HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 12/06/2563 ]
เผยอายุ15-24ปี การ์ดตกสุด แนะพกหน้ากากอนามัย ปัจจัยที่6

  ผลสำรวจ DDC Poll พบว่า ระหว่างการผ่อนปรนระยะ 3 แม้คนไทยส่วนใหญ่จะยังคงให้ความร่วมมือดีในเรื่องการสวมหน้ากากอนามัย แต่ยังพบว่าในกลุ่มอายุ 15 - 24 ปี สวมหน้ากากอนามัยเพียง 79.13% อาจเนื่องจากเห็นว่าสถานการณ์ดีขึ้น ดังนั้น การใส่หน้ากาก 100% ยังคงสำคัญ ถือเป็นปัจจัยที่ 6 ในการดำเนินชีวิต ถัดจากสมาร์ทโฟน
          กรุงเทพธุรกิจ ในงานแถลงข่าว สถานการณ์โควิด-19 วานนี้(11มิย.) นายแพทย์อนุพงศ์ สุจริยากุล ผู้ทรงคุณวุฒิกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เปิดเผยผลสำรวจทัศนคติ ความเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการสวมหน้ากากอนามัยและการล้างมือ จัดทำโดย สำนักสื่อสารความเสี่ยง และพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ (ดีดีซีโพล - DDC Poll) กรมควบคุมโรค สำรวจผ่านทางระบบออนไลน์ (Google Form) ครั้งที่ 8 ระหว่างวันที่ 1 -6 มิถุนายน โดยมีผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด 1,286 คน
          การสำรวจพบว่า กลุ่มตัวอย่างมีพฤติกรรมการสวมหน้ากากอนามัยเวลา "มีอาการ" ไข้ ไอ เจ็บคอ ส่วนใหญ่สวมหน้ากากอนามัยป้องกันการแพร่เชื้อ 93.1% ขณะที่ การสวมหน้ากากเวลา "ไม่มีอาการ"ไข้ ไอ เจ็บคอ เพื่อป้องกันไม่ให้ได้รับเชื้อ 66.8%
          เมื่อสอบถามว่าจะเลิกสวมหน้ากากอนามัยเมื่อใด พบว่าส่วนใหญ่ยังคงจะสวมหน้ากากอนามัยต่อเนื่องแม้โควิด-19 ผ่อนคลาย 53.5% ถัดมา คือ เลิกสวมเมื่อไม่มีรายงานผู้ป่วยโควิด-19 ในประเทศ 44% เลิกสวมเมื่อไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อจากต่างประเทศ 36.3% เลิกสวมเมื่อรัฐบาลยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 13.6% เลิกสวมเมื่อไม่มีอาการป่วย 10.5% ไม่ทราบ 7.5% เลิกสวมเมื่อคนรอบข้างเริ่มไม่สวมหน้ากาก 4.9% และ ไม่สวมหน้ากาก 0.7%
          เมื่อจำแนกพฤติกรรมการสวมหน้ากากอนามัยตามเพศ พบว่า ไม่สวมเมื่อมีไข้ แบ่งเป็น เพศหญิง 6.1% เพศชาย 11.3% สวมเมื่อมีไข้ เพศหญิง 93.9% เพศชาย 88.7% ไม่สวมเมื่อไม่มีไข้ เพศหญิง 30.6% เพศชาย 39.9% และสวมเมื่อไม่มีไข้ เพศหญิง 69.4% และ เพศชาย 60.1%
          เมื่อจำแนกพฤติกรรมการสวมหน้ากากอนามัยตามช่วงอายุ พบว่า อายุ กลุ่มอายุ 15 - 24 ปี สวมน้อยที่สุด 79.13% กลุ่ม 25-34 ปี 91.43% กลุ่มอายุ 35 - 44 ปี 91.79% กลุ่มอายุ 45 - 54 ปี 95.17% กลุ่มอายุ 55-64 ปี 93.01% และ 65 ปีขึ้นไป 97.22%
          ในส่วนของการล้างมือด้วยน้ำสบู่ ส่วนใหญ่กว่า 90.5% ล้างมือหลังเข้าห้องน้ำ และ ก่อน - หลัง รับประทานอาหาร ถัดมา คือ หลังสัมผัสลูกบิดประตู/ราวบันได หลังไอจาม และ ก่อน- หลังการปรุงอาหาร
          สำหรับผลสรุปการสำรวจทัศนคติ ของประชาชนพบว่า ประชาชนมีแนวโน้มการสวมหน้ากากลดลง กลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสสัมผัสโรค ได้แก่ เพศชาย อายุ 15 - 24 ปี เนื่องจากอาจจะเห็นว่าสถานการณ์ ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม การสำรวจเหล่านี้เป็นเพียงช่วงเดียว เราอาจไม่สรุปว่า เยาวชนไม่ให้ความร่วมมือเลย แต่ต้องทำความเข้าใจให้เข้าใจว่า การติดเชื้อในประเทศเป็นศูนย์ ไม่ได้หมายความว่าไทยปลอดเชื้อ 100% การติดเชื้อไม่แสดงอาการยังเป็นไปได้อยู่ สิ่งสำคัญคือ ช่วงเปิดเรียน ต้องใส่หน้ากากอนามัยเพื่อความปลอดภัย ทั้งครู และนักเรียน
          ดังนั้น การคงมาตรการรณรงค์สวมหน้ากาก 100% แม้ไม่มีอาการป่วย จะช่วยสนับสนุนให้ประชาชนสวมหน้ากาก โดยเฉพาะเมื่อออกไปในสถานที่สาธารณะ หรืออยู่ร่วมกับผู้อื่น การรณรงค์จากทางราชการ การให้ความร่วมมือจากผู้ประกอบการ และประชาชน ยังสำคัญต้องสู้กับ โควิด-19 อาจจะ 1 - 2 ปี จนกว่าจะมีวัคซีน การที่ต้องป้องกันตนเองให้มาก โดยเฉพาะการใส่หน้ากากอนามัยเป็นเรื่องสำคัญ ถือเป็นปัจจัยที่ 6 (รองจากปัจจัยที่ 5 สมาร์ทโฟน) "ขณะเดียวกัน เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่องค์การอนามัยโลก เห็นด้วยกับการใส่หน้ากากอนามัยในที่สาธารณะ แม้จะช้าแต่สุดท้ายก็เห็นตัวอย่างดีๆ ที่เกิดขึ้น จนกระทั่งมีการศึกษาวิจัยว่าการสวมหน้ากากอนามัยมีประโยชน์"
          นายแพทย์อนุพงศ์ กล่าวต่อไปว่า แม้จะเข้าสู่วันที่ 17 ที่การติดเชื้อในประเทศเป็นศูนย์ แต่การ์ดตกไม่ได้ ยังคงมีประชาชนไทยที่ต่างประเทศทยอยกลับมาเรื่อยๆ ในวันนี้ผู้ติดเชื้อ ใน State Quarantine ยังศูนย์ เนื่องจากเป็นกลุ่มที่เดินทางมาจากประเทศที่ความเสี่ยงต่ำ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ทำให้ตรวจไม่เจอเชื้อ
          แต่หลังจากนี้ เมื่อไหร่ก็ตามที่ยังมีพี่น้องชาวไทยกลับมาจากตะวันออกกลาง อเมริกา อเมริกาใต้ หรือพื้นที่ระบาดสูง เมื่อนั้นความเสี่ยงก็ยังพบผู้ติดใน State Quarantine ได้อีก แต่ก็ขอให้ความมั่นใจว่าเรามีการกักตัวทุกคน 14 วัน มีมาตรการเข้มข้น ตรวจเชื้อ 2 ครั้ง เพื่อความปลอดภัย ไม่มีการแพร่เชื้อในชุมชน และขอให้อย่าการ์ดตก
          ต่อไปอาจมีการเปิดกิจกรรมระยะที่ 4 การเปิดหลายกิจการ การเปิดน่านฟ้า การส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ จากประสบการณ์ในประเทศเวียดนาม พบว่า เวียดนามสามารถควบคุมโรคในภูมิภาคนี้ได้อย่างดี และปลอดเชื้อเกือบจะ 50 กว่าวัน แต่ยังไม่ทิ้งเรื่องการใส่หน้ากากอนามัย ยังคุมเข้ม และไม่เปิดประเทศโดยเฉพาะทางอากาศ ให้ความป้องกันในระดับสูง
          "หากดูภายนอกจะเห็นว่า ยุโรป ยังทรงตัว ด้านตะวันออกกลางยังเป็นพื้นที่ระบาด อเมริกา อเมริกาใต้ ยังไว้ใจไม่ได้ ดังนั้น เราอย่าพึ่งวางใจ"
          ขณะเดียวกัน ผู้ที่อยู่ใน State Quarantine ทุกคนที่เข้ามาต้องถูกตรวจเชื้อในระหว่าง 14 วัน และอยู่ห้องละ 1 คน กรณียกเว้นเพียงเด็กเล็กให้อยู่กับพ่อแม่ ระยะฟักตัวของโรคซึ่ง 14 วัน จากประสบการณ์ประเทศไทยอยู่ที่ 5.7 วัน หลังจาก 14 วัน ถึงจะมีอาการแต่โอกาส น้อยมาก เชื้อโรคเมื่ออยู่ในร่างกาย ระบบภูมิคุ้มกันจะทำการกำจัดเชื้อออกไป ในกรณีที่เชื้อน้อย หากภูมิคุ้มกันแข็งแรงเชื้อจะถูกฆ่าได้ ดังนั้น หลังจากกลับออกไปสู่ชุมชน คนเหล่านี้จะไม่แพร่โรคสู่ชุมชนอย่างแน่นอน
          แนะสวมหน้ากากอนามัย 100%
          กรุงเทพธุรกิจ ผลสำรวจเรื่อง "การป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในระหว่างมาตรการผ่อนปรนระหว่างวันที่ 8 พฤษภาคม - 4 มิถุนายน 2563" โดย กระทรวงสาธารณสุข ภายใต้ MIU ร่วมกับ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานสถิติแห่งชาติ และองค์การอนามัยโลก (WHO) เก็บข้อมูล 3 วิธี คือ ผ่านอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) โดยมีผู้ตอบแบบสอบถาม 143,827 ราย , ผ่านทางระบบออนไลน์ มีผู้ตอบแบบสอบถาม 69,489 ราย และ ผ่านทางโทรศัพท์ โดยนักศึกษาแพทย์รามาฯ 55 คน สัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,882 ราย
          ดร.ภญ.วลัยพร พัชรนฤมล ผู้อำนวยการ กองการต่างประเทศ และสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ กล่าวถึง ผลการสำรวจว่า ประชาชน ส่วนใหญ่ยังคงใส่หน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า ตลอดเวลา 91.5% ถัดมา คือ การล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ 83.9% กินอาหารร้อนและใช้ช้อนกลางของตนเอง
          83.7% ภาพรวมพฤติกรรมป้องกันตนเอง 75.7% ระวังไม่อยู่ใกล้คนอื่นในระยะน้อยกว่า 2 เมตร 66.0% และ ระวังไม่เอามือ จับหน้า จมูก ปาก 58.8%
          ระหว่างวันที่ 29 พ.ค. - 4 มิ.ย.63 การเดินทางออกนอกจังหวัด สูงขึ้น เล็กน้อย โดยเหตุผลหลัก คือ การไปทำงาน หรือ ธุระจำเป็น ในส่วนของการไปสถานที่ต่างๆ ในสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่า ส่วนใหญ่ ไปร้านอาหารแบบนั่งทาน ซูเปอร์มาร์เก็ต ตลาดสด และที่ทำงาน สำหรับ การพบเห็นมาตรการป้องกันโรคของแต่ละสถานที่ ส่วนใหญ่พบว่า มีการจัดให้มีที่ล้างมือ หรือ เจลแอลกอฮอล์ รองลงมาคือ พนักงาน และ ผู้ใช้บริการสวมหน้ากาก มีการวัดอุณหภูมิร่างกาย จัดระยะห่างระหว่างบุคคล และ สุดท้ายคือ การทำความสะอาดเพื่อฆ่าเชื้อในสถานที่และบนพื้นผิวสัมผัส ขณะเดียวกัน การใช้ขนส่งสาธารณะ ยังมีไม่มากนัก มีสัดส่วนน้อยกว่า 20%
          สำหรับ การเดินทางเข้าประเทศทั้งทางบก น้ำ และอากาศ การสำรวจส่วนใหญ่ให้ความเห็นว่า อนุญาตให้คนไทยเดินทางเข้าประเทศได้ตามปกติ แต่ต้องมีการคัดกรองและ กักตัว 14 วัน ในสถานที่ควบคุม ของภาครัฐ ด้าน ชาวต่างชาติ มากกว่า 60% คิดว่าไม่ควรอนุญาตให้ชาวต่างชาติ เดินทางเข้ามาในประเทศ และ มีน้อยกว่า 1% ที่คิดว่าควรให้คนไทยและชาวต่างชาติเดินทางเข้าไทย ได้โดยไม่ต้องคัดกรอง และกักตัว 14 วัน
          "จากการสำรวจ ได้ข้อสรุปว่า ประชาชนยังปฏิบัติมาตรการป้องกันตนเองได้ดีพอสมควร แต่ขอให้ดีเพิ่มขึ้น เช่น การสวมหน้ากากอนามัย 100% ในส่วนประเด็นที่พบเห็นมาตรการป้องกันโรคในสถานที่ต่างๆ ยังทำ ไม่เต็มที่ 100% ขอให้ช่วยกัน" ดร.ภญ.วลัยพร กล่าว


pageview  1204962    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved