HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 27/08/2563 ]
หมอศิริราชเตือนโควิดเฟสใหม่หวั่นแพคเกจจิ้งจากนอกมีเชื้อครม.เคาะ1พันล้านผลิตวัคซีน

  'หมอศิริราช'หวั่นแพคเกจจิ้งสินค้าจากต่างประเทศอาจเป็น ตัวแพร่เชื้อโควิด ย้ำองค์การอนามัยโลกเตือนเอเชียแปซิฟิก คนอายุน้อยกว่า 40 ปี ส่อเป็นคนแพร่เชื้อ
          'นพ.ประสิทธิ์'เตือนโควิดเฟสใหม่
          เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม ที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า องค์การอนามัยโลกออกคำเตือน เมื่อวันที่ 19 มิถุนายนว่า โลกกำลังเข้าสู่ยุคการเปลี่ยนแปลงที่เรียกว่า New and Dangerous Phase เนื่องจากมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 และจำนวนผู้ป่วยที่เสียชีวิตเพิ่มสูงขึ้น และเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม ก็ประกาศเตือนภูมิภาคเอเซียแปซิฟิกว่าปัจจัยการระบาดที่สำคัญเกิดขึ้นกับผู้มีอายุน้อยกว่า 50 ปี และจะนำไปสู่เฟสใหม่ของการแพร่ระบาด
          ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าวว่า องค์การอนามัยโลกระบุว่า สิ่งที่เราต้องติดตาม ไม่ใช่เพียงกลับมาแพร่ระบาดใหม่ แต่เป็นสัญญาณว่ากำลังจะเข้าสู่ยุคใหม่ของการแพร่ระบาดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เช่น ออสเตรเลีย ที่เมื่อ 2 เดือนก่อน เคยได้รับยกย่องว่าควบคุมการระบาดได้ดี กลับพบการระบาดใหม่ที่รัฐวิกตอเรีย และเพิ่มมากถึง 723 ราย โดยรัฐบาลได้ประกาศปิดเมือง รวมถึงฮ่องกง และเวียดนามด้วย
          หวั่นอายุต่ำกว่า40ปีแพร่เชื้อ
          ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าวว่า เหตุผลที่องค์การอนามัยโลกประกาศเตือนภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เนื่องจากข้อมูลพบว่า ญี่ปุ่น ผู้ป่วย 2 ใน 3 มีอายุต่ำกว่า 40 ปี ฟิลิปปินส์ และออสเตรเลีย ที่ระบาดระลอกใหม่ มีผู้ป่วยกว่าครึ่งที่อายุน้อยกว่า 40 ปี เหตุผลสำคัญคือมาตรการผ่อนคลายเพื่อเศรษฐกิจ ผู้ที่เข้าร่วมกิจกรรมเป็นคนในกลุ่มนี้ เช่น การเข้าห้างสรรพสินค้า อาจเกิดการติดเชื้อในพื้นที่ เมื่อกลับเข้าบ้านก็นำเชื้อถ่ายทอดสู่คนในครอบครัว และคนในกลุ่มที่อายุน้อยกว่า 40 ปีบ่อยครั้งไม่มีอาการ หรืออาการน้อย การ กลายพันธุ์ของไวรัสที่ติดเชื้อง่ายขึ้น แต่ไม่มีหลักฐานว่ามีความรุนแรงมากขึ้น แต่การติดเชื้อที่มากขึ้น ส่งผลให้คนกลุ่มนี้รับเชื้อและแพร่ไปสู่ผู้อื่นหรือกลุ่มเสี่ยงที่มีอัตราการป่วยที่รุนแรง ไปจนถึงการเสียชีวิตได้
          ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าวว่า ตัวอย่างของประเทศที่การระบาดระลอกใหม่รุนแรงกว่าระลอกแรก คือ ญี่ปุ่น เนื่องจากรัฐบาลให้อำนาจแต่ละจังหวัดในการควบคุมโรค รวมถึงจำนวนการตรวจเชื้อโควิด-19 เมื่อเทียบกับจำนวนประชากร 1 ล้านคน พบว่าการตรวจไม่สูงมาก ส่วนประเทศไทย ข้อมูลเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม มีการตรวจสูงถึง 12,500 ตัวอย่างต่อประชากร 1 ล้านคน ถือว่าสูง แต่อยู่ในระดับ 4-5 ของประเทศอาเซียน
          ชี้แพคเกจจิ้งจากนอกแพร่เชื้อ
          "เดือนที่แล้วเกาหลีใต้เจอคลัสเตอร์หนึ่ง มาจากธุรกิจจัดส่งของไปตามบ้าน และเกิดการแพร่กระจายจากตรงนั้น และเริ่มแพร่กระจายออกไปนอกพื้นที่ ยังมีอีกหลายเรื่องที่จนถึงวันนี้ เรายังไม่รู้ ในบางประเทศที่ควบคุมได้ดี อยู่ๆ ก็เกิดการระบาดขึ้น ไม่รู้ว่าเชื้อมาจากไหน บางแห่งรู้ว่ามาจากผู้เดินทางจากต่างประเทศเข้ามาในประเทศ เนื่องจากควบคุมได้ไม่ดี แต่บางประเทศยังตอบตรงนี้ไม่ได้ ก็มีการคุยกันเยอะ เช่น ของที่อิมพอร์ตนำเข้ามา แพคเกจจิ้งต่างๆ มีโอกาสเป็นไปได้ และผมก็เชื่อว่ามีโอกาสเป็นไปได้จริงๆ" ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าว
          ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าวว่า ประเทศไทยทำได้ดีในการระบาดรอบแรก แต่ประเทศโดยรอบยังมีการติดเชื้อที่สูงและมีโอกาสที่จะข้ามผ่านพรมแดนเข้ามาในประเทศไทย รวมถึงโอกาสในของที่ถูกอิมพอร์ตเข้ามาในประเทศ ซึ่งบอกว่าไม่ได้ว่าจริงหรือไม่ แต่ในประเทศจีนเชื่อว่ามีส่วนหนึ่งคือ แพคเกจจิ้งเป็นการนำเชื้อเข้าสู่ประเทศ ดังนั้นเป็นอีกอย่างที่ต้องระวัง อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยขณะนี้ยังทำได้ดี อัตราการเสียชีวิตต่ำมาก
          "การวิเคราะห์ประเทศไทย มีโอกาสสูงในการระบาดรอบใหม่ แต่หากเป็นการติดเชื้อโดยไม่แพร่ระบาดหรือแพร่ระบาดในวงจำกัด และรีบควบคุมทันที เป็นสิ่งที่ไทยรับมือได้ เศรษฐกิจยังไปต่อได้ แต่ไม่ใช่หน้าที่ของรัฐบาลอย่างเดียว ทุกคนจะต้องช่วยกัน คือรักษาระยะห่างทางสังคม ล้างมือ สวมหน้ากากป้องกันโรค สิ่งที่ไม่อยากให้เกิดคือ การระบาดที่ใกล้เคียงกับระลอกแรก เพราะเศรษฐกิจจะฟื้นตัวช้า คนจะเครียดมากขึ้น" ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าว
          ครม.ทุ่ม1พันล.ลงทุนผลิตวัคซีน
          ที่โรงแรมสตาร์ คอนเวนชั่น จ.ระยอง นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ครม. อนุมัติงบประมาณ 1 พันล้านบาท ลงทุนผลิตวัคซีน โดยแบ่งเป็น 3 ส่วนคือ 1.ส่วนที่ดำเนินการเองได้ ทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่กำลังดำเนินการผลิต 2.ร่วมกับมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด โดยทำข้อตกลงเพื่อให้จัดสรรโควต้า เมื่อได้วัคซีนต้นแบบแล้ว อาจมีเงื่อนไขว่าให้เขาจำหน่ายให้เราในราคาต้นทุน และ 3.ไทยผลิตเองโดยใช้งบประมาณไม่มาก โดยมีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นผู้ส่งเสริม
          "ทั้ง 3 ส่วนดังกล่าวสามารถดำเนินการไปได้ ส่วนไหนสามารทำได้ก่อนให้ดำเนินการ ซึ่งในส่วนของไทยที่จะผลิตเองนั้น จะทำให้ไทยมีวัคซีนได้เร็วสุดปลายปีนี้ ช้าสุดกลางปี 2564 และส่วนที่จะร่วมกับต่างประเทศ เชื่อว่าจะดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว" นายสาธิตกล่าว
          นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ครม.เห็นชอบให้ขยายเวลาประกาศใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ในเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรอีก 1 เดือนตั้งแต่วันที่ 1-30 กันยายน 2563
          ไทยพบป่วยใหม่5รายมาจากตปท.
          เฟซบุ๊กศูนย์ข้อมูล COVID-19 รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ในประเทศไทย ว่า มีผู้ป่วยรายใหม่ 5 ราย เป็นผู้เดินทางจากต่างประเทศและเข้าสถานกักกันโรค ยอดผู้ป่วยยืนยันสะสม 3,402 ราย ติดเชื้อในประเทศ 2,444 ราย และอยู่ในสถานกักกันโรคของรัฐ 465 ราย รักษาหายป่วยแล้ว 3,229 ราย ยังรักษาอยู่ในโรงพยาบาล (รพ.) 115 ราย เสียชีวิตสะสม 58 ราย
          ทั้งนี้ ผู้ติดเชื้อรายใหม่ 5 รายเดินทางมาจากต่างประเทศ 1.โอมาน 1 ราย เป็นหญิงไทย อายุ 26 ปี อาชีพธุรกิจส่วนตัว เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม เดินทางถึงไทย เข้าพักในสถานกักกันโรคของรัฐ ใน จ.ชลบุรี เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม ตรวจหาเชื้อครั้งที่ 2 ผลตรวจพบเชื้อ โดยไม่มีอาการ 2.ตุรกี 1 ราย เป็นหญิงไทย อายุ 47 ปี อาชีพพนักงานสปา เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม เดินทางถึงไทย เข้าพักในสถานกักกันโรคของรัฐในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม ตรวจหาเชื้อครั้งที่ 2 ผลตรวจพบเชื้อ โดยไม่มีอาการ
          3.อินโดนีเซีย 2 ราย เป็นชายไทย อายุ 27 ปี และหญิงไทย อายุ 20 ปี อาชีพนักศึกษา เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม เดินทางถึงไทย เข้าพักในสถานกักกันโรคของรัฐ ใน จ.ชลบุรี เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม ตรวจหาเชื้อครั้งที่ 1 ผลตรวจพบเชื้อ โดยทั้งหมดไม่มีอาการ 4.สหรัฐอเมริกา 1 ราย เป็นชายไทย อายุ 46 ปี อาชีพรับจ้าง เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม เดินทางถึงไทย โดยเมื่อผ่านการคัดกรองที่ด่านควบคุมโรค ให้ประวัติว่าเคยป่วยเป็นโควิด-19 จึงทำการตรวจเชื้อเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม ผลตรวจพบเชื้อ โดยไม่มีอาการ


pageview  1205021    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved