HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 03/09/2563 ]
เตือน เห็บกัด อันตรายถึงตาย

 เมื่อวันที่ 1 กันยายน นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า จากกรณีการเสนอข่าวเด็กหญิงชั้นประถมปีที่ 2 ใน จ.สระบุรี พบเห็บทั้งตัวเล็กและตัวใหญ่ จำนวนมาก อัดแน่นภายในรูหูของเด็ก และเกาะดูดเลือดที่หนังศีรษะและภายในรูหู ทำให้เด็กมีอาการปวด คัน ในเบื้องต้นทางโรงเรียนได้นำเด็กส่งให้แพทย์นำเห็บภายในหูออกแล้ว จากข้อมูลดังกล่าวพบว่า เห็บมักอาศัยอยู่บริเวณต้นหญ้าสูงๆ หรือเกาะอยู่กับสัตว์เลี้ยง เช่น สุนัขหรือแมว ผู้ที่ถูกเห็บกัดมักไม่มีอาการเจ็บ เนื่องจากในน้ำลายของเห็บประกอบด้วยสารที่ทำให้เกิดอาการชาเฉพาะที่ ทำให้ผู้ป่วยไม่รู้ตัวว่าถูกกัด ผิวหนังบริเวณที่ถูกกัดพบเป็นตุ่มนูนบวมแดง ในบางรายที่เกิดอาการแพ้อาจพบว่ามีไข้ หรือผื่นคันชนิดลมพิษ
          ด้าน พญ.มิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กล่าวว่า การรักษาทำได้โดยคีบเอาเห็บออก โดยใช้แหนบคีบที่ส่วนหัวของเห็บแล้วค่อยดึงขึ้นตรงๆ อย่างนุ่มนวล แต่ต้องระวังอย่าคีบบริเวณลำตัวหรือท้องของเห็บ และไม่บิดคีมขณะที่กำลังคีบเพราะจะทำให้ส่วนปากของเห็บยังคงค้างอยู่ในผิวหนัง ทำให้เกิดเป็นปฏิกิริยาเฉพาะที่แบบเรื้อรังตามมาได้ หลังจากเอาตัวเห็บออกไปได้แล้วสามารถรักษาอาการผิวหนังบวมแดงได้ด้วยยาทาลดการอักเสบ ในบางรายที่บวมแดงมากแพทย์อาจพิจารณาใช้การฉีดยาใต้ผิวหนังเพื่อลดอาการ
          "โดยทั่วไป อาการที่เกิดจากเห็บกัด มักเป็นเพียงอาการเฉพาะที่ แต่มีผู้ป่วยส่วนน้อยที่เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงหลังถูกเห็บบางชนิดกัด คือ การเกิดอัมพาตจากการถูกเห็บกัด เริ่มแรกผู้ป่วยจะมีอาการปวดหัว ปวดเมื่อยตามตัว จากนั้นในระยะเวลาไม่นานจะเกิดเป็นอัมพาต ซึ่งภาวะนี้อาจนำไปสู่ภาวะระบบหายใจล้มเหลวที่เป็นอันตรายถึงชีวิตได้ อาการเป็นอัมพาตจากการถูกเห็บกัดนี้ มักเกิดภายในระยะเวลา 4-6 วัน หลังโดนกัด อย่างไรก็ดี ภาวะนี้จะดีขึ้นได้อย่างรวดเร็วเมื่อคีบเอาเห็บออกจากผิวหนังของผู้ป่วย" พญ.มิ่งขวัญกล่าว


pageview  1205127    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved