HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 21/04/2563 ]
ไทยติดเชื้อลดลงผับปิดยาวสิ้นเม.ย.

 โฆษกศบค.ระบุคดีมั่วสุมยังมีเพียง 5ค่ายมือถือจัดให้โทร.ฟรี100น.45วัน
          สถานการณ์การการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ภายในประเทศไทย ประจำวันที่ 20 เม.ย. 63 ตามการรายงานของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) พบว่าสถานการณ์ในประเทศไทยมีแนวโน้มที่ดีขึ้น โดยนอกจากตัวเลขผู้ติดเชื้อรอบ 24 ชม. จะเริ่มลดน้อยลงแล้ว ยังพบว่าไม่มีผู้เสียชีวิตเป็นวันที่ 3 ติดต่อกันแล้ว
          ไทยไร้ผู้เสียชีวิตวันที่3
          ที่ทำเนียบรัฐบาล นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) แถลงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ประจำวัน ว่า ประเทศไทยพบจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม 27 ราย รวมผู้ป่วยสะสม 2,792 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม ทำให้เป็นวันที่ 3 ติดต่อกันที่ไม่มีผู้เสียชีวิตในรอบ 24 ชม. สรุปยอดเสียชีวิตอยู่ที่ 47 ราย รักษาหายเพิ่ม 71 ราย ผู้ป่วยรักษาหายกลับบานแล้ว 1,999 ราย (71.6 เปอร์เซ็นต์)
          ทั้งนี้ ผู้ป่วยใหม่ที่เพิ่มขึ้นในวันนี้ 27 ราย ใน 5 จังหวัด เข้ารับการรักษาในกรุงเทพมหานคร 16 ราย, ชุมพร 4 ราย, ยะลา 2 ราย, ชลบุรี 2 ราย, นราธิวาส 2 ราย และ กระบี่ 1 ราย โดยกรุงเทพมหานคร มีผู้ป่วยที่รับรักษาสะสมมากที่สุด 1,440 ราย ตามด้วย ภูเก็ต 192 ราย, นนทบุรี 151 ราย, สมุทรปราการ 108 ราย, ยะลา 101 ราย, ปัตตานี 90 ราย, ชลบุรี 86 ราย, สงขลา 56 ราย, เชียงใหม่ 40 ราย และปทุมธานี 34 ราย โดยอยู่ระหว่างการสอบสวนอีก 67 ราย
          นอกจากนี้ยังมี 9 จังหวัดที่ยังไม่มีรายงานการรับรักษาผู้ป่วย ได้แก่ กำแพงเพชร ชัยนาท ตราด น่าน บึงกาฬ พิจิตร ระนอง สิงห์บุรี และ อ่างทอง
และมีอีก 35 จังหวัดที่ไม่มีรายงานผู้ติดเขื้อในช่วง 14 วันที่ผ่านมา
          “ผู้ป่วยยืนยันในกทม.และนนทบุรี มีแนวโน้มลดลง แต่ก็มีแนวโน้มสูงเมื่อเทียบกับจังหวัดอื่นๆ  ดังนั้น ไม่อยากให้ทุกคนชะล่าใจ” นายแพทย์ทวีศิลป์ กล่าว
          ทั้งนี้ เมื่อวิเคราะห์ผู้ป่วยยืนยัน แยกตามอายุ จะพบว่า ผู้ป่วยอายุ 20-29 จะมีจำนวนผู้ป่วยมากสุด รองลงมา คือ อายุ 30-39 มีเพิ่มขึ้น  ดังนั้น ขอให้ทุกคนปฎิบัติตามมาตรการต่างๆ อย่างเคร่งครัดเพื่อทำให้ช่วงอายุแต่ละช่วงลดลงให้ได้
          ป่วยทั่วโลกพุ่ง2.4ล้าน
          นายแพทย์ทวีศิลป์ กล่าวต่อว่าสำหรับสถานการณ์ทั่วโลก 208 ประเทศ 2 เขตบริหารพิเศษ 2 เรือสำราญมีผู้ติดเชื้อรวม 2,407,339 ราย อาการหนัก 54,218ราย รักษาหาย 616,679ราย เสียชีวิต165,059 ราย  หรือ 6.9% หรือ 100ราย เสียชีวิต 7 ราย โดยอันดับที่ 1 ยังคงเป็นสหรัฐอเมริกาที่มีผู้ติดเชื้อมากที่สุด 764,265 ราย ตามด้วยสเปน อิตาลี  ฝรั่งเศส และเยอรมนี  ส่วนประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 54
          ขณะที่ในเอเชีย ประเทศญี่ปุ่น มีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่ม 501 ราย สิงคโปร์ 596  ราย อินโดนีเซีย 327ราย ฟิลิปปินส์ 172 ราย มาเลเซีย 84 ราย
          ขอให้ร่วมมืออย่ามั่วสุม
          โฆษก ศคบ. กล่าวต่อไปว่า มาตรการเคอร์ฟิวที่ได้ดำเนินการ พบว่า มีการฝ่าฝืนคำสั่งออกนอกเคหสถานลดลงจากเดิม โดยมีผู้ถูกดำเนินคดี 542 ราย ตักเตือน 119 ราย และยังคงเป็นเหตุผลเช่นเดิม คือ เดินทางกลับที่พัก ออกมาทำธุระ ขับขี่ยานพาหนะเล่น ขณะที่เหตุของการชุมนุม มั่วสุด ถูกดำเนินคดี 86 ราย มาจากเล่นการพนัก ดื่มสุรา และยาเสพติด
          นอกจากนั้น เมื่อแบ่งการกระทำผิดแยกตามพื้นที่ (20 เมษายน2563) พบว่า ภาคเหนือ ออกนอกเคหสถาน 82 ราย มั่วสุม10 ราย อันดับ1 จังหวัดเชียงใหม่ ออกนอกเคหสถาน 18 ราย มั่วสุม 10 ราย  ภาคใต้ ออกนอกเคหสถาน 94 ราย มั่วสุม 7 ราย อันดับ1 จ.ภูเก็ต ออกนอกเคหสถาน 38 ราย  มั่วสุม 6 ราย  
          ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ออกนอกเคหสถาน 88  ราย มั่วสุม 10 ราย อันดับ 1 จังหวัดนครราชสีมา  ออกนอกเคหสถาน 25  ราย และภาคกลาง ออกนอกเคหสถาน 247 ราย มั่วสุม 55 ราย อันดับ1 จ.ปทุมธานี ออกนอกเคหสถาน 40 ราย มั่วสุม 19 ราย ส่วนกทม. ออกนอกเคหสถาน 30  ราย รวมกลุ่มมั่วสุม 4 ราย
          นายกจ่อขยายพ.ร.ก.
          นายแพทย์ทวีศิลป์  กล่าวด้วยว่าจากการประชุมศบค.ในวันที่ 20 เมษายน นายกรัฐมนตรีได้มีการชื่นชมประชาชน และเจ้าหน้าที่ทุกระดับที่ได้ทำงาน พร้อมสั่งการให้หัวหน้าส่วนราชการทั้งหมดดูแลบุคลากรทางการแพทย์  รวมถึงเชื่อมั่นวิจารณญาณ และสติปัญญาที่มีของหัวหน้าส่วนราชการทุกคนในการทำงาน  โดยให้กำลังใจกับทุกๆ คน
          “เรื่องการคงอยู่ของพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ นั้น ที่ประชุมมองว่ายังคงมีความจำเป็นที่ต้องคงไว้ในสถานการณ์ ณ ขณะนี้ แต่ทางรัฐบาลและคณะรัฐมนตรีจะมีการประชุมหารือถึงมาตรการต่างๆ ที่ต้องมีการผ่อนคลาย หรือปรับให้เหมาะสม โดยจะมีการหารือกับหน่วยงานราชการ และภาคเอกชน ผู้ประกอบการทุกภาคส่วน เพื่อจะได้ดูแลทุกกลุ่มอาชีพ"
          "รวมถึงสถานที่ อาทิ สนามกีฬา ตลาดสด ต้องมีการจัดระเบียบใหม่ มีการจัดแบ่งพื้นที่ เน้นความปลอดภัย ซึ่งจังหวัดไหนที่ไม่มีรายงานการติดเชื้อก็อาจจะได้รับการผ่อนคลายมาตรการก่อนจังหวัดอื่นๆ อีกทั้งให้มีการศึกษาต่างประเทศที่มีการผ่อนคลายว่ามีขั้นตอนในการดำเนินการอย่างไร และนำมาปรับใช้"  
          "และย้ำให้มีการจัดสมดุลให้เหมาะสมระหว่างปัญหาการติดเชื้อ กับปัญหาเศรษฐกิจต้องสมดุลให้เดินไปด้วยกันอย่างปลอดภัย และได้ขอให้แต่ละกระทรวงใช้ข้อมูลบิ๊กดาต้าที่มีอยู่มาบูรณาการร่วมกันในการแก้ปัญหา"
          คาดยอดป่วยอาจลดอีก
          นายแพทย์ทวีศิลป์เผยอีกว่า นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้นำเสนอการคาดการณ์การติดเชื้อ ซึ่งจากสถานการณ์ปัจจุบันตอนนี้ 1 คนสามารถกระจายเชื้อได้ 1.12 คน หรืออัตรา 1:1.12  เพราะฉะนั้นอัตราการเกิดก็จะต่ำลง และตามหลักการระบาดวิทยาคาดการณ์ ประมาณ 1 สัปดาห์ จะมีผู้ติดเชื้อ ประมาณ 200 กว่าคน และจะค่อยๆ ลงลงไป จนกระทั่วประมาณปลายเดือนมิถุนายนเหลือเพียง 22 คน ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีมาก
          แต่ถ้าเพิ่มขึ้นไป  เช่น 1 คนคลุมได้ไม่ดี มีการไปชุมชน รวมตัวกัน จะทำให้เกิด 1 คน แพร่เชื้อได้ 1.8 หรืออัตรา 1:1.8  คาดว่า 20-26 เมษายน 336 คน และคาดการณ์ว่าวันที่ 22-28 มิ.ย. จำนวนตัวเลขจะเพิ่มไปถึง 2,419 ราย ถือว่าเป็นตัวเลขมาก การวิเคราะห์ดังกล่าว เป็นการดำเนินการเพื่อจัดหาวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ และจำนวนเตียง เราก็ไม่อยากเห็นภาพ 1:1.8
          "ดังนั้น ที่ประชุมได้มีการกำหนดมาตรการค้นหาและการแพร่เชื้อในชุมชน  ซึ่งตอนนี้ทางสธ. ได้มีการประชุมและสรุปว่าจะติดตามผู้สัมผัสผู้ป่วยให้เจอ และค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกในประชากรกลุ่มเสี่ยง รวมถึงประชากรกลุ่มผู้ใช้แรงงาน  และค้นหาในผู้ป่วยที่มีพื้นที่ระบาดต่อเนื่อง อีกทั้งจะมีมาตรการป้องกันการแพร่เชื้อในโรงพยาบาล” นายแพทย์ทวีศิลป์ กล่าว
          9พันชีวิตรอกลับไทย
          โฆษก ศบค. ยังเผยถึงมาตรการดูแลคนไทยที่เดินทางมาจากต่างประเทศไทยหลังวันที่ 30 เมษายน 2563 มีจำนวน 8,998 คน โดยมีผู้แจ้งความประสงค์ ใน 14 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา 1,950 คน, ออสเตรเลีย 786 คน, นิวซีแลนด์ 600 กว่าคน, อินเดีย 600  คน, ญี่ปุ่น 280 คน, ซาอุดิอาระเบีย  290 กว่าคน, สหรัฐอาหรับอิมิเรด 335 คน, เมียนม่า 600 กว่าคน, กัมพูชา 500 กว่าคน, อินโดนีเซีย 500 กว่าคน, เกาหลีใต้ 400 คน, ฟิลิปปินส์ 331 คน, ศรีลังกา 40 คน และมัลดีฟ 160 คน
          ทั้งนี้ทุกคนต้องดำเนินการตามมาตรการที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด ไม่ย่อหย่อน ส่วนพี่น้องชาวไทยในประเทศเพื่อนบ้านต้องมีการดูแลกัน ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศได้มีการดูแลในเรื่องนี้
          มีที่กักตัวรองรับ2หมื่นคน
          นายแพทย์ทวีศิลป์เผยอีกว่า การเดินทางเข้าออกทางบก และจัดหาสถานที่กักกันที่ภาครัฐจัดให้นั้น กระทรวงมหาดไทย ได้มีการจัดพื้นที่ไว้ 796  แห่ง รองรับคนได้  20,941 คน มีคนเข้าพัก  2,399 คน เท่านั้น เหลืออยู่ประมาณ 10,000 กว่าที่ จะมีการดีไซต์ออกแบบให้คนที่เดินทางมาจากต่างประเทศ ขณะที่กระทรวงกลาโหม ได้มีการจัดสถานที่กักกันโดยรัฐกำหนดให้แก่ประชาชนคนไทยเช่นเดียวกัน
          นอกจากนั้น ในเรื่องความพร้อมในการรักษาพยาบาล อุปกรณ์เวชภัณฑ์  ความก้าวหน้าในการวิจัย  ซึ่งถ้ามีการระบาดเพียง 1:1.12 อยู่ในเกณฑ์ที่ดูแลได้ ไม่มีปัญหา  ซึ่งตอนนี้ได้มีการวิจัยเกี่ยวกับหน้ากาก N95 ได้มีการทำเทคโนโลยี ทำตู้อบแสงยูวี และใช้ซ้ำได้ถึง 4 ครั้ง
          นอกจากนั้น เตียงรับคนไข้หนัก 4,684 เตียงถือว่าเพียงพอ และมีผลการวิจัยดีๆ ที่เกี่ยวกับโรคนี้ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ฟ้าทะลายโจร การพัฒนาวัคซีน การนำพลาสมามารักษาผู้ป่วย  มาตรการผ่อนคลายก็มีมาตรการเข้ามาศึกษา  และความฉุกอุบัติการณ์โรคใหม่ เป็นต้น รวมถึงได้มีการจัดการแก้ไขสถานการณ์หน้ากากอนามัย ทำให้มีการขาดแคลนน้อยลง
          ไทยตรวจสะสม1.4แสนราย
          โฆษก ศบค. กล่าวอีกด้วยว่า สำหรับการตรวจคัดกรองโควิด-19 นั้น ตั้งแต่เดือน กุมภาพันธ์ถึง 17 เมษายน  ได้มีการจำนวนตัวอย่างที่ได้รับการตรวจโควิด-19 สะสม 142,589 ตัวอย่าง และจากการตรวจ 7 วัน ตั้งแต่วันที่ 11-17 เมษายน มีการตรวจ 21,715 ตัวอย่าง  
          ส่วนการตรวจเป็นรายวัน ตั้งแต่วันที่ 4-17 เมษายน พบว่า ส่วนใหญ่จะตรวจกันวันละ 3,000 กว่าตัวอย่าง ยกเว้นช่วงวัยหยุดที่อาจจะมีเหลือเพียง 1900 ตัวอย่าง และแนวโน้มจะมีการตรวจสะสมขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งไม่ว่าจะตรวจเยอะหรือตรวจน้อย ผลก็พบตรวจน้อยก็สามารถเจอผู้ป่วยเยอะ หรือ 100 คน เจอคนครึ่ง 200 คน เจอ 3 คน  
          ดังนั้น เป็นการยืนยันว่าไม่อยากให้ทุกคน แต่จะไปหว่านตรวจทุกคน ก็ไม่อยากเสียงบประมาณ รวมถึงอุปกรณ์ต่างๆ และความเสี่ยงที่จะติดเชื้อ  การตรวจคัดกรองมีการคิดอย่างรอบด้าน และออกแบบมาให้เหมาะสม
          อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีการพิจารณามีวิธีการตรวจรูปแบบใหม่ โดยใช้น้ำลายมาตรวจ ซึ่งก็จะปลอดภัยและได้ผลในระดับหนึ่ง วิธีนี้กำลังอยู่ในการพิจารณา
          “ด้วยตัวเลขผู้ติดเชื้อลดน้อยลง ทำให้หลายกลุ่มกลับมาใช้ชีวิตปกติ ทำงานปกติ  ซึ่งตอนนี้โรคยังไม่ได้หาย ถ้าทุกคนออกมาใช้ชีวิตปกติจะมีความเสี่ยงอย่างแน่นอน ดังนั้น ทุกคนต้องป้องกันตัวเอง  เนื่องจากในสภาวะอย่างนี้ต้องชั่งน้ำหนักระหว่างสิ่งที่เกิดขึ้น และสิ่งที่จะเสียไป อยากให้ทุกคนคำนึงเรื่องสุขภาพก่อน หรือการที่บริษัทห้างร้านจำเป็นต้องเปิดกิจการ อยากให้ใช้มาตรการแบ่งกลุ่มให้ส่วนหนึ่งทำงานที่บ้าน และส่วนหนึ่งมาที่บริษัท เพื่อลดจำนวนคน และต้องปฎิบัติมาตรการอย่างเคร่งครัด” นายแพทย์ทวีศิลป์ กล่าว
          กทม.งดเปิดผับยันสิ้นเม.ย.
          ที่ห้องประชุม ชั้น 8 อาคารธานีนพรัตน์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 ดินแดง พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร เพื่อพิจารณามาตรการป้องกันการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (โควิด-19) ในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ
          พล.ต.อ.อัศวิน กล่าวว่า วันนี้มีวาระหารือในประเด็นสำคัญ คือ มาตรการที่ กทม.ออกประกาศ เรื่องสั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว (ฉบับที่ 6) ปิดร้านค้าหรือสถานประกอบการขายสุราประเภทที่ 1 และประเภทที่ 2 ที่ได้รับใบอนุญาตให้จำหน่ายตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2560 ตั้งแต่วันที่ 10-20 เม.ย.2563 โดยสามารถจำหน่ายสินค้าประเภทอื่นได้
          ทั้งนี้คณะกก.เห็นควรให้ขยายเวลาการสั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว (ฉบับที่ 6) ปิดร้านค้าหรือสถานประกอบการขายสุราประเภทที่ 1 และประเภทที่ 2 ที่ได้รับใบอนุญาตให้จำหน่ายตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2560 จากที่ประกาศไว้วันที่ 10-20 เม.ย.2563 เป็นวันที่ 30 เม.ย. 63
          ราชกิจจาประกาศ4พ.ร.ก.
          ราชกิจจาประกาศ4พ.ร.ก.
          เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศ 4 พระราชกำหนด 1 พระราชกฤษฎีกา กลไกสำคัญเปิดทางเยียวยาฟื้นฟูเศรษฐกิจจากวิกฤตโควิด-19
          วานนี้ (19 เม.ย.) เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) 4 ฉบับ และ พระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) 1 ฉบับ ลงนามท้ายประกาศดังกล่าวโดย พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งกฎหมายเหล่านี้ จะเป็นกลไกสำคัญให้กับรัฐบาล และหน่วยงานของรัฐ ในการเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ โควิด-19 มีรายละเอียดเบื้องต้น ดังนี้
          1. พ.ร.ก. ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขเยียวยา ฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของ ไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 วงเงินรวมไม่เกิน 1 ล้านล้านบาท
          2. พ.ร.ก. การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจ ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของ ไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 วงเงินไม่เกิน 500,000 ล้านบาท
          3. พ.ร.ก. การรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ. 2563 โดยกำหนดให้ในระยะกองทุนมีวงเงินไม่เกิน 400,000 ล้านบาท
          4. พ.ร.ก. ว่าด้วยการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2563 5. พ.ร.ฎ. กำหนดจำนวนเงินฝากที่ได้รับการ คุ้มครองเป็นการทั่วไปพ.ศ. 2563
          สำหรับรายละเอียดเบื้องต้นในส่วนของ พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) นั้น คือการให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน วงเงินกว่า 1 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นด้านสาธารณสุข 45,000 ล้านบาท เงินเยียวยาประชาชน 555,000 ล้านบาท เงินฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม 400,000 ล้านบาท และได้ระบุหน่วยงานที่รับผิดชอบในตอนท้ายของการประการพระราชกำหนด
          ส่วน พ.ร.ก. ว่าด้วยการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2563 จะเป็นการเปิดทางให้หน่วยงานราชการประชุม และลงมติผ่านประชุมวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ได้ ยกเว้นการประชุมของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และรัฐสภา การประชุมเพื่อจัดทำคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล การประชุมเพื่อดำเนินการตามกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของส่วนราชการ ราชการส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และหน่วยงานอื่นของรัฐ รวมถึงการประชุมอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง เป็นต้น
          และ พระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) นั้น กำหนดจำนวนเงินฝากที่ได้รับการคุ้มครองเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2563 เพื่อรักษาความเชื่อมั่นของผู้ฝากเงินต่อระบบสถาบันการเงินของประเทศ จึงกำหนดจำนวนเงินฝากที่ได้รับการคุ้มครองเป็นการทั่วไปให้สูงกว่าที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติสถาบันคุ้มครองเงินฝาก พ.ศ. 2561
          ค่ายมือถือจัดโทร.ฟรี100น.
          นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า ผลของการหารือร่วมกับ ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ (โอเปอเรเตอร์) ทั้ง 5 รายได้แก่ บริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส, บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค, บริษัททรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน), บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ทั้ง 3 ครั้ง ถึงมาตรการเยียวยาเพิ่มเติมให้แก่ประชาชนในช่วงวิกฤติไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เพื่อให้ลดอัตราค่าบริการให้กับประชาชน สรุปได้ว่า
          โอเปอเรเตอร์ทั้ง 5 ค่าย ยินดีสนับสนุนให้ประชาชนได้รับสิทธิ์โทร. หากันฟรีทั้งในเครือข่ายและนอกเครือข่าย 100 นาที นาน 45 วัน นับจากวันที่กดรับสิทธิ์ โดย กสทช. ไม่ต้องใช้เงินสนับสนุนค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นแต่อย่างใด
          ทั้งนี้ ประชาชนสามารถกดรับสิทธิ์ ได้ตั้งแต่วันที่ 1-15 พ.ค. 2563 ด้วยการ กด *170* ตามด้วยหมายเลขบัตรประชาชน 13 หลักที่ใช้ลงทะเบียนซิม จากนั้น กด# แล้วกดโทรออก โดยประชาชนสามารถเริ่มใช้งานได้ทันทีหลังได้รับ SMS ยืนยัน โดยมีระยะเวลาการใช้งานได้ 45 วัน
          ทั้งนี้ ประชาชนคนไทยทุกคนมี 1 สิทธิ์ ต่อ 1 ค่ายมือถือ (ได้รับทุกค่าย) ยกตัวอย่างเช่น มีเลขหมายโทรศัพท์มือถือ 3 ค่าย 3 เบอร์ ก็ได้รับทั้ง 3 เบอร์ ยกเว้นชาวต่างชาติและนิติบุคคลไม่ได้รับสิทธิ์ คาดว่าจะมีคนที่ได้รับสิทธ์ตามโครงการนี้ประมาณ 50 ล้านเลขหมาย
          "กสทช. ร่วมกับค่ายมือถือทั้ง 5 ค่าย ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับประชาชนผู้ใช้บริการโทรศัพท์มือถือในช่วงโควิด-19 โดยเน้นกลุ่มเป้าหมาย ที่เป็นผู้ใช้บริการแบบเติมเงินซึ่งจากข้อมูลพบว่า 70 เปอเซ็นต์ เป็นผู้ที่อาศัยอยู่ในต่างจังหวัด ผู้ใช้บริการที่อยู่ในเมือง ที่ต้องโทรกลับบ้าน โทรหา พ่อ แม่ ญาติ พี่น้อง หรือติดต่อสื่อสารกันโดยใช้การโทรติดต่อสื่อสารกันผ่านระบบเสียง เพื่อสอบถามข่าวคราว พูดคุย ในช่วงที่ไม่สามารถเดินทางไปหากันได้ในช่วงเวลานี้" นายฐากรกล่าว
          อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ รัฐบาล และ กสทช. ร่วมกับค่ายมือถือทั้ง 5 ค่าย ร่วมกันดำเนินโครงการเพิ่มเน็ตมือถือ 10 GB และอัปสปีดเน็ตบ้านเป็น 100 Mbps เพื่อสนับสนุนนโยบาย Work from Home ให้ประชาชนอยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ ทำงานอยู่บ้านโดยมีบริการโทรคมนาคมรองรับการทำงาน การใช้ชีวิต โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นคนทำงาน และใช้ชีวิตอยู่ในเมืองคาดว่าหลังจบโครงการจะมีผู้ได้รับสิทธิ์ประมาณ 20 ล้านเลขหมาย
          มท.ขยายเวลาต่อบัตรปชช.
          เฟซบุ๊ก "ไทยคู่ฟ้า" โพสต์ข้อความระบุว่า เพื่อลดความเสี่ยงและป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของประชาชนที่ต้องเดินทางไปติดต่อราชการ เพื่อขอมีบัตรประจำตัวประชาชนใหม่ หรือเปลี่ยนบัตร ณ ที่ว่าการอำเภอ หรือสำนักงานเขต ล่าสุด กระทรวงมหาดไทย ขยายกำหนดเวลาจากเดิมต้องทำภายใน 60 วัน นับแต่วันขอมีบัตรใหม่ หรือเปลี่ยนบัตรใหม่ ขยายเป็นภายใน 120 วัน โดยมีระยะเวลาสิ้นสุดถึง 31 ก.ค. 63
          จ่อวิจัยฟ้าทะลายโจรในคน
          ดร.ภญ.อัญชลี จูฑะพุทธิ ที่ปรึกากรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยความคืบหน้าการวิจัยสมุนไพร "ฟ้าทะลายโจร" ว่า การศึกาวิจัยฟ้าทะลายโจรในผู้ป่วยโควิด-19 จะทำในผู้ป่วยที่มีอาการน้อย โดยคาดว่าจะเสนอโครงการวิจัยต่อคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในคนของสถาบันบำราศนราดูร ในวันที่ 23 เม.ย.นี้ และจะเริ่มดำเนินการได้ในเดือนพ.ค.นี้
          ทั้งนี้รายงานข่าวแจ้งว่า การพัฒนาการใช้วิจัยในมนุษย์ เกิดขึ้นหลังพบว่า ให้ผลดีเมื่อใส่ฟ้าทะลายโจรไปในไวรัสโควิด-19 โดยตรงและนำไปใส่เซลล์เพาะเลี้ยง และใส่ฟ้าทะลายโจรเข้าไปหลังเซลล์เพาะเลี้ยงติดเชื้อ พบว่าช่วยฆ่าเชื้อไวรัสโดยตรงและยับยั้งการเพิ่มจำนวน แต่การให้ฟ้าทะลายโจรแก่เซลล์เพาะเลี้ยงก่อนติดเชื้อไม่ช่วยสารสารยับยั้งหรือป้องกัน
          โดยจากนี้กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก จะศึกษาปริมาณยาฟ้าทะลายโจรที่เหมาะสม ในขนาด 3 เท่าและ 5 เท่าของโดสปกติ โดยศึกษาในผู้ป่วยโควิด-19 อาการน้อยที่สถานบันบำราศนราดูร
          "พลังงาน"ชงครม.ลดค่าไฟ
          นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภายหลังหารือแนวทางลดค่าครองชีพประชาชนด้านไฟฟ้าเพิ่มเติม ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจากผลกระทบการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ว่าที่ประชุมมีมติเห็นชอบขยายโควต้าการใช้ไฟฟรำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทครัวเรือนทั้งประเทศที่มีประมาณ 20 ล้านครัวเรือน
          โดยผู้ใช้ไฟฟ้าครัวเรือนประเภท 1.1 สำหรับขนาดมิเตอร์ไม่เกิน 5 แอมป์ ให้ใช้ไฟฟรีไม่เกิน 150 หน่วย เพิ่มเติมจากปัจจุบันให้ครัวเรือนใช้ไฟฟรีไม่เกิน 90 หน่วยต่อเดือน เป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่รอบบิลเดือนมี.ค.-พ.ค.2563 เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนจากการให้ความร่วมมืออยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ ทำให้การใช้ไฟบ้านมีปริมาณสูงขึ้น
          ในส่วนของผู้ใช้ไฟฟ้าครัวเรือนประเภท 1.2 ขนาดมิเตอร์เกิน 5 แอมป์ แต่ไม่เกิน 15 แอมป์ จะมีมาตรการช่วยเหลือส่วนเกินค่าไฟฟ้าสำหรับผู้ที่ใช้ไฟไม่เกิน 800 หน่วย โดยจะคิดค่าไฟจากฐานการใช้ไฟเดือนก.พ.2563 เท่านั้น เช่น เดือนก.พ.ใช้ไฟ 300 หน่วย ขณะที่เดือนมี.ค.ใช้ไฟ 500 หน่วย ส่วนเกิน 200 หน่วยจะได้ใช้ฟรี และจะคิดค่าไฟเพียงที่ 300 หน่วยเท่ากับเดือนก.พ.เท่านั้น
          แต่หากกรณีผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทดังกล่าวใช้ไฟเกิน 800 หน่วย จะมีวิธีการโดยลดหน่วยการใช้ไฟฟ้าส่วนเกิน จากฐานการใช้ไฟเดือนก.พ.2563 ที่ 50 เปอร์เซ็นต์ แล้วจึงนำมาคำนวณรวมกับปริมาณการใช้ไฟของเดือน ก.พ.2563 เช่น เดือนมี.ค. ใชไฟ 1,000 หน่วย จะคำนวณค่าไฟจากฐานการใช้ไฟเดือน ก.พ.ที่ 200 หน่วย บวกกับส่วนลดหน่วยการใช้ไฟส่วนเกิน 30 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งกรณีนี้ยังมีส่วนเกิน 800 หน่วย เมื่อลดหน่วยการใช้ไฟ 50 เปอร์เซ็นต์ แล้วจะเหลือหน่วยการใช้ไฟที่ 400 หน่วย รวมเดือนมี.ค.มีการใช้ไฟฟ้าที่ 600 หน่วยจึงจะนำไปคำนวณค่าไฟฟ้าในอัตราปกติ
          สำหรับผู้ใช้ไฟครัวเรือนประเภท 1.3 ผู้ใช้ไฟครัวเรือนเกิน 3000 หน่วย จะลดหน่วยการใช้ไฟฟ้าส่วนเกินจากฐานการใช้ไฟเดือนก.พ.2563 ให้ 30 เปอร์เซ็นต์ แล้วจึงนำมาคำนวณรวมกับปริมาณการใช้ไฟของเดือน ก.พ.2563 เช่น เดือนก.พ.ใช้ไฟ 1200 หน่วย เดือนมี.ค. ใช้ไฟ 3200 หน่วย มีส่วนต่าง 2000 หน่วยจะได้รับส่วนลด 30 เปอร์เซ็นต์ เหลือ 1400 หน่วย แล้วจึงนำมาคำนวณรวมกับปริมาณการใช้ไฟจากฐานเดือนก.พ.ที่ 1200 รวมปริมาณการใช้ไฟอยู่ที่ 2,600 หน่วย
          นายสนธิรัตน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับค่าไฟฟ้ารอบบิลเดือนมี.ค.2563 ที่ผ่านมา ขอให้ประชาชนชำระค่าไฟตามปกติ ซึ่งทั้ง 2 การไฟฟ้าจะนำมาหักลบคืนให้ในบิลค่าไฟตั้งแต่รอบเดือนพ.ค.เป็นต้นไป โดยมาตรการนี้เตรียมเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาในวันที่ 21 เม.ย.2563 ในส่วนของงบประมาณจะใช้งบของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ภายใต้กรอบที่สามารถบริหารจัดการได้ 10.6 ล้านคนอดได้เยียวยา
          นายลวรณ แสงสนิท ผอ.สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า คลังตรวจสอบตัวเลขผู้ลงทะเบียนมาตรการรับเงินเยียวยา 5,000 บาท ผ่านเว็บไซต์ www.เราไม่ทิ้งกัน.com ครับ 28 ล้านคนแล้ว พบว่าเมื่อตัดคนลงทะเบียนซ้ำ หรือลงทะเบียนมากกว่า 1 ครั้ง จะเหลือผู้ลงทะเบียนสมบูรณ์ 23.5 ล้านคน ในจำนวนนี้ผ่านการคัดกรองกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย แล้ว 21.1 ล้านคน ที่ไม่พบในฐานข้อมูล 1.8 ล้านคน เช่น กรอกคำนำหน้าชื่อ ใส่พยัญชนะผิด ซึ่งต้องมาลงทะเบียนใหม่ภายในวันที่ 22 เม.ย.นี้ และอีก 6 แสนคนที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบ
          สำหรับผ


pageview  1205137    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved