HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 22/07/2563 ]
รัฐเพิ่มวงเงิน เราเที่ยวด้วยกัน

กู้1ล้านล้านอุ้มเยียวยา
          คนไทยเฮถ้วนหน้า ครม. เคาะเพิ่มวงเงิน โครงการ"เราเที่ยวด้วยกัน" ใช้กิน-เที่ยว จากวันละ 600 บาท พุ่งเป็นวันละ 900 บาท ขีดเส้นต้องเที่ยววันธรรมดาเท่านั้น แถมให้ใช้ซื้อสินค้าโอทอปได้ด้วย พร้อมไฟเขียวเงินกู้ 1 ล้านล้าน ช่วยเยียวยาตกหล่น 5.9 หมื่นคน กลุ่มลูกจ้างประกันสังคม จ่ายสมทบไม่ถึง 6 เดือน ให้ได้รับเงิน 1.5 หมื่น "บิ๊กตู่" สั่งเชือด โรงแรมฉวยโอกาสอัพราคาออกจากโครงการทันควัน
          เมื่อวันที่ 21 ก.ค. ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม กล่าวถึงกรณีโรงแรมที่ร่วมโครงการ "เราเที่ยวด้วยกัน" ฉวยโอกาสขึ้นราคาห้องพัก ว่าได้สั่งการไปแล้ว พร้อมหารือกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาให้ไปตรวจสอบ หากพบว่าโรงแรมไหนที่ขึ้นบัญชีไว้กับรัฐบาลแล้ว แต่ไปขึ้นราคามากกว่าที่ตกลงกันไว้ จะขึ้นบัญชีแบล็กลิสต์  อีกทั้งวันนี้มีผ่อนคลายไปยังโรงแรมอื่น ๆ เพิ่มเติมอีกด้วย เพราะตนได้ให้ความสำคัญกับโรงแรมขนาดเล็กที่มีห้องพักต่าง ๆ ให้บริการ จึงให้เพิ่มจาก 600 แห่งเป็น 900 แห่ง เพราะหากว่าทำไม่ดีจะไม่ส่งผลดีกับโรงแรมและธุรกิจของผู้ประกอบการ
          พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกันตนต้องการให้มีการท่องเที่ยวในเมืองรอง และอยากให้มีวันท่องเที่ยวในวันราชการให้มากขึ้น ในส่วนที่เพิ่มให้ 900 บาทไปจองที่พัก ก่อนหน้านี้ได้หารือกับผู้ประกอบการไปแล้วว่าราคาควรเป็นอย่างไร แต่บางโรงแรมฉวยโอกาสเมื่อมีคนไปพักจำนวนมาก ขณะที่รัฐบาลจำเป็นต้องบริหารคนจำนวนมากหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง แน่นอนจะมีคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย และเป็นเรื่องธรรมดาตนไม่ได้ถือสาอะไร ขณะที่วันหยุดชดเชยวันสงกรานต์ที่เหลืออีก  2 วัน จะมีพิจารณาอีกครั้งโดยจะหาจังหวะที่เหมาะสม และพยายามจะให้เป็นวันหยุดติดต่อกัน เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในภาคธุรกิจเอกชนได้เดินหน้าไปได้ด้วย
          จากนั้น น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ แถลงว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบให้ขยายวงเงินในโครงการเราเที่ยวด้วยกัน ในส่วนของบัตรกำนัลอิเล็กทรอ นิกส์ (อี-เวาเชอร์) วันละ 600 บาทต่อ ห้อง โดยให้สามารถใช้ซื้อสินค้าในร้านค้าตามโครงการโอทอปได้และยังเพิ่มวงเงินจากวันละ 600 บาทต่อห้องไปใช้เป็นค่าอาหาร และค่าเข้าชมสถานที่ท่องเที่ยวเป็นวันละ 900 บาทต่อห้อง แต่มีเงื่อนไขใช้ได้เฉพาะการไปเที่ยวใน วันธรรมดาเท่านั้น การเพิ่มวงเงินครั้งนี้จะมีผลทันทีโดยที่ไม่ได้อนุมัติวงเงินเพิ่มเติม เพราะจะใช้วงเงินที่เหลือจากโครงการไปดำเนินการ
          ทั้งนี้ที่ประชุม ครม. ยังได้รับทราบรายงานจากเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ถึงกรณีบางโรงแรมเพิ่มราคาค่าห้องพัก โดยจะไปตรวจสอบและหากพบว่าเป็นรายใดจะถูกตัดออกจากโครงการทันที พร้อมกันนี้ยังขยายผู้ประกอบธุรกิจที่พักเข้าร่วมโครงการได้ ทั้งโรงแรมและโฮมสเตย์ที่ใบอนุญาตหมดอายุก่อนวันที่ 1 ม.ค. และได้ยื่นขอต่อใบอนุญาตแล้ว รวมทั้งกลุ่มที่ยังไม่ยื่นขอต่อใบอนุญาต และให้กลุ่มผู้ประกอบธุรกิจที่พักอื่น ๆ ที่อยู่ในระบบฐานภาษีของกรมสรรพากร ให้เข้ามาร่วมโครงการได้
          ด้าน น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ แถลงเพิ่มเติมว่า ครม. ยังอนุมัติโครงการชดเชยรายได้ให้กับลูกจ้าง เป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่ส่งเงินสมทบไม่ครบ 6 เดือน ภายใน 15 เดือน รวม 59,776 คน ให้ได้รับเงินเยียวยาเดือนละ 5,000 บาทเป็นเวลา 3 เดือน มิ.ย.-ส.ค. เป็นเงิน 15,000 บาท โดยจ่ายเพียงครั้งเดียว ใช้เงินจากเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ภายใต้แผนการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 วงเงินรวม 896.64 ล้านบาท ขณะเดียวกัน ครม. ยังอนุมัติให้ทำโครงการภายใต้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ภายใต้กรอบวงเงิน 4 แสนล้านบาท เพิ่มเติม 3 โครงการ รวมวงเงิน 4,029 ล้านบาท หลังผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้แล้ว 1.โครงการอาสาสมัครบริบาลท้องถิ่นเพื่อดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง ของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น วงเงินไม่เกิน 1,080.59 ล้านบาท ระหว่างเดือน ก.ค. 63-ก.ย. 64 คาดจะช่วยเพิ่มรายได้ให้ประชาชน 932.88 ล้านบาท เพิ่มการจ้างงาน 15,548 คน และเกิดนักบริบาลที่เป็นอาชีพใหม่ในท้องถิ่น 15,548 คน
          2.อนุมัติโครงการพัฒนาตำบลแบบบูรณาการของกรมการปกครอง วงเงินไม่เกิน 2,701.87 ล้านบาท วัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้เกิดการจ้างงานในทุกตำบล ตำบลละ 2 คน ทั่วประเทศ 14,510 คน เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจมูลค่ากว่า 2,701.87 ล้านบาท กระจายลงพื้นที่ ระหว่างเดือน ส.ค. 63-ก.ย. 64 3.อนุมัติโครงการเฝ้าระวังสร้างแนวกันไฟ สร้างรายได้ชุมชน ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช วงเงินไม่เกิน 246.69 ล้านบาท เพื่อส่งเสริมให้เกิดการจ้างงานและสร้างรายได้ให้กับชุมชนในพื้นที่ 9,137 คน โดยได้รับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามมาตรฐานกรมบัญชีกลาง 300 บาทต่อวัน เฉลี่ย 30 วันต่อเดือนต่อคน ระหว่างเดือน ก.ค. 63-พ.ค. 64 นอกจากนี้ยังเห็นชอบโครงการภายใต้วงเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ภาย  ใต้แผนงานด้านสาธารณสุข ซึ่งเป็นของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ 3 โครงการ วงเงิน 101 ล้านบาท คือ โครงการพัฒนาศักยภาพของการผลิตและการควบคุมคุณภาพวัคซีนและยาชีววัตถุสำหรับ โควิด-19ของประเทศวงเงิน 48 ล้านบาท โครงการ พัฒนาศักยภาพห้องปฏิบัติการทดสอบผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อโรค วงเงิน 2 ล้านบาท และโครงการพัฒนาเครื่องมือแพทย์ในการป้องกันและการตรวจโรคติดเชื้อโควิด-19 วงเงิน 50 ล้านบาท
          อีกด้าน นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวถึงความคืบหน้าการขึ้นและปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรกลุ่ม 3 เพื่อรับเงินเยียวยาตามที่ ครม. เห็นชอบโครงการช่วยเหลือเกษตรกร กรณีที่ได้รับผล กระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป้าหมายไม่เกิน 10 ล้านราย  ว่า เกษตรกรกลุ่ม 3 แจ้งความจำนงเพาะปลูกในการขึ้นและปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรต่อกรมส่งเสริมการเกษตรก่อนวันที่ 15 พ.ค. และปลูกพืชจริงก่อนวันที่ 30 มิ.ย. ตรวจสอบเรียบร้อยแล้วมี 74,131 ราย ขณะนี้ส่งรายชื่อให้สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) จัดส่งไปยังกระทรวงการคลังตรวจสอบความซ้ำซ้อนกับโครงการอื่น ๆ เพื่อไม่ให้ซ้ำซ้อนการรับความช่วยเหลือ โดยกลุ่มนี้จะได้รับการโอนเงิน 3 งวด รวมกันครั้งเดียว 15,000 บาท คาดว่าจะโอนได้ต้นเดือน ส.ค. ส่วนช่องทางการตรวจสอบสิทธิตรวจสอบได้ทางเว็บไซต์ "www.moac.go.th" แอพพลิเคชั่น "FARMBOOK" และแอพพลิเคชั่น "เกษตรดิจิทัล".


pageview  1205106    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved