จ.ชลบุรี สนธิกำลังร่วมกันกวดขันสถานประกอบการ สถานบันเทิง ทั่วเขตพื้นที่เมืองพัทยา ทั้งภายในวอล์กกิ้งสตรีท พัทยาใต้ ริมถนนสายสาม เพื่อเข้มงวดในเรื่องการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 พบว่า สถานบันเทิงทุกแห่งมีมาตรการป้องกันเป็นอย่างดี นอกจากนี้ ยังเน้นในด้านของการตรวจสอบสิ่งผิดกฎหมายไม่ว่าจะเป็นยาเสพติด อาวุธ และเยาวชนอายุต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนด ห้ามไม่ให้มีโดยเด็ดขาด
          นายจตุภัทร จักรสมบัติ ผู้จัดการท่าเรือกัลปังหา ต.หาดเล็ก อ.คลองใหญ่ จ.ตราด เปิดเผยว่า หลังการแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้รัฐบาลต้องปิดจุดผ่านแดนถาวรหาดเล็ก และจุดผ่อนปรนทั้งหมดเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด ส่งผลให้แรงงานต่างด้าวชาวกัมพูชาในเรือประมงไม่สามารถออกไปทำประมงได้ เพราะใบอนุญาตหมดอายุ แม้รัฐบาลจะผ่อนปรนไปแล้วแต่ยังไม่สามารถดำเนินการได้ ส่งผลต่อการทำประมงมากนับวันจะยากลำบากมากขึ้น
          อินเดียแซงบราซิลป่วยที่2โลก
          สำนักข่าวเอเอฟพี รอยเตอร์ และเอพีรายงานสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ว่า จำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตทั่วโลกทะยานขึ้นต่อเนื่อง สะสมรวมกันในวันที่ 7 กันยายน เพิ่มขึ้นเป็น 27,300,677 ราย มีจำนวนผู้เสียชีวิตรวมกันเพิ่มขึ้นเป็น 887,629 ราย และมีผู้ป่วยที่รักษาหายแล้ว 19,379,558 รายนั้น วันเดียวกันนี้ อินเดียยังแซงหน้าบราซิลขึ้นเป็นอันดับ 2 ของโลก หลังรอบ 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา อินเดียมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้นวันเดียวถึง 90,802 ราย ยอดผู้ติดเชื้อรวมเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 4.2 ล้านราย มากเป็นอันดับ 2 รองจากสหรัฐอเมริกาที่มีผู้ป่วยโควิด-19 สะสมมากกว่า 6.4 ล้านคน และบราซิลหล่นมาอยู่ที่ 3 มียอดสะสมที่กว่า 4.1 ล้านราย
          กระทรวงสาธารณสุขอินเดียระบุว่า ยอดผู้เสียชีวิตในอินเดียเพิ่มขึ้นมาอีก 1,016 ราย ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตยู่อันดับ 3 ของโลก ที่ 71,642 ราย ตามหลังสหรัฐและบราซิล
          แม้อินเดียจะเผชิญสถานการณ์ระบาดหนักของโรคโควิด-19 ทางการอินเดียยังคงผ่อนคลายมาตรการจำกัดความเคลื่อนไหวที่เข้มงวดลงเพื่อพื้นเศรษฐกิจ มีรายงานว่ารถไฟใต้ดินในกรุงนิวเดลี และในอีก 12 เมืองใหญ่ของอินเดียกลับมาเปิดให้บริการแล้วในวันที่ 7 กันยายน หลังปิดมานาน 5 เดือน
          ด้านบราซิลมีรายงานผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่เพิ่มขึ้นมาอีก 14,521 ราย ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อเป็น 4,137,606 ราย อยู่อันดับ 3 โลก และมีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นอีก 447 ราย ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตสะสมของบราซิลเพิ่มขึ้นเป็น 126,686 ราย อยู่อันดับ 2 โลก
          ฮ่องกงเมินตรวจรอบ3
          ส่วนแผนการของรัฐบาลฮ่องกงในการมุ่งตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 กับชาวฮ่องกงทุกคนเพื่อสกัดการระบาดระลอกสามนั้น อาจมีอันต้องสะดุด จากการไม่ได้รับความร่วมมือจากชาวฮ่องกงทุกคนโดยมีสาเหตุมาจากประเด็นความรู้สึกไม่พอใจจีน จากการเปิดเผยของนายแพทริก นิป หัวหน้าสำนักงานพลเรือนของฮ่องกง ระบุว่ามีชาวฮ่องกงจำนวน 1.15 ล้านคน ที่ลงชื่อเข้าร่วมรับการตรวจหาเชื้อ ขณะที่ฮ่องกงมีประชากรทั้งสิ้นราว 7.5 ล้านคน ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขชี้ว่าชาวฮ่องกงที่ลงชื่อเพื่อตรวจหาเชื้อยังต่ำกว่าที่ต้องการ นั่นคือราว 4-5 ล้านคนที่จำเป็นจะต้องตรวจหาเชื้อเพื่อประสิทธิผลในการค้นหาและยับยั้งห่วงโซ่การติดต่อแพร่เชื้อที่แฝงตัวอยู่ นั่นเป็นผลให้ทางการฮ่องกงต้องประกาศขยายเวลาให้ประชาชนได้ลงชื่อเข้ารับการตรวจอีก 7 วัน ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้กลุ่มนักการเมืองที่ฝักใฝ่ประชาธิปไตย ตลอดจนสหภาพแรงงานทางการแพทย์ในฮ่องกงที่วิพากษ์วิจารณ์จีน ออกเรียกร้องให้ชาวฮ่องกงบอยคอตโครงการตรวจหาเชื้อนี้ของรัฐบาล ท่ามกลางกระแสข่าวลือว่าทีมงานและห้องแล็บที่ตรวจหาเชื้อถูกส่งมาจากจีนแผ่นดินใหญ่ ยิ่งทำให้ชาวฮ่องกงเกิดความหวั่นกลัวถึงการเข้ามาสอดแนมของจีนที่อาจใช้ข้อมูลไบโอเมทริกซ์ในการสอดส่องพลเมืองในฮ่องกง
          นักวิชาการชี้โควิดอยู่ถึงปี'66
          ศ.เฮนดริก สตรีค นักวิชาการด้านไวรัสวิทยา ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันวิจัยด้านไวรัสวิทยาและเอชไอวี ของมหาวิทยาลัยบอนน์ ประเทศเยอรมนี ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ เดลี เรคคอร์ด เมื่อวันที่ 6 กันยายน ระบุว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จะยังคงอยู่อีกยาวนานและเพิ่มปริมาณการแพร่ระบาดขึ้นเป็นพักๆ เหมือนเช่นที่เกิดขึ้นในสกอตแลนด์และในอีกหลายพื้นที่ในยุโรปในเวลานี้
          ศ.สตรีคระบุว่า ความหวังที่ว่าเมื่อมีวัคซีนเกิดขึ้นจะยุติการแพร่ระบาดได้นั้นในความเป็นจริงแล้ว เราไม่สามารถรู้ได้แน่ชัด แค่มีโอกาสเป็นไปได้ วัคซีนอาจไม่สามารถให้หลักประกันได้ถึงขนาดนั้น นอกเหนือจากนั้นวัคซีนที่ว่านี้อาจผลิตได้ไม่เร็วพอ หรืออาจไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ดังนั้น ประชาชนทั่วไปจึงจำเป็นต้องเตรียมพร้อมใช้ชีวิตอยู่กับโควิด-19 คาดว่าในปี 2566 หรืออีก 3 ปีข้างหน้า คนเราก็ยังคงจำเป็นต้องต่อสู้อยู่กับการแพร่ระบาดอยู่ต่อไป
          "มันจะยังคงอยู่ที่นี่ในอีก 3 ปีข้างหน้า และพวกเราก็ต้องหาหนทางที่จะใช้ชีวิตอยู่กับมันให้ได้ต่อไป" ศ.สตรีคระบุ
          ออสซี่เชื่อได้ไวรัสล็อตแรกม.ค.
          รอยเตอร์รายงานว่า นายสก็อตต์ มอร์ริสัน นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย ประกาศว่า รัฐบาลออสเตรเลียสามารถทำความตกลงกับบริษัทเภสัชกรรมผู้พัฒนาวัคซีนสำหรับป้องกันโควิด-19 แล้ว 2 ราย กำหนดให้บริษัท ซีเอสแอล ของออสเตรเลียเป็นผู้ดำเนินการผลิต ทั้งวัคซีนที่พัฒนาโดยมหาวิทยาลัย ออกซ์ฟอร์ดของประเทศอังกฤษร่วมกับบริษัท แอสทราเซเนกา และวัคซีนที่ ซีเอสแอล พัฒนาขึ้นมาเองร่วมกับมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์
          โดยวัคซีนโควิด-19 ล็อตแรกของแอสทรา เซเนกา รวม 3.8 ล้านโดส ที่ซีเอสแอลผลิตได้น่าจะมีได้ในเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ ปี 2564 ภายใต้เงื่อนไขว่า การทดลองในคนระยะสุดท้าย ซึ่งกำลังมีขึ้นทั้งใน อังกฤษ, บราซิล และแอฟริกาใต้ ให้ผลลัพธ์ที่ดีและปลอดภัย ในขณะที่วัคซีนของซีเอสแอล เองนั้นคาดว่าจะทดลองในคนในระยะที่ 2 ได้ในราวปลายปีนี้ คาดว่าจะแล้วเสร็จสามารถผลิตออกวางตลาดได้ราวกลางปี 2564
          หากวัคซีนของทั้งสองบริษัทผ่านความเห็นชอบว่ามีประสิทธิภาพและปลอดภัย ออสเตรเลียก็จะสามารถได้รับวัคซีนเกือบ 85 ล้านโดส ในวงเงิน 1,700 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย หรือราว 39,000 ล้านบาท


pageview  1205090    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved