HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 28/04/2563 ]
ป่วยใหม่53เป็นแรงงานข้ามชาติ42 หวั่นซ้ำ สิงคโปร์

 'อนุทิน'ชงงดรับเข้าไทย สาธิตไลฟ์เสวนาสู้โควิด แห่ดูล้านวิว-ร่วมบริจาค กกต.วุ่นนิติกรเจอไวรัส โวยอุตแจกแมสก์ไม่พอ
          ศบค.เผยยอดติดเชื้อพุ่ง 53 ราย เป็นแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย 42 ราย เสียชีวิตเพิ่มอีก 1 'บิ๊กตู่' สั่งตรวจเช็กกลุ่มเสี่ยง ตรวจเข้มพื้นที่ชายแดนไทย 5 ประเทศระบาด กกต.แจงนิติกรติดโควิด ไม่แสดงอาการ ทั่วโลกตายพุ่ง 1.97 แสนคน ติดเชื้อเฉียด 3 ล้าน อุตฯแจงแจกหน้ากากอนามัย ยึดทะเบียนบ้าน
          ยอดติดโควิด53รายดับ1คน
          เมื่อวันที่ 25 เมษายน ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.เปิดเผยว่า สถานการณ์วันเดียวกันนี้มีเรื่องที่น่ายินดี คือมีผู้ที่หายป่วยจากการติดเชื้อโควิด-19 เพิ่ม 57 ราย รวมผู้ป่วยที่หายแล้ว จำนวน 2,547 ราย จากจำนวนผู้ป่วยสะสม 2,907 ราย แต่มีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่ม 53 ราย โดยตัวเลขจากทั่วประเทศ จำนวน 11 ราย และจากการค้นหาเชิงรุก พบจากศูนย์กักขังแรงงานต่างด้าวที่ อ.สะเดา จ.สงขลา จำนวน 42 ราย ผู้เสียชีวิต 1 ราย รวมจำนวนผู้เสียชีวิตสะสม 51 ราย มีผู้ป่วยรักษาอยู่ในโรงพยาบาล 309 ราย สำหรับผู้เสียชีวิต 1 ราย เป็นชายไทย อายุ 48 ปี อาชีพรับจ้าง มีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วยยืนยันซึ่งเป็นคนในครอบครัว มีทั้งหมด 4 คน ที่ติดเชื้อมาก่อนแล้ว ประกอบด้วย น้องชาย ทำงานสถานบันเทิงย่านทองหล่อ น้องสะใภ้ พ่อและแม่ รวมทั้ง 4 คน ติดเชื้อทั้งหมด เริ่มป่วยมาตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน ด้วยอาการไข้ ไอ ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ เข้าตรวจอาการที่โรงพยาบาลในกรุงเทพฯ ผลตรวจปกติจึงรับยากลับบ้าน แต่อาการไม่ดีขึ้นจึงเข้ารับการรักษาอีกครั้งในวันที่ 12 เมษายน ด้วยอาการไข้สูง 40 องศา หายใจลำบาก ไอ จึงส่งตรวจหาเชื้อ ผลตรวจยืนยันเป็นผู้ป่วยโควิด-19 ต่อมาวันที่ 16 เมษายน อาการแย่ลงและเสียชีวิตในวันที่ 24 เมษายน ด้วยภาวะทางเดินหายใจล้มเหลว
          เฉพาะแรงงานต่างด้าว42ราย
          โฆษก ศบค.กล่าวว่า สำหรับผู้ป่วย 11 ราย แยกจากกลุ่มแรงงานต่างด้าว 4 ราย เป็นผู้ที่มีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้านี้ ไปในสถานที่ชุมชน ห้างสรรพสินค้า ตลาดนัด ส่วนอีก 7 ราย เกิดขึ้นจากการค้นหาเชิงรุกที่จังหวัดยะลา ถ้าไม่รวมกับแรงงานต่างด้าว 42 คนที่จังหวัดสงขลา ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ก็จะมีเพียง 11 ราย โดยพบที่ยะลา 7 ราย กรุงเทพฯ 2 ราย ชลบุรีและภูเก็ต จังหวัดละ 1 ราย ในส่วนแรงงานต่างด้าว จำนวน 42 ราย ที่พบการติดเชื้อนั้น มาจากเมียนมา 34 ราย เวียดนาม 3 ราย มาเลเซีย 2 ราย เยเมน 1 ราย กัมพูชา 1 ราย และอินเดีย 1 ราย ทั้งหมดเข้ามาด้วยวิธีการที่ผิดกฎหมายที่ อ.สะเดา จ.สงขลา สำหรับการกระจายตัวของผู้ติดเชื้อ 10 จังหวัดแรกยังคงเป็นที่กรุงเทพมหานคร ภูเก็ต นนทบุรี สมุทรปราการ ยะลา ชลบุรี ปัตตานี สงขลา เชียงใหม่ และปทุมธานี โดยผู้ป่วยสะสม ที่กรุงเทพมหานคร จำนวน 12,071 ราย ยะลา 4,551 ราย นนทบุรี 3,652 ราย ชลบุรี 2,207 ราย ภูเก็ต 2,182 ราย และสมุทรปราการ 1,326 ราย
          ยกเคส'สิงคโปร์'ต่างด้าวติดพุ่ง
          นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า ที่ประชุม ศบค.ได้ตั้งข้อสังเกตหลายประการว่าเกิดอะไรขึ้นถึงมีตัวเลขผู้ติดเชื้อสูงขึ้นทั้งที่ตัวเลขติดเชื้อก่อนหน้านี้ลดลงมาค่อนข้างมาก ที่ประชุม ศบค.ได้นำตัวเลขผู้ติดเชื้อจากศูนย์กักกันเป็นแรงงานต่างด้าว จำนวน 42 ราย เข้าหารือว่าเรื่องนี้ต้องเรียนรู้และแก้ปัญหา ชัดเจนว่าทั้งหมดมาจากนโยบายของ นายกฯในฐานะ ผอ.ศบค.ที่ทราบตัวเลขจากการติดเชื้อของแรงงานในสิงคโปร์ จึงได้ให้นโยบายเชิงรุกในการติดตามกลุ่มเสี่ยงเป็นการเฉพาะและเข้าไปตรวจติดตามมากขึ้น สอดคล้องกับการที่ได้มีการประกาศมีเขตโรคติดต่ออันตรายเพิ่มขึ้นอีก 5 ประเทศคือ มาเลเซีย กัมพูชา ลาว อินโดนีเซีย และเมียนมา มีมาตรการในการเข้าไปดูประเทศที่มีขอบชายแดนติดต่อกับไทย จึงมีมาตรการคุมเข้มขึ้นมา มีการประกาศมาตั้งแต่วันที่ 23 เมษายน ขณะนี้ผู้ติดเชื้อทั้ง 42 ราย อยู่ในศูนย์กักขัง เป็นศูนย์ในพื้นที่ อ.สะเดา จ.สงขลา กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้สั่งการไปยังแพทย์ในพื้นที่ให้ร่วมดูแลระหว่างสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) ในพื้นที่กับทีมแพทย์พยาบาลในพื้นที่เพื่อดูแล ได้รับรายงานเบื้องต้นว่าในกลุ่ม 42 คนนี้มีร่างกายแข็งแรงเพราะเป็นวัยแรงงาน และอาการต่างๆ ยังไม่มาก แต่จะต้องนำเครื่องเอกซเรย์ปอดเข้าไปเพื่อดูลักษณะการติดเชื้อและมีการสกรีน ตรวจคัดกรองอาการแต่ละคนว่าเป็นอย่างไร ทั้งหมดเป็นแรงงานต่างด้าวไม่มีคนไทย ถือเป็นหลักการตามมนุษยธรรมในฐานะที่เป็นรัฐที่ต้องดูแลทั้งคนไทยและทุกคนที่เข้ามาไม่ว่าจะถูกหรือผิดกฎหมายด้วยหลักมนุษยธรรม ศบค.ต้องขอบคุณชาวจังหวัดสงขลาที่มีไมตรีจิตให้พื้นที่ในการดูแลบุคคลเหล่านี้
          ใช้มุขเดิมไม่ได้หาติดเชื้อใหม่
          นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า สำหรับการจำแนกผู้ป่วยตามรายภาคที่เข้ารับการรักษาพบว่า กราฟช่วงแรกก็ค่อยๆ ลดลง ก่อนจะมาพุ่งจากเคสในสถานกักตัวที่ อ.สะเดา จ.สงขลา จำนวน 42 ราย อย่างไรก็ตาม แรงงานทั้งหลายเป็นกลุ่มที่ให้ความสนใจตั้งแต่ตอนต้น เมื่อมาเจอตรงนี้ก็ไม่ได้ผิดไปจากที่วางแผนไว้ ส่วนกลุ่มผู้ป่วยจำแนกตามปัจจัยเสี่ยงรายสัปดาห์พบว่า กลุ่มผู้ป่วยที่มาจากการสัมผัสผู้ป่วยยืนยันรายก่อนหน้าก็มีจำนวนลดน้อยลง จะเห็นว่าในสัปดาห์ที่ 13 ตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคมจนถึงสัปดาห์ที่ 17 ล่าสุดนี้ พบว่าปัจจัยต่างๆ เช่น คนที่ทำงานในสถานที่แออัด คนที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศ สถานบันเทิง และสนามมวย มีจำนวนลดลงมาก ส่วนนี้เป็นเพราะมีมาตรการเข้าไปดูแล แต่จำนวนเพิ่มมาจากศูนย์กักขังตรวจคนเข้าเมือง จะต้องหาวิธีใหม่ๆ ในการเข้าไปทำงานเชิงรุก เพื่อหาเคสผู้ป่วยยืนยันให้ได้ ฉะนั้นมุขเดิมๆ ใช้ไม่ได้แล้ว เพราะไม่รู้ว่าผู้ติดเชื้ออยู่ตรงไหนบ้าง หน้าที่คือการตามหาในกลุ่มใหม่ อยู่ในคนต่างด้าวที่เข้ามาอยู่ในประเทศไทย
          ทั่วโลกพุ่ง2.8ล้านดับเฉียด2แสน
          นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า สถานการณ์ทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อสะสม รวม 2,830,082 ราย อาการหนัก 58,523 ราย หายป่วยแล้วสะสม 798,182 ราย และเสียชีวิตไปแล้วกว่า 197,246 ราย จากข้อมูลชุดนี้จะเห็นว่าในรายที่มีอาการหนัก 2.1% รวมกับผู้เสียชีวิต 7.0% คิดรวมกันจะอยู่ที่ 9.1% หมายความว่า 1 ใน 10 ของคนที่ติดเชื้อมีโอกาสอาการหนักและเสียชีวิต แต่ทั้งนี้ ก็อาจจะเป็นคนละกรณีกับประเทศไทยเราที่มีอัตราการเสียชีวิตน้อยกว่าต่างประเทศมาก ประเทศที่พบผู้ป่วยสูงสุดอันดับ 1 คือสหรัฐอเมริกา มียอดติดเชื้อสะสม 925,038 ราย และมีผู้เสียชีวิต 52,185 ราย ตามมาด้วยสเปน มียอดติดเชื้อสะสม 219,764 ราย และมีผู้เสียชีวิต 22,524 ราย ส่วนประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 57 ส่วนประเทศที่พบผู้ป่วยยืนยันรายใหม่ 3 อันดับแรกที่เกิดขึ้นคือ สหรัฐอเมริกา เพิ่มขึ้น 44,834 ราย สเปน เพิ่มขึ้น 6,740 ราย และรัสเซีย เพิ่มขึ้น 5,849 ราย ทำให้จีนต้องสั่งปิดเมืองฮาร์บินที่เป็นเขตติดต่อกับรัสเซียเพื่อสกัดการแพร่เชื้อ ส่วนประเทศแถบเอเชียพบว่า อินเดียติดเชื้อเพิ่ม 1,408 กว่าราย ญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น 344 ราย สิงคโปร์ดีขึ้น พบติดเชื้อเพิ่มขึ้น 897 ราย เกาหลีใต้เพิ่มขึ้นเพียง 10 ราย อินโดนีเซีย 436 ราย มาเลเซีย 88 ราย
          ชี้'นิวยอร์ก'อาจติดถึงล้านคน
          นพ.ทวีศิลป์กล่าวอีกว่า ประเด็นน่าสนใจในต่างประเทศ ยกตัวอย่างเช่น นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา มีการเปิดเผยว่าผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีผลทดสอบเป็นบวกจำนวน 138,000 ราย ในนิวยอร์กนั้น เป็นเพียงปลายยอดภูเขาน้ำแข็งที่โผล่มาให้เห็น เพราะในความเป็นจริงอาจจะมีจำนวนมากกว่านั้น และอาจจะมีจำนวนเป็นล้านคน เนื่องจากมีข้อจำกัดในช่วงแรกของการตรวจวินิจฉัยในช่วงที่เริ่มการแพร่ระบาด นายกเทศมนตรีของมหานครนิวยอร์ก ออกมายอมรับว่าการกลับมาเปิดดำเนินธุรกิจต่างๆ ตามปกติอาจจะเร็วเกินไป
          นพ.ทวีศิลป์กล่าวถึงคำถามจากผู้ผลิตละคร และรายการทีวีถึงเกณฑ์ของรัฐบาลในการคลายล็อกดาวน์ว่า ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมอะไรก็ต้องดูจากสิ่งที่เกิดขึ้นมาแล้ว โดยเฉพาะสถิติและชุดข้อมูลที่ทางกระทรวงสาธารณสุขที่ได้ย้ำชุดพฤติกรรมที่ทำให้มีการติดเชื้อ ทั้งการสังสรรค์ อยู่ในสถานบันเทิง หรือสนามมวย เหล่านี้เป็นภาพชัดที่ทั้งโลกคงยอมรับว่า ยังไม่น่าจะเปิดได้ แต่กิจกรรมใดที่รูปแบบของกิจกรรมมีระยะห่างทางกายทางการก็ยินยอมให้เปิดได้ โดยผู้ประกอบกิจการต่างๆ อาจรวบรวมตัวกันเป็นสมาคมเพื่อเสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ ว่าถ้าจะให้คลายล็อกให้จะมีการกำหนดชุดพฤติกรรมเพื่อดูแลการบริการกันอย่างไร หากมั่นใจว่าเสนอมาตรการต่างๆ เหล่านี้แล้วปฏิบัติได้อย่างแข็งขัน
          เมื่อถามว่า ข้อกำชับของ ศบค.ไปยังจังหวัดต่างๆ ที่มีการเตรียมการปลดล็อกบางมาตรการไปแล้วอย่างไร นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่าเกณฑ์หลักใหญ่จะเป็นไปตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน โดยมีข้อกำหนดใหญ่ๆ ขึ้นมา ขณะเดียวกันภาพย่อย เป็นเรื่องของรายจังหวัดที่จะกำหนดขึ้นมาแต่ต้องไม่ย่อหย่อนไปกว่ามาตรการใหญ่ที่ประกาศออกมา แต่ถ้าจะตึงกว่าจะเข้มกว่าก็สามารถทำไปตามหลักการโดยแต่ละจังหวัดสามารถนำสถิติต่างๆ ไปปรับใช้ตามสถานการณ์ได้
          ควันบุหรี่ไฟฟ้าเสี่ยงแพร่เชื้อ
          นพ.ทวีศิลป์กล่าวถึงกรณีที่องค์การอนามัยโลก (WHO) เตือนผู้สูบบุหรี่มีโอกาสเสี่ยงติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ว่า เสี่ยงแน่นอน ส่วนสถิติของผู้ที่ติดเชื้อโดยมีประวัติการสูบบุหรี่มีจำนวนเท่าไหร่นั้น ขอรับไว้ไปถามนักวิชาการที่รวบรวมสถิติอีกครั้งหนึ่ง แต่ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าชุดพฤติกรรมของคนสูบบุหรี่มักมีการสังสรรค์ มีการสัมผัสกับบุหรี่ โดยใช้บุหรี่มวนเดียวกัน จึงเกิดการปนเปื้อนกันด้วยน้ำลาย ขณะที่ควันจำนวนมากของบุหรี่ไฟฟ้าถือว่าเป็นละอองฝอยที่สามารถนำเชื้อของผู้ที่ติดไปแพร่การจายสู่ผู้อื่นได้ โดยคนที่สูบบุหรี่ถือว่ามีต้นทุนที่ต่ำกว่าคนอื่น สารนิโคตินที่เข้าไปเคลือบปอดจากการสูบบุหรี่นั้น ทำให้ปอดมีพื้นที่ปลอดภัยน้อย ยิ่งบางคนสูบมานานอาจะเป็นโรคถุงลมโป่งพอง พอติดเชื้อโรคก็แพ้ภัยตัวเองมากขึ้น
          'บิ๊กตู่'อาลัยอสม.วัย72ดับ
          วันเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก "ประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut Chan-cha" ระบุว่า "ผมขอแสดงความอาลัย ต่อการจากไปของนายบุญส่ง มะนาวหวาน อสม.วัย 72 ปี ของ อ.เดิมบางนางบวช จ.สุพรรณบุรี ที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุขณะที่กำลังปฏิบัติหน้าที่ขี่รถจักรยานยนต์นำหน้ากากอนามัยและเจลล้างมือไปแจกจ่ายให้แก่ชาวบ้าน เมื่อวันที่ 22 เมษายนที่ผ่านมา ได้ทราบว่า คุณตาบุญส่ง ได้สมัครเข้ามาเป็น อสม.ของชุมชนมาตั้งแต่ปี 2529 รวม 34 ปีแล้ว ที่คุณตาบุญส่งได้ทำหน้าที่เป็นอาสาสมัครของชุมชน ทุ่มเทช่วยงานราชการอย่างแข็งขัน ทำหน้าที่ด้วยความรักและเสียสละ เป็นคนดีของชุมชนและประเทศชาติที่ควรยกย่อง การเสียชีวิตในครั้งนี้ของคุณตาบุญส่ง ถือว่าเป็นการเสียชีวิตในหน้าที่ ในขณะที่ทำคุณประโยชน์ให้กับประเทศชาติ ภาครัฐจะมีการดูแลครอบครัวอย่างดีที่สุด คุณตาบุญส่ง เป็นหนึ่งใน อสม.นับล้าน คนในประเทศ ที่อาสาเสียสละแรงกายแรงใจเพื่อช่วยประเทศชาติ และเป็นอีกหนึ่งเหตุผลสำคัญที่ทำให้สถานการณ์โควิด-19 ของเรานั้นเป็นไปในแนวโน้มที่ดี ผมขอแสดงความอาลัยต่อคุณตาบุญส่งอีกครั้ง และขอขอบคุณ อสม.ทุกท่านที่มีส่วนช่วยประเทศชาติฝ่าวิกฤตโควิด-19 ในครั้งนี้ครับ"
          'นิติกร'กกต.ติดอีก1ราย
          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงค่ำวันที่ 24 เมษายนที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ชี้แจงผ่านสื่อของสำนักงาน หลังมีข่าวว่าพบพนักงานติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จำนวน 1 คน เป็นเจ้าหน้าที่นิติกร สำนักวินิจฉัยและคดี เป็นการพบเชื้อจากการค้นหาเชิงรุกที่การเคหะหลักสี่ ซอยแจ้งวัฒนะ 5 ได้มีการประสานกับกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เพื่อส่งตัวเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเกษมราษฎร์ ประชาชื่นแล้ว เบื้องต้นได้สอบสวนประวัติการเจ็บป่วยพบว่าเป็นคนไข้ในกลุ่มไม่แสดงอาการ และไม่มีประวัติการเดินทางไปต่างประเทศ โดยสำนักงาน กกต.จะร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อค้นหาบริเวณพื้นที่เสี่ยง เพื่อแจ้งให้ผู้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยรายนี้ ทั้งกลุ่มเสี่ยงสูงและกลุ่มเสี่ยงต่ำทราบ เพื่อดำเนินการตรวจหาเชื้อเพิ่มเติมหรือกักตัวเองเป็นเวลา 14 วัน เพื่อตรวจดูอาการ ทั้งนี้ สำนักงาน กกต.จะปฏิบัติตามมาตรการในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 บริเวณสำนักวินิจฉัยและคดีในวันนี้เวลา 13.30 น. ดำเนินการคัดกรองพนักงานของสำนักงานอย่างเข้มงวด ห้ามบุคคลที่เคยมีประวัติสัมผัสกับผู้ติดเชื้อเข้าปฏิบัติงานที่สำนักงาน กกต.และสั่งให้ตรวจหาเชื้อและกักตัวเองเพื่อสังเกตอาการ พร้อมเพิ่มมาตรการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของเชื้อดังกล่าวตามแนวทางของ ศบค.และคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติโดยเคร่งครัดต่อไป
          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พนักงานคนดังกล่าวแม้จะปฏิบัติงานที่บ้าน แต่เดินทางเข้ามาที่สำนักงาน กกต.สัปดาห์ละ 1 ครั้ง ในวันอังคาร สำนักงานกำลังตรวจสอบว่าพนักงานคนดังกล่าวใกล้ชิดใครบ้าง เบื้องต้นยังไม่รู้ว่าไปติดมาจากใคร
          อนุทินขอแรงบิ๊กตู่ระงับต่างชาติเข้าไทย
          นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและ รมว.สาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ขณะนี้โควิด-19 ระบาดในหลายประเทศ รวมไปถึงประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อลดความสูญเสียและลดปัญหาในการควบคุมโรค ทางกระทรวงสาธารณสุขจะเสนอให้นายกรัฐมนตรีในฐานะประธานศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) ให้มีคำสั่งระงับการเดินทางเข้ามาของชาวต่างชาติ
          "ในประเทศเราสามารถควบคุมโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว แต่หากมีเคสที่หลุดเข้ามาจากต่างชาติ การควบคุมโรคจะประสบปัญหา ตอนนี้เราเดินมาได้ไกล ไม่ต้องการเห็นความผิดพลาดเกิดขึ้น สำหรับผู้ติดเชื้อรายใหม่เป็นชาวต่างชาติ จำนวน 42 คน มาจากกลุ่มก้อนของผู้ลักลอบเข้าเมืองด้วย ต้องขอบคุณเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขประจำด่านที่จัดการเรื่องนี้ได้ดี พบเร็ว ตรวจเร็ว คุมโรคเร็ว ทั้งนี้ จะให้กลุ่มนี้ไปรักษาที่โรงพยาบาลสนามในพื้นที่ และดูแลในพื้นที่ State Quarantine จะไม่ปล่อยให้มีการแพร่กระจายของเชื้อเด็ดขาด" นายอนุทินกล่าว
          ทั่วโลกตายแล้ว1.97แสน
          สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ผู้เสียชีวิตและผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่หรือโควิด-19 ทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกวัน ล่าสุดยอดผู้เสียชีวิตทั่วโลกอยู่ที่ 197,354 รายแล้ว โดยสหรัฐยังคงเป็นประเทศที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดที่ 52,217 ราย มากกว่าอิตาลีที่อยู่ในอันดับสองที่ 25,969 ถึง 26,248 ราย ตามด้วยสเปน 22,524 ราย  ฝรั่งเศส 22,245 ราย และอังกฤษ 19,506 ราย ส่วนผู้ติดเชื้อทั่วโลกอยู่ที่ 2,883,697 คน สหรัฐยังคงครองแชมป์ประเทศที่มีผู้ติดเชื้อมากที่สุดในโลกโดยมีผู้ติดเชื้อรวมอยู่ที่ 925,758 คน ตามด้วยสเปนที่ 219,764 ทิ้งห่างจากสหรัฐถึง 705,994 คน อิตาลี 192,994 ฝรั่งเศส 159,828 เยอรมนี 154,999 อังกฤษ 143,646 และตุรกี 104,912 โดยตุรกีเป็นประเทศล่าสุดที่มีผู้ติดเชื้อทะลุแสนคน ส่วนผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาที่ได้รับการรักษาจนหายดีแล้วอยู่ที่ 807,469 คน
          ด้านคณะทำงานของทำเนียบขาวยังคงย้ำว่า ตัวเลขผู้เสียชีวิตในสหรัฐยังถือว่ามีอัตราที่ต่ำกว่าหลายประเทศในยุโรปไม่ว่าจะเป็นสเปน อิตาลี ฝรั่งเศส เบลเยียม หรืออังกฤษ เมื่อคิดเป็นสัดส่วนการเสียชีวิตต่อจำนวนประชากรทั้งหมดในสหรัฐ ซึ่งมีมากถึง 330 ล้านคน และสหรัฐยังเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการเสียชีวิตจากโควิด-19 ต่ำที่สุดในโลกอีกด้วย
          ติงทรัมป์แนะฉีดยาฆ่าเชื้อ
          สำนักข่าวต่างประเทศรายงานด้วยว่าหลายรัฐในสหรัฐได้เริ่มต้นเปิดเมืองอีกครั้ง หลังการบังคับใช้มาตรการปิดเมืองเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนามายาวนานหลายสัปดาห์ ทำให้เกิดการประท้วงตามมาเนื่องจากไม่พอใจต่อผล กระทบทางเศรษฐกิจ โดยในรัฐจอร์เจีย รัฐ อะแลสกา และรัฐโอกลาโฮมา ธุรกิจต่างๆ อาทิ ร้านทำผม ที่เล่นโบว์ลิ่ง และธุรกิจบางประเภท ได้เริ่มต้นกลับมาเปิดให้บริการตามปกติอีกครั้งเมื่อวันที่ 24 เมษายนที่ผ่านมาตามเวลาท้องถิ่น
          บริษัทเรคกิตต์ เบนค์กิเซอร์ เจ้าของผลิตภัณฑ์ฆ่า เชื้อโรคเดตตอล ออกแถลงการณ์กรณีประธานา ธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐได้ออกมาให้คำแนะนำช็อกโลกถึงความเป็นไปได้ในการใช้ผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อฉีดเข้าไปในร่างกายผู้ป่วยเพื่อฆ่าไวรัสโคโรนาว่า ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตามไม่ควรจะมีการนำผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อฉีดเข้าไปในร่างกาย นำเข้าสู่ร่างกายทางปาก หรือไม่ว่าจะทางใดๆ ก็ตาม เพราะน้ำยาฆ่าเชื้อมีสารอันตรายที่เป็นพิษต่อร่างกาย แม้แต่การสัมผัสถูกน้ำยาฆ่าเชื้อภายนอกก็ยังเป็นอันตรายต่อผิวหนัง ดวงตา รวมถึงระบบทางเดินหายใจ
          ทั้งนี้ ในการบรรยายสรุปเรื่องการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทำเนียบขาวเมื่อวันที่ 23 เมษายนที่ผ่านมา ทรัมป์ได้หลุดปากแนะนำว่าควรมีการศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับการฉีดน้ำยาฆ่าเชื้อเข้าสู่ร่างกาย ผู้ป่วยเพื่อฆ่าไวรัส รวมถึงการวิจัยเกี่ยวกับการนำแสงยูวีเข้าไปฉายในร่างกายเพื่อฆ่าโควิด-19 หลัง ความเห็นดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกไป  ทรัมป์ตกเป็นเป้าวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักบนโซเชียลมีเดีย จนต้องออกมาบอกว่าคำพูดของเขาเป็นเพียงแค่การตอบคำถามแบบเหน็บแนม หลังถูกสื่อถามแบบแดกดันเท่านั้น  อย่างไรก็ดีแพทย์จำนวนมากต่างก็ออกมาเตือนว่าคำแนะนำของทรัมป์เป็นอันตรายถึงชีวิต
          ระดมกำลังสู้โควิดครั้งปวศ.
          สถานีโทรทัศน์อาซาฮีของญี่ปุ่นรายงานว่า พบผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 รายใหม่บนเรือสำราญคอสตาแอนแลนติกาของอิตาลีที่จอดเทียบท่าอยู่ที่เมืองนางาซากิของญี่ปุ่นเพิ่มอีก 57 ราย โดยเป็นลูกเรือบนเรือสำราญ หลังจากที่มีการตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 ให้กับลูกเรือบนเรือสำราญลำนี้ทั้งหมดที่มีอยู่ 623 คน ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อบนเรือลำนี้มีเพิ่มขึ้นเป็น 150 ราย
          ด้านองค์การอนามัยโลก (ฮู) เปิดตัวข้อริเริ่มระดับโลกที่จะเร่งกระบวนการการทำงานเพื่อการวิจัย ทดสอบ พัฒนายาและวัคซีนต้านไวรัสโคโรนา และมีการแบ่งปันให้กับประเทศต่างๆ ทั่วโลกอย่างเท่าเทียม อย่างไรก็ดี สหรัฐไม่ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือดังกล่าวที่มีผู้นำจากทั่วทุกภูมิภาคของโลกไม่ว่าจะในเอเชีย ยุโรป ไปจนถึงแอฟริกา อาทิ จีน อินเดีย รัสเซีย ฝรั่งเศส เยอรมนี ไปจนถึงแอฟริกาใต้ ต่างเข้าร่วมในการประชุมผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ เพื่อเปิดตัวความริเริ่มครั้งสำคัญของฮูที่จะต่อสู้กับโรคระบาดใหญ่ที่ส่งผลกระทบอย่างหนักไปทั่วโลกในขณะนี้
          ด้านโฆษกของคณะผู้แทนถาวรสหรัฐในนคร เจนีวาซึ่งเป็นที่ตั้งของฮูแจ้งกับรอยเตอร์ว่า สหรัฐจะไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับข้อริเริ่มนี้ แต่แม้เราจะไม่ได้เข้าร่วมในการประชุม ก็ไม่ควรต้องมีข้อสงสัยเกี่ยวกับความมุ่งมั่นตั้งใจของสหรัฐที่จะแสดงบทบาทนำในประเด็นเรื่องสาธารณสุขของโลกอย่างต่อเนื่อง ซึ่งรวมถึงในวิกฤตการณ์ของโควิด-19 เนื่องจากสหรัฐยังคงวิตกกังวลอย่างยิ่งต่อประสิทธิภาพในการทำงานของฮู โดยเฉพาะเมื่อดูจากความล้มเหลวครั้งสำคัญซึ่งเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการแพร่ระบาดใหญ่ในขณะนี้
          นายอันโตนิอู กุแตเรซ เลขาธิการสห ประชาชาติ ออกมากล่าวว่า การเอาชนะโรคระบาดใหญ่จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากองค์การระหว่างประเทศและจากผู้นำโลกรวมถึงภาคเอกชนที่จะพัฒนาและแจกจ่ายวัคซีนต้านไวรัสโคโรนา เพราะขณะนี้โลกกำลังเผชิญกับศัตรูที่ไม่เคยพบมาก่อน และการที่จะทำให้โลกปราศจากโควิด-19 ได้ ต้องมีการระดมสรรพกำลังด้านสาธารณสุขครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์
          ฮูชี้ไร้หลักฐานไม่ป่วยโควิดซ้ำ
          องค์การอนามัยโลก (ฮู) ออกมาระบุว่าจนถึงขณะนี้ยังไม่มีหลักฐานว่าผู้ที่หายป่วยจากโควิด-19 และมีแอนติบอดีหรือสารภูมิต้านทานในร่างกายที่จะช่วยไม่ให้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาซ้ำได้อีกครั้งหนึ่ง แถลงการณ์ของฮูเตือนว่า ผู้ที่เคยติดไวรัสโคโรนามาก่อนไม่อาจถือว่ามีภูมิคุ้มกันหรือใบรับประกันความเสี่ยง การคิดเช่นนั้นมีแต่จะเพิ่มความเสี่ยงของการแพร่ระบาดให้มากขึ้น เพราะจะทำให้ผู้คนไม่ทำตามคำแนะนำในการป้องกันการ ติดเชื้อไวรัสการออกแถลงการณ์ดังกล่าวของ ฮูสอดคล้องกับข้อมูลก่อนหน้านี้ในหลายประเทศที่พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ซ้ำ และยังเป็นการสวนทางกับความเชื่อที่ว่าเมื่อร่างกายเคยติดไวรัสโคโรนาแล้วจะพัฒนาแอนติบอดีที่ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันต่อไวรัสชนิดเดิม
          อุตฯแจงหน้ากากยึดทะเบียนบ้าน
          น.ส.สุชาดา แทนทรัพย์ โฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่าจากกรณีที่ประชาชนมีข้อสงสัยถึงจำนวนหน้ากากผ้าที่ครัวเรือนได้รับแจกจากกระทรวงอุตสาหกรรมนั้น ขอชี้แจงให้ทราบว่า ประชาชนในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครจะได้รับแจก จำนวนรวม 5,450,000 ชิ้น ผ่านช่องทางการจัดส่งโดยไปรษณีย์ไทย และเน้นย้ำว่า จำนวนที่ได้รับคือ "จำนวนคนที่ปรากฏในข้อมูลทะเบียนบ้าน ทุกครัวเรือน" ของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ตามบัญชีรายชื่อในทะเบียนบ้าน 1 คนต่อ 1 ชิ้น อาทิ หากประชาชนมีรายชื่อในทะเบียนบ้านจำนวน 3 คน จะได้รับแจกหน้ากากผ้าจำนวน 3 ชิ้น เป็นต้น
          น.ส.สุชาดากล่าวว่า ดังนั้น หากประชาชนรายใดได้รับไม่ครบถ้วนตามจำนวนรายชื่อในทะเบียนบ้าน สามารถติดต่อแจ้งเรื่องมาได้ที่กระทรวงอุตสาหกรรม ผ่านทางเว็บไซต์ www.industry.go.th หรือ www.หน้ากากไทยต้านโควิด.com โดยขอให้มั่นใจว่า กระทรวงอุตสาหกรรมจะเร่งประสานงานกับไปรษณีย์ไทยในการจัดส่งหน้ากากผ้าให้ครบถ้วนตามรายชื่อในทะเบียนบ้านทุกครัวเรือนอย่างรวดเร็ว
          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่กระทรวงอุตสาหกรรมชี้แจงว่า หน้ากากผ้าจะได้ทุกคนที่มีชื่อในทะเบียนบ้านตามข้อมูลทะเบียนราษฎรของกรมการปกครอง ปรากฏว่าโซเชียลต่างคอมเมนต์ยืนยันว่าได้บ้านละ 1 ชิ้น และคงไม่ไปร้องเรียนเพราะเสียเวลาทำมาหากิน โดยก่อนหน้านี้ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ระบุถึงเรื่องดังกล่าวว่า นโยบายการแจกหน้ากากผ้าแจกฟรีประชาชน 10 ล้านชิ้น ได้รับการจัดสรรงบประมาณจากรัฐบาล 65 ล้านบาท โดยกระทรวงอุตสาหกรรมจะเริ่มแจกจ่ายหน้ากากผ้าล็อตแรก จำนวน 1 ล้านชิ้น ให้ถึงมือประชาชนผ่านไปรษณีย์ไทย โดยจะเริ่มส่งวันที่ 8 เมษายน เป็นต้นไป จะถึงแต่ละครัวเรือนภายในวันที่ 11 เมษายน


pageview  1205123    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved