HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 22/05/2563 ]
ลุ้น1มิย.เปิดเฟส3 ชงปรับลดเคอร์ฟิว

  เที่ยงคืนถึงตี4-ยืดพรก.ฉุกเฉินเล็งปล่อยข้ามจว.เที่ยวชุมชนบิ๊กตู่ห่วงระบาดช่วงเปิดเทอมสธ.รู้กลุ่มเสี่ยงติดเชื้อลุงวัย72 ไร้ป่วยไม่มีตาย-อยู่รพ.71คน'บิ๊กตู่'ห่วงเปิดเทอม ติดเชื้อเพิ่มซ้ำรอยเกาหลี รมว.ศธ.เผยโรงเรียนประจำเริ่มเปิด 1 มิ.ย.นี้ สธ.ส่งทีมระบาดวิทยาตรวจสอบร้านตัดผมย่านประชาชื่น เตรียมเปิด ไทม์ไลน์ให้ไปตรวจหาเชื้อ เล็งชงลดเคอร์ฟิวเที่ยงคืนถึงตี 4 แต่ยืดใช้ พ.ร.ก. อีก 1 เดือน
          'บิ๊กตู่'ถกศบค.ยืดกม.ฉุกเฉิน
          เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. ชุดใหญ่ โดย พล.อ.ประยุทธ์กล่าวก่อนการประชุมว่า ขณะนี้ ทุกคนเริ่มเข้าใจถึงการใช้ชีวิตแบบปกติใหม่ หรือ นิวนอร์มอล รู้จักเสียสละ และช่วยสนับสนุนข้าวของช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานที่ได้รับผลกระทบ นอกเหนือจากระเบียบราชการที่ให้การช่วยเหลือ รัฐบาลกำลังพิจารณาเพิ่มเติมอยู่ ขอชื่นชมการปฏิบัติหน้าที่ของทุกคนจนได้รับความชื่นชมจากหลายประเทศ
          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อย่างไรก็ตาม การประชุมวันเดียวกัน เป็นการรับทราบรายงานสถานการณ์โควิด-19 หลังผ่อนคลายในระยะ 2 และการพิจารณาข้อเสนอของสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ให้ขยายเวลาการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินออกไปอีก 1 เดือนให้ครอบคลุมเดือนมิถุนายน ตามที่ พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะหัวหน้าสำนักงานประสานงานกลาง ศบค.เสนอ เพื่อเป็นเครื่องมือในการควบคุมการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก่อนการคลายล็อกระยะ 3 และระยะ 4 ทั้งนี้การประชุม ศบค.ชุดใหญ่ ใช้เวลาหารือเพียง 1 ชั่วโมงเท่านั้น โดยที่ประชุมยังไม่ได้มีการพูดถึงเรื่องของมาตรการในระยะที่ 3 และเรื่องของเวลาเคอร์ฟิว
          ไร้ค้านพ.ร.ก.ฉุกเฉินถึง30มิ.ย.
          จากนั้นนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบตามที่เลขาฯ สมช.เสนอให้มีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินไปจนถึงวันที่ 30 มิถุนายนนี้ โดยไม่มีใครเห็นแย้ง ส่วนการขยายใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินไปอีก 1 เดือนจนถึง 30 มิถุนายนนี้ จะส่งผลต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจหรือไม่นั้น ยังต้องมีความพยายามอย่างเต็มที่ เพราะขณะนี้ประชาชนทุกคนลำบาก และสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นกันทั่วโลก
          นายสมคิดกล่าวว่า สำหรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศขณะนี้นั้น รัฐบาลได้วางแผนงานและโครงการไว้แล้วโดยมีการตั้งคณะกรรมการกลั่นกรอง จะมีการแถลงข่าวในรายละเอียดต่างๆ เร็วๆ นี้ ผู้สื่อข่าวถามว่า การตั้งข้อสังเกตว่าเศรษฐกิจประเทศจะซบเซาไปอีก 6 เดือน มีสัญญาณดีขึ้นบ้างหรือไม่ นายสมคิดกล่าวย้ำว่า "อย่าประมาทครับ อย่าประมาท"
          ด้าน นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในด้านสาธารณสุขการขยาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินไปอีก 1 เดือน จะช่วยควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้
          นำร่องเปิดร.ร.ประจำ1มิ.ย.
          นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุม ศบค.ว่า ที่ประชุม ศบค.เห็นชอบตามที่เลขาฯ สมช.เสนอต่ออายุเคอร์ฟิวไปอีก 1 เดือน ถึงวันที่ 30 มิถุนายนนี้ จะเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 26 พฤษภาคม ส่วนการผ่อนปรนมาตรการระยะที่ 3 นั้น เลขาฯ สมช.จัดประชุมในสัปดาห์หน้าประมาณวันที่ 27-28 พฤษภาคม ในที่ประชุมนายกฯแสดงความเป็นห่วงเรื่องการเปิดเทอมของโรงเรียน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้รายงานในที่ประชุมว่าจะมีโรงเรียนลักษณะโรงเรียนประจำ และโรงเรียนนานาชาติ เช่น โรงเรียนจุฬาภรณ์ราชวิทยาลัย จะมีมาตรการและจะทดลองเปิดก่อนในวันที่ 1 มิถุนายนนี้ ส่วนวันเปิดเทอมอย่างเป็นทางการที่กระทรวงศึกษาธิการขอไว้ก็คือวันที่ 1 กรกฎาคม นายกฯมีความเป็นห่วงภาพรวมเรื่องการดูแลเรื่อง เว้นระยะห่างของเด็ก และสัดส่วนครูต่อนักเรียนเดิม 20:1 ก็จะปรับให้เหลือ 7:1
          นายกฯห่วงซ้ำรอยเกาหลี
          นายอิทธิพลกล่าวว่า สำหรับเรื่อง ศธ.นั้นยังไม่ได้เป็นมติของ ศบค. แต่เป็นการที่นายกฯได้สอบถามรัฐมนตรีว่าการ ศธ.จึงได้รายงานเรื่องการเตรียมความพร้อมและได้รับข้อสังเกตข้อห่วงใยจากนายกฯและ ศบค.ไปดำเนินการ ภาพรวมที่นายกฯได้เอ่ยถึงเรื่องโรงเรียนในที่ประชุม ศบค. เนื่องจากมีความเป็นห่วงเรื่องที่ได้เห็นกรณีตัวอย่างจากเกาหลี ฝรั่งเศส เปิดโรงเรียนแล้วมีการกลับมาแพร่ระบาดของโควิด-19 อีก จึงกลัวว่าอาจจะกลับมาติดได้ ไม่ต้องการให้เกิดความกังวลของผู้ปกครอง เพราะโรงเรียนมีความแตกต่างไปจากกิจการกิจกรรมที่ได้ผ่อนปรนไปแล้ว เด็กจะมีความใกล้ชิดกันในโรงเรียนอย่างมาก
          พอใจคลายล็อกระยะ2
          นายอิทธิพลกล่าวว่า การผ่อนปรนระยะที่ 2 ทุกกระทรวงที่รายงาน ศบค.ได้รับทราบและมีความพอใจ เพราะการฝ่าฝืนมีน้อยมาก และได้ย้ำให้การผ่อนปรนระยะที่ 2 อยู่ในความควบคุมเพื่อนำไปสู่การผ่อนปรนระยะที่ 3 ให้ได้ นายกฯได้มอบหมายให้เลขาฯสมช.ไปพิจารณาผ่อนปรนระยะที่ 3 โดยฝากเรื่องการเดินทางข้ามจังหวัดและเรื่องเศรษฐกิจที่จะมีการเดินทางระหว่างจังหวัด เรื่องการท่องเที่ยวชุมชน ในที่ประชุม ศบค.นายกฯได้ถามหา พญ.พรรณประภา ยงค์ตระกูล หรือหมอบุ๋ม ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้ช่วยโฆษก ศบค. เนื่องจากอยากให้มาสลับแถลงข่าวกับ นพ.ทวีสิน โฆษก ศบค. เพราะเห็นว่าไม่ได้ไปไหนเลยตลอด 7 วัน นายกฯเห็นว่าสถานการณ์รุนแรงอาจลดลงแล้ว จะให้แถลงข่าวโดยระยะเวลากระชับขึ้น มีการแถลงข่าวทุกวัน ส่วนเสาร์-อาทิตย์โฆษก ศบค.หรือรองโฆษก ศบค.จะเป็นผู้แถลงนั้นให้พิจารณาตามความเหมาะสม
          ชงลดเคอร์ฟิวเที่ยงคืนถึงตีสี่
          "ที่ประชุม ศบค.วันนี้ยังไม่ได้มีการเสนอเรื่องการลดเวลาเคอร์ฟิว นายกฯได้มอบให้เลขาฯ สมช.ไปพิจารณาเรื่องการผ่อนปรนระยะที่ 3 โดยบอกว่าให้พิจารณาเรื่องท่องเที่ยวชุมชนให้ด้วย นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ ก็สนับสนุนเพราะเรื่องเศรษฐกิจจะได้ฟื้นฟู อยากผ่อนปรนในประเทศให้ได้มากขึ้น และตั้งตุ๊กตาให้เป็นโจทย์ไปพิจารณา เรื่องลดเวลาเคอร์ฟิวลงอาจเป็นเที่ยงคืนถึงตี 4 เพราะเห็นว่าประชาชนให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี และทางการแพทย์ก็มีความคืบหน้า นายกฯบอกด้วยว่าเรื่องความมั่นคงนั้นไม่ใช่เรื่องความมั่นคงตำรวจทหารเพียงอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องความมั่นคงทางสาธารณสุขด้วย อยากให้ประชาชนเข้าใจในส่วนนี้ด้วย ส่วนประเด็นการผ่อนปรนระยะที่ 3 ให้พิจารณาเรื่องเดินทางข้ามจังหวัด การเข้าพักโรงแรม เปิดห้องพัก เพื่อให้เศรษฐกิจไหลได้" นายอิทธิพลกล่าว
          ไม่พบป่วย-ตาย-รักษารพ.71
          ที่ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล "โควิด-19" ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) แถลงความคืบหน้าของสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19
          นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า สถานการณ์ในประเทศ ไทยไม่พบผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตเพิ่ม ทำให้ยอดผู้เสียเสียชีวิตสะสมในขณะนี้อยู่ที่ 56 รายเท่าเดิม รักษาหายสะสมที่ 2,910 ราย อยู่ในการรักษาที่โรงพยาบาล (รพ.) จำนวน 71 ราย ล่าสุดมีผู้ป่วยยืนยันการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 สะสมอยู่ที่ 3,037 ราย ในจำนวนนี้พบในกรุงเทพมหานคร และ จ.นนทบุรี จำนวน 1,706 ราย ภาคเหนือ 95 ราย ภาคกลาง 393 ราย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 111 ราย ภาคใต้ 729 ราย ผู้ป่วยอายุน้อยสุด 1 เดือน อายุมากสุด 97 ปี โดยเฉลี่ยคืออายุ 39 ปี พบผู้ป่วยมากในอายุ 20-29 ปี
          "แต่ศูนย์รายในวันนี้ ไม่ได้ศูนย์รายแบบเต็มที่ บังเอิญว่าเมื่อคืนมีข่าวออกมาว่าทางสถานที่กักกันรัฐจัดไว้ (state quarantine) แห่งหนึ่ง มีผลรอตรวจอย่างเป็นทางการ จึงทำให้ตัวเลขศูนย์ในวันนี้ยังวงเล็บไว้ 2 รายคือ ผู้เดินทางกลับมาจากอียิปต์และอินเดีย แต่อย่างไรก็ตาม 2 รายนี้ยังเป็นการนำเชื้อเข้าในประเทศ แต่ศูนย์รายยังไม่มีการรายงานในพื้นที่ของประเทศไทย" นพ.ทวีศิลป์กล่าว
          ย้ำเบาใจได้แต่วางใจไม่ได้
          นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า จากการทบทวนจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ ข้อมูล ณ วันที่ 21 พฤษภาคม 2563 เป็นผู้ป่วยรายใหม่ช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ระหว่างวันที่ 8-21 พฤษภาคม จำนวน 45 ราย พบว่า 1.เป็นผู้ป่วยที่เป็นคนไทยเดินทางกลับจากต่างประเทศและเข้ากักกันในสถานที่ที่รัฐจัดไว้ให้ (state quarantine) 15 ราย 2.ผู้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยก่อนหน้านี้ 11 ราย 3.ผู้ป่วยจากการค้นหาเชิงรุกในชุมชน (active case finding) 6 ราย 4.ผู้ป่วยในศูนย์กักกันคนเข้าเมือง 5 ราย 5.ผู้ป่วยที่ไปในสถานที่ชุมชน 5 ราย และ 6.ทำงานอาชีพเสี่ยง เช่น พนักงานขายของ 3 ราย
          "การพบผู้ป่วยศูนย์รายจะทำให้เกิดความชะล่าใจหรือไม่ ใจหนึ่งก็อยากจะดีใจ แต่อีกใจหนึ่งก็ต้องทบทวนข้อมูล พบว่ามีรายงานผู้ป่วย 45 ราย เป็นผู้นำเชื้อเข้าจากต่างประเทศ 15 ราย ถ้ารวมในศูนย์กักอีก 5 ราย ก็จะเป็น 20 ราย เกือบครึ่งหนึ่งของจำนวนทั้งหมด ส่วนจำนวนที่เหลือเป็นผู้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้า การค้นหาเชิงรุกในชุมชน ผู้ป่วยไปอยู่ในที่ชุมชน 25 ราย เป็นเรื่องน่ากังวลใจ เนื่องจากผู้ป่วยสามารถเดินไปเดินมาอยู่ในพื้นที่ของพวกเราที่อยู่ในชีวิตประจำวัน เบาใจได้ แต่วางใจไม่ได้" นพ.ทวีศิลป์กล่าว
          เผยระยะเวลาเช็กติดเชื้อ2เดือน
          นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า การวิเคราะห์ระยะการระบาดของโควิด-19 จำแนกตามปัจจัยเสี่ยงตามวันที่รับรายงานในประเทศไทยพบว่า 1.ช่วงที่มีการแพร่โรคต่ำระบาดในวงจำกัด พบว่าเมื่อวันที่ 11-16 มีนาคม พบผู้ป่วยจำนวนเพิ่มมากจากปัจจัยเสี่ยงคือ สถานบันเทิงและสนามมวย จึงสั่งปิดสถานที่เสี่ยง 2.กลับมาระบาดซ้ำในวงกว้าง การระบาดต่อเนื่องยาวมาจนถึงช่วงต้นเดือนเมษายน จนกระทั่งมีการประกาศพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ใช้มาตรการเคอร์ฟิว และสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ในระดับหนึ่ง 3.ควบคุม ได้พบผู้ป่วยประปราย เกิดจากความร่วมมือร่วมใจของทุกคน และ 4.ควบคุมเต็มที่ เดือนพฤษภาคมสามารถควบคุมได้เต็มที่ยอดผู้ป่วยเป็นหลักหน่วย หรือตัวเลขศูนย์ สิ่งที่เรียนรู้คือ ระยะเวลาที่สำคัญคือ 2 เดือน หากมีการติดเชื้อในรายที่ 1 แต่ไม่มีการแสดงอาการป่วย และนำเชื้อไปติดในรายที่ 2 และมีการแสดงอาการป่วย จึงต้องย้อนกลับไปหาประวัติเสี่ยงให้ได้ว่ารายที่ 1 เป็นใคร ดังนั้น จะต้องใช้ระยะเวลามากกว่า 14 วัน
          "กฎหมายสามารถควบคุมได้ในระดับหนึ่ง แต่สิ่งควบคุมได้สูงที่สุดคือประชาชนให้ความร่วมมือ เช่น การให้ความร่วมมือในการสวมหน้ากากอนามัย กฎหมายเป็นสิ่งที่กำหนดขึ้น แต่สำคัญมากมาจากใจของทุกคน ทำให้เราสามารถควบคุมโรคได้" นพ.ทวีศิลป์กล่าว
          สวีเดนไม่ล็อกดาวน์ตาย3พัน
          นพ.ทวีศิลป์แถลงสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ทั่วโลก ว่าสถานการณ์ทั่วโลก 211 ประเทศ ประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ 73 ในประเทศอันดับที่ 21-50 จะพบว่า อันดับที่ 27 ประเทศสิงคโปร์มีผู้ป่วยรายใหม่ 448 ราย สะสมที่ 29,812 ราย อันดับที่ 28 ประเทศบังกลาเทศ ผู้ป่วยรายใหม่ 1,773 ราย สะสม 28,511 ราย อันดับที่ 31 ประเทศอินโดนีเซีย ผู้ป่วยรายใหม่ 973 ราย สะสม 20,162 ราย อันดับที่ 39 ประเทศญี่ปุ่น ผู้ป่วยรายใหม่ 57 ราย สะสม 16,424 ราย อันดับที่ 43 ประเทศฟิลิปปินส์ ผู้ป่วยรายใหม่ 213 ราย สะสม 13,434 ราย และอันดับที่ 45 ประเทศเกาหลีใต้ ผู้ป่วยรายใหม่ 20 ราย สะสม 11,142 ราย
          "สิ่งที่น่าสนใจคือ ประเทศสวีเดน อยู่ในลำดับที่ 24 ของโลก และไม่มีมาตรการล็อกดาวน์ โดยให้มีอิสระเสรี ขณะนี้มีผู้ติดเชื้อสะสมรวมทั้งสิ้น 32,172 ราย เสียชีวิต 3,871 ราย นี่คือสิ่งที่แต่ละประเทศเลือกใช้ และเกิดภาพสะท้อนเป็นชุดข้อมูลให้ประชาชนได้รับทราบว่า วิธีเลือกดำเนินมาตรการของแต่ละประเทศแตกต่างกัน แต่ต้องยอมรับในเรื่องของการสูญเสียที่จะเกิดขึ้น" นพ.ทวีศิลป์กล่าว
          เกาหลีเปิดเรียนวันแรกติดเชื้อ
          นพ.ทวีศิลป์กล่าวถึงสถานการณ์ในกลุ่มประเทศอาเซียนและเอเชีย จำนวน 15 ประเทศ ว่าหากเรียงลำดับตามจำนวนยอดผู้ป่วยสะสม ได้แก่ 1.อินเดีย ผู้ป่วยสะสม 118,226 ราย เสียชีวิต 3,584 ราย 2.ปากีสถาน ผู้ป่วยสะสม 48,091 ราย เสียชีวิต 1,017 ราย 3.สิงคโปร์ ผู้ป่วยสะสม 29,812 ราย เสียชีวิต 23 ราย 4.บังกลาเทศ ผู้ป่วยสะสม 28,511 ราย เสียชีวิต 3,408 ราย 5.อินโดนีเซีย ผู้ป่วยสะสม 20,162 ราย เสียชีวิต 1,278 ราย 6.ญี่ปุ่น ผู้ป่วยสะสม 16,424 ราย เสียชีวิต 777 ราย 7.ฟิลิปปินส์ ผู้ป่วยสะสม 13,434 ราย เสียชีวิต 846 ราย 8.เกาหลีใต้ ผู้ป่วยสะสม 11,142 ราย เสียชีวิต 264 ราย 9.มาเลเซีย ผู้ป่วยสะสม 7,059 ราย เสียชีวิต 114 ราย 10.ไทย ผู้ป่วยสะสม 3,037 ราย เสียชีวิต 56 ราย 11.เวียดนาม ผู้ป่วยสะสม 324 ราย เสียชีวิต 0 ราย 12.เมียนมา ผู้ป่วยสะสม 193 ราย เสียชีวิต 6 ราย 13.บรูไน ผู้ป่วยสะสม 141 ราย เสียชีวิต 1 ราย 14.กัมพูชา ผู้ป่วยสะสม 122 ราย เสียชีวิต 0 ราย และ 15.สาธารณรัฐประชาชนลาว ผู้ป่วยสะสม 19 ราย เสียชีวิต 0 ราย
          นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า ยังมีประเด็นที่น่าสนใจในต่างประเทศ กรณีเด็กนักเรียนเกาหลีใต้ป่วน เปิดเรียนวันแรกพบติดโควิด-19 ปิดอีกรอบ โดยโรงเรียนมัธยม 75 แห่งในเกาหลีใต้ ต้องรุดส่งเด็กกลับบ้าน ไม่กี่ชั่วโมงหลังเพิ่งกลับมาเปิดการเรียน
          "การสอนในวันที่ 20 พฤษภาคม หลังพบนักเรียน 2 คน ติดเชื้อโควิด-19 นักเรียนบางส่วนถูกส่งตัวกลับบ้านทันทีที่พวกเขาเพิ่งเดินผ่านประตูรั้วเข้าไปในโรงเรียนเป็นครั้งแรกในรอบปีนี้ หลังจากนักเรียน 2 คน ของโรงเรียนระดับมัธยมในเมืองอินชอน มีผลตรวจโควิด-19 ออกมาเป็นบวกในตอนเช้าของวันเปิดเรียนไม่มีคำอธิบาย แต่เป็นตัวอย่างที่เกิดขึ้น" นพ.ทวีศิลป์กล่าว
          ศบค.ตั้งเป้าได้ใช้วัคซีนช่วงต้น
          ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาล ว่าในที่ประชุม ศบค.เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม ที่มี พล.อ.ประยุทธ์เป็นประธานนั้น สธ.ได้รายงานการพัฒนาวัคซีนไทยทำได้ครบ 6 เทคโนโลยี และเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับการพัฒนาวัคซีนของโลก เป้าหมายเพื่อให้คนไทยมีโอกาสใช้วัคซีนช่วงต้นๆ เช่นเดียวต่างประเทศที่ผลิตได้ ส่วนหน่วยงานด้านความมั่นคงได้หารือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ด้วยสถานการณ์ปัจจุบันยังมีผู้ฝ่าฝืนเคอร์ฟิวและมั่วสุมอยู่ จึงเห็นควรให้ขยาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินเพื่อควบคุมแต่อาจพิจารณาผ่อนปรนในบางข้อ เช่น ระยะเวลาเคอร์ฟิว ส่วนเรื่องท่องเที่ยว เพื่อเตรียมรองรับการผ่อนปรนมาตรการเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจเดินต่อได้ เช่น โรงแรม ต้องปรับตัวเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวจะค้างคืน เช่น ระบบแอร์ อาหาร เรื่องการศึกษา การเปิดภาคเรียนในการผ่อนปรนระยะ 4 กระทรวงศึกษาธิการต้องปรับแผนงาน เช่น เด็กปฐมวัย-อนุบาล 3 ยังต้องไปโรงเรียน อาจปรับสัดส่วนครูกับนักเรียนลดลง อาจต้องจัดเรียนเป็นผลัด ผลัดละ 20 คน และมีผู้สนับสนุนครูด้วย โรงเรียนนานาชาติจะเปิดเรียนวันที่ 1 มิถุนายน เพราะมีศักยภาพและความยืดหยุ่น รองรับและบริหารจัดการได้
          รอสอบสวนบาร์เบอร์ประชาชื่น
          นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า สรุปการใช้งานแพลตฟอร์ม www.ไทยชนะ.com ข้อมูลจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม เวลา 21.00 น. พบว่า ภาพรวมการใช้งานยอดสะสมตั้งแต่เริ่มโครงการ 1.จำนวนร้านค้าลงทะเบียน 81,149 ร้าน 2.จำนวนผู้ใช้งาน 7,470,609 คน และ 3.จำนวนการเข้าใช้งาน การเช็กอิน 14,538,639 ครั้ง เช็กเอาต์ 10,932,694 ครั้ง ประเมินร้าน 6,368,094 ครั้ง
          "มีจำนวนการลงทะเบียนเพิ่มขึ้นก็ดีใจ แต่ช่วงกว้างเริ่มแคบลง น่าจะเพิ่มขึ้นทีละเป็นหมื่น เพราะร้านค้าในเมืองไทยมีมากกว่าแสนหรือหลายแสน แต่วันนี้มีผู้ประกอบกิจการลงทะเบียนแค่ 80,000 ร้าน จึงเกรงว่าเวลามีการติดเชื้อ อย่างเช่นที่เกิดขึ้นเมื่อวานนี้ในร้านตัดผมแถวประชาชื่น มีคำถามว่าเกิดขึ้นที่ร้านไหน แต่ไม่สามารถบอกได้ อย่างไรก็ตาม ทีมสอบสวนโรคสามารถจะเข้าไปดูแลและก็ใช้วิธีการซักประวัติสอบสวนโรค แต่ต้องใช้เวลา แต่ถ้าใช้แพลตฟอร์มไทยชนะระบบจะเร็วขึ้นอย่างแน่นอน" นพ.ทวีศิลป์กล่าว
          คอนโดฯย่านประชาชื่นฆ่าเชื้อ
          วันเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังพบผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งเป็นชายไทย อายุ 72 ปี คนล่าสุดมีประวัติไปใช้บริการร้านตัดผมย่านประชาชื่น และจากการสอบสวนโรคคนในครอบครัวเบื้องต้น สมาชิกในครอบครัวไม่มีอาการป่วยหรือติดเชื้อ ส่วนช่างตัดผม สวมหน้ากากอยู่ตลอดเวลา จัดเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำเพราะมีการป้องกัน และขณะนั้นไม่มีผู้รับบริการรายอื่นอยู่ในร้าน อย่างไรก็ตาม ล่าสุด คอนโดมิเนียมแห่งหนึ่งในย่านประชาชื่นได้ทำการฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อและทำความสะอาดอาคารทันที หลังทราบว่ามีผู้สัมผัสเชื้อที่มีความเสี่ยงต่ำรายหนึ่งพักอาศัยในอาคารดังกล่าวด้วย
          ทั่วโลกยังเดินหน้าผลิตวัคซีน
          นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า เรื่องของการผลิตวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 เป็นเรื่องที่โลกที่พัฒนาทั้งหลายก็พยายามจะช่วยกันทำทุกอย่าง ทุกแห่งมีการให้ข่าวว่า ประสบความสำเร็จในระดับต่างๆ นั้น ของประเทศไทยก็มีการให้ข่าวในการประสบความสำเร็จเช่นกัน แต่ยังอยู่ในระดับสัตว์ทดลอง อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกหลายขั้นตอน และต้องระมัดระวังการที่จะต้องสื่อสาร เพราะว่าจะเกิดความคาดหวังในประเด็นที่ไม่สอดคล้องกัน เช่น เข้าใจว่า พูดว่าประสบความสำเร็จแต่สำเร็จในขั้นตอนที่อยู่ในระดับของสัตว์เท่านั้นเอง ยังต้องมีขั้นตอนต้องใช้เวลากันเป็นปี นั่นก็จะทำให้มีความเข้าใจผิด
          "ความเข้าใจผิดว่าได้วัคซีนมาแล้ว ก็ต้องผ่อนปรน มีการผ่อนคลาย ไม่ต้องมีพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ดังนั้น การสื่อสารตรงนี้ต้องขออนุญาตเน้นย้ำว่า ไทยเราเพียงแค่เริ่มต้นเท่านั้น" นพ.ทวีศิลป์กล่าว
          นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้แจ้งต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการ ศบค. ว่ามีผู้ทำเรื่องวัคซีนทั้งหมดประมาณ 6 เทคโนโลยี ได้แก่ 1.DNA โดย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (VRC)/ ไบโอเนท เอเชีย/สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) 2.mRNA โดย จุฬาฯ (VRC)/สวทช. 3.Protein Subunit โดยมหาวิทยาลัยมหิดล (Science)/จุฬาฯ สวทช. 4.VLP โดย ม.มหิดล (ศิริราช)/สวทช. 5.Inactivated โดย ม.มหิดล (CVD) และ 6.Viral vector โดย สวทช.
          ยันต้องอยู่กับโควิดอีกนาน
          "ทั้งหมดเป็นระดับยอดของประเทศไทย บางท่านเป็นนักวิทยาศาสตร์ระดับโลกมาช่วยกันทำงาน อยู่ในทิศทางเดียวกันกับการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ทั่วโลก เพราะฉะนั้นเป็นความสำคัญแต่ต้องดูไทม์ไลน์หรือระยะเวลาของการทำ ต้องใช้เวลานานพอสมควร ทั้งทำผลิตเองหรือจองซื้อจากประเทศอื่น จะเร่งทำ ปีนี้ถือว่ายาก มีบางคนไปหาเสียงพรรคการเมืองในบางประเทศบอกว่าอาจจะได้ปลายปี แต่ถ้านักวิทยาศาสตร์บอกว่าต้องใช้เวลารอคอย ถึงแม้เราผลิตไม่ทัน เราต้องสั่งจองซื้อล่วงหน้า ก็ว่ากันเป็นปีเหมือนกัน เพื่อให้ได้จำนวนเหมาะสมต้องเอาไปผลิต ที่เรียกว่า แมส โปรดักชั่น หรือผลิตจำนวนมากๆ การผลิตจำนวนอาจจะเป็น 1 ปี 6 เดือน 2 ปี 3 ปี เพราะไม่ใช่สิ่งทำกันง่ายๆ เราต้องอยู่กับไวรัสโควิด-19 อีกนาน ดังนั้น ชีวิตวิถีใหม่ หรือนิว นอร์มอล จึงต้องเกิดขึ้น" นพ.ทวีศิลป์กล่าว
          โฆษก ศบค.กล่าวต่อไปว่า ประเทศไทยได้มีความร่วมมือกับต่างประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา สาธารณรัฐประชาชนจีน สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส เยอรมนี อินเดีย อินโดนีเซีย และไต้หวัน ซึ่งจะต้องมีการทดสอบวัคซีนในคน การพัฒนาวัคซีน การรับถ่ายทอดเทคโนโลยีและการซื้อวัคซีนล่วงหน้า โดยรัฐบาลไทยได้มีการสนับสนุนเจรจาในระดับรัฐบาลเพื่อให้เชื่อมโยงกับต่างประเทศ ในการช่วยเหลือและการเข้าถึงวัคซีน เช่น การสนับสนุนงบประมาณ โดยต้องประเดิมเงินทุนเข้าไปในช่วงแรก เพื่อให้กลุ่มประเทศอาเซียนได้เริ่มการวิจัยพัฒนา
          แจงพ.ร.ก.ฉุกเฉินยังจำเป็น
          นพ.ทวีศิลป์กล่าวถึงกรณีการประกาศพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน และการจำกัดระยะเวลาออกนอกเคหสถาน มีการเรียกร้องให้ยกเลิก ว่าความจำเป็นในการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินมี 3 ข้อใหญ่ ได้แก่ 1.เพื่อความมีเอกภาพรวดเร็ว ต่อเนื่อง มีประสิทธิภาพและมีมาตรฐานกลาง 2.เพื่อเตรียมรองรับในระยะต่อไป จำเป็นต้องมีมาตรการตามกฎหมายในการบริหารจัดการมาตรการผ่อนคลายให้เป็นไปตามระบบที่เหมาะสม และ 3.สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคยังไม่สิ้นสุด
          "จึงยังจำเป็นต้องใช้ระยะเวลาเพื่อเตรียมความพร้อมในการเปิดประเทศ ดังนั้น มาตรการทางกฎหมายจึงเป็นแผนปฏิบัติการในการบริหารวิกฤตด้านการรองรับความเสี่ยงจะกลับมาแพร่ระบาดของโรค" นพ.ทวีศิลป์กล่าว และว่า ส่วนเรื่องของการปรับลดระยะเวลาเคอร์ฟิว วันนี้ได้มีการหารือกันผ่านผู้บัญชาการทหารสูงสุด หากผ่อนคลายมาตรการนี้ได้จะมีการผ่อนคลายระยะที่ 3 (เฟส 3) หากประชาชนส่วนใหญ่ให้ความร่วมมือ ไม่มีการจับกลุ่มรวมตัวสังสรรค์ ไม่มีการชุมนุมในเรื่องไม่ดี จำนวนผู้ป่วยลดน้อยลง หรือการออกนอกเคหสถานโดยไม่มีความจำเป็น เช่น การออกไปเพื่อการค้า การเตรียมการขนส่ง การทำมาหากิน เป็นเรื่องไม่เป็นอะไร แต่หากเป็นกรณีการมั่วสุมก็ต้องขอร้อง เบื้องต้นจากสถิติข้อมูลได้รับความร่วมมือจากประชาชนเป็นอย่างดี อาจมีโอกาส ศบค.ปรับลดระยะเวลาเคอร์ฟิวลง แต่จะเป็นอย่างไรจะต้องรอการประชุมในครั้งต่อไป" นพ.ทวีศิลป์กล่าว
          เผยขั้นตอนคลายล็อกเฟส3
          นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า ศบค.ชุดใหญ่ได้จัดทำระยะของการดำเนินงานในการผ่อนคลายมาตรการระยะที่ 3 โดยจัดทำมาตรการผ่อนคลายในระยะที่ 3 ขั้นตอนและระยะเวลาการจัดทำมาตรการผ่อนคลายในระยะที่ 3 แบ่งออกเป็น 5 ช่วงดังนี้ ขั้นตอนที่ 1 ระหว่างวันที่ 23-24 พฤษภาคม การจัดเตรียมข้อมูลเพื่อประชุมคณะทำงาน กลั่นกรองกิจการและกิจกรรมตามมาตรการผ่อนคลาย การบังคับใช้มาตรการในการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ขั้นตอนที่ 2 ระหว่างวันที่ 25-26 พฤษภาคม ประชุมคณะทำงาน กลั่นกรองกิจการและกิจกรรมตามมาตรการผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการในการป้องกัน และยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
          ขั้นตอนที่ 3 ระหว่างวันที่ 27 พฤษภาคม ประชุมคณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาการผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการในการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ขั้นตอนที่ 4 ระหว่างวันที่ 29 พฤษภาคม ประชุม ศบค. และขั้นตอนที่ 5 ระหว่างวันที่ 1 มิถุนายน มาตรการผ่อนคลายในระยะที่ 3 มีผลบังคับใช้
          'บิ๊กตู่'แย้มเปิดเฟส3ก้อนใหญ่
          นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า ที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ในวันนี้ไม่ได้กล่าวถึงกิจการ/กิจกรรมที่จะผ่อนคลายระยะที่ 3 ยังใช้หลักการเดิมคือ เปิดกิจการ/กิจกรรมที่มีความเสี่ยงปานกลางและค่อนข้างสูงในเรื่องของการติดเชื้อ การเกิดปัญหาด้านสาธารณสุขเป็นหลัก ในที่ประชุม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ถ้าแบ่งระหว่างระยะที่ 3 กับระยะที่ 4 คือ ระยะที่ 4 คือกิจการ/กิจกรรมมีความเสี่ยงสูงมากๆ กลุ่มกิจการสีแดงเลยต้องเอาไว้เปิดในระยะที่ 4 เพราะฉะนั้นการเปิดกิจการ/กิจกรรมในมาตรการผ่อนปรนระยะที่ 3 อาจจะเป็นก้อนใหญ่ หรือการรวมกิจการให้ได้มากที่สุด ที่เหลือจากนั้นไปจะเปิดระยะที่ 4 ตรงนี้อาจจะมีความสำคัญจำเป็น เพราะฉะนั้นคณะกรรมการนัดเอาเรื่องนี้เข้าไปประชุม
          "จะบอกว่าเป็นความเสี่ยงสูงหรือไม่สูง คณะกรรมการต้องไปช่วยกันคิดในประเด็นของแต่ละกิจการ/


pageview  1205128    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved