HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 14/05/2563 ]
ผู้ป่วย 0 ราย วันแรกอย่าวางใจ ปลอดเชื้อโควิดได้ต่อเนื่อง 14-21วัน

วันที่ 13 พฤษภาคม 2563 ถือเป็นวันแรกที่ไม่พบผู้ป่วยรายใหม่ในประเทศไทย โดยไม่พบทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ โดยภาพรวมประเทศไทยมีผู้ป่วยสะสม 3,017 ราย รักษาหายแล้ว 2,844 ราย ยังรักษาในโรงพยาบาล 117 ราย และเสียชีวิตสะสม 56 ราย ถือได้ว่าสถานการณ์ในประเทศไทย ประชาชนเบาใจได้ แต่อย่าวางใจ จะต้องยึดแนวปฏิบัติการป้องกันโรคส่วนบุคคลให้เหนียวแน่นต่อไปทั้งการใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆและเว้นระยะห่าง ขณะที่สถานประกอบการจะต้องทำความสะอาด และอย่าให้เกิดความแออัดในการใช้บริการ
          กรุงเทพธุรกิจ   ทั้งนี้หลังจากที่ประเทศไทยมีการผ่อนปรนกิจการ/กิจกรรมระยะที่ 1 เมื่อวันที่ 3 พ.ค. และ มีการปรับเกณฑ์นิยามผู้เข้าข่ายสอบสวน โรคต้องสงสัยล่าสุดเมื่อวันที่ 1 พ.ค.2563 เพื่อให้สามารถตรวจตรวจคัดกรองและ ค้นหาผู้ที่ติดเชื้อได้มากขึ้นหลังจาก ที่จำนวนผู้ป่วยในประเทศไทยมีแนวโน้ม ลดลง
          โดยตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.2563 มีการตรวจตัวอย่างสารคัดหลั่งในห้อง ปฏิบัติการ (ห้องแล็บ)เพิ่มขึ้น 34,444 ราย พบผู้ป่วย 63 ราย อัตราการติดเชื้อ 0.18% ขณะที่หลังวันที่ 7 เม.ย.2563 ที่มีปรับเกณฑ์นิยามเช่นกันมีการตรวจ กลุ่มที่เข้าเกณฑ์เพิ่ม 76,793 ราย พบ ผู้ป่วย 797 ราย อัตราติดเชื้อ 1.02% ส่วนภาพรวมทั้งหมดมีการตรวจเฉพาะ ในกลุ่มที่เข้าเกณฑ์นิยามรวมแล้วกว่า 2 แสนราย
          จากจำนวนผู้ป่วยทั้งสิ้น 3,017 คน ใน 68 จังหวัด มีอัตราป่วยอยู่ที่ 4.54 ต่อแสนประชากร หากไม่รวมการตรวจเจอใน สถานที่ที่รัฐจัดให้อยู่ที่ 4.30 ต่อแสนประชากร โดยผู้ป่วยสะสม 12 จังหวัดแรก ประกอบด้วย 1.กรุงเทพมหานคร 1,547 ราย 2.ภูเก็ต 224 ราย 3.นนทบุรี 156 ราย 4.ยะลา 133 ราย 5.สมุทรปราการ 116 ราย 6.ชลบุรี 92 ราย 7.ปัตตานี 91 ราย 8.สงขลา 128 ราย โดยเป็นการเจอในศูนย์กักกันที่เป็น ชาวต่างด้าว 65 ราย 9.เชียงใหม่ 40 ราย และ10.ปทุมธานี 39 ราย
          นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) กล่าวว่ายังไม่สามารถสรุปได้ว่าประเทศไทยปลอดเชื้อ ปลอดภัยแล้วประชาชน สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ เพราะวันนี้อาจเป็น 0 ราย แต่พรุ่งนี้คนที่ฟักเชื้ออยู่และอยู่ในการเฝ้าระวังคนสัมผัสเสี่ยงผู้ป่วยก่อนหน้าอยู่ด้วย เพราะหากดูแลไม่ดีเมื่อเจอ ผู้ติดเชื้อ 1 ราย
          อย่างเช่นที่ประเทศเกาหลีใต้ 1 รายติดไปแล้ว 100 กว่าคนและต้องตามอีก 2,000 ราย ในประเทศไทยก็เช่นเดียวกันเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม.2563 ยังมีผู้ป่วยอยู่ซึ่งอาจไปสัมผัสกับใครมาบ้าง ก็เป็นหน้าที่ของกรมควบคุมโรค ชุมชนท้องถิ่นและญาติต้องช่วยกันดูว่ามีอาการหรือไม่ ดังนั้น ต้องเป็น0 ราย ไปอีก14-21 วัน แต่ปัจจุบันยังไม่มีรายงานเช่นนี้ แม้แต่ประเทศจีนเองที่รายงานเป็น 0 รายมาหลายวัน ยังกลับมาพบผู้ป่วย เช่น เมืองอู่ฮั่น
          สอดคล้องกับก่อนหน้านี่ที่ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ค ระบุว่า โควิด-19 การกำหนดว่าเป็นเขตปลอดโรค โดยหลักการของโรคระบาด ตั้งแต่ SARS ไข้หวัดนก MERS ที่ระบาดในเกาหลี และ Ebola การจะบอกว่าพื้นที่ใดเป็นเขตปลอดโรค หรือไม่มีโรคจริง ๆ จะถือเอาเวลาเป็น 2 เท่า ของระยะฟักตัวเช่นสมัย SARS ระยะฟักตัวให้ 10 วัน ก็จะต้องไม่มีโรคในพื้นที่นั้น 20 วัน จึงจะถือว่าเป็นเขตปลอดโรค
          เช่นเดียวกัน โควิด-19 ถ้าเราให้ระยะฟักตัวเป็น 14 วัน เราจะถือเขตปลอดภัยโรคของพื้นที่ใด จะต้องไม่มีโรคนั้นเป็นระยะเวลา 2 เท่า ของระยะเวลาฟักตัว คือ 28 วัน จึงจะมั่นใจว่าในพื้นที่นั้นไม่มีโรคนี้จริงๆ
          ซึ่งก่อนหน้านี้ นพ. ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ไว้ว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในประเทศไทยมีแนวโน้มลดลง อย่างไรก็ตามขอให้ประชาชนอย่าประมาท ยังคงเข้มให้ปฏิบัติตามมาตรการของรัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขต่อไป เน้นลดความแออัดในพื้นที่สาธารณะ จำกัดการเดินทาง ออกจากบ้านเท่าที่จำเป็น และหลีกเลี่ยงการรวมตัวเป็นกลุ่ม เว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) เพื่อชะลอการเพิ่มจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ เนื่องจากเชื้อไวรัสสามารถแพร่กระจายไปได้ง่ายและรวดเร็วจากการที่ประชาชนเดินทางไปที่ต่างๆ เช่น เหตุการณ์ที่สถานบันเทิง และสนามมวย
          ส่วนข้อกังวลของประชาชนเกี่ยวกับตนเองจะติดเชื้อจากผู้ไม่แสดงอาการหรือไม่นั้น ขอชี้แจงว่า หากไม่มีไข้ ไม่มีอาการใดๆ โอกาสที่ เชื้อโรคจะแพร่มาทางน้ำลายมีน้อย เพราะใน ประเทศไทยแทบทุกคนสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าแล้ว แต่หากเคยไปในที่แออัด หรือสัมผัสกับผู้ป่วย ควรสังเกตอาการของตนเองในระยะเวลา 14 วัน
          ทั้งนี้ ข้อมูลทางระบาดวิทยา ในผู้ติดเชื้อ 100 คน จะมี 30 คนที่ติดเชื้อแต่ไม่แสดงอาการ อีก 50 คน จะมีอาการน้อย ซึ่งทั้งหมด 80 คนที่ติดเชื้อนี้สามารถหายได้เอง และโอกาสการแพร่เชื้อให้ผู้อื่นมีค่อนข้างน้อย นอกจากจะติดต่อกันในระยะใกล้ชิด เช่น การตะโกน การพูดคุย การไอจาม ทำให้เชื้อที่อยู่ในน้ำลายกระเด็นใส่ผู้อื่น
          "มาตรการที่เราดำเนินการอยู่ในตอนนี้ เป็นเพียงการชะลอการเพิ่มจำนวน ของผู้ป่วยโควิด-19รายใหม่ เพื่อให้เหลือน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ อย่าประมาท ขอความร่วมมือประชาชนออกจากบ้านเท่าที่จำเป็นและหลีกเลี่ยงการรวมกลุ่มกันการอยู่กันเป็นกลุ่มก้อน มาตรการจำกัดการเดินทาง ยังคงเป็นมาตรการที่สำคัญมากจะทำให้กระทรวงสาธารณสุขสามารถจัดการกับปัญหาได้ดี หากพบว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดมีแนวโน้มที่ดีขึ้น กระทรวงสาธารณสุขจะจัดมาตรการควบคุมป้องกันโรคที่เหมาะสมต่อไป" นพ. ธนรักษ์ กล่าว
          ดังนั้นแม้ว่าตัวเลขผู้ป่วยรายใหม่ใน วันนี้จะเป็น 0 เป็นครั้งแรกก็ไม่ได้หมายความว่าประเทศไทยจะปลอดเชื้อและปลอดภัย ประชาชนจะกลับมาใช้ชีวิตแบบปกติ ที่เหมือนกาลก่อนคงทำไม่ได้ แต่ต้อง ปฏิบัติตามมาตรการของรัฐบาลและ กระทรวงสาธารณสุขต่อไปอย่างเข้มงวด ให้เป็นวิถีชีวิตใหม่จนกลายเป็นความเคยชินต่อไปในอนาคต จนกว่าโรคนี้จะมีวัคซีนป้องกัน
          "ยังไม่สามารถสรุป ได้ว่าประเทศไทย ปลอดเชื้อ ปลอดภัยแล้วประชาชนสามารถ ใช้ชีวิตได้ตามปกติ"
          ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน


pageview  1205018    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved