HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 12/05/2563 ]
ชุด PPE ชนิดใช้ซ้ำได้ ความสำเร็จจาก อภ. สู่มือหมอ

 อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (Personal Protective Equipment) หรือที่เรียกกันว่า ชุดป้องกันส่วนบุคคล หรือชุด PPE อุปกรณ์สำคัญสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ในการป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งที่ผ่านมาประสบปัญหาชุด PPE ขาดแคลน
          และเมื่อวันที่ 8 พ.ค.ที่ผ่านมา นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงผลการพัฒนาชุด PPE ชนิดใช้ซ้ำได้ หรือ Reuseable Isolation Gown รุ่นเราสู้ เป็นผลสำเร็จ คาดการณ์ว่า กว่าจะจบโควิด-19 อาจจะต้องใช้ชุด PPE ถึง 20 ล้านชุด มูลค่าถึง 1 หมื่นล้านบาท และยังต้องเสียค่ากำจัดชุดที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง แต่จากการที่เราพัฒนานวัตกรรมชุด PPE แบบใช้ซ้ำได้ถึง 20 ครั้ง ตรงนี้จะช่วยประหยัดงบประมาณประเทศได้มาก ไม่ให้เงินไหลออก เงินยังหมุนเวียนภายในประเทศ ซึ่งงบ 1 หมื่นล้านบาทสามารถสร้างโรงงานวัคซีนได้เลย
          นพ.โสภณ เมฆธน ประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) กล่าวว่า ชุด PPE ชนิดใช้ซ้ำนี้ ผ่านการทดสอบการกันน้ำในระดับ 2 สามารถนำมาใช้ดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ระดับเสี่ยงน้อยถึงปานกลาง เช่น คัดกรองผู้ป่วย การเก็บตัวอย่างผู้ป่วย ฯลฯ ซึ่งพบว่าอัตราการใช้ชุด PPE ที่ผ่านมา 50% เป็นการดูแลระดับเสี่ยงน้อย-ปานกลาง ส่วน 50% เป็นคนไข้หนักที่ต้องใช้แบบชุดหมี
          ทั้งนี้ ชุด PPE ใช้ซ้ำนี้เราพิจารณาความปลอดภัย 3 อย่าง คือ 1.เนื้อผ้าทนแรงดันน้ำได้ระดับ 2 คือ ป้องกันการซึมผ่านของน้ำได้มากกว่าหรือเท่ากับ 20 เซนติเมตรน้ำ 2.ตะเข็บเย็บสามารถทนแรงดันน้ำระดับ 2 เช่นเดียวกัน และ 3.สามารถใช้ซ้ำได้ ซึ่งจากการทดสอบพบว่าใช้ได้ถึง 20 ครั้ง อย่างไรก็ตาม ช่วงแรกการทดสอบการซักพบว่า ไม่ผ่าน เนื่องจากมีการใส่น้ำยาปรับผ้านุ่มและไม่ผ่านการอบร้อน ซึ่งในการซักนั้นจะต้องใส่โซเดียมไฮโปคลอไรด์ 0.1% ในการฆ่าเชื้อด้วย แต่สุดท้ายก็ประสบความสำเร็จ
          นพ.โสภณกล่าวว่า สำหรับการผลิตชุด PPE ใช้ซ้ำนี้ เนื้อผ้าเป็นโพลีเอสเตอร์ 100% เคลือบสารกันน้ำเทฟลอน ซึ่งเส้นใยของผ้าเป็นเส้นใยรีไซเคิลจากขวดน้ำชนิดขวด PET 100% โดยพบว่า 1 ชุดใช้ขวดน้ำ PET ขนาด 600 มิลลิลิตร (ซีซี) ประมาณ 14.5 ขวด โดยจำนวนชุด 44,000 ชุดต้องใช้ขวดประมาณ 638,000 ขวด อย่างไรก็ตาม เส้นใยรีไซเคิลนี้ได้นำเข้าจากไต้หวัน แล้วนำมาทอและตัดเย็บในบ้านเรา เนื่องจากประเทศไทยยังไม่สามารถผลิตเส้นใยรีไซเคิลจากขวดน้ำได้ เพราะมีปัญหาเรื่องระบบการคัดแยกขยะ จึงต้องนำเข้าซึ่งเส้นใยจากไต้หวันได้รับการรับรองมาตรฐานการรีไซเคิลระดับโลก ทั้งนี้หากกรมอนามัยหรือภาครัฐดำเนินการเรื่องแยกขยะได้ จะช่วยให้ครบวงจรจริงๆ และสามารถพัฒนาต่อในประเทศเองได้ทั้งหมด
          นพ.โสภณกล่าวว่า ขณะนี้ อภ.ได้จัดซื้อจัดจ้างจาก 13 บริษัทที่ผลิตแล้ว รวม 44,000 ตัว ตามสต๊อกผ้าที่มีอยู่ตัวหนึ่ง 500 บาท ใช้ได้ 20 ครั้ง ตกครั้งละ 25 บาท ก็ถือว่าช่วยประหยัดเงิน ลดขยะที่เกิดขึ้นได้เยอะ และช่วยการจ้างงานภายในประเทศ คาดว่าจะส่งได้ภายในเดือน พ.ค.นี้ทั้งหมด
          สำหรับศักยภาพในการทอผ้า เราสามารถทอได้ 1 ล้านหลาต่อเดือน ตัดเย็บเป็นชุดได้ 3 แสนชุดต่อเดือน และเราจะพัฒนาต่อให้เป็นชุดป้องกันระดับ 4 ที่ใช้ในการดูแลผู้ป่วยหนักได้ด้วย ซึ่งต้องอาศัยการสนับสนุนจากกรมวิทยาศาสตร์บริการ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ในการพัฒนาการตรวจให้ได้ตามมาตรฐาน
          นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า อย.ได้ตรวจมาตรฐาน 2 เรื่อง คือ 1.สถานที่ผลิต ซึ่งต้องมีคุณภาพทั้งสถานที่ กระบวนการผลิต เครื่องมือ ซึ่งผ่านทั้ง 13 บริษัท และ 2.ชุดที่ผลิตออกมามีมาตรฐานตามที่กำหนด ซึ่งขณะนี้ก็ผ่านมาตรฐานทั้งหมด
          นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการ อภ. กล่าวว่า การส่งมอบชุดให้แก่ อภ.นั้นจะทยอยจัดส่งทุกสัปดาห์ คือ วันที่ 7 พ.ค. วันที่ 15 พ.ค. วันที่ 22 พ.ค. และวันที่ 31 พ.ค. ก็จะครบทั้งหมด 44,000 ชุด
          นายพงษ์ศักดิ์ อัสกุล กรรมการบริหารสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ กล่าวว่า จากความสำเร็จในการผลิตชุด PPE ที่เกิดขึ้น ทำให้มีความตั้งใจพัฒนาการผลิตให้เป็นในระดับอาเซียน และขณะเดียวกันทางประเทศสหรัฐอเมริกา และออสเตรีย ก็ได้มีเจรจาขอสั่งซื้อ โดยสหรัฐขอซื้อ 500 ชุด จึงอยากให้ภาครัฐช่วยสนับสนุนเครื่องทดสอบแรงดันน้ำ เพื่อดูประสิทธิภาพอยู่ในระดับไหน


pageview  1205134    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved